ภาพ: ธันวา ลุจินตานนท์
ตัวตนและภาพถ่ายของมานิต ศรีวานิชภูมิ
ผมเชื่อว่าหลายคนคงคุ้นตากันเป็นอย่างดีกับมิสเตอร์พิงค์แมน ชาวเอเชียนร่างท้วมสวมสูทสีชมพูเชยระเบิดเข็นรถช้อปปิ้งไปตามสถานที่ต่างๆ ทั้งในโลกปัจจุบันและในอดีต สัญญะแห่งการบริโภคนิยมนี้ได้ตายจากโลกไปเมื่อปีค.ศ. 2018 ตามที่ปรากฏในหนังสือ Pink Man Story ที่เป็นบทสรุปของนักบุญแห่งลัทธิรถเข็นช้อปปิ้ง โดยมานิตตั้งใจจะเผยแพร่โฟโต้บุ๊กภายในปีค.ศ. 2019 แต่ต้องพับปิดไปเนื่องจากสถานการณ์โควิด ซึ่งในช่วงระหว่างนั้นก็มีหนังสืออีกสองเล่มที่เขาได้ตีพิมพ์ออกมาคือ When I Was Twenty (เมื่อฉันยี่สิบ) ผลงานภาพถ่ายขาวดำแนวทดลองในสมัยวัยหนุ่มที่ขบคิดถึงความตายที่แสนห่างไกล และ When I Saw A Blue Wing ไดอารี่บันทึกการเดินทางไปจัดแสดงงานต่างประเทศในระยะหลายปีที่ผ่านมา ด้วยสายตาที่จับจ้องถึงช่วงเวลาที่เส้นแบ่งความจริงกับความเสมือนดูพร่าเลือน ซึ่งทั้งหมดนี้เขาได้นำมาเรียงต่อกันสร้างเป็นการเดินทางของเขาในฐานะช่างภาพ การเดินทางจากจุดเริ่มต้นตั้งแต่การตั้งคำถามผ่านตัวเองในฐานะปัจเจกสู่การสร้างบทสนทนาต่อสังคมด้วยมิสเตอร์พิงค์แมน สู่การมาเป็น Pink, Black & Blue นิทรรศการภาพถ่ายเดี่ยวของมานิต ศรีวานิชภูมิ ที่ได้หนิง-อัครา นักทำนา มาทำหน้าที่คิวเรทภาพโดยเฉพาะในส่วนของเซ็ตจาก When I Was Twenty และ When I Saw A Blue Wing ซึ่งรูปในส่วนพิงค์แมนจะเป็นภาพใหม่ที่ยังไม่เคยจัดแสดงในไทยมาก่อน
สถานที่จัดอย่าง HOP (Hub Of Photography) ก็ค่อนข้างมีความหมายกับตัวนิทรรศการในครั้งนี้ แม้ว่าทางศิลปินหรือคิวเรเตอร์ก็คงจะไม่ได้ตั้งใจ ทั้งเรื่องของถนนศรีนครินทร์ที่เป็นที่ตั้งของห้างซีคอนสแควร์ในตอนนี้ก็เคยเป็นโลเคชันในการใช้ถ่ายภาพบางส่วนในเล่ม When I Was Twenty เมื่อ 40 ปีก่อน อีกทั้งความที่ HOP ตั้งอยู่ในห้างสรรพสินค้าก็เข้าครรลองไปกับพิงค์แมนที่เป็นภาพแทนของการบริโภคนิยมไปโดยปริยาย
ฉันคือใคร
การที่ผลงานศิลปะชิ้นใดชิ้นนึงถูกผลิตออกมาแม้จะผ่านช่วงเวลาที่รวดเร็วฉับพลันแค่ไหน ก็ต้องล้วนมีเสี้ยวของประสบการณ์ทั้งหมดในตัวตนที่เคยได้เผชิญมาอยู่ในนั้นไม่มากก็น้อย เช่นเดียวกับกระบวนการในการสร้างงานที่ต้องสั่งสมไปเรื่อยๆ ในยุคสมัยของมานิต จินตนาการต่อภาพถ่ายของเขามีจำกัดแค่เพียงแมกกาซีนคาเมร่าเวิร์คมือสองที่สนามหลวง และอาจารย์ประมวญ บุรุษพัฒน์ ผู้นำพาเขาสู่โลกแห่งภาพถ่าย มานิตในวัยยี่สิบนั้นเป็นนิสิตสาขาทัศนศิลป์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มานิตบอกกับผมว่าในวัยหนุ่มเขาเองก็เหมือนกับวัยรุ่นในสมัยนี้ที่เคลื่อนไหวบนสายลมของการเปลี่ยนแปลง หาคำตอบให้แก่ตัวตนและวิญญาณ
