brand logo

PHOTO | LIFE | INSPIRATION

Apr 2024

โรงเรียนสังเคราะห์แสง
The Hub Where Photography Really Grows and Matters
เรื่อง : มายา
ภาพ : ธันวา ลุจินตานนท์
21 Dec 2021

หลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่าหนึ่งในสี่ผู้ก่อตั้งโรงเรียนสังเคราะห์แสง หรือโรงเรียนสอนการถ่ายภาพอิสระนั้นคือหนึ่งในผู้ก่อตั้งนิตยสาร D1839 ของเราด้วยเช่นกัน และในวันนี้ เราได้มีโอกาสคุยกับผู้ก่อตั้งทั้งสี่อย่างพร้อมหน้าพร้อมตา บอกเลยว่า ในฐานะทีมงาน D1839 บทสนทนาครั้งนี้ นอกจากจะทำให้เราเข้าใจความเป็นโรงเรียนสังเคราะห์แสงมากขึ้นแล้ว เรายังเข้าใจบริบทความเป็นตัวเราเองมากขึ้นอีกด้วย

ชื่อโรงเรียนชวนสงสัย

“เอาเป็นจุดเริ่มต้นของชื่อโรงเรียนก่อนละกันนะครับ” ตุลย์ หิรัญญลาวัลย์ เปิดบทสนทนากับเราเมื่อเราถามถึงจุดเริ่มต้นของการรวมตัวกันจนกลายมาเป็นโรงเรียนสังเคราะห์แสงเช่นทุกวันนี้ “ตอนแรกโรงเรียนเราตั้งอยู่ที่ตลาดนัดสวนจตุจักรได้ประมาณสองเกือบสามปี แล้วค่อยย้ายมาอยู่ที่สามย่าน… ได้เข้าปีที่ห้าได้แล้วครับ จุดเริ่มต้นของชื่อโรงเรียนก็มาจากแสงนี่ล่ะครับ เพราะแสงเป็นวัตถุดิบสำคัญในโลกถ่ายภาพ เลยมาคิดว่าแสงที่มันเป็นประโยชน์ และยั่งยืนก็คือกระบวนการสังเคราะห์แสงของต้นไม้ ที่จะทำให้ได้สิ่งพิเศษ นั่นคือ ‘คลอโรฟิลล์’ ที่ทำให้เกิดความยั่งยืนในกระบวนการทั้งหมด และในอีกด้านหนึ่งที่ผมรู้สึกก็คือ คนชอบมองว่าการถ่ายภาพในโลกยุคดิจิตอลคือการถ่ายยังไงก็ได้ ถ่ายไปก่อนแล้วค่อยมาเลือกทีหลัง ซึ่งไม่ค่อยเน้นรายละเอียด ผมเลยรู้สึกว่าคำว่า ‘สังเคราะห์’ ทำให้รู้สึกถึงความพิเศษ และความจริงจังที่พวกเรามีต่อการถ่ายภาพ เลยกลายเป็นที่มาของชื่อ ‘โรงเรียนสังเคราะห์แสง’ นี่ล่ะครับ” 

(Fun Fact : ก่อนที่นิตยสารของเราจะใช้ชื่อว่า D1839 หนึ่งในผู้ก่อตั้งของเรายืนกรานว่าจะตั้งชื่อนิตยสารว่า Chlorophyll Magazine แต่หลังจากผ่านการถกเถียง เกลี้ยกล่อม และอื่นใดมาได้พักใหญ่ เขาผู้นั้นก็ยอมใช้ชื่อ D1839 เพราะ (1) สะกดง่ายกว่า และ (2) จำง่ายกว่า… ตรงไหน 

บางครั้งการได้พูดคุยกับคนอื่น ก็ทำให้เราเข้าใจรากเหง้าของตัวเองมากยิ่งขึ้นแบบไม่ได้ตั้งตัว ถ้าใครอยากรู้ที่มาที่ไปของชื่อ D1839 ตามอ่านเพจเราไปเรื่อยๆ เราจะมีเฉลยที่มาของชื่ออย่างเป็นทางการแน่นอน) 

