วันหนึ่ง เราไปสะดุดตาเข้ากับภาพถ่ายตี่จูเอี๊ยะในแฟลตเก่าๆ ที่ฉากหลังเป็นเงาของหญิงแก่ตัวเล็ก เราพินิจพิเคราะห์ภาพอยู่นาน ทุกอย่างในภาพนี้ดูเป็นสิ่งธรรมดาสามัญเหลือเกิน แต่เมื่อใช้เวลากับภาพ เรากลับพบว่ามันเป็นภาพที่พิเศษมากด้วยรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ในภาพที่ประกอบกันเป็นเรื่องราว
สิ่งที่ประทับใจคือ ผู้ถ่ายสามารถถ่ายทอดสิ่งธรรมดาสามัญให้ดูธรรมดาอย่างที่มันเป็น แต่ก็ชวนหยุดมองในคราวเดียวกัน และอีกความประทับใจ คือ Quince Pan ผู้ถ่ายภาพนี้ อายุเพียง 21 ปีเท่านั้น เราไม่รีรอที่จะอีเมลไปหาเขา และเราได้คุยกันผ่านทาง video call ไม่กี่วันต่อมา
“โปรเจ็กต์นี้ชื่อว่า JBM มันเป็นหน้าต่างสู่ความทรงจำในวัยเด็กของผมที่ผมเห็นผ่านอาม่า” Quince Pan บอก “ผมโตมากับอาม่าตอนผมอายุ 2-6 ขวบ” Quince Pan ถ่ายโปรเจ็กต์นี้มาตั้งแต่ปี 2016 ขณะอายุ 16 ปี จนปัจจุบันโปรเจ็กต์มีอายุเกือบ 4 ปีครึ่งแล้ว และเขายังคงถ่ายต่อไป
เราคุยกันเกือบชั่วโมง ค่อยๆ เปลี่ยนจากความตื่นเต้นเป็นเสียงหัวเราะ บทสนทนาหลากหลาย ทั้งภาพที่เขาเลือกเก็บไว้ ภาพที่เขาทิ้งไป ข้าวของของอาม่า สำเนียงการพูดของอาม่าที่ไม่เหมือนที่ไหน เรื่องวัยเด็กที่เขาเติบโตมากับอาม่า จนปัจจุบันที่ยังคงเจออาม่าเกือบทุกวัน
Quince Pan เป็นช่างภาพแบบที่บอกกับเราว่า “ผมยังไม่เก่งพอ ยังไม่ใช่ช่างภาพมืออาชีพ ผมเลยยังไม่มีอินสตาแกรมงานของตัวเอง” แม้ว่าภาพของเขาจะจัดแสดงในนิทรรศการตั้งแต่เขาอายุ 16 และ zine ของเขาอยู่ในหอศิลป์แห่งชาติสิงคโปร์ (National Gallery) เขาบอกว่ามันเป็นเพียงเรื่องเล็กน้อย มีสิ่งที่เขาต้องพัฒนาอีกมากมาย
JBM และโปรเจ็กต์อื่นๆ ที่พูดคุยกันทำให้เราเห็นว่าภาพถ่ายของ Quince Pan เป็นบันทึกชีวิตของเขา มันกักเก็บสิ่งที่เขาเห็น รวมถึงสิ่งที่เขาคิดต่อตัวเองและโลก มันจึงไม่ใช่งานที่หยุดนิ่ง เพราะในทุกๆ โปรเจ็กต์และทุกๆ ปีที่ผ่านไป โปรเจ็กต์จะเติบโตขึ้นไปพร้อมกับตัวเขาเองในฐานะช่างภาพ
และวันนี้เราจะมาส่องหน้าต่างที่เรียกว่าภาพถ่าย ดูการเติบโตของเขาไปพร้อมกัน
Quince Pan เริ่มจับกล้องครั้งแรกตอนอายุ 7 ขวบ เขาถ่ายภาพเล่นด้วยกล้องคอมแพคตัวเล็กของพ่อ จากนั้นเมื่อเขาอายุ 12 ปี ครูภาษาอังกฤษที่โรงเรียนได้นำนิตยสารมาให้นักเรียนอ่าน และภาพข่าวในนั้นก็กลายเป็นแรงบันดาลใจให้เขาจริงจังกับการถ่ายภาพมากขึ้น จนเขาเข้าชมรมถ่ายภาพของโรงเรียนตอนมัธยมปลาย ภาพถ่ายในช่วงแรกของ Quince Pan ได้รับอิทธิพลมาจากภาพข่าวโดยตรง และงานประจำปีต่างๆ ของโรงเรียนก็เป็นสนามเรียนรู้ของเขา
“ผมเริ่มรู้สึกว่ามันน่าเบื่อที่สุดท้ายทุกคนถ่ายภาพออกมาเหมือนกันหมด” Quince Pan เล่าถึงจุดหักเหที่ทำให้เขาเปลี่ยนจากภาพถ่ายเล่าเรื่อง ‘ใคร ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร’ อย่างภาพข่าว ไปเป็นภาพที่ไม่ได้ตอบคำถามเหล่านั้น แต่ชวนเราตั้งคำถามและรู้สึกร่วมไปกับช่วงเวลา