มานิตถือเป็นผลผลิตแห่งยุคสมัยที่เขาเติบโตมาหรืออาจจะพูดได้ว่าพวกเราก็ต่างเป็นผลผลิตของยุคสมัยของตนเอง ในช่วงปีพ.ศ. 2523 ปีเดียวกับที่เขาได้เข้าเรียนมหาวิทยาลัยในปีแรก มีคำสั่ง 66/23 จากรัฐบาลที่นำโดยพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ให้นิรโทษกรรมนักโทษการเมืองซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาที่ตัดสินใจเข้าป่าจากเหตุการณ์เดือนตุลา
“ถ้ามองย้อนกลับไป ผมก็เหมือนเด็กวัยรุ่นทั่วไป ก็ไม่ได้สนใจเรื่องสังคมอะไรหรอกครับ แต่พอเข้ามหาวิทยาลัย ตอนผมเข้าไปตอนปีพ.ศ. 2523 มันก็เป็นจังหวะที่พวกรุ่นพี่ที่เข้าป่าก็ออกมาจากป่าพอดี มีพวกที่ถูกนิรโทษกรรมจากป่ากลับสู่เมือง มันก็มีบรรยากาศแบบนั้น ผมก็เริ่มเข้าไปเรียนก็ได้เจอบรรยากาศนั้นด้วย จริงๆ บรรยากาศของเดือนตุลามันยังไม่หมดไปในมหาวิทยาลัย เพราะมันก็แค่สี่ปี ในมหาวิทยาลัยก็ยังมีกิจกรรมออกค่าย เรื่องวรรณกรรมเพื่อชีวิต แต่ว่าความเข้มข้นในแบบนั้นมันเปลี่ยนไป มันเริ่มให้ความสนใจเกี่ยวกับปัจเจกมากขึ้น คือในยุคนึง มันมุ่งไปทางสังคม แต่พอทางสังคมถูกปิดกั้นไปคนก็กลับไปตั้งคำถามกับความเป็นปัจเจก เพราะฉะนั้นอิทธิพลที่ผสมระหว่างเรื่องทางสังคมกับเรื่องการตั้งคำถามเกี่ยวกับว่าฉันคือใคร มาสู่การตั้งคำถามว่าการมาเรียนมหาวิทยาลัยมีความหมายอะไร ที่แท้จบไปก็ได้กระดาษแค่แผ่นเดียว ตอนนั้นเราเป็นคนหนุ่มต้องถูกคำถามท้าทายว่าเราต้องพึ่งปริญญาเพื่อพิสูจน์ความเป็นคนของเราเหรอ การเป็นคนของเรามันต้องพึ่งสิ่งเหล่านี้เหรอ ซึ่งสิ่งเหล่านี้มันเข้ามาในตัวเองโดยที่ผมไม่ได้ตั้งใจ มันซึมซับเข้ามาเอง จากการเจอเพื่อนเจอใครที่มีความสนใจเรื่องสังคม การเมืองแล้วก็ชวนกันไปดูงานศิลปะอะไรต่างๆ มันก็ทำให้เกิดบรรยากาศของการตั้งคำถาม ก็มีลักษณะของการเป็นขบถ จริงๆ ผมก็ไม่ได้เป็นเด็กเรียนเสียเท่าไหร่ เรียนสายศิลป์ด้วย มีลักษณะดื้อๆ เป็นทุนอยู่แล้ว พอเข้ามามหาวิทยาลัยยิ่งฟรีใหญ่เลย การเข้าชั้นเรียนผมก็เข้าน้อยมาก แต่ใช้เวลาส่วนใหญ่ไปคลุกอยู่กับกลุ่มเพื่อนไปหาความรู้หรือสิ่งที่เราใส่ใจ”
เรารู้อะไรเกี่ยวกับโลกนี้น้อยเกินไป
มันน่าสนใจไม่น้อยหลังจากที่ผมได้รู้ถึงความคาดหวังต่อสังคมของมานิตในวัยยี่สิบ คนหนุ่มในวันนั้นไม่ต่างกับคนหนุ่มในวันนี้ ไม่รู้จะเป็นประโยคที่ฟังดูโรแมนติกไหม แต่ด้วยความหมายแท้จริงแล้วมันปรากฏว่าสังคมไม่เคยเคลื่อนที่เข้าไปสู่ความหวังดังที่คนทำงานศิลปะใฝ่ไว้เลย มานิตเล่าให้ฟังว่าตัวเขาเองอยากให้ประเทศนี้มีพิพิธภัณฑ์ มีเงินทุนที่คอยสนับสนุนคนทำงานศิลปะรวมถึงความเสมอภาคในการเข้าถึงโอกาส แม้โลกปัจจุบันเทคโนโลยีทำให้การเข้าถึงความรู้ได้ง่ายขึ้น แต่ในอีกด้านนึงประเทศเราก็ยังมีที่ทางศิลปะในโลกความเป็นจริงน้อยไปอยู่ดี
