brand logo

PHOTO | LIFE | INSPIRATION

Apr 2024

REALFRAME
กรอบมุมมอง / ชีวิต / ความคิด
เรื่อง : วิรุนันท์ ชิตเดชะ
ภาพ : ธันวา ลุจินตานนท์ / REALFRAME
8 Dec 2021

REAL ความจริงที่ต้องถูกถ่ายทอด

1

“เราชอบงานเหมือนๆ กัน มีมุมมองเหมือนๆ กัน เราก็เลยรวมตัวกัน” โตส – ยศธร ไตรยศ หนึ่งในผู้ก่อตั้ง RealFrame (เรียลเฟรม) กล่าวเปิดบทสนทนาเมื่อเราถามถึงที่มาของกลุ่มช่างภาพที่ทำงานถ่ายทอดเรื่องราวประเด็นสิทธิมนุษยชน สังคม การเมือง สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ รวมไปถึงความเหลื่อมล้ำในมิติต่างๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศและภูมิภาคอาเซียน ตลอดจนจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อส่งเสริมให้คนทั่วไปให้เริ่มตั้งคำถามในประเด็นทางสังคมต่างๆ และสามารถถ่ายทอดเรื่องราวเหล่านั้นออกมาผ่านงานภาพถ่ายและบทความ

2

นอกจากโตสแล้ว เรายังได้มีโอกาสพูดคุยกับ ฟาร์ – สมศักดิ์ เนตรทอง และ แบงค์ – ปฏิภัทร จันทร์ทอง สองผู้ร่วมก่อตั้งที่ยังคงร่วมหัวจมท้ายไปกับโตสนับตั้งแต่วันแรกเมื่อปี พ.ศ.2554 

“แรกเริ่มเรามีประมาณ 8 คนครับ แต่ว่าพอเวลามันผ่านไป ทุกคนก็เติบโต แยกย้ายกัน บางคนนอกจากเรา 3 คนก็ยังมีทำด้วยกันอยู่บ้าง บางคนก็ไปทำงานสาขาอื่นๆ เลยก็มี” โตสกล่าวเสริมถึงจุดเริ่มต้นการรวมตัวทำสิ่งที่พวกเขารัก

3

จุดกำเนิดเกิดจากความรักความสนใจที่มีร่วมกัน จน RealFrame เติบโตขึ้น มีฐานแฟนคลับคอยติดตามผลงานมากขึ้น จากกลุ่มคนที่มีมุมมองมีอุดมการร่วมกันจนกลายเป็น collective (คอลเลกทีฟ) ทำงานเชิงสารคดีที่เจาะเรื่องราวเชิงลึกออกมาอย่างสม่ำเสมอ และยิ่งเมื่อไม่ได้จัดตัวเองว่าเป็นสื่อที่ต้องคอยรายงานสถานการณ์รายวัน และมีกรอบจำกัดในการนำเสนอเรื่องราว RealFrame จึงสามารถบอกเล่าแง่มุมต่างๆ ได้อย่างตรงไปตรงมา โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน

“เราก็มักจะพูดกันว่าเราชอบเล่าเรื่องจากคนตัวเล็กๆ และไปเชื่อมโยงกับปัญหาเชิงนโยบาย เราสนุกกับการทำแบบนั้น เราสนุกกับการฉายภาพในเชิงพื้นที่ ในเชิงชายขอบ แล้วค่อยไปเชื่อมโยงกับอะไรที่มันเป็นส่วนกลางอีกทีหนึ่ง แล้วเราก็ไม่ได้อิงกับ media literacy ซึ่งงานเราไม่จำเป็นว่าจะต้องไปบาลานซ์ข้อมูลข่าวสารที่ได้จากทั้งสองฝ่าย ไม่จำเป็นต้องให้ air time กับขั้วตรงข้ามเสมอ คือฐานเราเป็นเรื่องของเสรีนิยมประชาธิปไตย อะไรที่มันอยู่บนหลักการอันนี้ เราก็รู้สึกว่าเรานำเสนอไป สุดท้ายแล้วคือ คนเขาจะซื้อเราหรือไม่ซื้อ ก็แล้วแต่” โตสกล่าวด้วยน้ำเสียงหนักแน่น สะท้อนถึงความชัดเจนในอุดมการของ RealFrame

