brand logo

PHOTO | LIFE | INSPIRATION

Apr 2024

โอ๊ตโจะ - ศศิดิศ ศศิสกุลพร
When Job ‘STILL’ Goes On
เรื่อง : กาญจนาภรณ์ มีขำ
ภาพ : บุณยนุช ไกรทอง
1 Nov 2021

อะไรที่ทำให้ให้เราตัดสินใจเลือกรับชมภาพยนตร์สักเรื่อง อาจจะมีทั้งรายชื่อผู้กำกับที่เราชื่นชอบ ประเภทหนังที่เราโปรดปราน ตัวอย่างที่ตัดต่อเรียกร้องให้เราซื้อตั๋วไปดู หรืออาจจะเป็นภาพนิ่งจากภาพยนตร์ที่ปล่อยมาให้เราได้เห็นว่าภายในภาพยนตร์มีอะไรบ้าง ซึ่งภาพเหล่านี้มาจากการทำงานของตำแหน่ง Still Photographer หรือช่างภาพนิ่งประจำกองถ่ายนั่นเอง

ผลงานล่าสุดที่เราเห็นผ่านเลนส์กล้องของ โอ๊ตโจะ – ศศิดิศ ศศิสกุลพร คืองานจากภาพยนตร์เรื่อง ‘ร่างทรง’ ผลงานกำกับลำดับล่าสุดจาก โต้ง – บรรจง ปิสัญธนะกูล ไม่ว่าจะเป็นภาพโปสเตอร์ภาพยนตร์ที่เดินทางไปโปรโมตทั่วโลกมาแล้ว ภาพชุดแนะนำตัวละครที่ทำให้เราคาดเดาบรรยากาศที่จะเจอภายในโรงหนังได้ หรือจะเป็นภาพนิ่งที่เห็นฉากในภาพยนตร์ที่ตัวละครได้แสดงอารมณ์ออกมา ซึ่งสิ่งที่เราเห็นนั้นไม่ใช่การหยุดภาพจากภาพยนตร์แล้วแคปเจอร์มา แต่มาจากฝีมือการเข้าไปผจญภัยในกองถ่ายของโอ๊ตโจะในฐานะช่างภาพนิ่งประจำกองถ่าย ตำแหน่งที่เขาทำมาต่อเนื่องตลอดระยะเวลาสิบปีแล้ว โดยมีผลงาน เช่น เ ฟรนด์โซน (2019) , ฟรีแลนซ์​ ห้ามป่วย ห้ามพัก ห้ามรักหมอ (2015) , ฉลาดเกมส์โกง (2017) ,  พี่มาก…พระโขนง (2013) เป็นต้น เพราะอะไรเขาถึงยึดมั่นในงานนี้มาตลอด 10 ปี และหน้าที่ Still Photographer นี้ต้องทำอะไรบ้าง และยังจำเป็นอยู่ไหมในปัจจุบัน วันนี้เขาจะมาตอบคำถามเหล่านี้กับพวกเรา D1839 ในขณะที่กำลังเตรียมตัวสำหรับการถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องใหม่ในตำแหน่งเดิมของเขา

ทำไมคุณถึงเลือกเป็น Still Photographer

จริงๆ เราไม่ได้เลือกงาน งานมันเลือกเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานช่างภาพ งานมันเลือกเราตลอด ยกเว้นว่าเป็นงานส่วนตัว มันถึงต้องมีคำว่า งานส่วนตัวขึ้นมา 

ถ้างานเลือกเราแล้ว งานนี้เลือกถูกคนไหม

งานนี้มันเหมาะกับไลฟ์สไตล์เราด้วย เราเลยสามารถทำมาได้ตลอด 10 ปี เราคิดว่าตัวเองเป็นนักสำรวจ นักผจญภัย มากกว่าที่จะเป็นศิลปิน ตั้งแต่เด็กแม่ก็ชอบบอกว่าเป็นนักผจญภัย เวลาไปเที่ยวพอไปถึงโรงแรมปุ๊บ ก็ออกไปแล้ว ไปเดินรอบโรงแรม ไปสำรวจแล้วว่ามันมีอะไรบ้าง ก็เป็นแบบนี้เสมอๆ จนถึงตอนนี้ การไปกองถ่ายทุกครั้งมันก็เหมือนการผจญภัยสำหรับเรา เพราะเราได้ไปพื้นที่ใหม่ๆ อย่างขึ้นไปตึกร้าง ไปที่แปลกๆ เข้าป่า อย่างตอนถ่ายพี่มาก ก็ได้ไปวัดอายุร้อยปี หรือแม้แต่ไปต่างประเทศก็เคยไปมาแล้ว 

