brand logo

PHOTO | LIFE | INSPIRATION

May 2024

Yousuf Karsh
ปรมาจารย์ช่างภาพบุคคล แห่งศตวรรษที่ 20
เรื่อง : ยอดมนุษย์..คนธรรมดา
2 Sep 2022
1908 - 2002

ชายคนนี้ได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งใน ช่างภาพบุคคล (Portrait Photographers) ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งศตวรรษที่ 20

งานของเขาไม่เพียงมีแสงและเงาที่งดงาม แต่ยังเปิดเผยให้เห็นความเป็นมนุษย์อย่างทรงพลัง ทำให้ผู้ชมรู้สึกใกล้ชิดกับตัวแบบมากขึ้น เขาจึงได้รับโอกาสให้บันทึกภาพบุคคลที่มีชื่อเสียงในทุกๆ วงการ ตั้งแต่ผู้นำประเทศ นักวิทยาศาสตร์ ศิลปิน นักเขียน 

ควีนเอลิซาเบธที่ 2, อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์, ฟิเดล คาสโตร, แอนดี วอร์ฮอล, เออร์เนสต์ เฮมิงเวย์ และบุคคลที่มีชื่อเสียงอีกมากมาย ล้วนผ่านการกดชัตเตอร์โดยเขามาแล้ว 

ภาพวินสตัน เชอร์ชิล ที่กำลังไม่สบอารมณ์ คือผลงานที่ผู้คนจดจำได้มากที่สุด ภาพนี้ถูกตีพิมพ์นับไม่ถ้วนในช่วง 80 ปีที่ผ่านมา และไม่นานนี้ยังได้รับการตีพิมพ์ในธนบัตร 5 ปอนด์ ของประเทศอังกฤษ 

ยอดมนุษย์..คนธรรมดา ขอพาไปรู้จักกับ Yousuf Karsh – ยูซูฟ คาร์ช ช่างภาพผู้อพยพหนีความยากแค้นจากอาร์เมเนีย มาสู่แคนาดา ก่อนเริ่มเรียนรู้การถ่ายภาพด้วยกล้องตัวเล็กๆ และพัฒนาตัวเองจนกลายเป็นหนึ่งในตำนานช่างภาพบุคคลของโลก 

01 จากผู้ลี้ภัย สู่ช่างภาพมือสมัครเล่น

วันส่งท้ายปีเก่าในปี ค.ศ. 1925 เรือเดินสมุทรแวร์ซาย เข้าเทียบท่าที่ท่าเรือแฮลิแฟกซ์ ประเทศแคนาดา หลังเดินทางมานานร่วม 29 วัน หนึ่งในผู้โดยสารบนเรือลำนั้นคือ เด็กหนุ่มอายุ 17 จากอาร์เมเนียที่พูดภาษาอังกฤษได้เพียงเล็กน้อย เขาตั้งใจมาขออาศัยอยู่กับลุงที่อพยพมาก่อน

คาร์ชรู้สึกตื่นเต้นกับทุกสิ่งตรงหน้า ไม่ว่าจะเป็นแท็กซี่หรือรถม้าที่วิ่งตามถนน ขณะเดียวกันเขาก็โล่งใจที่ตนเองรอดพ้นจากความโหดร้ายในประเทศบ้านเกิด 

ช่วงเวลานั้น ชาวอาร์เมเนียขัดแย้งกับชาวตุรกีอย่างรุนแรง ญาติของเขาถูกจับเข้าคุก และถูกฆาตกรรมโยนทิ้งบ่อน้ำ 

ครั้งหนึ่ง ระหว่างเดินกลับจากโรงเรียน คาร์ชถูกเด็กชายชาวตุรกีขว้างก้อนหินใส่จนหน้าผากแตก และพยายามแย่งของเล่นชิ้นเดียวที่เขามีคือลูกแก้ว 2-3 ลูก เมื่อกลับถึงบ้านคาร์ชบอกกับแม่ว่าต่อจากนี้เขาจะพกก้อนหินไว้ตอบโต้ แต่แม่กลับห้ามไม่ให้ไปยุ่งกับคนพวกนั้น และสอนเขาว่าอย่าเกลียดใคร แม้ว่าชาวอาร์เมเนียจะโดนกดขี่อย่างสาหัส