4

ด้วยความคิดและจุดยืนที่ชัดเจนท่ามกลางกระแสการเมืองอันร้อนระอุ จึงก่อให้เกิดแรงเสียดทานจากผู้มีความคิดต่างกัน โดยเฉพาะเมื่อทุกคนสามารถแสดงความคิดเห็นผ่านโซเชียลมีเดียได้อย่างง่ายดาย RealFrame ก็ผ่านการต่อสู้กับแรงเสียดทานเหล่านั้นมามากเหมือนกัน 

“จริงๆ มันเล็กน้อยเนอะ ถ้าเทียบกับคนอื่นที่เขาโดนกัน” โตสเริ่มประโยค “…แต่ว่ามันก็จะมีในช่วงแรกๆ ที่ในรูปแบบการเมืองมันไม่ได้เทมาอยู่ในฝั่งประชาธิปไตยเหมือนในทุกวันนี้ บริบทการเมืองในสมัยนั้นมันยังมีกลุ่มเสื้อเหลืองที่เข้มข้น แล้วเราไปพูดเรื่องประชาธิปไตย ซึ่งมันอาจจะถูกมองไปว่า มันไปให้พื้นที่กับคนเสื้อแดงเยอะ อะไรแบบนี้ มันก็มีแรงเสียดทานเยอะพอสมควร แม้กระทั่งจากคนใกล้ๆ ตัว เพื่อนๆ สื่อมวลชน ช่างภาพด้วยกัน เราก็ถูกเรียกว่าเป็นช่างภาพเสื้อแดงในยุคสมัยหนึ่ง

“พอเวลาผ่านมา เราก็รู้สึกว่าเราก็โอเคกับมัน รู้สึกว่าภูมิใจด้วยซ้ำ” โตสยิ้ม

FRAME กรอบที่ไร้กรอบ

1

RealFrame เปรียบเสมือนโลกแห่งเสรีภาพของเหล่าสมาชิกผู้ก่อตั้ง เพราะเป็นพื้นที่ที่ทุกคนสามารถแสดงจุดยืนและนำเสนอแนวความคิดของตัวเองออกมาได้อย่างอิสระ โดยเฉพาะฟาร์และแบงค์ที่การนำเสนอเรื่องบางเรื่องผ่านงานสื่อประจำที่ทั้งคู่ทำอยู่อาจทำได้ไม่เต็มที่เมื่อมีกรอบจำกัด

“คือบางทีมันจะคาบเกี่ยวกันระหว่างงานข่าวกับงานที่ทำใน RealFrame ซึ่งเมื่อก่อนจะแยกกันได้เลยว่า งานข่าวก็คือ ใครทำอะไรที่ไหนอย่างไร แต่เดี๋ยวนี้คอนเทนต์ของงานข่าว มันเริ่มเข้ามาแตะในขอบเขตของ RealFrame เป็นสารคดี หรือเชิงอารมณ์ แต่งานข่าวของผมมันมีข้อจำกัดด้วยจำนวนภาพ และวิธีการเล่าเรื่อง กี่ภาพต่อโพสต์” ฟาร์กล่าวถึงการแบ่งแยกงานช่างภาพข่าวประจำสำนักข่าว PPTV กับ RealFrame “ในส่วนของ RealFrame ก็จะเป็นเรื่องสตอรี่ที่บางมุมงานข่าวมันไม่สามารถนำเสนอให้จบ ก็คือมันจะเป็นเรื่องของอารมณ์หรือเหตุการณ์ที่ต่อเนื่อง แล้วมันมีเรื่องราวมากกว่านั้น บางครั้งมันไม่ใช่เป็นงานข่าว มันเป็นเรื่องขององค์ประกอบศิลป์ที่มันเป็นอารมณ์ สีแสง อะไรแบบนี้ ก็จะคัดออกมา เพื่อเอามานำเสนอในมุมของ RealFrame