“ผมสนใจโฟโต้ก็จริง แต่ผมก็สนใจศิลปะทั้งหมดด้วย เพราะที่ผมเรียนมันเป็นทัศนศิลป์มันได้เรียนหมด เพราะฉะนั้นทำให้ผมต้องไปดูทั้งประติมากรรม จิตรกรรม ภาพพิมพ์ มิกซ์มีเดีย โฟโต้แค่เป็นหนึ่งในแขนงเป็นแค่หน่วยเดียว ก่อนที่ผมจะมาโฟกัสตรงนี้จริงๆ ในระหว่างนั้นเองผมก็คิดว่า ผมไม่ค่อยมีความรู้อะไรสักเท่าไหร่ เรารู้อะไรเกี่ยวกับโลกนี้น้อยเกินไป มันเป็นอะไรที่เรายังต้องแสวงหา เพราะการไปนั่งในห้องเรียนคือมันไม่เพียงพอ บางทีบางวิชาเรียนไปเพื่อให้ได้หน่วยกิตเท่านั้นเอง เรารู้สึกว่ามันเป็นเรื่องที่ไร้สาระมากเลย ผมเรียนสี่ปีเกรดผมไม่ดีหรอกครับ สองหน่อยๆ เอาแค่ตัวรอด เพราะผมไม่ได้มองว่าเกรดเป็นเรื่องสำคัญและไม่ได้ฝากความหวังว่าเกรดหรือคะแนนจะเป็นตัวช่วยให้ผมทำงานได้ดี ผมเรียนจบไปเพื่อให้ทางคุณพ่อทางครอบครัวรู้สึกว่าอย่างน้อยเราก็เรียนจบ ก็มุ่งไปที่ความรู้ที่อยู่ข้างนอก อย่างโฟโต้ในมหาวิทยาลัยก็ไม่มีอะไรให้เรียนเลย มีแค่วิชาพื้นฐานให้รู้จักการล้างอัดรูป ขยายรูป รูปขาวดำเสร็จแล้วก็ไปรูปสี เทคนิคอย่างอื่นก็ต้องไปรู้จักหยิบยืมบ้าง อย่างงานภาพพิมพ์ก็เอามาผสมผสานกันเช่นการทำโฟโต้ซิลค์สกรีน
“เพราะฉะนั้นอะไรแบบนี้มันก็เป็นสิ่งที่เป็นบรรยากาศในช่วงเวลานั้นด้วย ซึ่งตัวเองก็ไม่ได้คิดหรอกว่าจะมาตั้งเป้าสนใจเรื่องสังคม แต่มันเป็นไปโดยธรรมชาติที่เราไม่รู้ตัว งานชิ้นแรกๆ ก็ยังไม่ถึงกับสังคมจ๋า แต่ตั้งคำถามกับตัวตนอย่าง When I Was Twenty จะเป็นการถามค้นหาตัวตนของตัวเอง ความหมายของชีวิต เป็นการหาความหมายแบบปัจเจกว่า ชีวิต ความตาย การมีความรัก ตอนนั้นอยู่ปีสองอายุประมาณยี่สิบยี่สิบเอ็ด ทำขึ้นเป็นงานส่วนตัว ทำด้วยการที่ผมรู้ว่าในวิชาเรียนมันไม่มี ทำแล้วก็เก็บไม่ได้ไปแสดงอะไร เพราะว่าก็ยังรู้สึกว่ามันยังเพิ่งเริ่มต้น คือเรายังต้องแสวงหาความรู้ความเข้าใจและนอกจากนั้นเราต้องรู้และเข้าใจสังคมไทยด้วย เพราะถ้าเราต้องการแสดงออกเกี่ยวกับบ้านเมืองนี้แล้วถ้าเรายังไม่รู้จักบ้านเมืองเราเอง แล้วเราจะไปแสดงออกได้อย่างไร”
ความตายเป็นเรื่องของคนหนุ่ม
วันที่ 4 มกราคม ปีค.ศ. 1967 จิม มอริสัน (Jim Morrison) และ The Doors บรรเลงเพลง The End ให้สาธารณชนได้ยินเป็นครั้งแรก เพลงที่มีความยาวถึงสิบเอ็ดนาที เป็นที่รู้กันดีว่าปลายปากกาของจิมนั้นเมื่อได้ร่ายอะไรออกมาแล้วมันไม่เคยธรรมดาเลยจริงๆ ในเนื้อเพลงดังกล่าวปรากฏถ้อยคำและความหมายที่ชวนให้คิดถึงเรื่องปมอิดิปุส ทั้งการที่อยากจะฆ่าพ่อของตัวเองและเสพสมกับแม่ เมื่อได้ฟังเพลงนี้ก็รู้ได้ถึงภาวะตบตีของจิตใจมนุษย์ผู้นึง การตั้งคำถามต่อตัวเองที่เหมือนการแหย่ขาข้างนึงเข้าไปเพื่อจะข้ามไปดินแดนใดสักแห่งแต่ก็หยุดชะงักไว้และถามตัวเองให้แน่ใจอีกครั้งต่อการจากลา ในช่วงเวลาเดียวกันอีกฟากฝั่งของโลกนั้นเด็กหนุ่มอเมริกันหลายชีวิตก็กำลังเตรียมยุทธวิธีรบกับเวียดกงที่สามเหลี่ยมแม่น้ำโขง
“ริชาร์ด อาเวดอน (Richard Avedon) พูดว่าเรื่องความตายเป็นเรื่องของคนหนุ่ม นี่เป็นคำถามที่มีคนถามแกตอนแก่ แกบอกว่าความตายเป็นคำถามของคนหนุ่ม คนหนุ่มจะคิดถึงความตายมากกว่าคนแก่ที่กำลังใกล้ตาย คนหนุ่มซึ่งห่างจากความตายมากแต่สงสัยในความตาย