“ผมสมัคร Noise Art Mentorship ตอนผมอายุ 16 ปี มันเป็นโปรแกรมแนะแนวสำหรับช่างภาพอายุ 13-25 ปี และผมได้รับเลือกเข้าเป็น 1 ใน 14 คน โดยผู้แนะแนว (mentor) ของผมคือ Jean Loo ผมเรียนรู้หลายอย่างจากเธอ เธอจะดูภาพที่ผมถ่ายแล้วถามผมว่าถ่ายสิ่งนี้สิ่งนั้นมาทำไม มันทำให้ผมได้คิดมากขึ้น และผมก็ตระหนักถึงการไม่ถ่ายแค่เหตุการณ์ใหญ่ๆ การถ่ายสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน และการมองรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ”
JBM เป็นโปรเจ็กต์ที่เกิดขึ้นจากทุนจำนวนไม่มากของ Noise Art Mentorship มันเป็นคำย่อที่ครอบครัวของ Quince Pan ใช้เรียกแฟลตของอาม่า โดยมาจากคำว่า Jalan Bukit Merah ซึ่งเป็นชื่อย่านที่อาม่าของเขาอาศัยอยู่และที่ที่เขาเติบโต มันกลายเป็นโปรเจ็กต์ที่ไปไกลกว่าแค่งานจบ Mentorship Program แต่กลายเป็นบทเรียนในชีวิต ทั้งด้านการถ่ายภาพที่เขาค่อยๆ พัฒนาตลอด 4 ปีที่ถ่าย จนต้องมานั่งเรียบเรียงใหม่ทุกปี ด้านตัวตนที่เขาได้กลับไปพินิจพิเคราะห์วัยเด็กของตัวเอง และอาม่าของเขา ที่ยิ่งถ่ายไปเรื่อยๆ โปรเจ็กต์ก็ชวนให้ Quince Pan หันมาศึกษาเรื่องราวของท่านอย่างจริงจัง
โดยเรื่องราวของอาม่าเรื่องหนึ่งที่ Quince Pan เน้นย้ำหลายครั้งจนเรารู้ว่ามันมีอิทธิพลต่องานและตัวเขามาก คือสำเนียงการพูดของอาม่า “ตั้งแต่ผมยังเด็ก อาม่าจะสอนภาษาบ้านเกิดของอาม่ากับผมด้วยการพูดกับผมที่บ้าน มันเป็นสำเนียงเฉพาะตัวมากๆ จากเมืองเล็กๆ เมืองหนึ่งในจีน ไม่เหมือนสำเนียงปกติที่ชาวสิงคโปร์พูดกัน” เขาเล่า “ตอนนี้ในปีที่ 4 ที่ทำโปรเจ็กต์มา ผมเรียนรู้มากขึ้นเกี่ยวกับตัวเองและท่านด้วยเช่นกัน ผมศึกษามากขึ้นเกี่ยวกับประวัติของอาม่าแบบที่ผมเคยทำเป็นโปรเจ็กต์ของโรงเรียนซึ่งผมย้อนไปไกลถึงบรรพบุรุษของท่านที่ประเทศจีน ผมอยากถ่ายทอดวัฒนธรรมของอาม่าในภาพของผม และคิดมากขึ้นถึงข้าวของที่เธอเก็บไว้”
สุดท้าย สำหรับ Quince Pan แล้ว โปรเจ็กต์ JBM ยังไม่มีทีท่าว่าจะจบและเสร็จสิ้นในเร็ววันนี้ เขาเล่าว่า ถ้านั่งดูจะเห็นว่าสไตล์และมุมมองการถ่ายของเขาเติบโตไปตามแต่ละปี สำหรับเรา นั่นเป็นข้อดีอีกอย่างของโปรเจ็กต์ระยะยาว เพราะมันทำให้ผู้ถ่ายได้เห็นพัฒนาการของตัวเองอย่างเป็นรูปธรรมภายใต้หัวข้อเดียว ซึ่งปกติถ้าไม่ใช่ช่วงโควิด-19 เขากับครอบครัวจะไปกินข้าวกับอาม่าตลอด ในทุกวันจึงมีโอกาสให้เขาได้เข้าไปถ่ายอาม่า มีเรื่องราวมากมายให้เขาได้เรียนรู้ และหนทางมากมายที่จะไปต่อ “มันเป็นโปรเจ็กต์ที่เติบโตกับผมไป” ” It’s very grow up project.” มันเป็นการเติบโตที่เกิดขึ้นทั้งภายนอกและภายใน “มันเปลี่ยนไปได้ตลอดเวลา และผมชอบที่มันเป็นแบบนั้น” “It change all the time and I like to keep it that way.”
