brand logo

PHOTO | LIFE | INSPIRATION

May 2025

ชิน - ศิรชัย อรุณรักษ์ติชัย
Lessons Learned From The Deep Sea
เรื่อง : กษิดิ์เดช มาลีหอม
ภาพ : ธันวา ลุจินตานนท์
15 Jul 2022

‘ฉลาม: นักล่าสิ้นลาย’ คือ ผลงานชิ้นแรกของ ชิน-ศิรชัย อรุณรักษ์ติชัยที่ได้ตีพิมพ์กับเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิกประเทศไทยฉบับเดือนเมษายน ปี 2016 ที่ถือเป็นการเริ่มนับหนึ่งในเส้นทางสายช่างภาพสารคดีของเขา หลายคนอาจจะทราบดีว่าชินไม่เพียงเป็นแค่ช่างภาพที่ชื่นชอบทะเลเท่านั้น เขายังเป็นนักวิทยาศาสตร์ทางทะเลที่สนใจประเด็นเรื่องการอยู่รอดของฉลามอย่างจริงจังและเคยเป็นครูสอนดำน้ำที่ใช้การถ่ายรูปเพื่อบันทึกความงดงามของธรรมชาติให้คนอื่นได้มีโอกาสเห็นในสิ่งที่เขาเห็น

ชินมองว่าเสน่ห์ของงานภาพถ่ายที่ดึงดูดให้เขาอยากทำมันไปทุกวันมีอยู่สองเรื่องด้วยกัน “อย่างแรกคือการได้เล่าเรื่องที่เราชอบและสนุกในเวลาที่จินตนาการว่าองค์ประกอบต่างๆ ที่เราคิดนั้นจะเกิดขึ้นจริงในธรรมชาติรึเปล่า สองคือเรื่องการยอมรับ ผมว่าทุกคนอาจจะต้องการถูกการยอมรับในระดับนึง มันจะรู้สึกดีใจต่อสิ่งที่เราวาดไว้ในหัวและมันเกิดขึ้นจริงได้ พอรูปออกไปแล้วผู้คนสามารถเข้าใจข้อความที่เราจะสื่อ”

ก่อนที่ผลงานชิ้นแรกของเขาจะถูกตีพิมพ์ แนวคิดที่หล่อหลอมตัวตนและการทำงานภาพถ่ายคือเรื่อง Conservation Photography หรือการถ่ายภาพเชิงอนุรักษ์ที่เขาได้อ่านเจอบนเว็บไซต์ของ Thomas Peschak ช่างภาพสารคดีโลกใต้น้ำแห่งเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก วิธีมองภาพดังกล่าวทำให้ชินเข้าใจเรื่องคุณค่าของการสื่อสารประเด็นที่ตัวเองสนใจด้วยภาพถ่ายและในภายหลัง Thomas Peschak นั้นได้เป็นเมนเทอร์ให้กับชินด้วยตอนที่เขาได้รับทุนจากองค์กร Save Our Seas Foundation ในปี 2016 ที่ถูกส่งไปถ่ายงานสารคดีเกี่ยวกับปลาฉลามที่บาฮามาส

สำหรับหน้าที่การเป็นตัวแทนเสียงของสิ่งมีชีวิตในทะเล เขาถูกรับเชิญขึ้นไปพูดบนเวที TedxBangkok ปี 2017 และ Wildscreen ที่ประเทศอังกฤษ รวมถึงงาน Explorer Festival หรือ Storyteller Symposium ของ National Geographic ที่วอชิงตัน ดีซี และปัจจุบันเขาเป็นสมาชิกของ International League of Conservation Photographers และมีอีกบทบาทหนึ่งกับช่างภาพข่าว สังกัด Getty Images โดยในระยะหลังๆ เขาได้ถูกรับเชิญให้ไปเป็นกรรมการงานประกวดภาพถ่ายอยู่บ่อยครั้ง

เราถือโอกาสนัดเจอชินหลังจากที่เจ้าตัวเพิ่งไปเป็นกรรมการให้กับงานประกวด 9th UN World Oceans Day Photo Competition เพราะความสนใจที่เรามีต่อชินไม่ใช่เพียงแค่ผลงานภาพถ่ายของเขาเท่านั้น ซึ่งด้วยรางวัลที่เรียงตามลำดับปีก็เป็นตัวพิสูจน์ฝีมือและการทำงานหนักของช่างภาพผู้นี้เป็นอย่างดีอยู่แล้ว แต่อีกด้านหนึ่งที่ผมสนใจในตัวเขาก็คือ ‘ความเป็นครู’ ที่สามารถนำประสบการณ์และวิถีการทำงานของตัวเองมาบรรยายและเป็นข้อแนะนำให้คนที่ได้รับฟังไปปรับใช้ได้ เพราะหลายครั้งที่ผมได้ฟังเขาบรรยายหรือได้อ่านบทสัมภาษณ์ในอดีตที่ผ่านมาทุกครั้งสัมผัสได้ถึงความตรงไปตรงมา ความซื่อสัตย์ต่อความคิดตนเอง ซึ่งเขาได้แสดงให้เราทุกคนเห็นว่าภาพถ่ายเชิงสารคดีที่ดีควรจะเป็นอย่างไรผ่านสิ่งที่เรียกว่า ‘การเล่าเรื่อง’ 