“เราสนใจวรรณกรรมที่เกี่ยวกับความตายหรือภาพถ่ายโหดๆ ที่แบบยูกิโอะ มิชิมะ (Yukio Mishima) ที่เคยได้รางวัลโนเบล และควานท้องตัวเองตาย ตัวเขาเองก็ทำซีรีส์ภาพถ่ายของตัวเองขึ้นมาอันนึง วรรณกรรมเขาก็จะเกี่ยวกับเรื่องความรักชาติ การสูญเสียตัวตนของญี่ปุ่นเมื่อแพ้สงคราม เป็นเรื่องของคนหนุ่มที่รู้สึกว่าเขารับไม่ได้ต่อความพ่ายแพ้สงครามและความที่ญี่ปุ่นถูกอเมริกันเข้ามาครอบงำ ซึ่งมันก็เป็นอะไรที่โรแมนติก ในขณะเดียวกันมันก็มีความเป็นชาตินิยม เรื่องชาตินิยมผมอาจจะไม่ค่อยได้จากเขา แต่ได้เรื่องความโรแมนติก คนหนุ่มที่โรแมนติกเกี่ยวกับความตาย ตอนนั้นเราฟังเพลง The End ของ The Doors ฟังเรื่องเกี่ยวกับยาเสพติด เรื่องอะไรต่างๆ ความตายก็คงเป็นอะไรที่น่าสนใจ แล้วก็ตั้งคำถามว่าเราจะรู้จักมันได้อย่างไรและผ่านอะไร”
คำถามแห่งยุคสมัย
‘วันนี้สินะที่แม่ตาย หรือว่าเมื่อวานก็ไม่รู้แน่’ ประโยคคลาสสิคที่ท้าทายเส้นศีลธรรมสังคมจากหนังสือคนนอกของอัลแบรต์ กามูส์ (Albert Camus) นักเขียนและนักคิดชาวฝรั่งเศส กามูส์ถูกพูดถึงอยู่บ่อยครั้งในวงสนทนาของกลุ่มนักศึกษาผู้ที่จะเตรียม (จิตใจ) ตัวเองให้พร้อมก่อนเข้าสู่ตลาดแรงงาน ถึงความคิดที่เขามีต่อการใช้ชีวิต ความไร้แก่นสารของการมีตัวตนอยู่ อิสระที่ไม่มีขอบเขตหากเดินอย่างระมัดระวังไม่ให้พันธนาการที่ผูกไว้อยู่นั้นตึง ความตายจึงเหมือนจุดหมายปลายทางเดียวที่จะตั้งความหวังไว้ได้ เป็นอนาคตที่เราอาจจะจับต้องได้จริงอย่างที่สุด
“พวกวรรณกรรมที่ถูกเขียนขึ้นมาหรือบทกวีที่สะท้อนถึงการถามเกี่ยวกับตัวเอง ที่พี่สุชาติ สวัสดิ์ศรีที่แกพูดถึงเรื่อง Existentialism ที่มีคนพยายามแปลว่า อัตถิภาวนิยม มีวรรณกรรมของกามูส์ ซึ่งมีผลต่อคนหนุ่มยุคนั้นอย่างเรื่องคนนอก ที่เกี่ยวกับความหมายของชีวิต ความไร้สาระของชีวิต แล้วก็มีภาพยนตร์ที่เข้ามาฉายที่เกอเธ่ในเวลานั้น อย่างภาพยนตร์ของวิม เวนเดอร์ (Wim Wenders) หรือเวอร์เนอร์ เฮอซอก (Werner Herzog)
“ในเจเนอเรชั่นนั้นงานจะมีลักษณะขบถและต่อต้านสังคม คือการต่อต้านสังคมมันเป็นนิสัยของคนหนุ่มอยู่แล้ว เพราะงั้นมันไม่แปลกอะไรที่เด็กเลว เด็กอะไรจะต่อต้านก็แน่นอนมันเป็นยุคสมัยของเขา ถ้าเขาไม่ต่อต้านจะเป็นเรื่องแปลก เขาต่อต้านมันเป็นเรื่องที่ดี มันเป็นวันเวลาของเขา เราก็ผ่านเวลาแบบนั้นมาเราก็ตั้งคำถามแบบนั้นเราก็จะหลงใหลวรรณกรรมแบบนั้น หรืองานภาพถ่ายที่พูดเกี่ยวกับความตาย แม้แต่งานของโจล-ปีเตอร์ วิตคิน (Joel-Peter Witkin) ที่เอาศพมาถ่าย หรือพวกที่ใช้วัตถุจากพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ มันก็เป็นอะไรที่ดูไม่ค่อยสุนทรีย์ สำหรับคนส่วนใหญ่แต่สำหรับเรามันเป็นอะไรที่ค่อนข้างถูกจริต ณ เวลานั้น”
กระบี่อยู่ที่ใจ
จิม จาร์มุช (Jim Jarmusch) เคยพูดถึงร็อบบี้ มูลเลอร์ (Robby Müller) ไว้ว่าร็อบบี้นั้นทำให้เขาเข้าใจว่าภาพขาวดำนั้นมีมนต์เสน่ห์ในการกระตุ้นอารมณ์และน่าเชื้อชวนต่อการจินตนาการมากแค่ไหน