ชีวิตในแต่ละวันก็ยากลำบาก ทุกวันแม่จะต้องเดินไปตักน้ำจากหุบเขาไกลโพ้นหลายชั่วโมงเพื่อให้ทุกคนที่บ้านมีน้ำใช้เพียงพอ ระหว่างนั้นยังเกิดโรคไข้รากสาดใหญ่ระบาดจนพรากชีวิตน้องสาวเขาไปด้วย

ตอนคาร์ชอายุ 15 ครอบครัวของเขาตัดสินใจหลบหนีมาที่ซีเรีย ด้วยการเดินเท้าเป็นเวลากว่าเดือน โดยแทบไม่ได้นำสัมภาระอะไรติดตัวมา และใช้เงินที่มีอยู่ไปจนหมด แต่ชีวิตในซีเรียก็ยังแร้นแค้นจนทำให้พวกเขาตัดสินใจจะส่งคาร์ชไปอยู่กับลุงซึ่งเป็นพี่ชายของแม่ ชื่อนากาซ (Nakash) ที่ประเทศแคนาดา

บนดินแดนเมเปิ้ล คาร์ชได้เข้าโรงเรียนและมีเพื่อนคนแรก นอกจากเพื่อนจะไม่ขว้างก้อนหินใส่แล้วยังให้ลูกแก้วเมื่อเขาแข่งชนะอีกด้วย 

แต่สิ่งที่เปลี่ยนชีวิตของคาร์ชไปมากที่สุด คือการได้พบกับกล้องถ่ายภาพ 

ด้วยความที่ลุงนากาซทำงานเป็นช่างภาพ ในช่วงฤดูร้อนปี ค.ศ. 1926 คาร์ชจึงไปช่วยลุงทำงานที่สตูดิโอ แม้ตอนนั้นเขาใฝ่ฝันที่จะเรียนแพทย์ แต่ก็เริ่มสนใจและหลงใหลในโลกของการถ่ายภาพ

“ทุกวันหยุดสุดสัปดาห์ ผมจะท่องไปในทุ่งนาและป่ารอบๆ เชอร์บรูคพร้อมกับกล้องตัวเล็ก ซึ่งเป็นของขวัญจากลุง ผมพยายามพัฒนาฝีมือการถ่ายรูป โดยนำรูปที่ถ่ายไปให้ลุงช่วยวิจารณ์บ่อยๆ ลุงอดทนกับผมมาก และคำวิจารณ์เหล่านั้นก็มีคุณค่ามหาศาล”

กล้องตัวนี้เองทำให้คาร์ช ประสบความสำเร็จในการถ่ายภาพเป็นครั้งแรก เด็กหนุ่มถ่ายภาพทิวทัศน์ที่มีเด็กๆ เล่นกันและมอบให้เพื่อนร่วมชั้นเป็นของขวัญคริสต์มาส เพื่อนส่งภาพนั้นเข้าประกวดโดยที่เขาเองก็ไม่รู้ ต่อมาภาพของเขาได้รางวัลชนะเลิศ และได้เงินรวม 50 ดอลลาร์ คาร์ชแบ่งเงินให้เพื่อน 10 เหรียญ ส่วนเงินที่เหลือส่งไปให้พ่อแม่ที่ซีเรีย เขามีความสุขที่หาเงินก้อนแรกให้ครอบครัวได้

หลังจากนั้นไม่นาน ลุงก็ส่งเขาไปฝึกงานที่บอสตัน กับเพื่อนชาวอาร์เมเนียของลุง ชื่อ จอห์น เอช. กาโร (John H. Garo) กาโรค่อนข้างมีชื่อเสียงด้านการถ่ายภาพบุคคลที่โดดเด่น ชายคนนี้สนับสนุนให้คาร์ชเรียนวิชาศิลปะภาคค่ำ และให้ศึกษาผลงานของจิตรกรผู้ยิ่งใหญ่โดยเฉพาะ Rembrandt และ Diego Velázquez

ถึงแม้ไม่เคยวาดภาพเลย แต่คาร์ชก็ได้เรียนรู้วิธีการจัดแสงและจัดองค์ประกอบภาพ จากสองจิตรกรผู้ยิ่งใหญ่ เขาเริ่มไปขลุกตัวที่ห้องสมุดสาธารณะในบอสตัน ควานหาหนังสือเกี่ยวกับมนุษยศาสตร์มาอ่าน และเริ่มสนใจการถ่ายภาพในมิติที่ลึกซึ้งมากขึ้น