ตุลย์ออกตัวว่าตอนที่เขาก่อตั้งโรงเรียนสังเคราะห์แสงขึ้นในครั้งแรกเมื่อกว่าห้าปีที่แล้วนั้น มันเป็นเพียงบททดสอบเล็กๆ ที่เขามีต่อตัวเองเท่านั้น ไม่ได้คิดอะไรใหญ่โตไปกว่านั้นเลย “เพราะว่าผมสอนหนังสือเกี่ยวกับภาพถ่ายในมหาวิทยาลัยมาครบ 15 ปีในปีที่เปิดโรงเรียนตอนนั้นน่ะครับ” เขาเล่า “อยากเปิดโรงเรียนสอนถ่ายภาพมานานแล้วครับ แต่เกิดคำถามกับตัวเองเสมอว่าสิ่งที่ลงมือทำอยู่ตอนนี้มันดีพอที่จะคอยเป็นโค้ช หรือพาร์ทเนอร์ทางความคิดของคนอื่นได้หรือเปล่า ผมมัวแต่ไปติดกับอยู่ในความคิดตัวเองว่า ผมต้องเก่ง หรือพิเศษกว่าคนอื่น ผมถึงจะเป็นครูในโรงเรียนทางเลือกแบบนี้ได้ แต่จริงๆ แล้วประสบการณ์ของผมก็ให้คำตอบกับผมเลยว่า คนเราไม่ได้เป็นครูเพราะเราเก่งกว่าคนอื่นเสียหน่อย เพราะสิ่งที่หลายคนในโลกการถ่ายภาพขาดก็คือความมั่นใจในตัวเองว่าสิ่งที่เขาคิด และลงมือทำมานั้นมันดี หรือถูกต้องไหม ดังนั้น หลักการสำคัญของโรงเรียนสังเคราะห์แสงตั้งแต่ตอนก่อตั้งเลยก็คือ เราจะเป็นคนสวน มีหน้าที่รดน้ำพรวนดินให้ต้นไม้เติบโตไปในทิศทางที่เขาอยากจะเป็น เราจะไม่ย้ายต้นไม้แบบเขามาปลูกในดินแบบที่เรารู้สึกว่ามันใช่ เรามีหน้าที่แค่ทำให้เขามั่นใจในสิ่งที่เขาเป็นอยู่ เพราะเรารู้สึกได้ครับว่า พองานของทุกคนมีอัตลักษณ์ของตัวเอง มันจะยั่งยืน นี่ก็เลยกลายเป็นที่มาจนถึงโลโก้ของโรงเรียน ที่เขียนว่า ‘ส ค’ และมีจุดสีแดงอยู่ด้านบน มันมาจากฟอร์มของต้นไม้ ส่วนจุดสีแดงคือพระอาทิตย์ นั่นคือเราอยากพูดถึงเรื่องการเติบโตอย่างยั่งยืนนั่นเองครับ” โอเค… ไม่ใช่ Leica สินะ เราอมยิ้ม

“ครั้งแรกที่ผมได้ยินชื่อนี้ ผมคิดว่าชื่อโรงเรียนนี้มันเท่ว่ะ มันใช่เลย” แบงค์ – ชัยพฤกษ์ เฉลิมพรพานิช อีกหนึ่งผู้ก่อตั้งเสริม “เพราะการถ่ายรูปมันก็คือการสังเคราะห์แสงแบบหนึ่งนั่นแหละ เพราะมันคือการเอาแสงมาทำอะไรบางอย่างให้เกิดสิ่งใหม่ ต้นไม้สังเคราะห์แสงแล้วได้อาหาร ส่วนช่างภาพสังเคราะห์แสงได้ภาพถ่าย ผมเลยคิดว่าชื่อนี้มันดีจัง พอต้องมาคิดว่าจริงๆ แล้วหัวใจของโรงเรียนสังเคราะห์แสงคืออะไร เลยได้วลีที่ว่า ‘A Hub Where Photography Grows and Matters’ ซึ่งก็หมายความว่านี่คือพื้นที่ที่ดึงให้คนที่ชอบถ่ายรูปมาอยู่รวมกัน และทำให้มันเติบโต เปลี่ยนแปลงเป็นอะไรสักอย่าง นี่คือวลีที่พวกเราเห็นตรงกันว่าใช่ที่สุดแล้ว มันเป็นการตอบถึงที่มาของโรงเรียนสังเคราะห์แสงในแบบที่พี่ตุลย์ต้องการตั้งแต่ก่อตั้งเลยครับ” 

ซ้ายไปขวา : ตุลย์, แบงค์, ​โต้, เอ็กซ์

การรวมตัวกันครั้งแรก

“พอพี่ตุลย์ตั้งโรงเรียนนี้เสร็จแล้วใช่ไหมฮะ ก็มีกิจกรรมหนึ่งที่ทำให้เราทั้งสี่คนมาเจอกันเป็นครั้งแรก” แบงค์เล่าถึงที่มาในการรวมตัวกันโดยนัดหมายเป็นครั้งแรก “เป็นกิจกรรมที่ชื่อว่า IT’S (NOT) A FILM (LOOK) ที่จัดร่วมกับ Bangkok Design Week ซึ่งเป็นกิจกรรมโฟโต้ทริปการถ่ายรูปด้วยกล้องฟิล์มที่ผมชอบอยู่แล้ว ปกติผมถ่ายภาพยนตร์ แต่การถ่ายภาพนิ่งด้วยกล้องฟิล์ม และการถ่ายฟิล์มบูด ถือเป็นงานอดิเรกและการบำบัดตัวเองด้วยการถ่ายภาพอีกแบบหนึ่งของผมเลยครับ พอมีคนมาชวนครีเอทกิจกรรมที่เกี่ยวกับการถ่ายภาพ ผมก็เลยชวนช่างภาพที่รู้จักรอบๆ ตัว มาแบ่งกลุ่ม เดินถ่ายรูปเล่นด้วยกล้องฟิล์ม โดยให้แต่ละกลุ่มใช้ฟิล์มต่างชนิดกัน เพื่อให้ได้รูปที่หลากหลายผ่านฟิล์ม และเอาไปจัดนิทรรศการกลุ่มร่วมกัน เลยเกิดกิจกรรมครั้งนั้นขึ้น เป็นการรวมช่างภาพเป็นร้อยคนเลยครับ เลยทำให้พวกเราสี่คนได้มาเจอกันครั้งแรกในวันนั้น”