มานิตเติบโตมาในยุคที่ศิลปะไม่ได้บูชาความเป็นช่างฝีมือเหมือนเมื่อก่อน ความคิดเป็นพู่กันอีกประเภทนึงที่ศิลปินนิยมใช้นำทางผลงานของพวกเขา เขาศรัทธาในภาพขาวดำและเริ่มต้นนับหนึ่งด้วยผลงานชุดขาวดำอย่างที่ได้กล่าวไปในตอนต้นกับ When I Was Twenty ซึ่งเขาสร้างผลงานผ่านโลกโมโนโทนนี้มาตลอดจนกระทั่งยุคสมัยของกล้องดิจิทัลเข้ามาถึง เขาค้นพบว่าความเชื่อบางอย่างที่เคยถือไว้เมื่อได้ลองปล่อยมันลง อิสระก็เกิดขึ้น
“เป็นความเชื่อตามเขามาด้วยมั้งครับที่คิดว่าขาวดำมันมีความเป็นศิลปะมากกว่า ซึ่งพอเราทำสีแล้วก็รู้สึกยังชอบขาวดำอยู่ ในการทำสีผมก็ทำไปเพื่อรับจ้างถ่ายรูป ก็ทำไปเพื่อเลี้ยงชีพแต่งานส่วนตัวก็ยังเน้นที่ขาวดำเป็นหลัก ตอนที่เริ่มก็ยังมีความเชื่อเรื่องขาวดำอยู่หลายปี แล้วก็บทบันทึกของผมที่กลายเป็นหนังสือแบงคอกอินแบล็คแอนด์ไวท์ก็เป็นบันทึกที่ผมถ่ายด้วยฟิล์มขาวดำ มาเริ่มถ่ายสีจริงๆ ก็เข้ายุคดิจิทัล คือวิธีการทำงานผมไม่ค่อยยึดหลักเกณฑ์ตายตัว ในช่วงต้นโอเคก็ขาวดำไปแต่พอเราเริ่มถอดความเชื่อในเรื่องนี้ออกไป เราก็ตัวเบาขึ้น เราคล่องตัวกว่าเดิม เหมือนคติพวกบู๊ลิ้ม กระบี่อยู่ที่ใจ อะไรก็ได้แล้วตอนนี้ ที่คุณสามารถหยิบอะไรก็ได้มาเป็นเครื่องมือ มันไม่สำคัญหรอกว่ากล้องยี่ห้ออะไร หรือว่าเป็นสีหรือเป็นดิจิทัล มันอยู่ที่เราใช้มันอย่างไร เราใช้มันเพื่อสื่ออะไร
“ต้นความคิดมันมาจากตอนที่ผมเรียนด้วยครับ ตอนนั้นกระแสคอนเซ็ปต์ชวลอาร์ตมันก็เข้ามาด้วย แล้วคอนเซ็ปต์ชวลอาร์ตเป็นอะไรที่ฉีกความคิดจากศิลปะที่เป็นเรื่องของช่างหรืองานฝีมือต่างๆ แล้วก็กระแสในยุคเวลานั้นในมหาวิทยาลัยที่ผมเรียนประสานมิตร จะเน้นเรื่องความคิด ประกอบกับอาจารย์ประมวญ บุรุษพัฒน์ เป็นอาจารย์ที่นำงานโฟโต้รุ่นใหม่เข้ามา ที่ผมได้มีโอกาสได้อิทธิพลจากสิ่งที่แกสอนอยู่ งานแกก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับตัวตนเหมือนกัน ประกอบกันทำให้งานของผมเป็นงานคอนเซ็ปต์เพราะก็เห็นว่าผลงานของแกฉีกกรอบ ไม่ใช่รูปถ่ายตรงไปตรงมาเฉยๆ งั้นเราก็สามารถสร้างงานโดยที่ไม่ได้ติดอยู่ในกรอบได้เช่นกัน”
แกรนด์ทัวร์ของมานิต
ในศตวรรษที่ 18 แกรนด์ทัวร์เป็นกิจกรรมที่นิยมของชนชั้นสูงอังกฤษคือการเดินทางไปสำรวจบ้านเมืองอื่นๆ มองดูวัฒนธรรม สถาปัตยกรรมและศิลปะ ในเชิงประวัติศาสตร์กิจกรรมนี้ส่งผลต่อการเคลื่อนย้ายทางวัฒนธรรมทั้งรูปแบบวัตถุและความคิด แต่แกรนด์ทัวร์ของมานิตนั้นเป็นการบันทึกภาพสิ่งที่ท้าทายความรู้สึกของจิตวิญญาณคนหนุ่มในร่างชายชราระหว่างการเดินทางไปในที่ต่างๆ ของเขาในช่วงหลายปีที่ผ่านมา สิ่งที่เขาบันทึกมานั้นล้วนสะท้อนถึงการพยายามเข้าใจสิ่งที่อุบัติใหม่และความทับซ้อนของความหมายในพื้นที่หรือสิ่งของที่เขาพบเห็น