ชินเอ่ยต่อถึงคำแนะนำที่สำคัญต่อชีวิตการทำงานเรื่องหนึ่งของเขาให้ผมฟัง เขาพาเราเดินทางกลับไปที่วอชิตัน ดีซีในปี 2016 ที่เขาได้พบกับเหล่าเอดิเตอร์ของทีมเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิกเป็นครั้งแรก “ในตอนนั้น Kathy Moran บอกว่าภาพของเราที่ถ่ายมาดีแล้ว แต่น่าจะใช้เวลาทำงานกับเฟรม ปั้นรูปให้ดีมากกว่านี้ ซึ่ง Thomas Peschak ก็อยู่ด้วยกัน เขาก็บอกว่ารูปที่ถ่ายออกมาที่เราคิดว่าดีแล้วนั่นเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการทำงาน ‘ดีแล้ว’ คือแค่ฐาน แค่จุดเริ่มต้น ที่เหลือคือต้องถ่ายยังไงให้ดีกว่ารูปนั้นไปเรื่อยๆ กว่ารูปที่เราพอใจตอนแรก มันคือการดันไปให้ถึงที่สุดเท่าที่เรามีเวลาทำได้ แล้วเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิกไม่มีข้อแก้ตัว คุณถ่ายไม่ได้ก็คือถ่ายไม่ได้” 

หลายหัวข้อที่ถูกเรียบเรียงในบทความนี้เป็นการกลั่นจากประสบการณ์ที่ล้ำค่าทั้งในเรื่องของเทคนิคการถ่ายภาพ การเล่าเรื่องและความรับผิดชอบของช่างภาพสารคดี รวมถึงคำแนะนำที่ชินได้รับจากผู้คร่ำหวอดในวงการตลอดเส้นทางการเป็นช่างภาพสารคดี ที่สำคัญมากต่อการพัฒนาตนเองในเรื่องทัศนคติและความเข้าใจต่อตนเอง 

ผมหวังว่าบทเรียนจากท้องทะเลนี้จะทำหน้าที่เป็นอีกหนึ่งคู่มือการเริ่มต้นถ่ายภาพที่ดีและช่วยสร้างฐานความคิดให้แข็งแรงแก่นักเล่าเรื่องทุกๆ คน 

© Tanakit Suwanyangyaun

สูตรสำเร็จในการถ่ายภาพใต้น้ำ

ก่อนที่จะมาเจอชินในวันสัมภาษณ์ ผมได้คุยกับเพื่อนที่ทำงานด้านอนุรักษ์ทางทะเล เธอชื่นชมภาพถ่ายของชินให้ผมฟังถึงการที่เขาสามารถจับภาพอิริยาบถของสัตว์โดยที่สัตว์พวกนั้นไม่เกิดสภาวะแปลกแยกหรือมีอาการตกใจ หากจะดูจากงานวิจัยที่เขาคลุกคลีอยู่ก็คงจะพอประกอบเรื่องได้ว่าเขาคงเข้าใจสภาพแวดล้อมและพฤติกรรมของสิ่งมีชีวิตใต้น้ำเป็นอย่างดี ซึ่งจุดนี้พอมารวมกับการถ่ายภาพระยะประชิดที่ไม่ทิ้งพื้นที่มากนัก ยิ่งทำให้ดูเหมือนรู้สึกว่าเขาพาเราไปอยู่โมเมนต์นั้นจริงๆ กลายเป็นคำถามที่ว่าทำไมเขาถึงยึดภาพสไตล์นี้เป็นแกนหลักในการเล่าเรื่อง 

“มันเป็นแค่ช่วงหนึ่งในชีวิต” เขายิ้มยอมรับ พร้อมด้วยท่าทีบอกว่าภาพระยะประชิดที่ผมชื่นชอบนั้นมันไม่ใช่ทั้งหมดของสิ่งที่เขาต้องการจะเล่า ก่อนที่เขาจะพาให้เรารู้จักกับแนวภาพที่เหมือนเป็นสูตรสำเร็จในการถ่ายภาพสัตว์ใต้น้ำกับเทคนิค Close Focus Wide Angle   

