brand logo

PHOTO | LIFE | INSPIRATION

May 2024

Young Thai Artist Award 2021
Young Thai Artist Award: Photography
กาญจนาภรณ์ มีขำ
ภาสินี ประมูลวงศ์
19 Nov 2021

พูดคุยกับผู้เข้ารอบสุดท้าย Young Thai Artist Award สาขาภาพถ่าย ประจำปี 2021 

Young Thai Artist Award เป็นเวทีประกวดศิลปินรุ่นใหม่หลากหลายสาขา หนึ่งในนั้นคือสาขาภาพถ่าย ซึ่งผู้เข้ารอบสุดท้ายมีผลงานน่าจับตามองทุกปี 

สำหรับปีนี้ผู้เข้ารอบสุดท้ายคือฟาง – ปรตา จรบุรี กับงานที่เน้นศิลปวัฒนธรรมที่ส่งผ่านมาทางวัด, เปา – สุกฤษฎิ์ ปัจจันตดุสิต ผู้ถ่ายทอดหลักพุทธศาสนาผ่านภาพถ่ายช่วงเวลาในชีวิต, เฟรม – ฉัตรมงคล รักราช กับการขับกล่อมความรู้สึกออกมาเป็นภาพถ่าย, เพิร์ธ – ศิริน ม่วงมัน งานของเธอคลั่งไคล้การกักเก็บแสงมาตลอด, เอิร์ธ – พงศธร บุญโต กับภาพถ่ายที่ต่อสู้กับความกลัวในวัยเด็ก และ เต้ย – ณัฐวุฒิ เตจา ผู้ถ่ายภาพเพื่อทำความเข้าใจการถูกทิ้งร้างของตัวเอง

งานของพวกเขาแต่ละคนต่างชัดเจนและน่าสนใจ ทั้งในแง่สไตล์และเนื้อหา โอกาสนี้ D1839 จึงชวนผู้เข้ารอบสุดท้ายทั้ง 6 คนมานั่งคุยกันในฐานะช่างภาพรุ่นใหม่ที่กำลังก้าวย่างเติบโตในวงการภาพถ่าย พวกเขาทำงานบนข้อกำจัดอะไรบ้างจนกลายเป็นผลงานที่เราเห็น อะไรคือสิ่งที่พวกเขาฝัน และอะไรคือวงการที่พวกเขาหวังไว้ในอนาคต

** ภาพประกอบบทสัมภาษณ์เป็นผลงานเก่าของผู้ผ่านการคัดเลือก สำหรับผลงานที่ส่งเข้าประกวดของแต่ละคนโปรดติดตามผ่านเว็บไซต์ Young Thai Artist Award

ฟาง – ปรตา จรบุรี

 

Q:ตอนนี้ทำอะไรอยู่

A:วันจันทร์ถึงศุกร์เราเป็นพนักงานราชการเฉพาะกิจ ตำแหน่งบริหารทั่วไป ทำงานเอกสารล้วนๆ เลย ส่วนวันเสาร์อาทิตย์เรียนปริญญาโท สาขาบริหาร สถาบันเทคโนโลยีเจ้าคุณทหารลาดกระบัง จริงๆ เราจบปริญญาตรีถ่ายภาพที่คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แต่เราไม่ได้ทำงานเป็นช่างภาพอาชีพ เราถ่ายแต่โปรเจ็กต์ส่วนตัวหรือไม่ก็ถ่ายทิวทัศน์เล่นกับพ่อ

Q:เล่าถึงงานภาพถ่ายที่ส่งโครงการ Young Thai Artist Award ให้ฟังหน่อย

A:เราส่งงานซุ้มประตูวัด คือเหมือนเป็นงานต่อเนื่องจากงานวิทยานิพนธ์เราที่เข้ารอบคัดเลือก Young Thai Artist Award  ปีที่แล้ว (Form Nakhonsawan) ที่เราถ่ายสถาปัตยกรรมวัด ตอนเราออกไปถ่ายวัดในโปรเจ็กต์นั้น เราเห็นซุ้มประตูวัดแล้วรู้สึกว่าเป็นอีกประเด็นที่น่าสนใจ โดยเฉพาะในต่างจังหวัดที่ซุ้มประตูวัดไม่ได้มีแบบแผนชัดเจนเหมือนวัดในกรุงเทพฯ สำหรับเรา ซุ้มประตูวัดเป็นสถาปัตยกรรมที่สะท้อนการเปลี่ยนแปลงของวัฒนธรรม และพูดถึงปฏิสัมพันธ์ของวัดกับชุมชนด้วย

งานซุ้มประตูวัด เราถ่ายช่วงเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายน เกือบ 2 เดือน ตอนนั้นเราเรียนจบกลับมาทำงานที่บ้านที่จังหวัดนครสวรรค์ เลยไม่ได้ให้เวลาโปรเจ็กต์นี้เต็มที่เหมือนตอนทำวิทยานิพนธ์ เราเลยต้องวางแผนเพื่อไปได้มากที่สุดเท่าที่ไปได้ เช่นถ้าเราวางแผนว่าวันนี้เราจะไปอำเภอท่าตะโก เราก็ต้องเปิด Google Map ดูว่าเส้นทางผ่านวัดไหนบ้าง วัดนั้นมีซุ้มประตูไหม ขากลับต้องวนกลับทางไหน เพื่อให้ 1 วันถ่ายซุ้มประตูวัดให้ได้มากที่สุด สุดท้ายเราไปมาเกือบหมดในรัศมี 50 กิโลเมตรจากบ้านเรา นั่งนับว่าได้ประมาณ 100 ซุ้มประตูวัดแล้ว เลยคิดว่าหยุดถ่ายขั้นแรกไว้เท่านี้ก่อน