“When I Saw A Blue Wing เป็นผลงานรวบรวมการเดินทางที่ผมแสดงหลายปีมาแล้ว แล้วก็มารวบรวมเพื่อจะพิมพ์ งานถ่ายนี้จบก่อนปีค.ศ. 2019 หลังจากนั้นเกิดโควิดไม่มีการเดินทาง มันเป็นรูปที่ถ่ายด้วยกล้องดิจิทัล มันก็เลยรวบรวมง่ายหน่อย ผมก็จะใช้กล้องดิจิทัลบ้างมือถือบ้างเอาแบบให้มันสะดวกเรา มันเป็นบันทึกเหมือนสเก็ตซ์บุ๊กส์ที่เราเห็นความเป็นไป เห็นสังคม เห็นอารยธรรม เห็นวัฒนธรรมหรืออะไรต่างๆ ที่น่าสนใจ หรือภาพที่อยู่ข้างหน้าที่มันน่าสนใจ อาจจะมีความงามมีความสุนทรีย์ที่เกิดขึ้นจากวัตถุชิ้นนึง แม้แต่การเดินไปบนถนนก็จะเห็นผ้าพวกพลาสติกคลุมไซต์ก่อสร้างเราก็สามารถเห็นความงามตรงนี้ได้ หรือว่านกที่ถูกรถเหยียบในแหล่งท่องเที่ยวที่มีนกพิราบเยอะแยะไปหมด นกพิราบเหล่านี้ที่คนโยนเศษอาหารให้มันก็ลงไปกินและถูกรถเหยียบตาย หรือไปเห็นคนที่ไปดูงานศิลปะและมันมีภาพซ้อนระหว่างตัวชิ้นงานกับผู้ชม มันก็ชวนให้เราแคปเจอร์บรรยากาศที่มันแปลกประหลาด สิ่งที่เกิดขึ้นมันดูเซอร์เรียล หรือบางภาพที่มนุษย์สร้างที่มันเหมือนจริงมากๆ เราไม่รู้ว่าสิ่งที่เราเห็นเป็นคนจริงหรือเป็นประติมากรรม เหมือนเส้นแบ่งระหว่างความจริงกับความหลอกของโลกที่สร้างขึ้นมันเบลอ”
บทสนทนาต่อสังคมที่อยู่
ผมรู้จักพิงค์แมนครั้งแรกน่าจะตอนที่เริ่มเข้ามหาวิทยาลัยเมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว ในช่วงบรรยากาศที่ได้ยินได้ฟังมาตลอดว่า ‘ศิลปะต้องรับใช้สังคม’ แม้ว่าต้นทางของวาทกรรมนี้จะมีขึ้นมาก่อนนานแล้วและทราบดีว่าเป็นเรื่องของสำนึกส่วนบุคคลไม่มีผิดถูก เพราะศิลปะที่แท้จริงคงไม่ได้เกิดมาเพื่อรับใช้ใครโดยเฉพาะเพียงเป็นการรองรับและเชื่อมต่อเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้น แต่หากกล่าวว่า ‘ศิลปะไม่เคยแยกขาดออกจากการเมือง’ อันนี้คงไม่ได้เป็นเพียงวาทกรรมแต่คือเรื่องจริง
“ศิลปะมันแยกจากสังคมไม่ได้ เพราะว่ามันเกิดจากสังคมมันก็ควรจะอยู่กับสังคม วันไหนที่คุณไม่ต้องทำบัตรประชาชน วันนั้นคุณถึงแยกได้”
ความแยบยลคมคายในการใช้การอุปมาความหมายของซีรีส์พิงค์แมนของมานิตทำให้ผลงานชุดนี้เป็นที่รู้จักจำนวนมากที่ไม่จำกัดเพียงแค่ในผู้คนวงการภาพถ่ายเท่านั้น มานิตต้องการเล่าผลงานภาพถ่ายของเขาเหมือนปริศนาธรรมที่ไม่ได้ชี้ถึงตัวผู้กระทำแบบโต้งๆ แต่ชวนคนดูร่วมสืบสวนสังคมไปด้วยกัน
“อาจเป็นเพราะผมมีประเด็นที่อยากจะพูดคุยต่อสังคม คือถ้าผมทำอะไรที่มันเป็นอะไรที่ส่วนตัวมากๆ อย่างชุดแรก บางทีผมมีความรู้สึกว่าเราอยู่กับตัวเองมากเกินไป พอออกจากตัวเองมาทำงานเกี่ยวกับสะท้อนสังคม ผมรู้สึกว่าสนุก แล้วเราเริ่มมีบทสนทนาต่อสังคมมากขึ้น มากกว่างานที่ค้นหาตัวเอง งานประเภทค้นหาตัวเองคุณเก็บไว้ดูเองก็ได้ คุณเอาไปแชร์ให้คนอื่นดูเขาก็โอเคแต่มันก็มีขอบเขตและความจำกัด คนอื่นอาจจะรับงานที่เป็นปัจเจกที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับตัวตน ในแง่มุมเชิงสุนทรียหรือในมุมองค์ประกอบของภาพ หรือชอบความแปลกประหลาดของภาพที่สื่อออกมาแต่ว่ามันไม่สามารถทำให้เขาคิดต่อได้