“…หรือว่าบางครั้งที่พื้นที่ของงานข่าวมันไม่ให้กับเราครับ เพราะว่ามันมีข้อจำกัดของเรื่ององค์กร หรืออะไรต่างๆ ที่เราไม่สามารถแสดงออกได้ พื้นที่ของ RealFrame ก็จะเป็นพื้นที่ที่เราเอามานำเสนอในมุมของเรา” ฟาร์กล่าวพร้อมบอกเล่าถึงขอบเขตการนำเสนองานผ่าน RealFrame ที่จะไม่ทำให้กระทบต่องานประจำที่ทำอยู่ เพราะหลายครั้งการนำเสนอเรื่องบางเรื่องอาจจะไปกระทบกับภาพลักษณ์ของช่องได้

“มันมีอยู่ช่วงหนึ่ง คือช่วงที่ม็อบราษฎรออกมาเยอะๆ บ่อยๆ ผมถ่ายปุ๊บ เช็คอินก่อนภาพหนึ่ง ภาพที่สองอัพเดทเหตุการณ์ ภาพที่สามก็เป็นชุดภาพสรุปเหตุการณ์ เราก็จะทำแบบนี้มาตลอด  จนเหมือนมันขึ้นเทรนด์​ และติดประเด็นว่าทางฝั่งที่ไม่ม็อบเขามองว่า PPTV สนับสนุนม็อบ ลงข่าวม็อบชูสามนิ้ว อะไรแบบนี้ เขาก็เตือนมา และมีการบอกมาทางกลุ่มช่างภาพว่าเป็นสื่อได้อย่างไร รายงานแบบนี้ ซึ่งจริงๆ แล้วเรารายงานตามหน้างานและเหตุการณ์ ช่วงแรกเขาเลยให้ลดโทน ช่วงหลังๆ คือไม่เอาเลย ไม่เล่นเลย เขาไม่อยากให้มีปัญหา ผมก็เลยต้องเอาภาพบางส่วนที่รู้สึกว่ามันเป็นเหมือนทางออกที่ผมจะนำเสนอเรื่องราวที่เราอยากจะนำเสนอได้ มานำเสนอใน RealFrame แทน”

2

ในทุกวันนี้หลายสื่อและสำนักข่าวต่างก็พยายามเสนอข่าวอย่างประนีประนอมเพื่อลดแรงปะทะให้ได้มากที่สุด จนบางครั้งก็จะจำกัดข้อความในการนำเสนอข่าวออกไป จนทุกวันนี้มีคนจำนวนมากตั้งคำถามถึงเรื่องจรรยาบรรณ จริยธรรมของสื่อ และเสรีภาพในการนำเสนอมากขึ้นเรื่อยๆ 

“ผมมองว่าในเชิงของภาพถ่าย มันค่อนข้างจะเป็นอิสระกว่างานข่าวที่เป็นทีวี หรือที่เป็นบทความ อะไรอย่างนี้ ภาพข่าวมันค่อนข้างจะตรงไปตรงมาของมันอยู่แล้ว ว่ามันเกิดอะไรขึ้น นอกจากว่าจะมีประเด็นที่มาทำให้มีปัญหากันน่ะ อันนั้นมันเป็นเรื่องที่เราโยนเข้าไป และเขาก็ไปเถียงกันเอง 

“ความรู้สึกส่วนตัวของช่างภาพบางคนทำให้เกิดประเด็นขึ้นมา อันนั้นมันก็ต้องเป็นความรับผิดชอบของช่างภาพที่เลือกแล้วว่าจะสื่อสารแบบนี้ เราก็ต้องมาค้นดูกันต่อว่า สิ่งที่เขานำเสนอมันมีข้อมูลที่ถูกหรือผิดแค่ไหน มันก็เป็นเรื่องของสังคมที่ตรวจสอบกัน จะบอกว่าช่างภาพลอยตัวมันก็ไม่ใช่นะ มันก็เป็นความรับผิดชอบต่องานว่าเขาต้องนำเสนอสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างตรงไปตรงมา เพราะภาพข่าวมันตรงไปตรงมา แต่มันถูกบิดเบือนได้ง่ายอยู่แล้ว