02 ก้าวสู่ช่างภาพมืออาชีพ

กาโร คือครูคนสำคัญในชีวิตของคาร์ช เดิมทีเด็กหนุ่มตั้งใจฝึกงานแค่ 6 เดือน แต่ยิ่งทำยิ่งชอบ จึงขออยู่ต่อ กาโรก็ยินดี ในที่สุดเขาอยู่นานถึง 3 ปี พร้อมได้เรียนรู้เทคนิคของช่างภาพมืออาชีพ ไม่ว่าจะเป็นการถ่าย หรือการพิมพ์ภาพด้วยวิธีต่างๆ เพื่อให้งานสมบูรณ์ที่สุด

“กาโรสอนบางสิ่งที่สำคัญกว่าเทคนิคเพียงอย่างเดียว เขาสอนให้ผมคิดด้วยตัวเอง และพัฒนาจุดเด่นของตัวเองขึ้นมา เขาบอกกับผมว่า คุณต้องทำความเข้าใจให้ชัดเจนว่าต้องการถ่ายภาพนั้นเพื่ออะไร จำไว้ว่า ศิลปะไม่เคยเกิดขึ้นโดยบังเอิญ” 

อีกสิ่งที่มีค่าในช่วงเวลานั้น คือการที่คาร์ชได้มีโอกาสใกล้ชิดกับบรรดาศิลปินต่างๆ เพราะเมื่อตกเย็น เพื่อนศิลปินของกาโรจะมารวมตัวกันรับประทานอาหารและพูดคุยที่สตูดิโอ คาร์ชผู้รับหน้าที่บาร์เทนเดอร์ก็จะได้ฟังบทสนทนาวิธีคิดในการทำงาน ซึ่งซึมลึกลงไปในตัวเขาวันแล้ววันเล่า เหมือนเป็นห้องเรียนอีกแห่งหนึ่ง

ในปี ค.ศ. 1931 คาร์ชในวัย 23 ปี ออกจากบอสตัน กลับสู่แคนาดา เขาโหยหาการผจญภัยไปถ่ายภาพในแบบของตัวเอง จึงตัดสินใจย้ายไปที่ออตตาวา เมืองหลวงของแคนาดา และเปิดสตูดิโอขึ้นในปีถัดมา

“ออตตาวาเป็นทางแยกของการเดินทางไปทั่วโลก ผมจึงหวังว่าจะมีโอกาสถ่ายภาพบุคคลสำคัญและนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ แต่ช่วงแรกไม่มีอะไรง่าย บางเดือนผมต้องยืมเงินเดือนเลขาฯ เพื่อจ่ายค่าเช่า แต่ก็ยังเชื่อมั่นว่าเลือกทางที่ถูกต้อง”

ชายหนุ่มโชคดีที่ได้รู้จักกับแซนด์เวล (B. K. Sandwell) บรรณาธิการผู้มีชื่อเสียงของนิตยสาร Saturday Night ซึ่งขึ้นชื่อในเรื่องเนื้อหาที่ทันสมัย น่าสนใจ และภาพประกอบที่สวยงาม แซนด์เวลชอบผลงานของคาร์ช งานของเขาจึงได้ตีพิมพ์ในนิตยสารเป็นครั้งแรก 

คาร์ชมองหาโอกาสอยู่ตลอด เขาตกลงรับถ่ายภาพให้กับกลุ่มนักแสดงสมัครเล่น Ottawa Little Theatre ภายในโรงละครเขาได้พบกับโลกใหม่ เพราะเดิมทีชายหนุ่มจะถ่ายภาพโดยใช้แสงธรรมชาติจากดวงอาทิตย์เท่านั้น แต่การแสดงบนเวทีนั้นใช้แสงไฟประดิษฐ์จากหลอดไฟ เขาได้เห็นผู้กำกับออกแบบแสงไฟในแต่ละฉากเพื่อให้เกิดอารมณ์ต่างๆ คาร์ชตื่นเต้นกับวิธีการนี้มาก และลองนำมาใช้กับภาพถ่าย เพื่อทำให้เกิดการตีความแบบใหม่ 