จากการชักชวนกับแบบปากต่อปากในฐานะเพื่อนฝูงและคนสนิท การลากเส้นต่อจุดระหว่างผู้ก่อตั้งทั้งสี่ก็เชื่อมกันได้แบบไม่ยากนัก “ผมชวนโต้ (วิรุนันท์ ชิตเดชะ) มาเป็นหัวหน้ากลุ่ม โต้ก็ชวนพี่ตุลย์มาเป็นหัวหน้าอีกกลุ่มหนึ่ง ทำให้ผมกับพี่ตุลย์ได้รู้จักกันในวันนั้นเอง แล้วพี่ตุลย์ก็ชวนพี่เอ็กซ์ (อาวุธ ชินนภาแสน) มาด้วย ซึ่งจริงๆ แล้วผมรู้จักกับพี่เอ็กซ์ตั้งแต่อยู่ปีหนึ่ง แต่ไม่ได้เจอกันมานานมาก ก็ได้กลับมาเจอกันด้วยกิจกรรมนี้ พอกิจกรรมนี้จบลง เราก็ได้นัดเดินถ่ายรูปกันต่ออีกเรื่อยๆ จากกลุ่มใหญ่ ก็ค่อยๆ ลดลงมาเรื่อยๆ จนเหลือกันเท่านี้ที่สนิทกันจริงๆ” 

ในช่วงนั้นเป็นช่วงที่ตุลย์คิดจะขยับขยายโรงเรียนสังเคราะห์แสงอย่างจริงจัง เมื่อได้เห็นตึกแถวทำเลดีแถวสามย่าน เขาก็ชวนคนสนิททั้งเอ็กซ์ที่อยากทำดาร์ครูมของตัวเอง โต้ที่อยากทำร้านหนังสือโฟโต้ และนิตยสารภาพถ่าย และแบงค์ที่อยากจะจัดกิจกรรมเกี่ยวกับภาพถ่ายมารวมตัวกันทำสิ่งที่ตัวเองรัก โดยเอาโรงเรียนสังเคราะห์แสงเป็นที่ตั้ง “ใครอยากจะทำโปรเจ็กต์อะไรของตัวเองก็คิดมา แล้วเอามาเสนอกัน” แบงค์อธิบาย “โรงเรียนนี้เลยมีทุกอย่างที่เกี่ยวกับภาพถ่าย ตั้งแต่ดาร์ครูมไปจนถึงพรินท์เลยครับ” 

“เอาจริงๆ นะ” ตุลย์เสริม “ผมรู้สึกว่าสังเคราะห์แสงเป็นโรงเรียนได้จริงๆ ก็หลังจากที่รวมตัวกันครบสี่คนแล้วนี่ล่ะครับ ตอนที่ผมทำอยู่คนเดียวมันเหมือนเป็นศาลพระภูมิน่ะครับ” ยังไงนะ เราเลิกคิ้ว “มันมีเสาต้นเดียวน่ะ ก็เลยมีความเชื่อ และรสนิยมส่วนตัวของผมคนเดียว แต่พอมันมีกันสี่คน ผมว่ามันคือส่วนผสมที่ดีในการที่จะทำให้ใครก็ได้มาเรียนที่โรงเรียนของเราน่ะครับ เราไม่ได้เน้นความเป็นมืออาชีพใดๆ เราขอแค่ให้คุณเป็นคนที่สนใจการถ่ายภาพเท่านั้นเอง ก็ถือว่าเราคือคนคอเดียวกัน คุยกันรู้เรื่องแล้วครับ เท่านั้นเอง” 

ต่างพื้นฐาน ต่างความถนัด แต่รักเดียวกัน

‘ลูกค้า’ หรือนักเรียนโรงเรียนสังเคราะห์แสงนั้นหลากหลายเกินกว่าจะจำกัดทาร์เก็ตกรุ๊ปได้อย่างชัดเจน ความแตกต่างของอายุผู้เรียนนั้นเริ่มต้นตั้งแต่ 14 ปีไปจนถึง 62 ปีเลยทีเดียว “เราแบ่งกันสอนตามความถนัดของแต่ละคนครับ” แบงค์อธิบาย “เราสี่คนถนัดการถ่ายรูปคนละแบบเลย เวลาเปิดคอร์สเลยเอาความถนัดของแต่ละคนมาเป็นตัวตั้ง แต่สุดท้าย คอร์สของเราจะยืนพื้นโดยพี่ตุลย์ ที่เหมือนครูใหญ่ด้านวิชาการเป็นหลัก คอร์สของพี่ตุลย์คือคอร์สหลักที่ ‘ต้องมี’ ส่วนคอร์สของพี่เอ็กซ์ก็จะเน้นเรื่องห้องมืด ฟิล์มขาวดำ คอร์สของผมจะเป็นวิชา cinematic และการจัดแสงแบบประยุกต์ ส่วนโต้ก็จะเป็นคอร์สแอดวานซ์ประเภทการจัดไฟไปเลยครับ” 