“เราก็ต้องใช้การเขียนข่าวกำกับตรงนั้น เพื่อให้มันถูกต้อง ณ สถานที่นั้น เพื่อเป็นการ save ตัวเองด้วยว่าเราไม่ได้บิดเบือนมัน” ฟาร์กล่าว

“ผมมองว่าข้อจำกัดเรื่องพื้นที่ของการนำเสนอนี่มันมีสำหรับบางสำนักข่าว สื่อบางสื่อ ที่เขาอาจจะจำกัด เพราะลิมิตแต่ละที่ก็แตกต่างกัน แต่สิ่งที่ทุกที่ระวัง ผมว่าก็คืออย่างเรื่อง 112 หรือพวกข้อความ พวกคำบางคำ ที่ถ้า publish ไปแล้วเขาอาจจะโดน

“ช่วงหลังที่มีม็อบกลุ่มนักศึกษาออกมา มันก็จะมีคำที่ล่อแหลมออกมาเยอะมาก ซึ่งตรงนี้ช่างภาพที่ถ่ายภาพเองก็ต้องระวัง แล้วก็ตัวบก.เวลาจะ publish ก็ต้องระมัดระวังเรื่องนี้ 

“เมื่อก่อนผมทำอยู่ TNT เป็นเอเจนซี่ภาพข่าวในไทย ก็ส่งให้ลูกค้าอย่าง BBC Thai อย่าง Workpoint ครับ คือเวลาเราส่งให้ BBC Thai น่ะ ไอ้ขอบเขตของภาพมันก็จะกว้างหน่อย ลิมิตในการใช้มันก็จะกว้างหน่อย บางข้อความมันสามารถเล่นได้ แต่อย่าง Workpoint บางคำที่มันสุ่มเสี่ยงว่าชัดไม่ชัด เขาก็จะตัดเลย บางทีเอเจนซี่เขาก็จะตัดตั้งแต่ต้น เพื่อที่จะกันปัญหา เพราะว่าบางที่เขาจะเซนซิทีฟเรื่องนี้ค่อนข้างมาก” แบงค์กล่าวเสริม 

REALFRAME ขยายกรอบแห่งความจริง

1

“ผมคิดว่ามันก็มีโอกาสบางอย่าง มันมีองค์ความรู้ มีคอนเนกชั่น แล้วก็มีความเชื่อมั่นบางอย่างในพื้นที่ที่เขาไม่ได้มองเราเป็นสื่อ มองเราเป็นศิลปินจ๋าๆ มันมีความเป็นเหมือน NGO เหมือนเป็นเพื่อนร่วมชะตากรรมกับกลุ่มคนที่เป็นเหยื่อ กลุ่มคนที่ถูกกระทำอยู่ในพื้นที่ต่างๆ ซึ่งเราลงไปทำงานด้วยแบบ NGO เลย มันก็สร้างความเชื่อมั่นตรงนี้ เวลาเราลงไปทำงาน เราก็ได้คอนเทนต์ที่เรารู้สึกว่าโอเคกับมันประมาณหนึ่ง” โตสกล่าวถึงมุมมองของพวกเขาต่อสิ่งที่ตัวเองกำลังทำอยู่ และการเติบโตของ RealFrame ในอนาคต

“จริงๆ แล้วตอนนี้เรามีงานเวิร์คช็อปมาสามปีติดๆ เป็นเวิร์คช็อปหลักๆ ของ RealFrame คิดว่าจะทำกันปีละครั้ง แต่ว่าพอมาปีนี้ เราก็คิดว่าไม่น่าจะมี เพราะสถานการณ์ต่างๆ อย่างที่เห็นกันอยู่ ก็คงไม่น่าจะมี แต่ว่าปีต่อๆ ไป ผมคิดว่าถ้าเป็นไปได้ก็ยังอยากทำ” โตสกล่าวถึงกิจกรรมฟรีเวิร์คช็อปที่ทางกลุ่มจัดขึ้นเพื่อให้ผู้เข้าร่วมฝึกวิธีการสื่อสารด้วยภาพถ่ายรวมทั้งการเขียนบทความประกอบ และที่น่าสนใจคือการจัดเวิร์คช็อปให้กลุ่มชาติพันธุ์ได้ถ่ายทอดมุมมองประสบการณ์ผ่านงานภาพถ่าย