ขั้นตอนในการทำงาน Still Photographer ในกองถ่าย

หลังจากที่เลือกเราไปทำแล้ว เขาก็จะมีบทมาให้อ่าน ต้องอ่านบทก่อนว่ามันเป็นแบบนี้แบบนี้นะ เราก็จะมีภาพในหัวคร่าวๆ ว่าซีนนี้น่าสนใจนะ สุดท้ายก็ต้องไปคุยกับผู้กำกับภาพว่า อารมณ์ในหัวเขาเป็นยังไง อย่างเรื่องร่างทรงนี่ พี่โต้งมี Input เยอะมาก พี่โต้งอยากให้บรรยากาศเป็นภาคอีสาน หนาวๆ ฝนตก ชื้นๆ ภาพที่เราถ่ายมันก็จะออกมาเป็นสีฟ้าหม่น แล้วพี่โต้งก็มีคีย์อันนึงมาให้เราว่าอยากได้ภาพที่คอนทราสต์น้อยๆ มืดๆ เราก็เลยเอาสิ่งนี้ยกมาต่อยอดในแบบของเรา แล้วก็เอาไปให้พี่โต้งดู  แล้วพี่โต้งเขาก็ชอบอะไรแบบนี้ก็เลยออกมาเป็นผลงานที่เราเห็นกันอยู่

สิ่งสำคัญในการเลือกเก็บภาพ อย่างแรกคือ โมเมนต์สำคัญในเรื่อง เราก็ต้องไปทำการบ้านมาก่อน อย่างเราเห็นว่าอันนี้เป็นไคลแม็กซ์ของเรื่อง เป็นจุดเปลี่ยนความคิดของตัวละคร ก็เป็นคีย์สำคัญที่เราต้องเก็บให้ได้ แล้วส่วนใหญ่เราจะเน้นเก็บการปฏิกริยาของตัวละคร มันจะเป็นจุดที่พอถ่ายเป็นภาพนิ่งแล้วมันจะมีความหมายมากกว่าอิริยาบถอื่นๆ 

อย่างเรื่องร่างทรง เรามองว่าภาพนิ่งมันต้องดูแล้วลึกลับ มีความหลอน มีเรื่องพิธีกรรม มีเรื่องผีสางเข้ามาเกี่ยว หนึ่งภาพมันต้องเล่าเรื่องให้ได้หมด ต้องเห็นแล้วรู้ทันทีว่านี่คือ ‘ร่างทรง’ นะ เวลาถ่ายเราก็จะพยายามเล่าสิ่งเหล่านี้ให้ครบ

ที่มาภาพโปสเตอร์ ‘ร่างทรง’ (ที่เฟสบุคของโต้งได้แชร์ภาพ block shot และมีการแชร์ต่อไปในวงกว้าง)

ปกติเราจะไม่ค่อยได้เห็นภาพโปสเตอร์ในไทยมาจากงานภาพนิ่งในกองถ่าย ส่วนใหญ่จะเป็นงานจบที่สตูดิโอ อย่าง ‘กวนมึนโฮ’ พอมีไอเดียมันก็จะดูน่าตื่นเต้นกว่าภาพนิ่ง ที่พระเอกนางเอกไปเที่ยวเกาหลีด้วยกันสองคน อย่างเรื่องร่างทรง ทีมโปรโมตได้รับบรีฟจากผู้กำกับมาแต่แรกเลยว่าเรื่องนี้อยากได้ความเรียล ก็คือต้องไปถ่ายที่สถานที่ถ่ายทำจริง ทีมโปรโมตเขาก็มาออกกองกับเราด้วย แต่จริงๆ แล้วปกติเราจะไม่ชอบเซ็ตถ่าย เพราะสภาพแวดล้อมที่ดีที่สุด มันจะเกิดขึ้นเฉพาะหลังจากสั่ง Action แล้วเท่านั้นเลย ถ้าเราไปขอหยุดกองเพื่อถ่ายภาพนิ่ง เป็นไปได้ยากมากเลยที่การแสดงของนักแสดง รวมไปถึงองค์ประกอบอื่นๆ เช่น แสง หรืออุปกรณ์ประกอบฉาก จะสมบูรณ์แบบ 100%  มันไม่มีทางเลยที่การแสดงของเขาจะดีเท่ากับตอนที่ผู้กำกับสั่ง