 “การถ่าย Close Focus Wide Angle สามารถสร้างภาพที่มีอิมแพคได้ดีในใต้น้ำ ด้วยคุณสมบัติทางฟิสิกส์ของโลกใต้น้ำที่มวลของน้ำมีความหนาแน่นกว่าอากาศ 800 เท่า ซึ่งดูดกลืนแสงไปมากระหว่างที่แสงเดินทางผ่าน ทำให้ช่างภาพต้องเข้าหาซับเจคในระยะใกล้ลดระยะห่างเพื่อคืนคอนทราสให้แก่ภาพและใช้แฟลชเติมแสงสีให้กับซับเจคที่โดนอาบย้อมไปด้วยสีฟ้าหรือสีเขียวของน้ำทะเล ซึ่งโดยทั่วไประยะถ่ายรูปก็ไม่ได้เกินสองเมตร แต่โดยส่วนตัวผมชอบระยะที่หนึ่งช่วงแขน ทีนี้พอต้องเข้าใกล้มากและต้องการเก็บภาพกว้างให้ครบๆ ไม่ขาด เลนส์ฟิชอายจึงมีประโยชน์มากด้วยองศารับภาพที่กว้าง ซึ่งพอเป็นโลกใต้น้ำที่ไม่มีเส้นตรงอะไร ความบิดเบี้ยวที่เป็นลักษณะเด่นของเลนส์ฟิชอายจึงไม่มารบกวนความรู้สึกว่าโลกเบี้ยวอะไรเพราะไม่มีเส้นตรงมาให้เทียบ และด้วยความกว้างของมันทำให้ช่างภาพยิ่งต้องเข้าใกล้เข้าไปอีก ทีนี้พอมันถึงระยะประชิดขนาดนั้นแล้วซับเจคระยะใกล้จะเด่นมากและกินพื้นที่ในเฟรมได้ใหญ่จับตา ในขณะที่สามารถบอกเล่าเรื่องของพื้นที่ประกอบไปได้ด้วยมุมรับภาพที่กว้าง เอาง่ายๆ คือใช้เลนส์ฟิชอายแบบประชิดแบบดูแล้วไม่หงุดหงิดล่ะครับ” 

ด้วยปัจจัยทั้งเลนส์ที่มีมุมรับภาพที่กว้าง การเข้าใกล้ในระยะประชิด ตำแหน่งของสัตว์ที่อยู่ตรงกลางภาพ ท่าทางการตอบโต้ของสัตว์ ทั้งหมดนี้มันชวนให้เรารู้สึกตื่นเต้นเสมอๆ เมื่อได้จับจ้องภาพพวกนี้ “อารมณ์ของภาพมันค่อนข้างสวย ด้วยเอฟเฟคของเลนส์ เมื่อตัวแบบอยู่ใกล้ ฉากหลังจะดูกว้าง ทำให้คนดูรู้สึกว่าเหมือนอยู่ท่ามกลางแอคชั่นตรงนั้น เป็นมุมภาพที่แข็งแรงของการถ่ายใต้น้ำ ซึ่งก็เป็นภาพที่ทำให้ผมชอบให้อยู่ในเซตและถ้าหากว่ามันมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นผมก็เลือกที่จะอยู่ตรงนั้น”  

วนกลับไปที่ตอนบรรทัดแรกที่เขาบอกว่ามันเป็นแค่ช่วงหนึ่งของชีวิต เขาหมายความว่าอย่างนั้นจริงๆ ครับ แม้ว่าจะ Close Focus Wide Angle จะเสกโมเมนต์ให้ดูน่าสะพรึงและอลังการแค่ไหน แต่ท้ายสุดชินบอกเราว่าจะเลือกใช้ภาพนั้นรึเปล่าก็อีกเรื่องหนึ่ง ขึ้นอยู่กับเรื่องเล่าของเขาว่าจะบรรยายให้คนดูเห็นในแบบไหนในภาพรวมระหว่างการเรียบเรียงเรื่อง และบางครั้งภาพที่ถอยห่างออกมาสักห้าถึงหกเมตร แบบที่ไม่เห็นหน้าสัตว์แบบชัดเจนและสีของภาพถูกปกคลุมด้วยความทึบแสง แต่กลับเปิดให้โอกาสให้เราได้เห็นความเป็นไปที่กว้างกว่าในพื้นที่ตรงนั้น หรือบอกเล่าความหมายต่างไป ก็อาจเหมาะที่จะเลือกหยิบมาเล่ามากกว่าในบริบทที่กว้างขึ้นที่เราอาจจะรู้จักความรู้สึกนั้นในความหมายภายใต้ของคำว่า Sense of Place

เสาะหาส่วนผสมที่กลมกล่อมในเรื่องเล่าสารคดี 

หากในเชิงสถาปัตยกรรม คำว่า Sense of Place อาจจะมีความหมายถึง อารมณ์และความรู้สึกของพื้นที่นั้นๆ ที่จะสะท้อนการปฏิสัมพันธ์ของมนุษย์หรือสิ่งมีชีวิตต่อพื้นที่ ที่สามารถสัมผัสได้จากร่องรอยการกระทำทั้งเชิงกายภายและชีวภาพ ที่ขีดการรับรู้จะขึ้นตรงต่อประสบการณ์ของผู้ๆ นั้น เช่นเดียวกับใต้ท้องทะเลที่สิ่งแวดล้อมต่างๆ เกิดขึ้นจากมัณฑนากรที่ชื่อว่าธรรมชาติซึ่งแน่นอนว่าต้องมีฝีมือของมนุษย์รวมอยู่ด้วยทั้งทางตรงและทางอ้อม ชินยกคำว่า Sense of Place มาให้เราฟัง เพราะในช่วงหลังๆ เขารู้สึกว่ามีหลายๆ ภาพที่มีความนิ่งและระยะห่างจากแอ็คชั่นอาจเหมาะในการบอกเล่าถึงบริบทของพื้นที่และถ่ายทอดสิ่งที่เป็นอยู่ มากกว่าการเอาแอ็คชั่นอัดใส่หน้าอย่างเดียวและช่วยเล่าเรื่องสิ่งที่เขารู้สึกได้ครบถ้วนกว่า