“เวลาเราไปเห็นงานที่ตั้งคำถามหรือท้าทายความคิด มันก็เริ่มเกิดปฏิกิริยา เริ่มมีบทสนทนาเกิดขึ้น คนอาจจะไม่เข้าใจในวันที่เขาเห็นแต่มันก็จะอยู่ในความคิดของเขา แล้วเขาก็อาจจะคลิกอะไรบางอย่างในความคิด เหมือนกับเราอ่านหนังสือ ตอนนี้เราอ่านอาจจะไม่ได้อะไรหรอกแต่ว่ามันจะไปมีผลในภายหลัง ผมว่างานมันสนุกตรงนี้ ในขณะเดียวกันเราก็รู้สึกเป็นส่วนนึงของสังคม เมื่อเรารู้สึกว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของสังคมนี้เราก็อยากมีส่วนร่วมกับสังคมนี้ คือเราไม่ได้อยู่อย่างโดดเดี่ยวและแยกตัวอย่างโดดเดี่ยว แต่เราเลือกที่จะปรากฏตัวและมีสิทธิ์มีเสียงในสังคมนี้ เพราะฉะนั้นนี่คือการแสดงออกของเราในฐานะสมาชิกในสังคม เพราะว่าเราก็มีสิทธิ์มีเสียงที่จะพูดในเรื่องต่างๆ ไม่ว่าจะเรื่องการศึกษา เรื่องศาสนา เรื่องของการเมืองเราก็มีสิทธิ์มีเสียงเท่ากับนักการเมือง พระ หรือครูบาอาจารย์ หรือนักวิจารณ์สังคม เพียงแต่เรามีสื่อของเราและเราก็ใช้ภาพเป็นสื่อที่เราจะสื่อ”
พิงค์แมนตายแล้วไปไหน
‘ถึงจุดนึงมันก็ต้องแยกวง’ มานิตเปรียบความสัมพันธ์ที่เขาตัดสินใจทำบทจบของพิงค์แมนเหมือนการแยกทางกันของนักดนตรีวงหนึ่ง และด้วยเหตุผลที่ว่าต้องการให้งานนี้เป็นเหมือนกับงานเล่มอื่นๆ ของเขาที่สะท้อนหมุดหมายในชีวิตช่างภาพ ที่มีเกิดขึ้นและก็ผ่านไป แต่คำถามที่สำคัญกว่านั้นน่าจะเป็นเรื่องที่ว่า พิงค์แมนตายแล้วไปไหน ภายในตัวงานจะเห็นพิงค์แมนปรากฏกายบนสวรรค์ในภาพจิตรกรรมฝาผนัง มานิตยิ้มและหัวเราะก่อนจะอ้างว่าทำไมพิงค์แมนจะขึ้นสวรรค์ไม่ได้ในเมื่อทำความดีให้คนรู้จักลัทธิบริโภคนิยม
“ตอนที่เอาพิงค์แมนไปถ่ายที่นิวยอร์กต้องการจะจบเรื่องพิงค์แมน ในปีค.ศ. 2018 คือกะว่าเอาไปจบเท่ๆ ที่นิวยอร์ก ยุคของทรัมป์พอดีที่มีนโยบายโปรกัน (สนับสนุนการมีอาวุธปืน) เราก็เอาให้จบซะ กำลังมีกระแสว่าเกลียดเอเชียนด้วย มาถึงก็โป้งซะ อยู่ในถุงศพ งานนี้ทำเป็นสไลด์ที่แกลเลอรีที่นิวยอร์ก และปริ้นต์มาเตรียมแสดงงานที่กรุงเทพฯ เป็นชุดจบ แต่พอทำไปแล้วสรุปโควิดมันเกิดก็เลยไม่ได้จัดแสดง เราก็เกิดไอเดียขึ้นเพราะมันมีอะไรที่ค้างคาอยู่ในใจที่อยากให้พิงค์แมนทำต่อ ตอนแรกตั้งใจไว้ให้พิงค์แมนตายไปน่าจะกลายเป็นนักบุญแบบผู้ที่เป็นเซนต์ในคาทอลิก อุทิศตัวเองให้กับศาสนา ซึ่งศาสนาของพิงค์แมนคือบริโภคนิยมเพราะฉะนั้นเขาคือผู้อุทิศในความเชื่อ ก็เลยอยากทำเฮโลให้กับเขา แต่ก็ยังทำไม่ทันนะครับ ก็เลยไปสร้างพิงค์แมนให้อยู่ในน้ำแข็ง ตอนนั้นก็คิดว่าถ้ามันตายไป อีกสักหมื่นปีข้างหน้าคนมาขุดหลุมศพ เหมือนเราไปขุดแหล่งอารยธรรมอิยิปต์ ที่เราอยู่นี่ก็อารยธรรมหนึ่ง กดฟาสฟอร์เวิร์ดไปข้างหน้าสิ คนก็จะมาขุดค้นว่าเคยมีอารยธรรมแบบนี้อยู่ที่นี่ ถึงเวลานั้นพิงค์แมนก็ถูกฟรีซอยู่ในน้ำแข็ง ก็เป็นเรื่องของการเสียดสีด้วยว่า ไอ้ยุคสมัยนี้มันเป็นยุคบริโภคนิยม อารายธรรมหนึ่งมันก็สะท้อนความเป็นอยู่ของความเชื่อของคน