เอาจริงๆ เราอยากเก็บภาพที่อื่นด้วยนอกจากในจังหวัดนครสวรรค์ อยากไปให้ได้ทุกภาค เพราะซุ้มประตูวัดของแต่ละวัฒนธรรมและแต่ละพื้นที่แตกต่างกัน แล้วสุดท้ายถ้ามีโอกาสอยากทำเป็นโฟโต้บุค

Q:ได้เรียนรู้อะไรจากการทำงานภาพถ่าย

A:สำหรับเรา เราพบว่าการถ่ายภาพก็ต้องวางแผน พอเรามีข้อจำกัดในการทำโปรเจ็กต์ เราอาจไม่สามารถแค่อยากถ่ายแล้วออกไปถ่ายได้ แต่ต้องใช้การวางแผนมาช่วยให้โปรเจ็กต์มันสำเร็จได้ คือถึงเราจะไม่รู้ว่าวันนี้จะไปถ่ายอะไรหรือจะเจออะไร แต่เราก็ต้องวางแผนว่าเราจะไปถนนเส้นไหน การถ่ายภาพทำให้เราได้เรียนรู้เรื่องการจัดการตัวเอง งาน และคนอื่นที่เกี่ยวข้อง

Q:มองอนาคตตัวเองไว้อย่างไรบ้าง

A:อยากทำงานเกี่ยวกับศิลปะ เป็นโปรดิวเซอร์หรือไม่ก็งานด้านการตลาดหรือประชาสัมพันธ์ เพราะเราชอบการจัดการมากกว่างานช่างภาพอาชีพ เราเลยอยากใช้ทั้งทักษะด้านศิลปะและบริหารในงาน หรือไม่แน่ถ้าสอบราชการติดเราอาจเป็นข้าราชการคนหนึ่งที่มีงานอดิเรกเป็นงานถ่ายภาพ

Q:อะไรที่จะทำให้เราเลิกถ่ายภาพ

A:เราไม่ได้เลือกสายอาชีพช่างภาพอาชีพ เพราะเราไม่ชอบถ่ายคน และถ้าเป็นช่างภาพอาชีพเรารู้สึกว่ามันอาจเลี่ยงไม่ได้

Q:อยากให้วงการภาพถ่ายพัฒนาไปข้างหน้าอย่างไร

A:จริงๆ เรารู้สึกว่าถ้าเราพัฒนาวงการภาพถ่ายและศิลปะไปถึงจุดหนึ่ง มันจะส่งเสริมจุดอื่นในภาคเศรษฐกิจของประเทศด้วยโดยเฉพาะการท่องเที่ยว เราเลยคิดว่ามันควรเป็นการสนับสนุนจากหลายๆ ฝ่ายในสังคม

ระดับใหญ่สุดคงเป็นด้านการเมืองเลย ภาครัฐควรมีนโยบายสนับสนุนศิลปะมากกว่านี้ เราเองเป็นติ่งเกาหลี เห็นว่ารัฐบาลเกาหลีมีนโยบายสนับสนุนศิลปะตั้งแต่ระดับการศึกษาที่ศิลปะเข้าถึงเด็กนักเรียน อีกฝ่ายที่เรามองว่าให้การสนับสนุนช่างภาพและศิลปินรุ่นใหม่ได้คือผู้ใหญ่ในวงการ อย่าง SCG ที่ทำ Young Thai Artist Award ก็ทำให้เรามีทุนพัฒนางานต่อได้ สุดท้าย ครอบครัวและคนรอบตัวเองก็เป็นส่วนสำคัญมาก ศิลปะมันมีต้นทุนอยู่แล้ว ค่าเรียนก็แพง อุปกรณ์ก็แพง อย่างเราเอง รู้สึกโชคดีมากที่เพื่อนเราและคนในครอบครัวสนับสนุนเรามาตลอด ทั้งกำลังใจและค่าใช้จ่าย

ติดตามผลงานอื่นๆ ของฟางได้ที่ Instagram: @skymyfang

 

เปา – สุกฤษฎิ์ ปัจจันตดุสิต

 

Q:ตอนนี้ทำอะไรอยู่

A:ผมทำงานเป็นช่างภาพแฟชั่นให้แบรนด์เสื้อผ้า DAVIE JONES ซึ่งเอาเข้าจริง งานที่ผมถ่ายเป็นอาชีพกับภาพถ่ายส่วนตัวผมคนละสไตล์กันเลย งานส่วนตัวผมชอบถ่ายจากการออกไปเดินเล่นใช้ความคิดกับตัวเองมากกว่า งานถ่ายแฟชั่นที่ทำอยู่เลยไม่ใช่งานแบบที่ถนัด แต่รู้สึกว่าท้าทายดี