นอกเหนือไปจากการเปิดคอร์สสอนแล้ว โรงเรียนสังเคราะห์แสงก็ยังมีโปรเจ็กต์อื่นๆ ที่เกิดขึ้นตามความถนัดและความสนใจของแต่ละผู้ก่อตั้งอีกด้วย อย่างโต้ที่เป็นอาสาสมัครให้กับมูลนิธิสติมาอย่างต่อเนื่องยาวนานก็เอาโรงเรียนสังเคราะห์แสงไปจัดเวิร์คช็อปการถ่ายภาพระดมทุนอย่างเป็นกิจลักษณะให้กับมูลนิธิ ในขณะที่โปรเจ็กต์ Camera Trap ที่เอากล้องไปติดตั้งในป่าเพื่อถ่ายสัตว์ป่าก็ถือเป็นอีกหนึ่งโปรเจ็กต์ที่เหล่าชาวสังเคราะห์แสงภูมิใจเป็นอย่างมาก “โปรเจ็กต์นี้เกิดจากผมเองนั่นแหละ” แบงค์เล่าด้วยน้ำเสียงตื่นเต้น “ผมไปเห็นรูปเสือดาวที่เขาถ่ายด้วย Camera Trap เป็นครั้งแรกในเพจของเขาแล้วสตันท์เลยครับ ผมเคยเข้าไปดูนกในแก่งกระจาน เลยได้เห็นว่ากล้องนี้มันพิเศษมาก ไม่จำเป็นต้องมีคนคุม แต่สามารถให้ภาพที่คนไม่สามารถทำได้ พอรู้สึกว่ามันพิเศษ ผมก็หาทำโดยการติดต่อไปหาเจ้าหน้าที่ ขอความรู้จากเขา ก็ได้เข้าไปเจอกับทีมสำรวจที่บอกเราว่าตอนนี้ขาดแคลนอุปกรณ์ พวกเราก็เลยขออนุญาตซัพพอร์ตสองตัวแรกเป็นการชิมลาง เพราะอยากเข้าไปเป็นกระบวนการทำงานของเขา เขาเลยพาเข้าป่าไปติดตั้ง ไปเก็บกู้รูปมาให้เราดู จังหวะที่พวกเราได้เห็นภาพเสือไฟจากกล้องของพวกเรานั้นเป็นจังหวะที่เจ๋งมากจริงๆ” 

นี่คืออีกหนึ่งโปรเจ็กต์ที่ตอกย้ำว่า photography matters ตามอุดมการณ์ที่ก่อตั้งโรงเรียนมาจริงๆ “ภาพเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องของความสวยงามแล้วครับ” น้ำเสียงของแบงค์ยังไม่คลายความตื่นเต้น “แต่มันบอกว่าพวกเขาอยู่ตรงนั้น มีตัวตนจริงๆ ถ้าเรารู้ว่าพวกเขาอยู่ตรงนั้น ใช้ชีวิตตรงนั้น เราก็จะเห็นค่า และสนใจชีวิตเขามากขึ้น ตอนนี้พวกเราอยากจะพัฒนาโปรเจ็กต์ Camera Trap ให้เป็นโปรเจ็กต์ใหญ่โดยเปิดโอกาสให้คนมีกล้องของตัวเองในป่า โดยโรงเรียนสังเคราะห์แสงรับหน้าที่เป็นสื่อกลางเอากล้องไปให้เจ้าหน้าที่ติดตั้ง และคอยส่งข้อมูลเข้ามา เหมือนกับเรามีตาอยู่ในป่า ได้เห็นภาพทุก 15 วัน ได้ลุ้นว่าเราจะได้ตัวอะไรในกล้องบ้าง ผมอยากแชร์ความรู้สึกดีๆ ที่ผมรู้สึกให้กับคนอื่นบ้าง และโปรเจ็กต์นี้มันก็จะมีประโยชน์ต่องานสำรวจ สิ่งที่ยากคือค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูงในการจัดการกล้องแต่ละตัว กำลังอยู่ในช่วงคิดหาวิธีที่จะทำให้ระบบนี้หล่อเลี้ยงตัวเองไปได้โดยไม่จำเป็นต้องควักเนื้อตัวเองอยู่ครับ อาจจะนำไปเสนอเป็นสื่อการสอนในโรงเรียน เพื่อนำเงินจากโรงเรียนมาหล่อเลี้ยงระบบ สอนให้เด็กรู้จักรักธรรมชาติผ่านธรรมชาติที่มีอยู่ในประเทศของเราจริงๆ น่าจะดูดีกว่าการเปิดเทปสัตว์แอฟริกาให้เด็กดูน่ะครับ ตอนนี้ยังปั้นโปรเจ็กต์นี้อยู่” 

