brand logo

PHOTO | LIFE | INSPIRATION

Apr 2024

เชน สุวิกะปกรณ์กุล
Profession & Determination
เรื่อง : มายา
ภาพ : ณัฐวุฒิ เตจา
3 Mar 2022

หากพูดถึงร้านหนังสือที่ตั้งอกตั้งใจขายหนังสือ ‘ปกแข็ง’ หรือหนังสือดี ที่สวยทั้ง เนื้อหา รูปลักษณ์และภาพประกอบ จนนิยมไปวางรับแขกหรือประดับโต๊ะกาแฟ (coffee table book) ร้านเดียวในประเทศไทยที่ไม่ใช่ร้านหนังสือแฟรนชายส์แล้ว ชื่อ Hardcover: The Art Book Shop ที่มีโลโก้รูปหนังสือสีส้มสดคงจะผุดขึ้นมาเป็นชื่อแรกๆ อย่างแน่นอน 

เราได้ลงนั่งพูดคุยกับเชน สุวิกะปกรณ์กุล ผู้ก่อตั้งร้านหนังสือเฉพาะทางแห่งนี้ และยังเป็นเจ้าของสำนักพิมพ์ Serindia   รวมไปถึงธุรกิจใหม่เอี่ยม The Kolophon ห้องสมุดเอกชนที่มุ่งมั่นจะสร้างฐานข้อมูลต่างๆ นานาให้ผู้สนใจเข้าถึงได้ง่าย โดยภาพรวมแล้วทุกธุรกิจผสมผสานความชำนาญและให้คำปรึกษาหลายรูปแบบในนามของ Serindia Studio 

Photography as Contemporary Arts 

เราเปิดบทสนทนากับเชนด้วยงานนิทรรศการ MINT : An NFT Photographic Group Exhibition ที่ Serindia Studio รับหน้าที่เป็นภัณฑารักษ์รวบรวมผลงานภาพถ่ายของ 11 ช่างภาพไทยที่ตัดสินใจเอางานตัวเองไป ‘mint’ หรือแปรเป็นสินทรัพย์ที่เรียกว่า NFT  “ช่างภาพที่เอางานไปทำ NFT แบบจริงจังในปัจจุบันก็ยังไม่เยอะมากนะ เราเลือกพวกเขามา และพูดให้งานภาพถ่ายเหล่านี้นี้เข้าสู่ไทม์ไลน์ของงานศิลปะร่วมสมัย (contemporary art) อย่างจริงจัง เพราะโลกมันจะค่อยๆ เปลี่ยนไปแล้ว ภาพถ่ายจะไม่ได้เป็นแค่ ‘ภาพถ่าย’ อีกต่อไป มันจะแปรเป็นงาน visual อย่างหนึ่ง ทำให้คำจำกัดความของภาพถ่ายภาพขยายขึ้น เป็นส่วนหนึ่งของงานศิลปะร่วมสมัยอย่างแท้จริง เราอยากให้คนมองงานภาพถ่ายในฐานที่เป็นศิลปะร่วมสมัย ไม่ใช่มองว่าเป็นแค่ภาพถ่ายเหมือนเมื่อก่อน เพราะเอาจริงๆงานภาพถ่ายที่ขายได้ราคาดีระดับหนึ่งนั้น ส่วนใหญ่จะถูกขายในกลุ่มของงานศิลปะร่วมสมัยครับ