Q:เล่าถึงงานภาพถ่ายที่ส่งโครงการ Young Thai Artist Award ให้ฟังหน่อย

A:งานของผมชื่ออนัตตา เกี่ยวกับการพยายามค้นหาความหมายในสถานที่และประสบการณ์ที่ผมพบเจอ ผมเริ่มถ่ายภาพแรกในโปรเจ็กต์นี้เมื่อ 3 ปีที่แล้ว ตอนผมพาเพิร์ธ (ศิรินทร์ ม่วงมัน) แฟนของผมไปเที่ยวสยาม ผมก็ถ่ายภาพตามปกติ แล้วมีบางภาพที่รู้สึกว่ามันดีจังเลย ผมเลยเก็บภาพที่ผมรู้สึกแบบนั้นกับมันมาเรื่อยๆ ซึ่งมักจะเป็นภาพที่ผมถ่ายตอนเดินทาง และภาพมักดูอวกาศ อาจเพราะผมรู้สึกว่าการได้ไปที่ที่ไม่คุ้นเคยแต่ละครั้งเหมือนได้ออกไปสำรวจนอกอวกาศ

พอได้ภาพมาจำนวนหนึ่ง ผมก็รวบรวมแล้วถามตัวเองว่าเราเห็นอะไรในภาพเหล่านั้น แล้วผมก็พบว่า สิ่งที่ผมพบเจอจากการเดินทางคือความเข้าใจว่าทุกอย่างในโลกไม่ได้คงอยู่ตลอดไป ในวันนี้เราเห็นแบบนี้ ในอนาคตมันอาจเปลี่ยนไปอีกแบบเลยก็ได้ เราทำอะไรไม่ได้ที่มันจะเปลี่ยนไปหรือหายไป ไม่ใช่แค่สถานที่ที่ไม่ถาวร แต่สถานการณ์ที่ผมเดินทางไปเจอมันก็จบไปแล้ว มันถูกเก็บไว้ในภาพถ่ายของผมก็จริง แต่ภาพถ่ายเองก็ไม่ได้อยู่ตลอด ทุกอย่างมีเวลาของมัน ตรงกับหลักศาสนาพุทธว่า ‘อนัตตา’ หมายถึงไม่มีตัวตน เป็นสภาวะที่ไม่สามารถบังคับได้

ในอนาคต ผมอยากเข้าใจไตรลักษณ์ ขันธ์ 5 มากขึ้นเพื่อพัฒนางานภาพถ่ายชุดต่อไป ซึ่งจริงๆ มันก็เกี่ยวข้องกับอนัตตาเช่นกัน

Q:ได้เรียนรู้อะไรจากการทำงานภาพถ่าย

A:ได้เรียนรู้เรื่องเวลากับความทรงจำ คือผมทำงานวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับครอบครัว บ้านผมอยู่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ผมเข้ามาเรียนกรุงเทพตอนมหาวิทยาลัยเลยไม่ค่อยได้กลับบ้านตั้งแต่ปี 1 กลับบ้านมากสุดก็อาทิตย์เดียว ไม่ค่อยได้ใช้เวลากับครอบครัว ระยะห่างระหว่างผมกับครอบครัวก็มากขึ้น แต่พอผมทำวิทยานิพนธ์เรื่องครอบครัว ต้องกลับไปถ่ายเขา ภาพถ่ายก็มาเป็นตัวกลางที่ทำให้ผมได้กลับไปใกล้ชิดเค้าอีกครั้ง ทั้งการได้กลับไปถ่ายรูปเขา รวมถึงตอนกลับมากรุงเทพฯ ก็ได้ใกล้ชิดผ่านงานภาพถ่ายที่ผมถ่ายครอบครัว

Q:มองอนาคตตัวเองไว้อย่างไรบ้าง

A:ที่ผ่านมาทุกอย่างในชีวิตผมเป็นเรื่องบังเอิญมากๆ จนผมรู้สึกว่าหรือชีวิตคือเรื่องบังเอิญ ผมเลยคิดว่าไม่มีอะไรแน่นอน แต่คิดว่าคงถ่ายรูปต่อไปไม่คิดจะเลิก

Q:อะไรที่จะทำให้เราเลิกถ่ายภาพ

A:อย่างที่บอกไปว่าไม่คิดจะเลิกถ่ายภาพเลย แต่สิ่งที่ถ้าเกิดจะส่งผลต่อจิตใจมากจริงๆ คงเป็นการเลิกกับเพิร์ธ เพราะเราเจอกันด้วยภาพถ่าย คบกันด้วยภาพถ่าย คุยกับเรื่องภาพถ่ายมาตลอด การถ่ายรูปกับเขามันมีความหมายกับผมมาก เวลาออกไปเดินด้วยกัน คุยภาษาเดียวกัน ความทรงจำเรื่องภาพถ่ายของผมมีเขาเข้ามาแล้ว ถ้าเลิกกับเขาก็คงส่งผลกับถ่ายรูปของผมไปด้วย