สายสัมพันธ์ที่ดีในโรงละคร ยังทำให้เขาได้รับโอกาสมากขึ้น วันหนึ่งลอร์ดดันแคนนอน หนึ่งในนักแสดงนำ ได้แนะนำให้พ่อของเขาซึ่งเป็นผู้ว่าการรัฐในขณะนั้นมาถ่ายรูปที่สตูดิโอของคาร์ช ท่านสวมเครื่องแต่งกายเต็มยศ ในขณะที่แม่ของลอร์ดดันแคนนอนก็สวมชุดอย่างหรูหรา แม้เขาจะประหม่าจนถ่ายหลุดไฟกัสในครั้งแรก แต่ทั้งคู่ก็ยินดีให้เขาถ่ายแก้มืออีกครั้ง และได้ภาพที่สวยงามสมใจ 

การแนะนำปากต่อปากทำให้ช่างภาพหนุ่มเริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้นเรื่อยๆ ต่อมาในปี ค.ศ. 1936 เมื่อ แฟรงกลิน ดี. รูสเวลต์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกามาที่ควิเบกซิตี เพื่อหารือกับ แมกเคนซี คิง นายกรัฐมนตรีแคนาดา คาร์ชได้รับโอกาสให้ถ่ายภาพแขกที่มีชื่อเสียงคนนี้ 

ตอนแรกมีช่างภาพข่าวต่างประเทศกว่า 50 คน มารุมแย่งกันถ่าย กระหน่ำแสงแฟลชจนคาร์ชเบียดเข้าไปไม่ได้ เขาเสียใจที่ทำงานไม่สำเร็จ แต่มีเพื่อนแนะนำให้รออีกหน่อย พอช่วงบ่ายประธานาธิบดีรูสเวลต์ปรากฏตัวอีกครั้งกับลูกชาย เพื่อออกมาสูดอากาศที่ระเบียง พร้อมด้วยผู้ว่าการรัฐ และนายกฯ แคนาดา คาร์ชจึงขอเข้าไปถ่ายภาพ ตอนแรกทุกคนยืนกันแข็งทื่อเหมือนทหาร เขาจึงแสร้งทำเป็นว่าถ่ายรูปเสร็จแล้ว และกล่าวขอบคุณ แต่เมื่อผู้ว่าการรัฐเริ่มเล่าเรื่อง ทุกคนผ่อนคลาย คาร์ชจึงกดชัตเตอร์อีกครั้งและได้ภาพที่ต้องการ 

ภาพอันมีชีวิตชีวาของเขาปรากฏไปทั่วหน้านิตยสารและหนังสือพิมพ์แทบทุกฉบับ ที่สำคัญยังทำให้เขาได้รู้จักนายกรัฐมนตรีแมกเคนซี คิง ซึ่งต่อมากลายเป็นเพื่อนที่คอยสนับสนุนเขามาโดยตลอด 

© Estate of Yousuf Karsh

03 ช่างภาพบุคคลแถวหน้าของโลก

วันที่ 30 ธันวาคมในปี ค.ศ. 1941 คาร์ชได้ถ่ายภาพของ วินสตัน เชอร์ชิล นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ภาพนี้เองต่อมาถูกตีพิมพ์อย่างแพร่หลาย และกลายเป็นภาพที่เปลี่ยนชีวิตเขาไปตลอดกาล

เวลานั้นเชอร์ชิลเดินทางมาเยือนออตตาวา และได้กล่าวสุนทรพจน์เกี่ยวกับสงครามโลกครั้งที่ 2 ต่อสมาชิกรัฐสภาของแคนาดา นายกรัฐมนตรีแม็คเคนซี คิง จึงเชิญคาร์ชให้มาถ่ายภาพเป็นที่ระลึก ช่างภาพหนุ่มรออยู่ในห้องรับรอง เขาติดตั้งไฟและกล้องถ่ายรูปไว้พร้อมใช้งานทุกเมื่อ ทันทีที่นายกฯ อังกฤษก้าวเข้ามา คาร์ชก็เปิดไฟ ซึ่งทำให้เชอร์ชิลประหลาดใจ และหันไปถามว่า ‘นี่คืออะไร?’