“งานนิทรรศการครั้งนี้เลยจะเป็นเหมือนการขยาย ‘ความหมาย’ ของภาพถ่ายไปอีกระดับหนึ่ง” เชนอธิบายเพิ่ม “ไหนๆ NFT ก็เริ่มเข้ามามีบทบาทในฐานะศิลปะอย่างหนึ่งแล้ว เราเลยคิดว่าถ้ากลุ่มศิลปินที่เป็นช่างภาพจะเข้ามาในซีนนี้แล้ว มันก็ควรถูกพูดไปในทิศทางเดียวกันในฐานะงานศิลปะร่วมสมัยทีเดียวเลย เพราะตั้งแต่อดีตมาแล้วที่ศิลปะสาขาภาพถ่ายมันต้องดิ้นรนตลอดมาตั้งแต่เริ่มต้นประวัติศาสตร์เลย” เราอดอมยิ้มบางๆ ไปกับเรื่องที่เราเกือบลืมไปแล้วไม่ได้ในวันที่ ‘ภาพถ่าย’ ถูกยอมรับไปแล้วว่า มันคืองานศิลปะแขนงหนึ่ง อาจเพราะเราเกิดไม่ทันศิลปินถือกล้องรุ่นแรกๆ ที่จะต้องเจอสารพัดคอมเมนต์จากวงการศิลปะดั้งเดิมในวันนั้น เราจึงแทบนึกไม่ออกเลยว่า ภาพถ่ายเคยถูกกีดกันจากซีนงานศิลปะไปได้อย่างไร “ตอนแรกสุดที่กล้องถ่ายรูปออกมา คนก็จะรุมบอกว่าภาพถ่ายไม่ใช่งานศิลปะ แต่เป็นงานภาพเหมือน วงการนี้ก็สู้มาจนกระทั่งภาพถ่ายถูกนำมาเป็นหนึ่งในเทคนิคการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะร่วมสมัย เอามาผสมในภาพวาด งานคอลลาจ แปรเป็นโพลารอยด์ แต่คนก็ยังยอมรับยากอยู่ดี พอมาถึงปัจจุบัน ทุกอย่างเปลี่ยนไปมาก ภาพถ่ายถูกดัดแปลง ต่อเติม จนกระทั่งมองไม่เห็นแล้วว่าความเป็นจริงหลังกล้องคืออะไร เพราะฉะนั้น วงการศิลปะจึงสามารถมองมันในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของผลงานศิลปะร่วมสมัยได้ในที่สุด งานนิทรรศการนี้ก็เลยจะปักหมุดไทม์ไลน์การดิ้นรนของวงการภาพถ่ายไล่มาตั้งแต่จุดเริ่มต้นของฟิล์ม แกลเลอรี่แรกที่จัดแสดงภาพถ่าย ไปจนถึงจุดกำเนิดของป็อปอาร์ต คอนเซ็ปช่วลอาร์ต การเกิดของกล้องดิจิตอล มาจนถึงกล้องถ่ายรูปในสมาร์ทโฟน โดยจัดแสดงประวัติต่างๆ ควบคู่กับผลงานภาพถ่ายของช่างภาพ 11 คนที่เรามองเห็นว่ามันคืองานศิลปะร่วมสมัย ไม่ใช่งานภาพถ่ายแบบเดิมอีกต่อไปแล้ว” 

เห็นได้ชัดเจนว่าเชนพยายามที่จะสร้างบทสนทนาทางประวัติศาสตร์ใหม่ๆ ให้กับวงการภาพถ่าย แม้ว่าจะเป็นช่วงเริ่มต้น (ไม่ต่างจากนิตยสารของเราที่ก็พยายามทำอะไรบางอย่างเพื่อวงการนี้เช่นเดียวกัน) แต่แนวโน้มความเข้าใจของภัณฑารักษ์ และคอลเลกเตอร์ก็เป็นไปในทิศทางที่มีความหวังมากกว่าหมดหวัง “คนดูเหมือนจะยอมรับมากขึ้นนะ พอเราพูดไกด์ให้คนมาทางนี้ ให้คนเลิกมองว่าภาพถ่ายมันเป็นแค่ภาพถ่ายน่ะ อนาคตมันอาจจะขยับขึ้นไปได้อีกระดับหนึ่ง เพราะมันได้ผ่านการพิสูจน์มาแล้วว่าการที่จะขายภาพถ่ายให้ได้ราคา ต้องไปปรากฏเป็นส่วนหนึ่งของงานประมูล contemporary art sale งานใดงานหนึ่ง ถ้าเป็นงานประมูลภาพถ่ายล้วนๆ ราคาและคุณค่าก็อาจจะไม่ได้หวือหวาเท่าดังนั้น นิทรรศการครั้งนี้ก็จะวางแนวทางให้คนมองไปทางนี้นี้ครับ” อีกครั้งที่น้ำเสียงของเชนมุ่งมั่นแบบที่เราจับได้อย่างชัดเจน 