Q:อยากให้วงการภาพถ่ายพัฒนาไปข้างหน้าอย่างไร

A:ผมคิดว่าสิ่งสำคัญคือการผลักดันช่างภาพรุ่นใหม่ น้องๆ รุ่นใหม่มีความคิดแตกต่างน่าสนใจ ไปไกลได้มากๆ ถ้าผมโตขึ้นและมีพลังพอจะช่วยสนับสนุนเขาได้ก็จะทำ อย่างตอนนี้ก็มีความคิดว่าถ้ามีเวลา ผมกับเพิร์ธอยากทำเพจเล็กๆ ไว้แชร์ผลงานน้องๆ เผื่อจะช่วยโปรโมทเขาได้ เหมือนที่พี่ๆ CType, D1839, Arc Tribe ทำ อีกอย่างคือผมชอบการแนะนำอินสตาแกรมช่างภาพต่างประเทศร่วมสมัยที่พี่ปูเป้ (จุฑารัตน์ ภิญโญดุลยเจต) แชร์มาเรื่อยๆ มันทำให้เข้าถึงง่าย ดูงานได้ง่ายขึ้นกว่าการหาเอง สำหรับผมมันดีมากๆ

เวทีประกวดเองก็สำคัญมากต่อการพัฒนาช่างภาพ อย่าง Young Thai Artist Award หรือ 3 Krung x Sony Alpha University Camp มันทำให้เราได้พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้คนใหม่ๆ ได้ความรู้ที่นอกเหนือจากห้องเรียน เลยอยากให้มีเวทีประกวดเยอะขึ้นกว่านี้ในไทย

ติดตามผลงานอื่นๆ ของเปาได้ที่ Instagram:@siixty_4

 

เฟรม – ฉัตรมงคล รักราช

 

Q:ตอนนี้ทำอะไรอยู่

A:เรียนอยู่คณะศิลปกรรม เอกภาพถ่าย ที่มหาวิทยาลัยรังสิต ปีนี้จบแล้วครับ

Q:เล่าถึงงานภาพถ่ายที่ส่งโครงการ Young Thai Artist Award ให้ฟังหน่อย

A:เกิดจากความรู้สึกอยากไปข้างนอกช่วงกักตัวโควิด-19 ที่ไปไหนไม่ได้ แล้วเจอเหตุการณ์รถชนกระดูกเท้าแตก ยิ่งไปไหนไม่ได้เลยประมาณ 3 อาทิตย์ ก็เลยลองดูรูปที่เคยถ่ายไว้บวกกับรูปที่ถ่ายช่วงนั้น เอามารวมกันเพื่อเล่าความรู้สึกเบื่อ อึดอัด ส่วนมากงานชุดนี้ถ่ายที่บ้านไม่ก็แถวบ้าน เลยเหมือนได้กลับมามองตัวเองในพื้นที่รอบตัวด้วย

Q:ได้เรียนรู้อะไรจากการทำงานภาพถ่าย

A:รู้สึกว่าการทำงานส่วนตัวมันเหมือนได้ self therapy ทำให้ได้รู้จักตัวเองมากขึ้น

Q:มองอนาคตตัวเองไว้อย่างไรบ้าง

A:น่าจะเหมือนหลายๆ คนในรุ่นเดียวกันคือยังไม่ค่อยรู้ ที่คิดไว้คืออยากไปเรียนต่อต่างประเทศ

Q:อะไรที่จะทำให้เราเลิกถ่ายภาพ

A:ถ้างานที่ทำกินเวลามากจนไม่มีเวลาไปถ่ายคงทำให้ถ่ายน้อยลง แต่คงไม่ถึงกับเลิกหรอก เพราะโทรศัพท์ก็ยังถ่ายได้

Q:อยากให้วงการภาพถ่ายพัฒนาไปข้างหน้าอย่างไร

A:อยากให้ภาครัฐสนับสนุนศิลปะมากขึ้น เพราะตอนนี้เท่าที่เห็นจะเป็นการสนับสนุนจากทางภาคเอกชนมากกว่า ซึ่งการสนับสนุนจากภาครัฐอาจไม่ต้องลงทุนกับศิลปะด้วยซ้ำ แค่ให้รัฐมีสวัสดิการที่ทั่วถึง ให้คนมีชีวิตที่ดีขึ้น คนก็น่าจะได้ไปทำสิ่งที่ชอบมากขึ้น

 

เพิร์ธ – ศิริน ม่วงมัน

 

Q:ตอนนี้ทำอะไรอยู่

A:ตอนนี้เรียนปีสี่อยู่ที่คณะวิจิตรศิลป์ สาขาวิชาการถ่ายภาพสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีรับงานถ่ายภาพอื่นๆ บ้าง งานที่เรากำลังทำอยู่ตอนนี้เป็นงานของอาจารย์โฆษิต จันทรทิพย์  เป็นโปรเจ็กต์ที่เราตามไปถ่ายโลงศพศิลปะของเขา มันจะเป็นงานที่เขาสร้างโลงศพแล้วให้คนบริจาคแล้วก็เอาโลงศพนี้ไปบริจาคให้กับศพไร้ญาติ ตัวเราก็ตามไปถ่ายตั้งแต่ที่โรงพยาบาลตอนนำร่างไร้วิญญาณเข้าสู่โลง ส่วนของพิธีกรรม ไปจนถึงขั้นตอนการฌาปนกิจ ขั้นตอนทั้งหมดถูกถ่ายทอดในรูปแบบภาพนิ่งหมดเลย เราได้เห็นทุกกระบวนการ มันคืองานศพปกติเลยเพียงแต่โลงศพนั้นเป็นงานศิลปะ