“ช่วงหลังๆ ผมเริ่มชอบถ่ายระยะห่างๆ มากกว่าเพื่อจะได้เล่าบริบทที่กว้างขึ้น ในงานล่าสุดที่ไปถ่ายมา ผมถ่ายห่างออกมาไกลมากนะ ประมาณห้าถึงหกเมตรในน้ำ แม้ว่าจะรู้ว่าแฟลชมันไปไม่ถึง แสงดึงสีสดไม่ได้ แต่นั่นคือประโยคบอกเล่าที่เราอยากเล่า การถอยห่างมันเก็บองค์ประกอบที่สนับสนุนแนวคิดที่เราอยากจะเล่าเรื่องของพื้นที่ ก็ยอมที่จะให้ภาพอมฟ้าไปเยอะๆ แต่ว่าได้เล่าเรื่องของ Sense of Place ที่มันดีกว่า ซึ่งเป็นภาพที่ผมชอบมากกว่า ถึงแม้เขา (บรรณาธิการที่ทำงานล่าสุดด้วยกัน) จะไม่ได้เลือก”

นอกจากนั้นการใช้ภาพจากหลายระยะมารวมอยู่ในชุดภาพสารคดีจะช่วยให้การลำดับเรื่องราวมีจังหวะที่น่าสนใจมากขึ้นด้วย ในช่วงปีสองปีที่ผ่านมาชินได้มีโอกาสเข้าไปเก็บภาพเหตุการณ์ในพื้นที่ประท้วง ในฐานะช่างภาพของ Getty Images เขายอมรับว่าโจทย์ที่ได้รับมานั้นทำให้เขาได้เรียนรู้ทักษะเพิ่มเติมมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องไหวพริบในการสังเกตที่ช่วยต่อยอดมุมมองที่เขาไม่เคยได้คิดถึงมาก่อน ซึ่งก่อนหน้านี้เขามักจะทำงานแค่กับภาพในหัว ซ้อมและวางแผนก่อนถ่ายจริง เหมือนอย่างภาพปะการังกับทางช้างเผือกที่เกาะบุโหลน หนึ่งในผลงานที่เขาชื่นชอบมากที่สุด 

“เมื่อก่อนผมก็จะติดกับการจินตนาการภาพในหัว เพื่อไปตามหาเฟรมนั้นเฟรมเดียวเหมือนว่าเราไม่ได้เปิดตาเปิดใจมองรอบตัวขนาดนั้น พองานม๊อบได้เจอสถานการณ์ที่คาดเดาไม่ได้เยอะมาก คืออาจจะเดาได้ในระดับนึงว่าจะเกิดอะไรขึ้น แต่พวกสิ่งเล็กน้อยๆ รอบตัวเดาไม่ได้เลยว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง ทำให้เราต้องมอง เพิ่มสกิลเรื่องของการตื่นตัวต่อสถานการณ์ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องสำคัญมากและมันช่วยเราในเรื่องใช้เวลาให้คุ้มที่สุดขณะที่เราอยู่ในสถานที่นั้น” โดยการทำงานกับเฟรมภาพที่หลากหลาย เขาเชื่อว่าจะช่วยทำให้งานสารคดีนั้นดูกลมกล่อมมากขึ้น ไม่ใช่มีแต่รูประยะประชิดกระแทกใจคนดูเพียงอย่างเดียว  

พลังแห่งภาพถ่าย ใครเป็นผู้ครอบครอง

ปฏิเสธไม่ได้ว่าภาพถ่ายน้องมาเรียมที่กอดกับเจ้าหน้าที่ในขณะอยู่ใต้น้ำ ทำให้ชื่อของชินเป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้นด้วยรางวัลยอดเยี่ยม สาขา Science & Natural History ในรายการ POY77 ของสถาบัน Reynolds Journalism Institute ภาพของมาเรียมได้โด่งดังไปทั่วในสื่อออนไลน์ขนาดที่ว่าดาราฮอลลีวูดอย่าง Leonardo DiCaprio ก็ยังแชร์ภาพนี้ และโดยอย่างยิ่งในวันที่มาเรียมเสียชีวิต ภาพของชินใบนี้ก็ถูกปรากฏขึ้นมาอีกครั้ง พร้อมตามมาด้วยการตื่นรู้ของผู้คนเกี่ยวกับเรื่องพลาสติกในทะเลและการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายที่ได้จัดให้มีวันอนุรักษ์พะยูนแห่งชาติเกิดขึ้น 

ผมชวนชินคุยถึงว่าใครคือผู้มอบพลังให้แก่ภาพถ่ายกันแน่ คนถ่ายหรือคนดู หรือแท้จริงแล้วเป็นเพราะเรื่องราวในภาพที่สร้างสายลมแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ 