ความมุ่งมั่นที่จะสร้างบทสนทนาให้ภาพถ่ายกลายเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ศิลปะร่วมสมัย ดังที่ Serindia Studio ทำนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ในวงการศิลปะทั่วโลก “มันเป็นเรื่องที่คนพูดถึงมาโดยตลอดอยู่แล้วนะ แต่ว่าไม่มีใคร แม้กระทั่งหนังสือเล่มไหนมาพูดภาพรวมให้เรารับรู้เป็นภาพใหญ่ว่าตกลงแล้วทุกอย่างมันเข้าที่เข้าทางได้อย่างไร ตรงไหนบ้าง ทำไมคนถึงรับรู้แบบหนึ่ง แต่ไม่ยอมรับรู้อีกแบบหนึ่ง ทุกคนเหมือนจะรู้ว่ามันมีสาขางานศิลปะที่ชื่อว่า ‘ภาพถ่าย’ แต่ไม่ค่อยมีคน(ยอม)รับรู้ว่าในไทม์ไลน์ของประวัติศาสตร์ศิลปะภาพรวมมันเกิดอะไรขึ้นบ้าง ฉันกำลังดูอะไรอยู่ สิ่งที่ฉันดูอยู่คือส่วนไหนในประวัติศาสตร์ศิลปะกันแน่ แต่พอเราจับรูปไปวางให้เห็นได้ชัดเจน ทุกคนก็จะเข้าใจได้มากขึ้น เกิดเป็นบทสนทนาที่หนักแน่นพอที่จะให้คนที่มาดูงานเข้าใจได้ว่า ถ้าฉันซื้อรูปนี้ ฉันก็จะเก๋นะ อะไรแบบนี้” 

นี่คือ บทบาทของเขาและความสนุกแรกที่เราได้รู้จักกับเชน สุวิกะปกรณ์กุล ไม่ใช่แค่เจ้าของธุรกิจร้านหนังสือ

The Moment That Started It All

แม้ว่าเราจะเปิดบทสนทนาว่าด้วยเรื่องนิทรรศการ และความพยายามที่จะสร้างประวัติศาสตร์ให้กับภาพถ่าย แต่จุดประสงค์หลักของการพูดคุยครั้งนี้คือ ย้อนไปถึงจุดเริ่มต้น และที่มาที่ไปของเชนในฐานะผู้ก่อตั้งร้านหนังสืออิสระ ที่ไม่ใช่แฟรนชายส์ ที่มีความเป็นตัวเองชัดเจน และเป็นหมุดแห่งสำคัญของกรุงเทพฯ หรือของประเทศไทยก็ว่าได้ และบทสนทนานั้นก็พาเราย้อนอดีตไปถึงครั้งที่โลกยังเป็นพื้นที่ออฟไลน์อยู่เลยทีเดียว “ตอนนั้นผมเลือกไปเรียนต่อสาขา direct marketing ที่ Northwestern University ชิคาโก้ เพราะตอนนั้นสาขานี้ถือเป็นของใหม่มากๆ” ดวงตาของเขาเป็นประกายเมื่อเล่าถึงเรื่องนี้ “คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะเพิ่งจะเข้ามามีบทบาทในชีวิตของคนเรา การเรียนสาขานี้คือการเรียนการประมวลข้อมูลต่างๆ เพื่อนำมาคิดกลยุทธ์ในการตลาดว่าถ้าคราวหน้าเราจะส่งซองใส่แคตตาล็อกใดๆ ไปหาลูกค้าโดยตรง ควรจะใส่ซองสีอะไร ความหนาเท่าไหร่ เพื่อให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อของในแคตตาล็อกนั้น ในยุคที่ไม่มีอินเทอร์เน็ต หรือบิ๊กดาต้า การประมวลผลตรงนี้ถือเป็นขุมทรัพย์สำคัญสำหรับการวางแผนการตลาดในยุคนั้นเลยทีเดียว มันเป็นของใหม่ที่เราอยากจะเรียน เพราะเราเห็นว่ามันคืออนาคตจริงๆ” 