Q:เล่าถึงงานภาพถ่ายที่ส่งโครงการ Young Thai Artist Award ให้ฟังหน่อย​​

A:ถ้าถามว่าทำไมถึงส่งประกวดเรามีเป้าหมายว่าเราอยากทำงานของเราให้เป็นที่รู้จัก ส่วนหนึ่งก็คืออยากได้ทุนมาทำงานต่อ ต่อยอดงานตัวเอง เป็นส่วนหนึ่งในการซัพพอร์ตตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นในการผลิตชิ้นงาน เรายังมีงานอื่นๆ ด้วยที่ยังไม่เป็นรูปเป็นร่างซึ่งถ้าได้เงินตรงนี้มาก็จะเอาไปช่วยให้เราทำงานอื่นๆ ได้ งานที่ส่งเป็นโปรเจ็กต์ที่ทำในช่วงที่เรียนอยู่ตอนปีสาม เป็นโปรเจ็กต์ส่วนตัวซึ่งอาจารย์เขาก็ให้เราทำจากความคิดของเราเอง เริ่มหาแนวทางเพื่อให้ต่อยอดไปสู่งานวิทยานิพนธ์ ซึ่งงานนี้มันคืองานส่วนตัวมากๆ เราชอบแสง ชอบเดิน ชอบถ่ายภาพ เราชอบถ่ายภาพ ชอบมองแสงตั้งแต่ประถมแล้ว แล้วก็มีแนวสตรีทด้วย เราเอาหลายๆ อย่างที่เราชอบเป็นตัวเองมาผสมจนกลายเป็นงาน still light, still life เราตีความ still light คือแสงอาทิตย์ที่มันอยู่ และ still life คือวัตถุที่เราไปมอง แล้วเกิดความรู้สึกแล้วอยากบันทึกไว้ 

Q:ได้เรียนรู้อะไรจากการทำงานภาพถ่าย

A:ได้เปิดมุมมอง ได้รู้จักคนได้คุยกับคน เปิดมุมมองของเขา เติมความสนใจในตัวเราเองด้วย อย่างงานโลงศพเราก็มีไปต่อยอดงานประเภทสารคดีของเราได้

Q:มองอนาคตตัวเองไว้อย่างไรบ้าง

A:อยากอยู่ในวงการภาพถ่าย เราสนใจเรื่องงานภาพถ่ายมาก ไม่มีสิ่งอื่นเลย ไม่มีกราฟิกมาผสม ซึ่งปัจจุบันความต้องการตลาดการทำงานมันต้อง multi-tasking คนทำงานได้หลายอย่าง เราเลยไม่รู้ว่าจะไปรอดไหม เรารู้สึกว่างานศิลปะมันมีความหลากหลายมากขึ้น งานภาพสามมิติ ที่อาจจะเข้ามาแทนที่ภาพถ่ายได้ แล้วเราก็ไม่อยากบังคับให้ใครมาชอบงานเรา เราอยากให้งานเราสื่อสารถึงใครบางคนที่เห็นด้วยกับเราจริงๆ แล้วมันจะไปต่อได้เอง 

Q:อะไรที่จะทำให้เราเลิกถ่ายภาพ

A:ตอนนี้ยังไม่คิดที่จะเลิกถ่าย แต่ถ้าจะเลิกคงเป็นเพราะเราไปเจอความเหนื่อยล้าจากอะไรสักอย่าง หมดไฟ ซึ่งมันเกิดจากสังคมรอบตัวที่ทำให้เราไม่อยากถ่าย มันไม่ซัพพอร์ตเรามากพอ แต่ถ้าสำหรับเราในตอนนี้เรายังไหว เรายังมีแรงมากพอที่จะถ่ายภาพต่อไป

Q:อยากให้วงการภาพถ่ายพัฒนาไปข้างหน้าอย่างไร

A:อยากผลักดันพวกนักศึกษาให้ไฟส่องถึงตั้งแต่ยังเรียนอยู่ ไม่ได้จำกัดแค่ว่ามีงานประกวดแล้วไฟจะส่องถึง อยากให้มันถึงตั้งแต่เขาเริ่มทำงาน แสดงงานในมหาวิทยาลัย อยากให้มีพื้นที่ศิลปะให้มากกว่านี้ อันนี้ไม่ได้จำกัดแค่ภาพถ่าย แต่ว่าทุกประเภทงานสร้างสรรค์เราอยากให้มีพื้นที่มาแลกเปลี่ยนกัน อยากให้คนทั่วไปได้เข้ามาเห็นว่าพวกเราทำอะไร 

ติดตามผลงานอื่นๆ ของเพิร์ธได้ที่ Instagram:@perthsirin

 

เอิร์ธ – พงศธร บุญโต

 