“จริงๆ ผมว่ามันอยู่ในสัญชาติญาณของพวกเราตั้งแต่คิดสโลแกนแล้วนะ” โต้รำพึง “ตอนแรกก็คิดกันมาหลายคำนะ จนคำว่า photography grows and matters เกิดขึ้นมา ผมรู้สึกว่าทุกคนเห็นพ้องต้องกันว่ามันคลิกในความรู้สึกของพวกเรามาก ผมเลยคิดว่ามันคงอยู่ในสัญชาติญาณร่วมของพวกเราว่าเราคงคิดอะไรเหมือนกันจริงๆ ดังนั้น ไม่ว่าจะลงมือทำโปรเจ็กต์อะไรก็ตาม มันจะย้อนกลับไปหาคำนี้ได้เสมอ” 

“เวลาคิดอะไร ถ้ามันตรงกับคำนี้ โปรเจ็กต์มันจะไปต่อได้เองเสมอ” แบงค์เสริม “เหมือนกับ ‘โปรเจ็กต์กินใจ’ ที่เกิดขึ้นช่วงล็อคดาวน์โควิดรอบแรก ตอนนั้นทุกคนกระจายตัวกันอยู่ ผมมีหุ้นร้านอาหารกับเพื่อนๆ อยู่ และพี่ที่เป็นหุ้นส่วนเขาทำน้ำพริกขาย และบอกผมว่าเขาถ่ายรูปห่วยมาก ผมเลยเสนอตัวถ่ายรูปให้ พอเอารูปให้เขา เห็นอาการดีใจของเขา และความมั่นใจว่าเขาจะสามารถขายของได้หลังจากมีรูปเราอยู่ในมือแล้วเท่านั้นแหละ ผมก็ยกหูหาทุกคนแล้วบอกว่าผมปิ๊งไอเดียเปิดรับถ่ายภาพอาหารฟรี แลกกับอาหารที่คุณส่งมาให้เราชิม รีวิว และถ่ายภาพคืนให้คุณ พอปิ๊งไอเดียขึ้นมาได้ ก็ขยายผลไปหาช่างภาพในเครือข่ายของเราที่น่าจะอยู่บ้านว่างๆ กัน ก็รับๆ มาจนได้เป็นร้อยร้านค้าเลย สิ่งที่ตลกคือ มีพี่ที่รู้จักกันเป็นสามีภรรยา ทำอาชีพแอร์และสจ๊วต ตอนนั้นเขาว่าง และมีฝีมือถ่ายรูป ผมก็ส่งไปให้เขาทำ ตอนนี้จบที่ทั้งสองคนเปิดสตูดิโอรับถ่ายภาพอาหารและสินค้า และฝีมือก็ดีขึ้นเรื่อยๆ เลยนะ เราก็เลยคิดได้ว่า นอกเหนือไปจากการช่วยเหลือร้านอาหารแล้ว คนที่รักการถ่ายรูปก็ได้อะไรไปด้วย นี่แหละที่เรียกว่าโฟโต้มันพาไป มันต่อยอดได้” 

“ภาพถ่ายมันเหมือนพาสปอร์ตดีๆ นี่เลยครับ” ตุลย์สำทับ

Portrait of Anywhere Possible 

หนึ่งในโปรเจ็กต์ใหญ่ของโรงเรียนสังเคราะห์แสงที่นำพาความ ‘แมส’ มาสู่โรงเรียนให้เป็นที่รู้จักไปทั่วก็คือโปรเจ็กต์ ‘Portrait of Charoenkrung’ ที่จัดในงาน Bangkok Design Week ซึ่งกว่าโปรเจ็กต์นี้จะคลอดออกมาได้ ก็ผ่านการคิดมาแล้วเป็นอย่างดี “เราได้รับโจทย์ด้วยคำถามที่ว่า ‘photo exhibition ทำอะไรกับชุมชนและพื้นที่ได้บ้าง’ แบงค์เล่า “พวกเราก็เลยมาย่อยกันว่าภาพถ่ายต่างๆ นั้นมีอะไรบ้าง ผมก็ไปติดใจเข้าว่าภาพ family portrait มันหายไปจากซีนนานมากแล้ว และผมได้เห็นโปสเตอร์ภาพยนตร์ Parasite ที่เป็นภาพถ่ายครอบครัวแล้วรู้สึกว่ามันกระทบใจผมมาก ทำไมคนถึงชอบได้มากขนาดนี้ ผมเลยกลับมานึกดูว่า ในปัจจุบันนี้ คนที่ถ่าย family portrait มากที่สุดคือเด็กเสิร์ฟในร้านอาหาร เลยเรียกพี่ตุลย์กับโต้มาบุกบ้านที่น่าสนใจในพื้นที่ ทำ family portrait ให้กับเขา สุดท้ายแล้วนอกจากรูปถ่ายครอบครัว เราได้เนื้อหา ได้อย่างอื่นที่มากกว่านั้นติดมาด้วย เราได้เห็นแต่ละครอบครัวในชุมชนหนึ่งที่ร้อยเรื่องราวมากเรียงกัน ทำให้ได้เห็นภาพรวมของชุมชน เห็นประวัติศาสตร์ เห็นคนแต่ละช่วงอายุ เห็นความสัมพันธ์ เห็นอาชีพ เห็นสถาปัตยกรรมในบ้าน และเห็นอะไรต่อมิอะไรอีกมากมาย ทำให้ได้คำตอบว่า การถ่ายภาพมันไปได้ไกลกว่าความเป็นภาพถ่าย หรือนิทรรศการภาพถ่าย พอโปรเจ็กต์เจริญกรุงเกิด เราก็ข้ามไปทำที่สงขลาต่อ ในสเกลที่แอดวานซ์มากขึ้น” 