ผมถามชิน ภาพถ่ายมีพลังจริงไหม เขาตอบทันที “มีแน่นอน ผมว่ามันมีความสามารถในการดึงดูดคนให้เข้ามารู้จักกับเรื่องตรงนั้น เพราะภาพมันสื่อสารด้วยอารมณ์ ก่อนที่เราจะเข้าใจแคปชั่นพวกนี้ เรามีความรู้สึกกับภาพไปก่อนแล้วนะ  ซึ่งมันมีความหมายอยู่แล้ว แต่พลังที่ว่าเกิดขึ้นมาเป็นสิ่งที่ผู้คนอยากทำอะไรต่อก็เป็นเรื่องของเขา เรามีแคปชั่นอธิบายสองสามประโยคบอกเล่าว่ามีอะไรเกิดขึ้นบ้าง โดยความรับผิดชอบเราคือถ่ายภาพให้ดีที่สุด คิดบรรยายแคปชั่นตรงตามความเป็นจริงในประเด็นนั้นที่สุด แล้วก็ตีพิมพ์ออกไป” 

ชินกล่าวอย่างตรงไปตรงมาถึงประเด็นที่ภาพถ่ายสามารถจุดกระแสสังคมได้ นั่นไม่ใช่เพราะตัวเขา แต่เป็นเพราะผู้คนที่ดูและรับสารในภาพต่อ ซึ่งส่วนตัวเขาแล้วนั้น มองว่าหากภาพที่เขาถ่ายได้สร้างความสนใจในกว้างได้ก็เป็นเรื่องที่น่ายินดี แต่ถ้าไม่เกิดอะไรขึ้นเลย ก็แค่ทำงานต่อไป เขายกประโยคคำพูดของ John Vink ช่างภาพสารคดีที่สนใจเรื่องราวของผู้อพยพ อดีตสมาชิก Magnum Photo ผู้นี้ เคยพูดถึงเกี่ยวกับการถ่ายภาพไว้ว่า 

“Photography cannot do much. It provides some level of information, yet it has no pretensions about changing the world.”

“การถ่ายภาพไม่ได้ทำอะไรมากไปกว่าการให้ข้อมูลข่าวสารและไม่เคยอวดอ้างสิทธิที่จะเปลี่ยนโลก”

หากตามวรรคทองที่ชินยกมาให้เราฟัง ช่างภาพเปรียบเสมือน ‘คนเล่าเรื่อง’ ที่มีหน้าที่ถ่ายภาพออกมาให้สมบูรณ์ที่สุด อัดแน่นไปด้วยประเด็นและเปี่ยมไปด้วยสุนทรียะให้ผู้คนที่ได้พบเห็นสนใจ เมื่อใดที่ภาพได้ถูกเผยแพร่ออกไปแล้วหน้าที่ของช่างภาพก็ได้เสร็จแล้ว เตรียมตัวทำงานอื่นต่อ

 “ภาพถ่ายมันไม่ได้เรียกร้องที่จะบอกว่าตัวเองเป็นผู้ที่จะเปลี่ยนเรื่องราวที่เกิดขึ้น แต่ผู้ที่จะเปลี่ยนจริงๆ คือ คนที่ได้รับสารเหล่านั้นต่างหาก เราเป็นแค่คนถ่ายรูป อะไรที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นก็ตามนั้น ถ้ามันไปไม่ถึงก็ทำต่อ เราไม่ได้เปลี่ยนโลก เราแค่ทำหน้าที่ของเรา คือเป็นคนเล่าเรื่อง” 

หากเราย้อนดูรางวัลส่วนตัวในอดีตของชิน อาจจะรู้สึกว่าเขาคนนี้เคี่ยวกรำและตั้งใจอย่างมากในการส่งรูปเข้าประกวด แต่ความจริงไม่ใช่อย่างที่คิด เขาบอกกับเราว่าส่วนตัวเขาไม่ได้สนับสนุนให้ใครใช้รางวัลเป็นแรงผลักดันในการสร้างงาน “คือผมไม่เชียร์ใครเลยนะให้ถ่ายรูปและโฟกัสแต่เรื่องการแข่ง เราถ่ายรูปเพื่อเล่าเรื่องที่มันเกิดขึ้นจริง เรื่องที่เราอยากเล่าจากน้ำเสียงในสิ่งที่เรารู้ ไม่ว่าจะแบบในเชิงความรู้สึกหรือแรงบันดาลใจที่ออกมาจากตัวเรา ส่วนเรื่องการแข่ง มีจังหวะส่งค่อยส่ง มันเป็นแค่น้ำจิ้ม” 

สำหรับเขานั้นชื่อเสียงเป็นความน่ายินดีที่ควรรีบดื่มด่ำ “เวลามีคนยอมรับเรา เราก็ดีใจ แต่คุณควรดีใจแค่วันเดียว วันนี้จบ วันต่อมาเริ่มถ่ายงานเหมือนเดิม ผมนับถือและชอบที่พี่ชุม-อธิษฐ์ พีระวงศ์เมธา พูดมากเลยว่า “ได้รางวัลพูลิตเซอร์แล้วไง วันต่อมาก็ถ่ายตามหมายอยู่ดี” คุณถ่ายรูปเพื่อทำให้คุณจดจำว่าคือคุณคือใครว่าคุณมีรางวัลมากแค่ไหนหรือคุณชอบงานถ่ายรูปเพราะเราได้เล่าเรื่อง แค่นั้นเอง”