ในตอนนี้อาม่าของ Quince Pan อายุ 87 ปีแล้ว และเขาหวังจะถ่ายไปเรื่อยๆ นานที่สุดเท่าที่จะทำได้
ปีนี้ Quince Pan อายุ 21 ปี และกำลังเข้าเรียนมหาวิทยาลัยในคณะปรัชญา การเมือง และเศรษฐศาสตร์ (Philosophy, Politics And Economics) ซึ่งเขาเล่าว่า เป็นหนึ่งในความสนใจของเขานอกเหนือจากการถ่ายภาพ
เมื่อปี 2020 ที่ผ่านมา เขาเพิ่งเสร็จสิ้นภารกิจ 2 ปีในการทำกิจกรรมรับใช้ชุมชนภาคบังคับของสิงคโปร์ โดยเขาประจำอยู่ที่กรมตำรวจ และช่วงเวลาที่เขาทำงานที่นั่นก็กลายเป็นอีกโปรเจ็กต์ของเขาในชื่อ Land Reclamation เกี่ยวกับหญ้าริมทางในสิงคโปร์ ประเด็นคือ โดยปกติสิงคโปร์จะมีข้างทางที่สะอาดและเรียบร้อยอยู่เสมอ แต่เมื่อเกิดการระบาดของโควิด-19 ขึ้น คนตัดหญ้าจำเป็นต้องงดทำงานเนื่องจากควบคุมการแพร่ระบาดของโรค หญ้าในสิงคโปร์จึงค่อยๆ สูงขึ้น ในทุกวันเมื่อเลิกงาน Quince Pan จะถ่ายหญ้าเหล่านั้นจนเป็นกิจวัตร “มันเป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจมากสำหรับผม ผมจึงตามถ่ายอย่างต่อเนื่อง” Quince Pan รวบรวมและเรียบเรียงมันเป็น zine โดยต่อมามันได้ถูกคัดเลือกให้จัดแสดงในหอศิลป์แห่งชาติสิงคโปร์
เราถามถึงโปรเจ็กต์ในอนาคต แน่นอนว่าหนึ่งในนั้นต้องเป็น JBM ที่เขาจะถ่ายไปเรื่อยๆ ส่วนอีกโปรเจ็กต์คือการถ่ายวัดในตึก ที่วัดหลายวัดในสิงคโปร์โดนภาครัฐยึดที่ดินเนื่องจากต้องนำที่ดินไปสร้างตึก วัดจึงย้ายไปอยู่เป็นห้องหนึ่งในอาคารเหล่านั้นแทน Quince Pan เล่าว่าโปรเจ็กต์นี้ค่อนข้างยาก วัดบางวัดค่อนข้างเป็นความลับและบางวัดจำกัดเฉพาะคนในครอบครัว
ทั้งอาม่า หญ้า หรือวัดในตึก มันต่างเป็นสิ่งธรรมดา และ Quince Pan มีสายตาเฉียบแหลมที่มองเห็นความน่าสนใจในประเด็นสามัญที่คนอื่นอาจเห็นทุกวันแต่มองข้ามไป เขาหยิบจับมันขึ้นมา ศึกษา ถ่ายทอดมันอย่างใส่ใจเต็มที่ จนเราเองที่เป็นผู้ชมได้หันมาใส่ใจเรื่องราวเหล่านั้นไปกับเขา
เราบอกลากันหลังจากเราขอให้ Quince Pan รับเราในอินสตาแกรมส่วนตัวของเขา
เราบอกเขาว่าเราจะติดตามงานของเขาเสมอจนถึงวันที่เขามีอินสตาแกรมงานสักที “โปรดทำงานต่อไปนะ” เราทิ้งท้าย เขาหัวเราะ กล่าวขอบคุณ และรับปากว่า ในเมื่องานคือการเติบโต เขาคิดว่าเขาคงไม่สามารถเลิกถ่ายภาพได้ และหวังว่าจะได้ถ่ายต่อไป
และเราเองก็หวังว่าจะได้เฝ้ามองช่างภาพคนนี้เติบโตผ่านงานของเขาไปเรื่อยๆ เช่นกัน