“ขอเล่าย้อนนิดหนึ่งนะครับ” โต้ขัดก่อนที่แบงค์จะพาเราเดินทางลงใต้ไปสงขลา “ถึงตัวนี้จะเป็นโปรเจ็กต์หลัก แต่ถ้าเห็นงานเต็มๆ ของโปรเจ็กต์นี้ จะเห็นได้ว่าเราไม่ได้เข้าไปในพื้นที่และใช้พวกเราสี่คนถ่ายรูปออกมาหนึ่งโปรเจ็กต์เท่านั้น แต่พวกเราอยากให้ลูกศิษย์ของโรงเรียนได้ทำงานของพวกเขาเองด้วย เลยมีนิทรรศการภาพถ่ายบนกำแพง 49 บล็อคตรงตรอกศาลเจ้าโรงเกือกขึ้นมา เราเลือกภาพถ่ายจากคนในเครือข่ายของเรามาให้เขามีพื้นที่ได้แสดงงาน ดังนั้น ไอเดียหลักของพวกเราคือ เวลาเราลงไปทำงานภาพถ่ายในพื้นที่ เราไม่ได้เข้าไปเพื่อแสดงงานอย่างเดียวเท่านั้น แต่เราเข้าไปตอบโจทย์ในแง่ของมิติทางสังคมว่าเราใช้ภาพถ่ายในการนำเสนอชุมชนอย่างไรโดยให้ช่างภาพในเครือข่ายของเรามีพื้นที่แสดงงานด้วย และไอเดียนี้มันถูกยกขึ้นมาพูดถึงอย่างชัดเจนอีกครั้งในงาน Portrait of Songkhla เชิญเล่าต่อได้เลยพี่” 

“คือที่สงขลาเนี่ย ตอนแรกเขาจะให้โรงเรียนสังเคราะห์แสงยกทีมไปทำที่โน่นอีกครั้งหนึ่ง” แบงค์รับหน้าที่พาเรากลับมาสงขลาอีกครั้ง “แต่เราเห็นว่ากำลังคนเราไม่น่าจะพอ เพราะการลงพื้นที่ใหม่ๆ คือการนับหนึ่งใหม่เสมอ โปรเจ็กต์แบบนี้จะเวิร์คได้ก็ต่อเมื่อมีคนท้องถิ่นลุกขึ้นมาร่วมมือกับเรา เขาเลยเอาเราลงไปคุยกับพี่เอ๋ (ปกรณ์ รุจิระวิไล) เจ้าของ a.e.y.space เพื่อเริ่มต้นโปรเจ็กต์ Portrait of Songkhla ที่เหมือนกึ่งๆ ถอดแบบออกมาจากโปรเจ็กต์เจริญกรุง โดยให้ช่างภาพท้องถิ่นเป็นคนรับผิดชอบโปรเจ็กต์ ส่วนโรงเรียนสังเคราะห์แสงก็ทำหน้าที่ไปเวิร์คช็อปทั้งเรื่องการถ่ายรูป และการจัดนิทรรศการ มันเลยเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างโรงเรียนกับช่างภาพในพื้นที่ เราเลยถือโอกาสเอาพวกเราทั้งสี่คนไปทำ side exhibition ร่วมกับช่างภาพท้องถิ่นที่นั่นด้วย ฟีดแบ็กที่ได้รับคือดีมาก เมืองมันคึกคักขึ้นมาทันทีหลังจากมีโปรเจ็กต์นี้ สนุกมากเลยครับ” 

“ผมว่างานนี้มันคืองานที่ตอบแก่นไอเดียของพวกเราที่บอกว่า a hub where photography grows and matters เลยนะ” โต้รีบเสริม “มันไม่ใช่แค่โรงเรียนสังเคราะห์แสงแล้วที่เป็น ‘hub’ ทำให้ภาพถ่ายเติบโต แต่เราใช้ภาพถ่ายไปเชื่อมต่อกับชุมชนได้มากขึ้น ทุกวันนี้เราใช้ภาพถ่ายเป็นเหมือนข้ออ้างในการเข้าไปทำความรู้จักคนในชุมชนหนึ่งๆ จากโปรเจ็กต์สงขลาทำให้ผมได้กัลยาณมิตรที่ดีเต็มไปหมด มีการคอมเมนต์ในเฟสบุคมากกว่าเพื่อนในกรุงเทพฯ ด้วยซ้ำ มันเป็นโมเมนต์น่ารักที่ผมรู้สึกเลยว่า ภาพถ่ายมันพาพวกเราไปได้ถึงไหนบ้างเลยครับ” 