เริ่มต้นด้วยการเรียน direct marketing แต่กลับมาเริ่มต้นการทำงานในร้านหนังสือศิลปะตะวันออกเนี่ยนะ เราอดสงสัยไม่ได้จริงๆ “ร้านที่ชื่อ Paragon Book Gallery นี้มันมีเรื่องราวของมันนะ” เชนเล่าด้วยดวงตาเป็นประกาย “ร้านแรกสุดเปิดที่นิวยอร์ก เจ้าของเป็นคนยิวที่หนีสงครามมาจากเซี่ยงไฮ้ มาเปิดร้านหนังสือที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์เอเชียที่นี่ เขาก็ทำจนกลายเป็นที่รู้กันว่าเวลาจะซื้อหนังสือใดๆ เกี่ยวกับทวีปเอเชีย จะต้องโทรมาที่ร้านนี้ โดยเฉพาะหนังสือศิลปะเอเชีย มีสโลแกนว่า The Oriental Bookstore of America พอมันเป็นร้านกึ่งๆ ผูกขาดในทางนี้ แคตตาล็อกก็จะมีดีลเลอร์ขายของเก่ามาลงโฆษณา ลูกค้าของร้านหนังสือส่วนใหญ่ก็จะเป็นนักสะสมของโบราณที่มาหาหนังสือว่าด้วยเรื่องของโบราณจากทวีปเอเชียครับ พอเจ้าของรุ่นที่อพยพมาเสียชีวิตไป ธุรกิจก็ถูกขายต่อให้กับผู้หญิงคนหนึ่งรุ่นต่อมาที่เรียนประวัติศาสตร์ศิลปะเอเชีย แต่เขาบริหารต่อไม่ไหว ก็ปิดร้าน แต่งงานย้ายตามสามีมาอยู่ที่ชิคาโก้ และมาเจอกับเจ้านายเก่าของเราที่เป็นคนจีนทำอาชีพขายของเก่า เขารู้จักร้านนี้อยู่แล้วเพราะเขาเองก็เป็นลูกค้า พอเจ้าของเก่าถามว่าจะซื้อชื่อร้านที่ปิดไปแล้วกับรายชื่อลูกค้าและที่อยู่ราวๆ 5,000 ชื่อไหม เขาก็ตอบตกลงทันที 

“แต่ตอนนั้นเขาเองก็ยังไม่ได้มีความรู้เรื่องคอมพิวเตอร์ หรือการจัดการข้อมูลมากนัก เขาก็ยังคิดไม่ตกว่าจะทำอย่างไรดี จังหวะนั้นเราก็ไปเจอเขาโดยบังเอิญ เขาเลยชวนเราว่าเราสนใจจะทำงานนี้ไหม นี่คือสิ่งที่เราเรียนมาเลยนะ” น้ำเสียงของเชนฟังดูมีความสุขจริงๆ “เดี๋ยวเราจัดการให้เองนะยู เพราะโดยส่วนตัวเราก็สนใจศิลปะจีนอยู่แล้ว ภาษาจีนก็พอพูดได้ งานที่ทำก็เข้าใจพื้นฐานอยู่แล้ว ก็ลุยเลย พอลงไปลุย ก็ทำให้รู้ว่าสิ่งที่ยากคือการทำดาต้าเบสแคตตาล็อกหนังสือทั้งหมดที่มี เราต้องเขียนโครงสร้างดาต้าเบสที่รองรับหนังสือทุกเล่มในร้านให้ได้ คีย์ข้อมูลทั้งหมดเข้าไปเอง วันๆ จมอยู่กับการแคตตาล็อกหนังสือ ประสบการณ์ตรงนั้นเลยทำให้มันกลายเป็นธรรมชาติของเราไปเลยที่เห็นหนังสือปุ๊บก็เลือกได้ทันที เราทำงานอยู่ที่นี่ตั้งสิบห้าปีเลยนะ ตั้งแต่เป็นร้านเล็กๆ จนเจ้าของเขาเช่าโกดังมาปรับปรุงให้กลายเป็นร้านใหญ่ การได้อยู่ตรงนี้มันสนุกมาก เพราะนอกจากจะได้ทำสิ่งที่เรียนมาแล้ว ยังได้รู้จักทั้งวงการหนังสือและวงการศิลปะไปพร้อมๆ กันอีกด้วย” 