อย่างภาพป้านิ่ม (เอี้ยง – สวนีย์ อุทุมมา) พนมมือกลางสายฝน ตอนแรกไม่ได้ตั้งใจให้เป็นโปสเตอร์ แต่พอถ่ายมาแล้วอารมณ์มันได้ ซึ่งตอนแรกถ่ายเป็นแนวนอน เราก็ต่อด้านบนขึ้นไป เพื่อให้เป็นโปสเตอร์ ส่วนอีกเวอร์ชั่นหนึ่งที่เป็นมิ้ง (ญดา – นริลญา กุลมงคลเพชร) เหมือนกำลังถูกเข้าสิง อันนี้ก็ไม่ได้คาดคิดมาก่อนว่าจะมาใช้โปสเตอร์ แต่พอไปอยู่ตรงนั้นเราว่ามันใช้ได้ ในจังหวะที่รอคิวแอคชัน เราแอบบอกน้องให้อยู่นิ่งๆ นิดนึง เลยได้มาเป็นโปสเตอร์ที่เห็นกัน

อุปสรรคในการทำงาน

เรื่องที่คิดว่ายากอย่าง Blackout, 2020 คือการที่ถ่ายทำแบบลองเทค แล้วกล้องมันเดินตามตัวละคร ซึ่งนั่นหมายความว่าเราไม่มีจังหวะที่จะอยู่นิ่งๆ เลย เราต้องเดินตามตลอด ซึ่งมันผิดหลักกับการถ่ายแบบเรา ตอนแรกหนักใจมาก การถ่ายภาพนิ่งในหนัง สิ่งที่ยากมาคือการที่กล้องมันเคลื่อน เราต้องคอยหลบมุม พอกล้องมันเคลื่อน เราจะจัดองค์ประกอบดีๆ แบบที่เราต้องการได้ยาก เราก็เตรียมตัว พยามใช้เลนส์เล็กๆ อย่างเลนส์ฟิกซ์ ถ้าเลนส์มันใหญ่คือลำบาก ตอนแรกเราคิดว่าจะยาก แต่พอไปถ่ายมันไม่ได้ยากขนาดนั้น เพราะเขาออกแบบการเคลื่อนกล้องไว้เป๊ะมากแล้ว มันจะทำเหมือนเดิมตลอดในทุกๆ เทค เราก็จะวางแผนได้ว่าควรอยู่ตรงไหนให้ไม่เข้าเฟรมกล้องหนัง กลับกัน เรื่องร่างทรงเขาถ่ายในรูปแบบ Mockumentary เหมือนสารคดีที่เซ็ตขึ้นมา แม้จะมีการเคลื่อนกล้องตลอดเวลาเหมือนกัน แต่อันนี้จะมีความด้นสดในทุกๆ อณูเลย แม้แต่การแสดงของตัวละครต่างๆ แม้แต่กล้องหนังก็แทบไม่รู้เลยว่าตัวละครเขาจะเคลื่อนไหวยังไง อยู่ดีๆ กล้องอาจจะแพนกลับหลัง 180 องศา เลยก็ได้ เราแก้ปัญหากลับกันจากใช้เลนส์ฟิกซ์มาเป็นเลนส์ซูม หรือเลนส์หลายระยะ ก็จะใช้ 24-70 mm กับ 70-200 mm เพราะอยู่ดีๆ จะเกิดอะไรขึ้นไม่รู้เลย 

Still Photographer ยังเป็นหน้าที่ที่ควรมีในการถ่ายทำภาพยนตร์หรือไม่

จริงๆ แล้วภาพนิ่งเป็นส่วนเกินของกองถ่าย คือ ไม่มีเราเขาก็ถ่ายหนังได้ เราต้องทำงานให้รบกวนกองถ่ายให้น้อยที่สุด การถ่ายหนังต้องมาก่อนเสมอ อย่างเช่น เรื่องเสียงสำคัญมาก หนังนี่แบ่งออกเป็นภาพและเสียง 50/50 เลยนะ พอมันมีตำแหน่งเราขึ้นมา ก็จะมีเสียงชัตเตอร์ระหว่างที่เขาอัดเสียงถ่ายทำอยู่ ยิ่งถ้าเสียงชัตเตอร์ของเราดังทับเสียงบทสนทนา เสียงตรงนั้นก็จะใช้ไม่ได้เลย เมื่อก่อนมันก็เลยมีเทคโนโลยีเฮ้าซิ่งไว้เก็บชัตเตอร์โดยเฉพาะ แต่ปัจจุบันมันก็มีกล้องแบบไม่มีเสียงชัตเตอร์ ซึ่งมันมีประโยชน์มากเลยนะ การเก็บเสียงได้เนี่ย ก่อนหน้านี้เราต้องคิดแล้วคิดอีกก่อนจะกดชัตเตอร์แต่ละที เราต้องคอยหลบเสียงพูดนักแสดงด้วยใช่ไหม แต่พอมีอุปกรณ์นี้ คือเราสามารถถ่ายนักแสดงขณะพูดได้ มันคือการเพิ่มโมเมนต์ต่างๆ ที่อยู่ในหนังได้จากที่ไม่เคยเก็บได้ 