เอ็กซ์ที่นั่งเงียบมานานรีบเสริมทันที “ตรงนี้ผมขอเสริมนิดนึงนะ ผมถ่ายรูปมาค่อนข้างนานนะ แต่ไม่เคยได้สัมผัสกับการที่ภาพถ่ายมันทำงานในรูปแบบที่ไม่ใช่ความสวยงามหรือคอมเมอร์เชียลมาก่อนเลย สิ่งที่ผมประทับใจเสมอๆ กับงาน portrait of ต่างๆ นานาที่เราทำนี้คือ เวลาชาวบ้านทั่วๆ ไปที่เขาไม่มีความรู้เรื่องภาพถ่ายเลยมาดูนิทรรศการภาพถ่าย เขาไม่ได้สนใจเรื่องความสวยงามของภาพ แต่สนใจเรื่องราว… ไม่ใช่เรื่องราวในภาพถ่ายเสียด้วยซ้ำ แต่เป็นเรื่องราวของพวกเขาเองที่เชื่อมโยงกับภาพถ่าย และเรื่องราวเหล่านั้นก็จะเล่าเรื่องราวให้เราฟังต่อ ทุกคนก็จะเล่าเรื่องราวของตัวเองต่อไปเรื่อยๆ ซึ่งผมรู้สึกประทับใจทุกครั้งที่ได้รับรู้มุมมองของภาพถ่ายภาพเดิมที่เปลี่ยนไปเรื่อยๆ และผมว่าพวกเราทั้งสี่คนก็พยายามจะเก็บโมเมนต์พวกนี้เอาไปทำกิจกรรมอื่นๆ ให้มันต่อไปเรื่อยๆ และผมเชื่อว่า ความสบายใจของคนที่เข้ามาสัมผัสกับโรงเรียนสังเคราะห์แสง ไม่ใช่เพราะเขาเข้ามาแล้วถ่ายรูปสวยขึ้นหรอก แต่เขาเข้ามาแล้วรู้สึกว่าภาพถ่ายให้ความสุข ให้คุณค่าอะไรบางอย่าง ให้คอนเนคชั่น ให้เพื่อน หรือให้โอกาสกับเขา ผมว่าอันนี้เป็นสิ่งที่ผมประทับใจและรู้สึกดีทุกครั้งที่คิดถึงครับ” 

School of สังเคราะห์แสง Never Exists

“หนึ่งสิ่งที่โรงเรียนสังเคราะห์แสงเป็นคือ เราจะไม่ตั้งตัวเองเป็นสำนัก (school) หรือบัญญัติไบเบิลของตัวเองขึ้นมาให้ทุกคนมีรสนิยมหมู่แบบที่ว่าคุณอยู่แก๊งนี้ กลิ่นก็จะไปทางนี้” ตุลย์อธิบาย “แต่เราอยากจะเป็นโรงเรียนที่สนับสนุนให้ทุกคนมีแนวทางเป็นของตัวเอง มันอาจจะดูโลกสวยมาก แต่มันเกิดขึ้นได้จริงๆ นะครับ คือเรามีหน้าที่เชปบางอย่างจากงานที่ลูกศิษย์เราสร้างมาเท่านั้น ทำให้เขารู้สึกว่าวิธีการมองเห็นของเขา ถ้าลดทอน หรือเพิ่มเติมอะไรบางอย่าง มันจะมีเสน่ห์ในตัวของมันเองได้ ผมเลยรู้สึกว่าโรงเรียนสังเคราะห์แสงคือพื้นที่ที่รวมความหลากหลายในแนวทางการถ่ายภาพไว้ด้วยกัน พวกเราไม่เคยไปกำกับคนที่เรียนแต่ละคลาสเลย เพราะคนที่มาเรียนคลาสเดียวกันก็แตกต่างกันมาก ทั้งในเรื่องวัยวุฒิ คุณวุฒิ และความรู้ต่างๆ ในเรื่องโฟโต้ และเราก็ได้เห็นว่า ทุกคนสามารถสร้างงานที่ดูเป็น pure art ออกมาได้ในแบบของตัวเอง มันทำให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกันทั้งครูและลูกศิษย์นะครับ” 