ด้วยความที่ร้าน Paragon Book Gallery เป็นร้านหนังสือเฉพาะทางศิลปะ เมื่อมีภัณฑารักษ์ หรือบุคคลในวงการศิลปะต่างถิ่นเดินทางมาที่เมืองนี้ ทุกคนก็จะแวะเวียนมาที่ร้าน ทำให้เชนได้มีโอกาสต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองหลายแบบ เคยมีชาวจีนอย่างไดเรกเตอร์ของพิพิธภัณฑ์พระราชวังต้องห้ามโดยการขับรถพาเขาไปเยี่ยมชมทุกมิวเซียม และได้อานิสงส์เข้าไปดูของเก่าที่มิวเซียมเหล่านั้นเก็บไว้ พร้อมกับบุคคลสำคัญในวงการมิวเซียมจากจีน ทำให้เขาได้รู้จักคน รู้วิธีการทำงานเบื้องลึกเบื้องหลังของวงการนี้  เชนถือว่ามันเป็นประสบการณ์ที่ล้ำค่าสำหรับเขาแบบที่มีเงินเท่าไหร่ก็ซื้อไม่ได้ “พอลูกค้าโทรมาซื้อหนังสือกับเรา เราก็จะให้คำแนะนำลูกค้าได้ เพราะเราได้เรียนรู้และสัมผัสของจริงมาแล้ว” 

Time to Move On and Move Back 

ในระหว่างสิบปีที่เชนทำร้านหนังสือแห่งนี้ เขาก็ได้ซื้อกิจการสำนักพิมพ์ Serindia Publications ทำควบคู่ไปกับร้านหนังสือ จนกระทั่งสิบห้าปีผ่านไป โลกเข้าสู่ยุคอินเทอร์เน็ตอย่างเต็มตัว เชนเล็งเห็นแล้วว่างานสำนักพิมพ์นั้นสามารถ work from ที่ไหนก็ได้บนโลก เขาก็บอกลากับเจ้านายเก่าที่ก็วางแผนจะขายร้านหนังสือให้เศรษฐีชาวจีนพอดี และหอบประสบการณ์และความรู้พร้อมสำนักพิมพ์ในมือกลับมายังกรุงเทพมหานครบ้านเกิดของเขา “พอกลับมาไทยก็ทำแต่งานสำนักพิมพ์และจัดจำหน่าย จนกระทั่งมีคนพาไปดูที่แห่งหนึ่งที่เป็นบ้านเก่าของคุณหมอบุญส่ง เลขะกุล ที่ถูกกลุ่มทุนอสังหาซื้อไป เราไปดูแล้วก็เห็นว่ามันเป็นพื้นที่เงียบๆ อยู่ข้างโรงแรม Oriental เหมาะสมที่จะเปิดแกลเลอรี่ศิลปะเล็กๆ ตอนนั้นเรารู้สึกว่าเราทำได้ เพราะประสบการณ์ในการขายหนังสือที่เราต้องรับมือกับผู้คนหลากหลายรูปแบบ ทำให้เราเห็นว่าคนที่ซื้อหนังสือของเราเขาก็ซื้องานศิลปะด้วย เราตอบคำถามแบบนี้ทางโทรศัพท์มาสิบกว่าปี และเราก็รู้จักทั้งศิลปินและช่างภาพที่เคยพิมพ์หนังสือกับเราอยู่เยอะพอสมควร เราเลยตัดสินใจเปิด Serindia Gallery โดยมองว่ามันเป็นส่วนต่อขยายของสำนักพิมพ์เราน่ะ ถ้าไม่มีร้านหนังสือไหนรับขายหนังสือของเรา เพราะมันเป็นหนังสือเฉพาะทางเกินไป อย่างน้อยเราก็มีแกลเลอรี่ของตัวเองที่วางหนังสือทุกเล่มของสำนักพิมพ์ คุณสามารถมาซื้อได้ และมีงานศิลปะให้ดูด้วย” 