“เราเติมความคิดทางสังคม การเมือง มนุษยวิทยาเข้าไปในงานของเราด้วย ซึ่งเราก็อยากให้คนในพื้นที่ คนชายขอบต่างๆ ชาติพันธุ์ต่างๆ สามารถสื่อสารเรื่องราวของเขาเองได้โดยที่ไม่ต้องรอให้คนภายนอกไปเล่าให้

“เราอยากเปิดรับคนที่ไม่จำเป็นต้องเป็นเฉพาะผม แบงค์ พี่ฟาร์ อยากให้น้องๆ หรือว่าเป็นพื้นที่ให้คนเป็นลูกศิษย์เรา เคยมาอบรมกับเราได้มีพื้นที่ในการนำงานมานำเสนอ ในกรณีที่เขาอาจจะไม่รู้จะไปขาย หรือไปเล่าที่ไหน ไม่รู้จะไปลงภาพที่ไหน เราก็ยินดีจะรับงานของเขามา

“ในขณะเดียวกัน มันก็เหมือนเป็น academy ในพื้นที่สนามข่าว ทุกวันนี้ก็เป็นเด็กๆที่เคยผ่านโปรเจ็กต์ เคยผ่านการเวิร์คช็อปจากเราไปเยอะพอสมควร นี่ก็เป็นสิ่งที่เราภูมิใจกับมันครับ”

2

ในฐานะช่างภาพกับช่างภาพเราชวน RealFrame คุยถึงสังคมภาพถ่ายในประเทศไทย ณ ตอนนี้และคิดว่าในฐานะ RealFrame จะสามารถช่วยผลักดันสังคมภาพถ่ายในประเทศไทยให้มันเป็นไปแบบไหนได้บ้าง 

“ผมมองกว้างๆ นะครับ ผมว่าในไทยเวลามันจะดังขึ้นไป มันจะเป็นลักษณะของตัวบุคคล มันไม่ได้ดังไปทั้งก้อนน่ะ มันไม่ได้มีความเป็นกลุ่มช่างภาพที่แข็งแรง ผมว่าการเป็นกลุ่มสำคัญนะครับ อย่าง RealFrame มันก็คือความแข็งแรงของความเป็นกลุ่ม มันเหมือนพอมันมีความเป็นกลุ่ม มันก็มีอำนาจของการต่อรองบางสิ่งบางอย่างที่มากกว่าตัวคนเดียว จะดีลอะไรกับใคร มันก็ง่ายกว่า” แบงค์เป็นผู้เริ่มประเด็น

ผมนึกถึงคำพูดที่เราเคยคุยกับเพื่อน ก็คุยกันว่าจริงๆ แล้วมันค่อนข้างจะเติบโตยากนะ ในวิชาชีพช่างภาพในบ้านเรา ผมมองว่าบริบททางสังคม วัฒนธรรม การเมืองเนี่ย มันเป็นพื้นฐานของทุกอย่าง ซึ่งมันไปซัพพอร์ตการเติบโตของสุนทรียศาสตร์ ผมรู้สึกว่าถ้าคนไม่มีจะกิน เขาก็จะรู้สึกว่ามันไม่มีเวลาไปเสพศิลป์ ไม่ได้ให้คุณค่ากับมัน ไม่ได้ศึกษากับมันอย่างดีพอ อาจจะไม่ใช่งานภาพอย่างเดียวนะ ผมรู้สึกว่างานศิลปะส่วนใหญ่มันก็จำกัดอยู่ในกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งที่อาจจะรอดแล้ว ในขณะที่คนที่ดูงานเรามันมีทั้งรอดและไม่รอดน่ะ ยังต้องไปคลุกฝุ่นกันอยู่ ยังต้องปากกัดตีนถีบกันอยู่ เพราะฉะนั้น มันก็เลยอยู่เพียงแค่ในฐานะกระบอกเสียง พูดง่ายๆ คือมันยังอยู่ในสายข่าวเยอะกว่า ผมมองว่าตราบใดที่สถานการณ์บ้านเมืองมันยังเป็นแบบนี้ สุนทรียะมันยากที่จะเกิดในคนของเรา เพราะฉะนั้น อะไรพวกนี้มันก็จะเติบโตยากพอสมควร เหมือนเราพูดถึงปัญหาเชิงโครงสร้าง” โตสเสริม