“ผมฟังตุลย์พูดแล้วผมรู้สึกว่า อย่าว่าแต่นักเรียนเลย บางทีครูก็ยังเรียนรู้กับนักเรียนได้เยอะมาก” อีกครั้งที่เอ็กซ์รีบเสริม “คือมันจะมีอยู่ช่วงหนึ่งที่ผมทำงานภาพถ่ายอยู่ในห้องมืดที่บ้านคนเดียว ผมก็หมกมุ่นกับตัวผมอยู่คนเดียว แต่เวลาที่ได้มาทำงานที่โรงเรียนสังเคราะห์แสง ทุกครั้งที่ผมได้สอน หรือได้คุยกับนักเรียน หรือแม้กระทั่งได้คุยกับพวกเราสี่คนกันเอง มันทำให้ผมได้เรียนรู้ไปเรื่อยๆ ได้เห็นในสิ่งที่ผมไม่ได้เห็นเวลาอยู่คนเดียว เพราะความหลากหลายของนักเรียนทำให้ทุกคนมีมุมมองที่แตกต่างกันออกไป เวลาไปถ่ายสถานที่เดียวกัน ทุกคนก็จะเห็นมุมที่ต่างกัน มองเห็นความสวยงามที่แตกต่างกัน ผมไม่มั่นใจนะว่าโรงเรียนอื่นเขาสอนกันยังไง แต่ผมยืนยันได้เลยว่านี่อาจจะเป็นจุดแข็งหนึ่งของโรงเรียนสังเคราะห์แสงเลยก็ได้ที่เราไม่เคยจำกัดอะไรเลย เหมือนกับที่ตุลย์บอกนั่นแหละว่า เราเรียนรู้ไปพร้อมกับนักเรียน เราจะไม่ตัดสินว่าอะไรดี อะไรไม่ดี อะไรสวย อะไรไม่สวย แต่เราจะรับฟัง ให้เขาออกความเห็น และสนับสนุนเขาให้ไปในทิศทางที่เขาอยากจะไป ซึ่งส่วนนี้ทำให้ผมสนุกทุกครั้งที่เปิดคลาส ผมอยากจะสอนคนอื่น เพราะการสอนจะทำให้ผมได้เห็นงานใหม่ๆ เห็นแนวคิดใหม่ๆ ได้เห็นข้อผิดพลาดต่างๆ ที่จะกลับกลายมาเป็นสิ่งที่ทำให้เราได้เรียนรู้เพิ่มขึ้นเสียด้วยซ้ำ นี่คือพาร์ทการสอนที่ผมประทับใจมากจริงๆ ครับ” 

“ที่เราเคยคุยกันไว้ว่าเราจะสอนเพื่อให้คนที่เรียนชอบรูปถ่ายของตัวเองน่ะนะ” แบงค์เสริมทันที “สุดท้ายคือเราทุกคนสอนเพื่อไปให้ถึงจุดนั้นเลยนะ คุณไม่ต้องทำให้เราถูกใจ ถ้าคุณมาเรียนกับเรา และคุณรักรูปถ่ายตัวเองได้ ก็จบเลย เคยคุยกันหาข้อตกลงว่าเราจะต้องสอนอย่างไร สุดท้ายพวกเราทั้งสี่คนได้ข้อตกลงร่วมกันว่า รูปที่ดีที่สุดคือรูปที่คนถ่ายชอบที่สุด เราก็ไปกันในแบบนี้ และการไปแบบนี้ก็เจอตัวตนง่าย ไม่ต้องแคร์เสียงวิจารณ์จากใคร ถ้าเราชอบรูปของเรา ก็จบแล้ว ผมว่านี่คือ basic mindset ของโรงเรียนสังเคราะห์แสงจริงๆ เลยนะ” 

“ผมว่ามันคือจุดร่วมที่สำคัญระหว่างพวกเราสี่คนจริงๆ เลยนะฮะ” ตุลย์สรุป “เพราะสุดท้ายแล้วเรื่องที่ทุกคนเห็นตรงกันในการสอนก็กลายเป็นโครงสร้างที่ชัดเจนของโรงเรียนสังเคราะห์แสงเลยครับ ผมว่าอีกหนึ่งเรื่องสำคัญในมุมมองของผมก็คือ นอกเหนือจากการได้เรียนรู้จากนักเรียนที่มาเรียนที่โรงเรียนนี้แล้ว ความพิเศษมากๆ ของโรงเรียนนี้คือมันเป็นพื้นที่ที่ทำให้พวกเราทั้งสี่คนได้มาเจอกันบ่อยๆ ทำให้พวกเราได้เรียนรู้งานของกันและกัน แบงค์คือคนที่เปิดโลกการถ่ายรูปในป่า และโลกของ cinematography ให้กับผม ซึ่งผมหลงใหลมาก แต่ไม่มีทางได้เข้าไปแตะเลยถ้าแบงค์ไม่พาเดินเข้าไป มันคือการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ จากงานเดิมๆ ที่พวกเราคุ้นเคย มันมีวิธีการเล่าเรื่องใหม่ๆ อีกเยอะแยะ มีวิธีการมองโลกแบบภาพยนตร์ของแบงค์ มีการจัดสตูดิโอไลต์ติ้งเนี้ยบๆ ของโต้ ผมรู้สึกว่านี่เป็นสิ่งพิเศษที่ทำให้ผมต่อยอดคความเป็นช่างภาพของผมไปได้อีก ผมกล้าพูดเลยว่า ตัวผมในทุกวันนี้มันมีส่วนผสมของอีกทั้งสามคนเข้ามาหลังจากที่พวกเราได้มารวมตัวกัน มันได้เห็นมุมมองอะไรต่างๆ ที่ทำให้ผมออกจากกะลาได้จริงๆ ครับ”

โรงเรียนสังเคราะห์แสง : School of Photographic Arts ตั้งอยู่ที่ตลาดสามย่าน 

โทร. 088-636-8956

พิสูจน์อักษร : ชลดา สวนประเสริฐ