เชนเริ่มต้นแกลเลอรี่โดยการนำศิลปินที่เคยพิมพ์หนังสือกับเขามาแสดงงาน เปลี่ยนนิทรรศการทุกๆ สามเดือน พอเริ่มเป็นที่รู้จัก ก็เริ่มมีศิลปินติดต่อมาแสดงงาน เขาก็ต้องเอาประสบการณ์ในการคัดสรรกลับมาใช้อีกครั้ง “เราต้องดูว่างานไหนเหมาะกับแกลเลอรี่ เหมาะกับคอนเซ็ปต์โดยรวม ก็มองง่ายๆ ว่า… ถ้าเราไม่อยากเอางานนี้มาติดที่บ้านตัวเอง เราก็ไม่รับ เท่านั้นเอง เพราะเรามีชื่อเสียงเก่าของสำนักพิมพ์แล้วว่าเราทำหนังสือดี หนังสือวิชาการ พอเราเปิดแกลเลอรี่ชื่อเดียวกับสำนักพิมพ์ ก็ต้องเลือกงานที่ดูเคร่งขรึมจริงจังหน่อย ไม่ให้คนครหาว่าทำไมสำนักพิมพ์ทำหนังสือดี แต่แกลเลอรี่โชว์อะไรก็ไม่รู้ นี่คือมาตรฐานที่เราตั้งไว้ตั้งแต่ต้นครับ” 

และเชนก็ได้รู้จากการเปิด Serindia Gallery ว่าแท้จริงแล้ว รสนิยมการเสพผลงานศิลปะของเขาเป็นไปในทิศทางไหน “เราไม่เคยคิดนะว่าแกลเลอรี่ของเราจะจัดแสดงงานภาพถ่ายอย่างเดียว เราเลือกงานที่เราชอบ เลือกศิลปินที่เรารู้จัก แต่กลายเป็นว่าตอนเปิดใหม่ๆ หลายคนทักว่าเราทำ Photo Gallery เลยเหรอ พอมาดูก็เลยเห็นว่า ทุกๆ ปี จะต้องมีสักโชว์หรือสองโชว์ที่เป็นงานภาพถ่ายไปแล้ว อะไรแบบนี้ครับ” 

Born in Chicago, Reborn in Bangkok (or Krung Thep Maha Nakhon)

หลังจากก่อตั้งแกลเลอรี่แสดงผลงานศิลปะแล้ว เชนก็ยังไม่ลืมความรักในหนังสือศิลปะของตัวเอง เขาจึงจัดแสดงนิทรรศการหนังสืออาร์ตของสำนักพิมพ์ Taschen ที่แกลเลอรี่ จนไปเข้าตาผู้บริหารศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์เข้า จึงชักชวนเขามาทำร้านหนังสือป็อปอัพที่บริเวณห้าง ประจวบเหมาะกับที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (bacc) เพิ่งจะเปลี่ยนมือผู้บริหาร เชนจึงได้มีโอกาสแสดงฝีมือการบริหารร้านหนังสือของเขาอีกครั้ง “ตอนนั้นเขาอยากได้ร้านหนังสืออาร์ตในหอศิลป์” เชนเล่า “พอเราเห็นพื้นที่เล็กๆ ใจกลางเมืองขนาดนั้น เราก็เอาก็ได้ เลยคิดคอนเซ็ปต์เป็นร้านขายหนังสืออาร์ต และตั้งชื่อว่า ‘Hardcover: The Art Book Shop’ ง่ายๆ เลย” 