© Sirachai Arunrugstichai

ประสบการณ์ของตัวตนของภาพถ่าย

พอได้ยินชินเอ่ยชื่อช่างภาพระดับเก๋าอย่าง John Vink ขึ้นมา ในใจก็คิดอยากจะชวนคุยต่อว่ามีช่างภาพคนไหนบ้างที่เจ้าตัวชื่นชอบผลงาน เขาใช้เวลาไปชั่วครู่นึงคิดไปพลางพูดไปว่าเลือกลำบากมาก เพราะมีหลายชื่อนอนรอเต็มไปหมด ก่อนที่เขาจะตัดสินให้รายชื่อช่างภาพเรามาสี่ห้าคน เริ่มด้วย Thomas Peschak เมนเทอร์และต้นแบบในการเริ่มทำงานถ่ายภาพอนุรักษ์ของเขา ต่อมา Damir Sagolj อดีต Chief Photographer ของ Reuters ในประเทศไทย ต่อด้วย Eugene Richards ที่เขาชอบผลงานเล่ม Cocaine True Cocaine blue และ The Knife and Gun Club เป็นพิเศษ ต่อที่ James Nachtwey กับเล่ม Inferno และชื่อสุดท้ายได้แก่ Rebecca Norris Webb ภรรยาของ Alex Webb ผู้โด่งดัง แต่ชินยืนยันกับเราว่าชอบสไตล์งานของเธอมากกว่า 

พอได้รายชื่อช่างภาพมาในแง่มุมหนึ่งก็น่าสนใจว่าสิ่งใดคือจุดร่วมหรือใจความของผลงานที่ชินชอบจากช่างภาพทั้งหมดนี้ คำตอบที่ได้จากเขา คือความสดใหม่ที่เขาได้รับจากผลงานเหล่านี้เมื่อเจอกันครั้งแรก แม้ว่าแต่ละคนที่เกริ่นมาจะมีภาพคนละสไตล์ก็จริงแต่ความสดใหม่ที่ป้อนเข้าสู่คลังภาพของเขานั้น ทำให้เขามีอาการตาลุกวาวเสมอๆ ซึ่งสิ่งนี้นำมาสู่เรื่องที่ชินอยากพูดถึงประเด็นเรื่องการทำงานของช่างภาพที่เกิดใหม่ในประเทศไทยปัจจุบันที่เขามองว่าหลายๆ ครั้งชอบถ่ายตามบุคคลที่ประสบความสำเร็จทั้งในแง่มุมมองภาพ สถานที่และตัวแบบ 

ชินศรัทธาต่อความหลากหลายของสำเนียงในผลงานของแต่คนละคนเป็นอย่างมาก เขายกประโยคอมตะของ Ansel Adams ที่เขาบอกว่าไพเราะมากๆ เพื่อบอกว่าช่างภาพทุกคนควรมีเสียงของตัวเอง 

“You don’t make a photograph just with a camera. You bring to the act of photography all the pictures you have seen, the books you have read, the music you have heard, the people you have loved.”  

“คุณไม่ได้ถ่ายภาพลำพังใช้แค่กล้อง แต่คุณเอารูปภาพที่เคยเห็น หนังสือที่เคยอ่าน ดนตรีที่เคยฟัง ผู้คนที่เคยรักมาสู่การถ่ายภาพ”

ชินจริงจังมากกับการที่ช่างภาพจะต้องรู้ว่าตัวเองมองเห็นอะไร เพราะเขาเชื่อว่าทุกสิ่งทุกอย่างนั้นเริ่มต้นจากการที่คุณมองเห็นสิ่งนั้นคืออะไร อะไรคือความหมายของภาพที่คุณเห็น 

“สำคัญที่ช่างภาพทุกคนจะต้องมีคือ Visual Literacy (การอ่านภาพ) การศึกษาว่ารูปแบบไหนเคยถ่ายแล้วบอกทั้งวิชวลสไตล์และการเล่าเรื่อง ช่างภาพแต่ละคนก็ควรมีวิธีการมองของตัวเอง ให้มองหาสิ่งใหม่ ไม่งั้นมันไม่สนุก งานที่ทำมาแล้วมีไว้เพื่อให้ศึกษา มีไว้เพื่อชื่นชม” 

เขากล่าวต่อว่า ความคิดความอ่านของมนุษย์เราล้วนมีเศษเสี้ยวของคนนั้นคนนี้มากมายมาประกอบอยู่ ชินแทนรสนิยมและประสบการณ์ของคนเป็น ‘สมูทตี้’ ที่นำวัตถุดิบหลายอย่างมาปั่นรวมกันเปรียบเหมือนประสบการณ์ที่ได้เจอในชีวิต โดยสุดท้ายมันจะออกมาเป็นรสชาติแบบไหนเท่านั้นเอง เขาก็ยกตัวอย่างตัวเขาเองที่เป็นคอหนังสยองขวัญ หรือเกมอย่าง Silent Hill 2 ที่บางครั้งก็มีคนใกล้ตัวทักว่าเห็นงานของเขาแล้วรู้สึกเหมือนในหนัง Sinister (2012) ก่อนที่จะย้ายประเด็นชินทิ้งท้ายถึงการอยู่กับ ‘รสชาติในแก้วสมูทตี้ของตัวเอง’ ว่า  