แต่ส่วนสำคัญคือเรื่องเทคนิคล้วนๆ เลย เพราะคุณภาพไฟล์ภาพกล้องเคลื่อนไหว กับภาพจากกล้องภาพนิ่งคือต่างกันมากอย่างในยุคก่อน ความละเอียดมันคนละเรื่องเลย อย่างเรื่อง Bit Depth (ค่าลึกของสี ยิ่งมีค่า Bit Depth ที่สูงขึ้นยิ่งมีความเป็นไปได้ในการเก็บรายละเอียดของสีมากยิ่งขึ้น) ที่กล้องวีดีโอปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 10 Bits แต่เดี๋ยวนี้กล้อง DSLR ทั่วไปก็ได้ 12-15 Bits แล้ว  แล้วก็ยังมีเรื่องของ Motion Blur การถ่ายหนังโดยปกติจะใช้ Speed Shutter ที่ 1/50 ซึ่งพอแคปมาแล้ว มันจะไม่ชัด ดูเบลออยู่ตลอดเวลา แค่ซีนนั่งคุยกันธรรมดาก็ไม่สามารถใช้ได้ พอภาพนิ่งมันแยกออกมา เราสามารถใช้ความเร็วชัตเตอร์สูงกว่าได้ ดังนั้นก็เลยจะได้ภาพที่ชัดมากกว่า 

แล้วเราจะได้เห็นอีกมุมหนึ่งของตัวละครด้วย สิ่งที่นักแสดงไม่ได้เล่นจริงในฉาก แต่มันเป็นมิติในหนังที่คนดูจะไม่เห็นในหนัง อย่างใน ‘ไอฟาย..แต๊งกิ้ว..เลิฟยู้’ (เมษ ธราธร, 2014) ซันนี่ สุวรรณเมธานนท์เขาก็หยิบกีต้าร์ขึ้นมาเล่นตอนที่ยังไม่ได้เข้าฉาก แล้วเราก็ถ่ายเก็บไว้ ซึ่งพี่ผู้กำกับเขาก็ชอบเพราะมันบอกคาแรกเตอร์ตัวละคร ซึ่งในหนังคนดูจะไม่ได้เห็นตัวละครตัวนี้เล่นกีต้าร์ จะมีแต่กีต้าร์ที่เป็นอุปกรณ์ประกอบฉาก ซึ่งมิติในหนัง แบบนี้เป็น Side Story ที่ภาพนิ่งสามารถทำได้ 

โอ๊ตโจะบอกกับเราว่าแม้ว่าจะทำงานนี้มาร่วม 10 ปี แทนที่เขาจะเปี่ยมไปด้วยประสบการณ์ในการรับมือกับปัญหาต่างๆ ภายในกอง กลับกลายเป็นว่าภาพยนตร์แต่ละเรื่องก็ยากขึ้นเรื่อยๆ ต้องหาสิ่งใหม่ๆ มานำเสนอให้ผู้คนรับชม ซึ่งแม้ว่ามันจะยากขึ้น แต่ตัวโอ๊ตโจะเองก็คิดว่าภาพยนตร์ก็เป็นสิ่งที่ทำให้เขาได้สำรวจสิ่งใหม่ๆ ไปเรื่อยๆ เช่นกันและไม่พบความรู้สึกเบื่อในงานนี้เลย 

สุดท้ายนี้ เราอยากฝากให้ทุกคนได้ลองมองถึงภาพจากอีกมิติของหนังผ่านเลนส์จากช่างภาพนิ่งประจำกองถ่ายหรือ Still Photographer เพราะนอกจากมันจะเป็นภาพที่ใช้โปรโมตภาพยนตร์แล้วมันยังเป็นส่วนหนึ่งในการถ่ายถอดอีกเสียงหนึ่งของหนังที่เราอาจจะไม่ได้เห็นภายในภาพยนตร์ด้วย รวมทั้งภาพเบื้องหลังการถ่ายทำที่คอยบอกเล่าถึงความเป็นไปภายในกองถ่าย และการทำงานของทุกภาคส่วน จนกว่าจะมาเป็นภาพยนตร์ให้พวกเราได้รับชมกัน