มันก็เลยกลับมา วนมาที่ตัวช่างภาพเอง ช่างภาพที่อยู่ในประเทศไทยต้องทำงานให้หนักขึ้น แต่มันก็มีข้อดีอย่างหนึ่งที่ว่าการทำงานในประเทศไทยมันค่อนข้างเปิดกว้าง และค่อนข้างให้พื้นที่กับคนที่อยากจะเป็นช่างภาพเยอะ แต่อยู่ที่ว่าคุณจริงจัง หรือคุณทำกับมันดีแค่ไหนนะครับ ซึ่งถ้าคุณจริงจังพอ คุณก็จะได้เจอกลุ่มหรือคนที่แชร์แนวคิดเดียวกัน แบบพวกผมที่มาเจอกัน ทำให้พวกผมแข็งแรง มันอาจจะใช้เวลาค่อนข้างนานกว่างานจะออกเป็นชิ้นเป็นอันแบบช่างภาพต่างประเทศ แต่ถ้าเราเข้มแข็งกับมันจริงๆ ผมว่าเรามีโอกาส เพราะว่างานที่เราจริงจังและเข้มแข็งกับมันจริงๆ มันจะพูดออกมาเองโดยที่เราไม่ต้องพูดครับ และมันก็จะพาเราไปในที่ที่เราคิดว่าเราจะไปได้ อย่างกลุ่มพวกเราที่เปิดมาเป็น RealFrame อะไรแบบนี้” ฟาร์กล่าว

3

RealFrame เป็นอีกหนึ่ง collective ที่จะช่วยเป็นแรงผลักดันให้ชุมชนถ่ายภาพหรือชุมชนศิลปะในไทยหันมารวมตัวกัน หรือสนใจการทำงานแบบ “collective” มากขึ้น เพราะการรวมตัวกันแลกเปลี่ยนตลอดจนถึงการวิจารณ์งานซึ่งกันอย่างตรงไปตรงมาและสร้างสรรค์อาจจะเป็นการช่วยสร้างให้วงการถ่ายภาพในประเทศเราแข็งแรงและพัฒนาไปได้ด้วยดี และช่วยต่อยอดให้ศิลปิน ช่างภาพนำทักษะ (การถ่ายภาพ) ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อไป

“ในหมู่พวกเราคิดตรงกันว่า ถึงจุดๆ หนึ่ง งานภาพ พอเราฝึกฝนกันมาประมาณหนึ่ง มันไม่ไกลกัน แม้กระทั่งน้องๆ ที่เข้ามาอบรม ฝีมือมันเรียนรู้กันได้ แต่ในท้ายที่สุด เราจะให้เขาไปต่อหรือว่าให้เขาทำอะไรกับงาน หรือให้งานมันทำอะไรกับประเด็นที่เขาผลักดัน หรือต่อยอดไปสู่ประเด็นในสังคมที่เขาอยู่ได้ ผมรู้สึกว่ามันสำคัญตรงนี้ หลังๆ เราก็เลยเอาทรัพยากรไปอยู่กับการสร้างคน เพื่อที่จะไปทำงานสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ” ทีม RealFrame กล่าวทิ้งท้าย 

ติดตามผลงานกลุ่ม REALFRAME ได้ที่

https://realframe.co

Youtube Chanel : REALFRAME

พิสูจน์อักษร : ชลดา สวนประเสริฐ