“สมูทตี้แก้วนี้ (สไตล์) มันอาจจะอร่อยหรือไม่อร่อยสำหรับใครบางคน แต่ทุกคนมีพื้นที่ของตัวเอง ซึ่งอนาคตมันก็อาจจะมีคนที่ชอบแบบของเราก็ได้ จงภาคภูมิความเป็นสมูทตี้ของตัวเอง และก็เปิดใจรับสิ่งใหม่เข้ามาด้วย เพื่อที่จะต้อง พัฒนากันต่อเหมือนการอ่านหนังสือเล่มนึง ผ่านไปปีสองปีอ่านอีกรอบ ก็ไม่เหมือนเดิมแล้ว ประสบการณ์ชีวิตต่าง ความหมายก็เปลี่ยน”  

ความรับผิดชอบของช่างภาพสารคดี

 พอพูดถึงที่มาที่ไปภายใต้ตัวตนกับสิ่งที่มีอิทธิพลต่อผลงานภาพถ่าย เพลงก็เป็นหนึ่งในการถูกใช้เป็นวัตถุดิบประกอบเฟรมภาพในหัวของเรา ซึ่งชินทำท่าเหมือนนึกอะไรออกขึ้นมาก่อนที่จะบอกพวกเราว่า เขาเพิ่งได้ไปดูคอนเสิร์ตวง Stoondio มา ซึ่งความหมายในเพลงของวงนี้มันช่างตรงกับความคิดที่เขามีต่อการสร้างสมดุลในผลงานและการใช้ชีวิต 

 “วันก่อนผมไปดูคอนเสิร์ตของตูน วง Stoondio (โชติกา คำวงศ์ปิน) คือผมชอบเพลงของเขามาก จริงๆ เราเป็นเพื่อนสมัยมัธยมกันด้วยนะ ซึ่งผมดีใจมากๆ เลยที่ได้เจอกันอีก ไม่ได้เจอกันนานมากประมาณยี่สิบปี ที่ชอบเพลงเขาเพราะฟังแล้วรู้สึกว่ามันถูกเขียนจากชีวิตเขา เพลงเขามันจะเศร้าก็เศร้าไม่สุด จะหวานก็สุขไม่สุด ซึ่งผมว่านั่นเป็นสิ่งที่ผมชอบ เพราะมันมีความเกี่ยวพันกับตัวเอง และทำให้รู้สึกว่างานภาพถ่ายที่ผมชอบมันเป็นยังไง เพราะว่ามันไม่ควรจะสุดโต่งด้านเดียว ทั้งในเรื่องของเนื้อหาที่เราเล่า เรื่องชีวิตคนมันมีความปนเปที่ว่าในบางอารมณ์ความรู้สึกอย่างเรื่องขมๆ มันก็มีความหวานปนอยู่ ผมว่านั่นคือความปกติ ผมว่ามันเป็นสิ่งที่อยู่บนพื้นฐานความจริงมาก เพราะฉะนั้นผมจึงรู้สึกกับเพลงเขาเป็นพิเศษ หากพูดถึงงานภาพถ่าย คือก็ชอบภาพที่มีความกลมกล่อม มีการเข้าใจในบางสิ่ง เพราะบางเรื่องที่เราถ่ายมาบางครั้งมันเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายเป็นสิ่งที่ไม่ดีแต่นั่นคือการใช้ชีวิตของเขา เขาต้องการใช้เพื่อหาเงิน และหลายๆ ประเด็นมันก็ซับซ้อนกว่าจะพูดแค่ขาวหรือดำ”  

ชินกำลังจะชูประเด็นต่อถึงเรื่องราวที่เขาได้พบเจอมานั้นว่ามันมีมิติมากกว่าที่เราเห็นบนพื้นที่สาธารณะ เขายกตัวอย่างเรื่องคนทำหูฉลามที่เคยได้สัมภาษณ์ ถึงเขาจะรู้ว่างานที่ชายคนนั้นทำมันจะเป็นภัยต่อความอยู่รอดของประชากรฉลาม แต่เขาก็ไม่สามารถละประเด็นที่ว่าเหตุใดที่นำพาให้ชายคนนี้ต้องทิ้งงานเก่ามารับงานนี้ที่สามารถหาเลี้ยงครอบครัวได้อย่างกินอิ่มนอนหลับ ฉะนั้นการศึกษาบริบทเชิงสังคมให้รอบด้านเป็นเรื่องที่ละไม่ได้เลยหากคิดที่จะเป็นช่างภาพสารคดี

ภาพสารคดีจะอยู่โดยขาดประเด็นไม่ได้ ความสวยงามเป็นหน้าต่าง แต่ประเด็นคือสิ่งจะทำให้เรื่องราวในภาพนั้นไปต่อได้ “ผมถึงบอกว่ามันจำเป็นต่อช่างภาพสารคดีรุ่นใหม่ๆ ที่จะขึ้นมาไม่ใช่แค่แบบภาพสวย ภาพสวยก็เป็นส่วนนึงให้คนจ้างงาน แต่เรื่องที่หลายๆ คนอาจจะไม่นึกถึงคือการพัฒนาตัวเองและมุมมองในการใช้ชีวิต เพราะว่างานพวกนี้คืองานที่เติบโตเรียนรู้จากผู้คน หากเราไม่เข้าใจพวกเขา ไม่เข้าประเด็นหรือเนื้อหาที่เราถ่ายมา ว่าทำไปทำไม แล้วเราจะเล่าอะไรออกมาได้”  