คือผมก็ไม่รู้ว่าข้างหน้าเป็นอย่างไร แต่ ณ วันนี้สิ่งที่เราเป็นอยู่เราก็ยังไม่สามารถไปพ้นจากบริโภคนิยม สติปัญญามนุษย์ ณ วันนี้คิดได้เท่านี้ ตอนที่เกิดโควิดบอกว่ามีนิวนอร์มอลแต่มันก็กลับมาโอลนอร์มอล แล้วก็เป้าหมายคือต้องสร้างยอดจีดีพี ต้องสร้างให้ประเทศมีรายได้มากๆ มันก็ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง แล้วมันกลายเป็นอยากจะปั้มไอ้ตัวบริโภคนิยมหรือตัวรถเข็นให้มันไปข้างหน้าต่อให้ได้”
เมื่อพิงค์แมนไม่ยอมตาย
ครั้งหนึ่งภาพวาดเคยมีเอกลักษณ์ในการนำเสนอความงดงามและความทรงจำของมนุษย์ต่อพื้นที่ ภาพวาดมักจะบรรยายความเป็นไปของสิ่งมีชีวิตและบริบทสังคมที่ดำเนินอยู่ในยุคสมัยนั้นๆ แต่เมื่อมีภาพถ่ายเกิดขึ้นมาเอกลักษณ์ที่ยึดไว้กับการที่จะต้องเดินทางมาเพื่อเห็นศิลปกรรมชิ้นใดชิ้นนึงนั้นได้ถูกผลิตซ้ำให้เห็นได้ง่ายขึ้น แม้มันคงไม่เท่ากับการได้ดูของจริงแต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าสิ่งต่างๆ กำลังจะเปลี่ยนไป ถึงกระนั้นเองสิ่งที่เหมือนกันของภาพวาดและภาพถ่ายก็คือความสามารถในการบันทึกเรื่องราวของยุคสมัยที่ผ่านมา และอาจจะทำนายอนาคตได้ด้วยจากปัญญาของ AI
“เมื่อวานคุณหนิง เขาลองป้อนคำสั่งพิงค์แมนเข้าไปให้ AI ลองสร้างออกมา รูปสนุกดีครับ จี้มากเลย มันก็มีฐานข้อมูลของตัวพิงค์แมนอยู่ แต่ในขณะเดียวกันมันก็ออกไปทางจีนมากเลยนะ ผมชอบนะ ซึ่งสำหรับผมมันยิ่งแปลกประหลาดใหญ่เลย เพราะผมให้พิงค์แมนตายแล้ว แต่ดันกลายมาเป็น AI (หัวเราะ) สำหรับผมพิงค์แมนตายไปแล้วนะ ล่องลอยอยู่ตามจิตรกรรมฝาผนังบ้างอะไรบ้าง เพราะฉะนั้นมันท่องไปอีกโลกนึงแล้ว ผมลองคิดต่อไปแต่งเรื่องให้มันขึ้นมาอวตารไปอยู่โลกดิจิทัลได้ไหม ผมว่ามันก็น่าจะประหลาดพอสมควรนะแม้สำหรับผมเอง เพราะมันนึกถึงอะไรรู้ไหมครับ แค่นึกถึงเพื่อนที่ตายแล้ว แต่ไม่เคยลบแอ็คเคานต์เฟซบุ๊ก แล้วเวลาเราพิมพ์เราก็จะเห็นชื่อเขาอยู่ พอใครไปแชร์อะไรเขาก็จะโผล่ขึ้นมา แต่ไม่มีใครรู้หรอกว่าเขาตายไปแล้ว เท่ากับว่าถ้าเราไม่มีใครไปปิดแอ็คเคานต์เฟซบุ๊กก็ยังไม่เลิกไป ถึงเลิกไปก็ตามข้อมูลก็ล่องลอยอยู่ในโลกเสมือนจริง เช่นเดียวกับพิงค์แมนกับที่มันเป็นอยู่ พอมันตายแล้ว แนวโน้มตัวมันเองก็จะไม่มีวันแก่ ภาพก็จะสตาฟไว้อย่างใดอย่างนั้น ในตัวมันเองมันก็กลายเป็นตัวสะท้อนความเป็นไปของโลก ของยุคสมัย เป้าหมายหลักของผมเองคิดว่าเวลาผมทำงาน ถ้าคนอยากรู้ว่าในยุคสมัยที่ผมอยู่เป็นอย่างไรให้มาดูได้เพราะงานของผมจะสะท้อนสิ่งเหล่านั้น มันเหมือนเวลาที่เราอ่านงานวรรณกรรมหรือรูปเขียนแต่ละยุคสมัย คุณอยากรู้ว่าสุโขทัยมีตัวตนได้อย่างไรคุณก็ไปดูศิลปกรรม เพราะศิลปกรรมคือตัวสะท้อนค่านิยมยุคสมัย ค่านิยมความเชื่ออะไรต่างๆ เพราะถ้ามันไม่มีอะไรเหล่านั้นมันก็ไร้ความหมาย มันก็เป็นอะไรที่ล่องลอยมาก เราก็ไม่รู้ว่าเขามีตัวตนจริงหรือไม่ ตัวตนมันปรากฏอยู่ในศิลปกรรม”