ช่างภาพหนุ่มกล่าวว่าอยากจะขอบันทึกภาพประวัติศาสตร์ครั้งนี้ไว้ แม้เชอร์ชิลจะยินยอม แต่เขาก็จุดซิการ์ขึ้นมาสูบ ซึ่งคาร์ชรู้สึกว่าตนเองไม่ได้ภาพตามที่ต้องการ

“ผมถือที่เขี่ยบุหรี่ออกมา แต่เขาไม่ยอมทิ้ง ผมจึงกลับไปที่กล้องและตรวจสอบให้แน่ใจว่าทุกอย่างถูกต้อง ผมรอ แต่เขายังคงเคี้ยวซิการ์อย่างแรง ทันใดนั้น อะไรก็ไม่รู้ดลใจให้ผมก้าวไปหาเขาและพูดด้วยความเคารพว่า ‘ยกโทษให้ผมด้วยครับ’ พร้อมกับดึงซิการ์ออกจากปากของเขา เมื่อกลับไปที่กล้องผมจึงได้ภาพเชอร์ชิลที่มีสีหน้าขึงขังไม่สบอารมณ์ เหมือนกับเขาอยากจะกลืนกินผม”

อย่างไรก็ตาม ภาพนี้มีความโดดเด่นอย่างมาก จนได้รับเลือกให้เป็นภาพปกของนิตยสาร Life ฉบับวันที่ 21 พฤษภาคม ค.ศ. 1945  เมื่อภาพเผยแพร่ออกไป ผู้คนต่างชอบเชอร์ชิลในบุคคลิกท่าทางบึ้งตึงแบบนี้มาก เพราะสะท้อนถึงความขึงขังของสหราชอาณาจักร ที่ยืนหยัดต่อสู้กับลัทธิฟาสซิสต์อย่างไม่หวั่นเกรง จึงถูกนำไปใช้ต่ออย่างแพร่หลาย โดยใช้ชื่อภาพว่า The Roaring Lion หรือ ‘สิงโตคำราม’

© Estate of Yousuf Karsh

นิตยสาร The Economist เคยจัดให้ The Roaring Lion เป็นภาพบุคคลที่ถูกนำไปใช้มากที่สุดในประวัติศาสตร์ พร้อมเขียนอธิบายว่าเป็นภาพบุคคลที่โดดเด่นที่สุดเท่าที่เคยถ่ายมา

หลังจากภาพนี้ดังระเบิด คาร์ชก็ได้ถ่ายภาพซึ่งเป็นที่จดจำอีกมาก เช่น ภาพของเออร์เนสต์ เฮมิงเวย์ นักเขียนชาวอเมริกัน ผู้กำลังโด่งดังจากนวนิยาย The Old Man and the Sea แม้จะเป็นภาพครึ่งตัว ซึ่งถ่ายอย่างเรียบง่ายที่บ้านของเฮมิงเวย์ แต่คาร์ชถ่ายทอดชีวิตอันผ่านร้อนผ่านหนาวของนักเขียนผู้นี้ ให้ออกมาทางสีหน้าและแววตาได้ 

มีเรื่องเล่าสนุกๆ ว่า หนึ่งวันก่อนถ่าย คาร์ชแวะไปที่บาร์โปรดของเฮมิงเวย์เพื่อหาข้อมูลว่าเขาชอบดื่มอะไร เช้าวันรุ่งขึ้นเมื่อเฮมิงเวย์โทรศัพท์มาถามว่า อยากดื่มอะไรไหม จะเตรียมไว้ให้ คาร์ชตอบว่า Daiquiri ค็อกเทลโปรดของเฮมิงเวย์ นักเขียนชื่อดังประหลาดใจ แล้วพูดว่า ‘จะดื่มตั้งแต่ตอนนี้เลยหรอ’ เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นถึงการทำการบ้านของคาร์ช ทุกครั้งเขาจะค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับตัวแบบให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

ภาพเจ้าหญิงเอลิซาเบธ เมื่อปี ค.ศ. 1951 ก็เป็นอีกภาพที่โดดเด่น คาร์ชบันทึกช่วงเวลาที่พระองค์ทรงมีความสุขและผ่อนคลาย ก่อนที่อีก 6 เดือนหลังจากนั้น กษัตริย์จอร์จที่ 6 พระบิดาของพระองค์จะสิ้นพระชนม์ และเจ้าหญิงต้องรับตำแหน่งควีนเอลิซาเบธที่ 2 ราชินีแห่งอังกฤษ พร้อมกับแบกรับความรับผิดชอบที่หนักหน่วง 

อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ เป็นอีกคนที่คาร์ชประทับใจ ตัวจริงของนักวิทยาศาสตร์ท่านนี้คือคนที่เรียบง่ายและใจดี เขาจึงกดชัตเตอร์เพื่อถ่ายทอดบุคลิกเหล่านั้นออกมา เมื่อคาร์ชถามว่าโลกนี้จะเป็นอย่างไร หากทิ้งระเบิดปรมาณูอีกลูก ไอน์สไตน์ตอบอย่างเศร้าๆ ว่า “เราจะไม่ได้ยินเพลงของโมสาร์ทอีกต่อไป”     