แม้ว่าในจุดนี้เขาจะแสดงความเข้าใจต่อยุคสมัยที่หลายคนถูกเร่งเร้าด้วยเทรนด์ที่ต้องรีบสร้างผลงานให้เป็นที่รู้จักโดยไว แต่สำหรับเขานั้นอยากให้ลองทำให้ช้าลงและมองการถ่ายภาพในรูปแบบของกระบวนการที่มีระยะเวลาในการบ่มเพาะประเด็นที่แหลมคม “เหมือนวิทยานิพนธ์ที่ผมทำ เล่าเรื่องฉลาม ใช้เวลาถ่ายทั้งหมดสองปี ตลอดเวลานั้นเราทำอะไรบ้าง เราไปแล็บ เราทำวิจัย เราได้เจอผู้คน เราเก็บตัวอย่าง เราไปอยู่ชาวประมง ระหว่างนั้นมันคือสิ่งค่อยๆ เจียรมุมมองตัวเราออกมาในงาน มันไม่ใช่แค่เรื่องเราพาตัวเองไปเหยียบที่นั่นให้ได้ เพราะการทำงานสารคดีคือการอ้างอิงจากประเด็นเป็นหลัก” ซึ่งตัวเขายอมรับกับผมว่าเขาไม่ใช่มนุษย์ประเภทที่จะอ่อนไหวต่อเรื่องอะไรง่ายๆ และไม่ได้มีความเห็นอกเห็นใจเหลือเฟือพอสำหรับทุกเรื่อง แต่สิ่งที่เขาจำเป็นที่จะต้องศึกษาผู้คนนั้นเขาให้เหตุผลว่า “เพราะอย่างน้อยเป็นสิ่งที่เราจะทำได้ในการเรียนรู้จากคนที่เราจะไปถ่าย คือการทำความพยายามเข้าใจเขาให้มากที่สุด”

 

สำหรับช่างภาพสายข่าวและสารคดี ‘ข้อเท็จจริง’ สำคัญพอๆ กับมุมมองการถ่ายภาพเพราะความหมายของภาพสำคัญต่อการตัดสินใจของคนดู ซึ่งการกำหนดขอบเขตเรื่องที่จะเล่าให้ชัดเจนจะช่วยในการทำประเด็นให้เที่ยงตรงที่สุด คนดูจะไม่หลง โดยชินบอกเราว่าเรื่องนี้คือสิ่งที่ต้องควรระวังในยุคที่ข้อมูลวิ่งชนกันไปมาอย่างรวดเร็วทำให้ผู้คนสามารถหยิบจับเรื่องราวมาปะติดปะต่อได้อย่างทันที ซึ่งมันคงจะไม่ดีหากเรื่องนั้นยังขาดมิติความจริงบางอย่างไปมากอย่างเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นกับภาพยนตร์สารคดีเรื่อง Seaspiracy (2021)

“การเช็คข้อมูลสำคัญมาก เราสามารถเข้าถึงข้อมูลได้รอบตัวเรา ข้อมูลมันไปเร็วมาก ให้เวลากับการตรวจสอบความจริงมากกว่านี้ อย่าตื่นตูมเพราะสุดท้ายเห็นตัวอย่างในสังคมเยอะแล้ว มันอาจเป็นเรื่องพฤติกรรมของความรวดเร็วในการสื่อสาร ซึ่งผมก็ไม่ได้มีสิทธิ์มีเสียงอะไรไปตัดสินพวกเขา แต่มองว่าจะทำงานสายภาพข่าวก็ต้องใช้เวลาและมีความละมุนหน่อย ให้ชั่งน้ำหนักมุมมองของสิ่งที่เกิดขึ้นให้ครบถ้วนในประเด็นที่เราสนใจ ผมว่ามันคือสิ่งที่เราต้องรับผิดชอบในอาชีพนี้”

ก่อนที่เราจะอำลากันหลังเสร็จสิ้นจากพูดคุยราวเกือบสองชั่วโมง ขณะที่ชินกำลังเก็บกระเป๋าเตรียมเดินทางต่อ จู่ๆ ผมก็นึกสงสัยว่าความหลงใหลที่เขามีต่อเรื่องราวของโลกใต้น้ำนั้นเกิดขึ้นตอนไหน ผมจึงได้เอ่ยถามชินถึงวันเก่าเก่าว่าเริ่มสนใจงานสารคดีแบบนี้ตั้งแต่เมื่อไหร่

“Beneath The Tasman Sea เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก เดือนมกราคม ปี 1997 ปกเป็นรูปฉลามฟันเลื่อย ถ่ายโดย David Doubilet” เขาพูดออกมาภายในทันทีและชัดถ้อยชัดคำมาก ราวกับว่าเรื่องเมื่อยี่สิบห้าปีที่แล้วยังไหลเวียนอยู่ในความทรงจำของเขาอย่างเข้มข้น 

images
images
images
images
พิสูจน์อักษร: ชลดา สวนประเสริฐ