Q:ตอนนี้ทำอะไรอยู่

A:เป็นช่างภาพอิสระ เป็นผู้ช่วยช่างภาพอิสระด้วยเหมือนกัน เป็นงานที่เราอยากทำอยู่แล้ว รวมทั้งยังทำ production house กับเพื่อนๆ ตอนนี้ก็อยู่ในช่วงก่อร่างสร้างตัวมีทั้งภาพเคลื่อนไหวและภาพนิ่ง งานไม่ได้เยอะแต่พออยู่ได้ ถามว่าสนุกไหมก็สนุกเพราะเราได้ทำงานที่เราชอบพร้อมกับเพื่อนๆ ไม่กดดันเรา เพราะเราเคยทำงานบริษัทแล้วเราเจอทวงงานตอนตีสองมาระยะเวลาหนึ่ง ก็เลยคิดว่าถ้าเลือกได้เราก็อยากทำอะไรที่อยากทำ ซึ่งตอนนี้ก็ยังอยู่ในจุดที่เราแฮปปี้ มีเวลาให้กับตัวเองได้ 

Q:เล่าถึงงานภาพถ่ายที่ส่งโครงการ Young Thai Artist Awardให้ฟังหน่อย

A:ตอนแรกงานชื่อ ‘ความสับสน’ กรรมการก็ฟีดแบคกลับมาว่าชื่องานเรามันคลุมเครือไป ยังไม่ตรงประเด็น เราก็เลยกลับมาคิดกลับมาคุยกับตัวเองและใช้ชื่อว่า ‘ปักหลัก’  ด้วยแนวคิดของงานคือการเผชิญหน้ากับความกลัวในวัยเด็ก และเราต้องการลบล้างความกลัวนั้น ซึ่ง ‘ปักหลัก’ คือความในใจของเราตอนสร้างชิ้นงานที่ว่า เราจะปักหลักเพื่อสู้กับความกลัวที่หลอกหลอนเราตั้งแต่ยังเด็ก แล้วในอีกความหมายหนึ่งคือไฟที่มาปักนั้นเขาเรียกว่า ‘ไฟหลัก’ มันก็เลยเป็นสองความหมายในชื่อเดียวเราก็เลยเลือกชื่อนี้ มันเหมาะสมกับงานเรามากกว่า ตอนแรกที่เราใช้ชื่อความสับสน เพราะตอนเราไปโฟกัสว่าเราไม่รู้ว่าเรากลัวหรือเราไม่กลัวแล้วกันแน่เราก็เลยใช้ชื่อว่าความสับสน แต่พอเรามามองย้อนกลับไปทำความเข้าใจกับตัวเองและตัวงานมากขึ้น ตัวประเด็นหลักของมันไม่ได้อยู่ที่ความสับสนของเรานะมันอยู่ที่การสู้กับความกลัวตอนเด็กๆ ของเรามากกว่า 

 

‘ปักหลัก’  คือชุดภาพที่สร้างจากความกลัวที่เราได้มาจากคำบอกเล่า คำโกหกของผู้ใหญ่ที่สร้างเรื่องว่ามีผี อย่าไปที่ตรงนั้น เป็นกุศโลบายให้เราไม่ไปเล่นในที่เปลี่ยวเพราะกลัวเราได้รับอันตราย เราก็เชื่อฝังใจจนกลายมาเป็นความกลัว จนโตที่ถึงแม้ว่าจะรู้ว่ามันไม่จริง พอไปอยู่ตรงสถานที่จริงเราก็ยังกลัวมันอยู่ ซึ่งเราอยากเผชิญหน้ากับมัน ว่ามันไม่มีอะไรจริงๆ เราเลยไปในที่ที่ผู้ใหญ่เคยหลอกเราแล้วเอาไฟวัดมาปัก ซึ่งไฟวัดนี้เป็นตัวแทน เป็นภาพจำของความสนุกที่เราเคยพบเจอ เรียกว่าเอามาต่อสู้กันเลย เราอยากเล่าความรู้สึกที่เราไปปักไฟตอนนั้นด้วยว่าเราก็มีความกลัวนะ แต่เราไม่ได้กลัวเรื่องเล่าเหล่านั้นแล้วเรากลัวสัตว์มีพิษ เรากลัวอันตรายที่จับต้องได้มากกว่า เป็นจุดเริ่มต้นของความกล้า 

 

หลายโปรเจ็กต์ที่ทำมามันไม่ได้พูดถึงตัวเรา แต่ในขณะที่งานนี้เป็นงานที่เราพูดเรื่องตัวเองทั้งหมด มาจากข้างในของเรา มาจากความรู้สึกกลัวของเราจนพัฒนามาเป็นความกล้าของเรา มันเป็นโปรเจ็กต์ที่เป็นตัวเรามากที่สุดแล้ว เราเลยอยากเลือกงานที่เป็นตัวเราส่งประกวด มันไม่มีใครเข้าใจเรื่องของตัวเราได้เท่ากับตัวเราเองแล้ว