จากที่เคยทำ selected bookshop ว่าด้วยงานศิลปะเอเชียล้วนๆ เมื่อมาเปิดร้านหนังสืออาร์ตในโลเคชั่นอีกซีกโลกหนึ่ง selection ของเชนก็ต้องเปลี่ยนไปตามลูกค้า “หนังสือที่เลือกก็ต้องเป็นไปตาม category ของสายอาร์ตนั่นล่ะครับ” เชนว่า “เราต้องเลือกหนังสือใหม่ๆ เล่มที่ไม่ค่อยมีคนได้เห็นมาเติมสต็อกเรื่อยๆ ด้วยความที่เราทำงานกับหนังสือมานาน พอเห็นแคตตาล็อกของสำนักพิมพ์ ก็บอกได้ทันทีว่าควรเอาเล่มไหนเข้ามาขาย บวกกับเราเองก็ไปงาน Frankfurt Book Fair บ่อยๆ คุ้นเคยกับสำนักพิมพ์ต่างๆ เป็นอย่างดี แค่เอ่ยปากทุกคนก็พร้อมช่วย เรียกว่าจังหวะดีมากครับ ถ้าเปิดช้ากว่านั้นสักปีหนึ่งก็ไม่น่าจะไหวแล้วนะครับ” 

หลังจากเปิดร้านหนังสืออย่างเป็นเรื่องเป็นราวแล้ว เชนก็ได้รับการติดต่อจากผุ้บริหารเซ็นทรัลอีกครั้ง โปรเจ็กต์เซ็นทรัลเอมบาสซี่ที่ไฮเอนด์ขึ้นไปอีกระดับต้องการร้านหนังสือแบบที่เชนเคยทำป็อปอัพที่เซ็นทรัลเวิลด์ แต่ยกระดับขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง “เราเลยได้มาเปิดร้าน Hardcover ที่ชั้น 4 เซ็นทรัลเอมบาสซี่ตอนเปิดใหม่ๆ เป็นการรวมร้านหนังสือและแกลเลอรี่เข้าด้วยกัน โดยครึ่งแรกของร้านเป็นร้านหนังสือ และครึ่งหลังเป็นแกลเลอรี่แสดงงานครับ” 

หลังจากนั้นสองปี ชั้นบนสุดของห้างที่เชื่อมกับโรงแรม Park Hyatt ก็เสร็จเป็นรูปเป็นร่าง ชั้นนี้เป็นพื้นที่เปิดโล่ง พร้อมคอนเซ็ปต์ร้านหนังสือพร้อมร้านอาหาร และพื้นที่ไลฟ์สไตล์ไว้ด้วยกัน ได้สถาปนิกผู้ออกแบบ Daikanyama T-Site ร้านหนังสือไอคอนนิคประจำกรุงโตเกียวมาออกแบบให้ เชนจึงกลายมาเป็นผู้จัดการในส่วนหนังสือไปโดยปริยาย “พอผู้บริหารมาถามเราว่าสนใจไหม เราก็… ทำก็ทำ เพราะหนังสือก็มีอยู่แล้ว คอนเนกชั่นกับสำนักพิมพ์ก็มีอยู่แล้ว ไม่มีอะไรต้องเสีย แค่ต้องขยายสต็อกไปเป็นหนังสือไทย และหนังสือเด็กที่เราไม่ค่อยคุ้นเคยในตอนแรก แต่ก็ไม่เป็นอุปสรรคอะไรครับ” 