บางครั้งก็ต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เพื่อให้ภาพที่ออกมาดีที่สุด อย่างตอนถ่ายมาร์ติน ลูเทอร์ คิง จูเนียร์ ที่มีเวลาให้น้อยมาก คาร์ชจึงให้นักต่อสู้เพื่อสันติภาพผู้นี้ยืนที่มุมหนึ่งในโบสถ์ ท่ามกลางหมู่เพื่อนและผู้ติดตามทำให้สาธุคุณมาร์ตินรู้สึกผ่อนคลาย คาร์ชให้เขามองไกลออกไป เพื่อสะท้อนภาพชายหนุ่มที่เปี่ยมไปด้วยวิสัยทัศน์และอุดมการณ์ 

เช่นเดียวกับตอนที่พบเนลสัน แมนเดลลา แม้นักต่อสู้ผู้นี้จะเป็นคนอบอุ่นและเป็นมิตร แต่วันนั้นเขาดูเหนื่อยมาก คาร์ชจึงแก้ปัญหาโดยเล่าเรื่องตอนที่ถ่ายสมเด็จพระสันตปาปาจอห์นที่ 21 ให้ฟัง เขาถามพระองค์ว่า ‘มีกี่คนในประเทศนี้ที่ทำงานในวาติกัน’ สมเด็จพระสันตะปาปายิ้มและตอบว่า ‘ประมาณครึ่งหนึ่ง’ แมนเดลาฟังแล้วตบโต๊ะพร้อมกับคำรามเสียงหัวเราะ เขาจึงได้ภาพเนลสัน แมนเดลลาที่สดชื่นและมีชีวิตชีวา 

“ความท้าทายสำหรับผม คือการพยายามดึงพลังภายในของพวกเขาออกมา มันเป็นส่วนหนึ่งของความลับที่ซ่อนอยู่ในตัวทุกคน คนเรามีหน้ากากที่สวมใส่ต่อหน้าผู้อื่นอยู่บ่อยๆ จนชาชิน มีแค่เพียงเสี้ยววินาทีเท่านั้นที่เราเผลอยกหน้ากากขึ้น เผยให้เห็นพลังนั้นใน ท่าทางที่ไม่ได้ตั้งใจ, คิ้วที่ยกขึ้น, การตอบสนองที่น่าประหลาด นี่คือช่วงเวลาแห่งการบันทึก ซึ่งเป็นหน้าที่ของผม”

คาร์ชตั้งใจให้ผู้ชมรู้สึกใกล้ชิดและเข้าถึงจิตวิญญาณคนในภาพมากขึ้น ทำให้เขายิ่งต้องมุ่งมั่นทำงานหนัก เพื่อไปให้ถึงความสมบูรณ์แบบที่ตั้งไว้ แม้มันจะยาก แต่ก็ทำให้เขามีความสุขอย่างมากเมื่อได้บรรลุสิ่งที่ใกล้เคียงกับอุดมคติ 

“งานทำให้ผมยังรู้สึกเหมือนเป็นเด็กที่รักการผจญภัย ผมตระหนักอยู่เสมอว่าหัวใจและความคิด คือเลนส์ที่แท้จริงของกล้อง”

ตลอด 60 ปีของการทำงาน คาร์ชบันทึกภาพบุคคลกว่า 15,000 คน ลงบนฟิล์มกว่า 370,000 ชิ้น ผลงานของเขาได้ขึ้นหน้าปกนิตยสาร Life กว่า 20 ครั้ง จนกระทั่งเกษียณในปี ค.ศ. 1992 เขาได้รับรางวัลหลายครั้ง รวมถึงมีงานนิทรรศการและหนังสือบอกเล่าผลงานอีกมากมายให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา 

คาร์ชเสียชีวิตที่บอสตันในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2002 ชื่อของเขาได้รับการจารึกให้เป็นหนึ่งในช่างภาพบุคคลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งของโลก 

เรียบเรียงข้อมูลจาก

เว็บไซต์ karsh.org

เว็บไซต์ wikipedia.org/Yousuf_Karsh

images
images
images
images
images
images
พิสูจน์อักษร: ชลดา สวนประเสริฐ