อ่านงาน ‘ความสับสน’ ก่อนจะถูกตีความใหม่เป็น ‘ปักหลัก’ ได้ที่นี่

Q:ได้เรียนรู้อะไรจากการทำงานภาพถ่าย

A:การถ่ายภาพเป็นสิ่งที่ทำให้เรารู้สึกมีคุณค่า เราได้เรียนรู้เยอะเลยนะ อย่างถ้าเราทำงานด้วยความรู้สึกของเราจริงๆ เราจะรู้ว่าเรามีส่วนร่วมไปกับงาน งานคือส่วนหนึ่งของเราที่เราแบ่งมาเพื่อที่จะเล่าให้คนอื่นดู แต่พอเราทำเรื่องอื่น อย่างงานวิทยานิพนธ์เราทำเรื่องปอเต็กตึ๊งที่เป็นแอพพลิเคชั่น เรารู้สึกว่าเราเข้าไปในพื้นที่ของคนอื่น ไปฟังเขาแล้วนำมาเล่าต่อ ซึ่งมันก็จะไม่ได้รับการถ่ายทอด 100% ซึ่งเราเรียนรู้ว่าสิ่งเหล่านี้เราเลือกได้ว่าเราจะเล่าเรื่องในมุมมองของเรา เราได้รู้จักการผนวกงานที่เป็นเรื่องราวของคนอื่นผ่านสายตาของเรา 

Q:มองอนาคตตัวเองไว้อย่างไรบ้าง

A:น่าจะเป็นช่างภาพไปเรื่อยๆ จนถึงจุดหนึ่งแล้วเปลี่ยนตัวเองเป็นเอเจนซี่ เรารู้สึกว่าช่างภาพมันใช้แรงกายเยอะมากนะ ทุกวันนี้โตไปร่างกายเราเสื่อมถอยลงอยู่แล้ว เราสามารถทำงานนี้ไปจนแก่ได้ไหม เราทำได้แน่นอน แต่ว่าถึงจุดหนึ่งเราจะรู้ว่าร่างกายเราไม่ไหวแน่ๆ พอถึงจุดหนึ่งเราก็อยากไปช่วยเหลือคนอื่นมากกว่า

Q:อะไรที่จะทำให้เราเลิกถ่ายภาพ

A:เราเคยคิดเรื่องนี้ตั้งแต่เริ่มถ่ายภาพใหม่ๆ เลย ว่าเราจะเลิกถ่ายภาพก็ต่อเมื่อเราตาบอด มันมีช่างภาพตาบอดไหมมันมี แต่ภาพถ่ายของเราตลอดยี่สิบปีมันมาจากตาของเรา เราสร้างงานด้วยตาของเรา นี่คือความเคยชิน ถ้าจุดหนึ่งสิ่งนี้หายไป เราคงไม่สามารถสร้างสรรค์งานให้เหมือนเดิมไม่ได้แล้ว

Q:อยากให้วงการภาพถ่ายพัฒนาไปข้างหน้าอย่างไร

A:ตอนนี้สิ่งที่เราไม่ชอบคือการแบ่งหมวดหมู่ในการถ่ายภาพ จริงๆ ภาพถ่ายมันมีความหลากหลายสูงมากเหมือนกับคนเพราะคนเป็นผู้สร้างสรรค์ผลงาน การที่เราไปจัดว่าคนนี้เป็นงานประเภทนี้ งานนี้เป็นงานประเภทนี้เท่านั้นเราว่ามันปิดโอกาส และกีดกันความเป็นไปได้ของงานมากเกินไป ภาพๆ หนึ่งมันสามารถเป็นหลายประเภทได้ เราอยากลดเส้นแบ่งลงโฟกัสที่คนทำงานมากยิ่งขึ้น

ติดตามผลงานอื่นๆ ของเอิร์ธได้ที่ Instagram:@earthz.quake

 

เต้ย – ณัฐวุฒิ เตจา

 

Q:ตอนนี้ทำอะไรอยู่

A:เป็นช่างภาพประจำอยู่ที่ Urban Creature แล้วก็ทำ personal project ในเวลาว่างๆ ไปด้วย ตอนนี้ก็ร่วมโครงการ In-Turn-Shift กับ D1839 อยู่ด้วย ตอนนี้มีหลายๆ อย่างที่เกิดขึ้น เราสนุกกับมันมากแต่มันก็แลกมาด้วยการที่เราต้องจัดการเวลา จัดการทรัพยากรหลายๆ อย่างที่มี ให้มันสามารถเฉลี่ยไปทำทุกอย่างที่โอเค

 

Q:เล่าถึงงานภาพถ่ายที่ส่งโครงการ Young Thai Artist Awardให้ฟังหน่อย

A:เราส่งงานในเวทีนี้ได้ปีสุดท้ายแล้ว มันก็เลยเป็นเหตุผลหนึ่งที่เราอยากทำให้มันสุดๆ เหมือนกัน แล้วมันมีงานชุดหนึ่งที่เราทำขึ้นมาใหม่แล้วพัฒนาในช่วงปีนี้เลยอยากส่งดู ชื่อว่า 300 Miles มันเป็นงานที่ถ่ายสิ่งที่ถูกทิ้งร้างหรือของที่ไม่มีใครสนใจแล้วทำให้มันเป็นปกติทั้งๆ ที่เรารู้สึกว่าสิ่งนี้มันไม่ปกตินะ เวลาเห็นสิ่งของเหล่านี้เรารู้สึกว่ามันเชื่อมโยงกับตัวเรา เพราะเราก็รู้สึกว่าตัวเราเองถูกทิ้งร้างไว้นานเหมือนกัน แล้วตัวงานนี้มีความเชื่อมโยงกับงานเก่าของเราที่เคยส่งไปปีที่แล้วด้วย คือปีที่แล้วเราส่ง In My Place เป็นเรื่องของสถานที่ ความรู้สึก ซึ่งมันเป็น personal project เหมือนกัน มันอาจจะเป็นความต่อเนื่อง การพัฒนาของเรา มุมมองของเรา 