Physical Space Is Luxury 

“จำเป็นสิ” เชนตอบทันทีเมื่อเราถามถึงความจำเป็นของ physical space สำหรับธุรกิจร้านหนังสือบนโลกที่ทุกอย่างสามารถหาได้บนโลกออนไลน์เช่นนี้ “ถ้าพูดถึงตลาด luxury มันจำเป็นต้องมี physical space อยู่แล้ว เรามองว่าหนังสือแบบนี้มันอยู่ในตลาดแบบนี้ ซึ่งแน่นอนว่ามันต้องมีพื้นที่แสดง ให้คนเห็น ให้คนรู้สึกว่าตัวเองสามารถสัมผัสมันได้ ดังนั้น สำหรับตลาด luxury มันคือตลาดที่เราต้องสร้างความต้องการ ไม่ใช่ตลาดอุปทาน ถ้าเป็นร้านหนังสือออนไลน์ เรามองว่าถ้าเราถอยหลังเข้าไปทำ เราต้องลดราคา สังเกตได้เลยว่าร้านหนังสือออนไลน์ต้องลดราคา ไม่อย่างนั้นไม่มีคนซื้อ เขาสู้กันแบบนั้น เราต้องระวังและใจแข็งว่าเราจะไม่ถอยไปตรงนั้น เพราะถ้าเราถอยไป ก็ไม่ต้องมีหน้าร้านหรอก ปิดไปเถอะ” 

เชนมองว่าธุรกิจร้านหนังสือแบบ selected นั้นมีหนทางของมันไปเรื่อยๆ อย่างแน่นอน “ก็ต้องดูว่าใครจะมีความหมกมุ่นเรื่องอะไร และจะมาจัดการร้านหนังสือเล็กๆ เฉพาะทางที่มีทุกอย่างเกี่ยวกับเรื่องที่เขาหมกมุ่น ถ้ามาเป็นแบบนี้จะอยู่ได้ และอยู่ได้ดีด้วย ลูกค้าออนไลน์ก็จะเป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่หาหนังสือที่เฉพาะเจาะจง แต่คนทำร้านหนังสือสไตล์นี้ต้องใจแข็ง ใจแข็งที่จะไม่ลดราคานะ อย่างเราก็ใจแข็งมาก ไม่เคยประกาศลดราคาหนังสือเลยสักครั้งเดียว เราถือหลักการอาชีพการขายหนังสือเหมือนที่ญี่ปุ่นหรือฝรั่งเศส คือมันเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมที่ต้องปกปักรักษา” 

และความใจแข็งของเชนก็ต่อยอดธุรกิจของเขาออกไปอีกระดับหนึ่ง “หนังสือที่ช้ำมากๆ เราก็จะเอาไปขายใน Hurt by Hardcover เป็นหนังสือชำรุด แต่มันก็มีหนังสือที่ไม่ได้ขาย หรือเราไม่อยากขายอยู่ เราก็เลยตัดสินใจเปิด The Kolophon ที่เซ็นทรัลออริจินัลสโตร์ขึ้นมา เป็นห้องสมุด มีหนังสือเก่าและฐานข้อมูลให้คนมาค้นคว้าทำงานวิชาการ เก็บเงินค่าเข้าใช้เป็นรายวัน และเรายังร่วมกับ Teak Research เปิดบริการค้นคว้าข้อมูลต่างๆ ให้คำปรึกษาที่ลูกค้าต้องการอีกด้วยครับ” ถือเป็นการจัดการทรัพยากรที่มีในมือแบบรอบด้านจริงๆ เราแอบปรบมือดังๆ ให้เขาในใจ 

บทสนทนาของเราค่อยๆ เฟดลงไปเป็นเรื่องจุดอ่อนของการเก็บรักษาข้อมูลทางประวัติศาสตร์ของประเทศไทย ไปจนถึงการสร้างบทสนทนาเฉพาะทางขึ้นในประวัติศาสตร์ที่กำลังลื่นไหลไปเรื่อยๆ ซึ่งก็หมายรวมถึงประวัติศาสตร์ศิลปะที่มีภาพถ่ายเป็นส่วนหนึ่งในนั้น และเราดีใจที่ทั้งเราและเขาได้มีบทสนทนาร่วมกันวันนี้ ก่อนที่มันจะกลายเป็นประวัติศาสตร์เล็กๆ ที่แม้จะไม่สำคัญ แต่ก็ดำรงอยู่  เช่นเดียวกับจุดประสงค์การก่อตั้งนิตยสารของเราได้ 

พิสูจน์อักษร: ชลดา สวนประเสริฐ