Q:ได้เรียนรู้อะไรจากการทำงานภาพถ่าย

A:ถ้าในเรื่องสายอาชีพ เรารู้สึกว่าสิ่งที่ได้เรียนรู้คือการพัฒนาเทคนิค การที่จะพยายามเบลนงาน ออฟฟิศกับงานส่วนตัวให้มันซัพพอร์ตกันหรือให้มันเป็นไปในทางเดียวกัน แต่รู้สึกว่าตอนนี้มันยากอยู่ เรายังเจองานลูกค้าที่เขาซื้อเราไม่ใช่เพราะงานที่เราทำอยู่ มันก็ยากอยู่แต่สำหรับเรามันคือการเรียนรู้ว่าจะทำยังไง ในไทยตอนนี้มันยังเป็นเรื่องยาก เราอาจจะต้องฝืนหน่อย แต่เราก็มีวิธีของเราในการซ่อนความเป็นเราเข้าไปในชิ้นงาน

Q:มองอนาคตตัวเองไว้อย่างไรบ้าง

A:ยังเห็นตัวเองถ่ายภาพอยู่ ทั้งส่วนที่ได้เงินและส่วนที่เป็น personal project รู้สึกว่าต้องหาทำอยู่ ก็เหมือนคนทั่วไปมีความอยาก อยากทำ zine ทำหนังสือ อยากทำกิจกรรมเกี่ยวกับภาพถ่ายไปเรื่อยๆ 

Q:อะไรที่จะทำให้เราเลิกถ่ายภาพ

A:ตอนนี้เราคิดไม่ออกเลยว่าเราจะเลิกถ่ายภาพได้ยังไง ตอนที่แย่ที่สุด หรือ ดีที่สุดของชีวิตเราก็ยังถ่ายภาพเพื่อบอกอะไรบางอย่าง เรารู้สึกว่าการถ่ายรูปสำหรับเรามันเป็นเหมือนสิ่งบันทึกหนึ่ง เป็นสมุดจด เป็นวิธีการบันทึกแบบหนึ่งที่เราทำได้ และเราถนัดมากกว่า อย่างบางคนชอบเขียนชอบจด สำหรับเรา เราชอบกดถ่ายมากกว่า

Q:อยากให้วงการภาพถ่ายพัฒนาไปข้างหน้าอย่างไร

A:อยากให้คนเข้าใจการทำงานของภาพถ่าย ให้มากกว่านี้สำหรับการถ่ายภาพในแต่ละแบบ อยากให้คนรู้บริบท จุดประสงค์ของการถ่ายภาพในแต่ละแบบผ่านอุปกรณ์ที่แตกต่างกัน หรือคุณภาพไม่เท่ากัน แล้วเราจะมองภาพทุกภาพมีค่าเท่ากันหมด แม้กระทั่งภาพมือถือ ภาพที่สวยไม่สวย ถ้าเราเข้าใจบริบท จุดประสงค์ หรือเนื้อหาของมัน เรารู้สึกว่ามันจะเกิดความเข้าใจงานภาพถ่ายมากขึ้น ตอนนี้เราเห็นคนที่หลงทางเพียงเพราะมันถูกมองว่าไม่สวย แต่มันยังมีบริบท หรือเงื่อนไขหลายๆ อย่างที่ไม่สามารถทำได้ แต่ว่าสุดท้ายเขาหลงทางไปก่อน เขากลายเป็นคนที่ตกหล่น เราไม่อยากให้เกิดเรื่องแบบนี้ เพราะตอนเราเรียน เพื่อนเราหล่นหายไปเยอะเหมือนกัน เราเองก็รู้สึกเสียใจเหมือนกัน

ติดตามผลงานอื่นๆ ของเต้ยได้ที่ Instagram:@toey_nthv

 

ผลประกวดเวที Young Thai Artist Award ประจำปี 2021 จะประกาศผู้ชนะเลิศเร็วๆ นี้ อย่างไรก็ตาม ฝากติดตามผลงานก้าวต่อๆ ไปของช่างภาพทั้ง 6 คนนี้ในอินสตาแกรมของพวกเขาและทาง D1839 รวมถึงฝากติดตามเป็นกำลังใจให้ช่างภาพรุ่นใหม่คนอื่นๆ รวมถึงคนทำงานในวงการภาพถ่ายภาคส่วนอื่นๆ ที่ต่างกำลังเติบโตและช่วยกันผลักดันวงการภาพถ่ายนี้ให้เป็นในแบบที่วาดหวัง

พิสูจน์อักษร: ชลดา สวนประเสริฐ