ภาพ: ธันวา ลุจินตานนท์
พื้นที่-ถ่าย-ทำ
เต้-ธวัชชัย พัฒนาภรณ์ เจ้าของ ‘พื้นที่’ PATANI STUDIO ช่างภาพผู้หลงใหลในการ ‘ถ่าย’ ภาพฟิล์มขาวดำและนักลงมือ ‘ทำ’ สร้างผลงานภาพถ่ายด้วยน้ำมือตัวเองแทบทุกขั้นตอน
สำหรับใครที่เป็นแฟนพันธุ์แท้การถ่ายภาพด้วยฟิล์มคงคุ้นหูกับสตูดิโอย่านเยาวราชอย่าง PATANI STUDIO ไม่ใช่น้อยในวันที่ 29 พฤศจิกายนที่ผ่านมาได้มีงานเปิดตัวพื้นที่ใหม่ในโซนของแกลเลอรี่กับนิทรรศการภาพถ่าย “เสียงพูดสุดท้าย ’รงค์ วงษ์สวรรค์” แต่งเติมสีสันกับซอยนานาให้เหล่านักถ่ายภาพด้วยวิถีแอนะล็อกได้ทั้งมาส่งฟิล์มแล้วยังได้เห็นผลงาน ล้าง-อัดภาพ ด้วยมือจากสตูดิโอแห่งนี้
6 ปีที่แล้วสมัยก่อตั้ง PATANI STUDIO ใหม่ๆ เรียกได้ว่างานภาพถ่ายฟิล์มนั้นเป็นงานที่เฉพาะกลุ่ม ในเวลานี้ฟิล์มกลับมาเป็นหนึ่งในทางเลือกของการถ่ายภาพ ได้รับความสนใจอย่างแพร่หลายเปิดโอกาสให้เจ้าของสตูดิโอแห่งนี้ทำอะไรกับงานภาพถ่ายได้มากขึ้น
เราเดินเข้ามาในซอยนานามีคาเฟ่และบาร์เปิดเรียงรายในขณะที่ตามตรอกยังมีบ้านคนเป็นชุมชนที่อยู่อาศัย สำหรับเราแล้ว PATANI STUDIO ดูกลมกลืนและเป็นหนึ่งเดียวกับชุมชนนี้ ห้องแถวสองคูหาไม่ได้มีท่าทีตะโกนโหวกเหวกว่าฉันอยู่ที่นี่มาหาฉันสิ แต่กลับกันสตูดิโอนี้ดูตั้งอย่างสงบและรอให้ผู้ที่สนใจเดินเท้าเข้ามาหาเอง
เต้ต้อนรับเราเข้าสู่ห้องจัดแสดงผลงานภาพถ่าย ที่ตั้งอยู่ภายในตรอกเดียวกันกับสตูดิโอเพียงแต่เว้นไปหนึ่งคูหา หน้าต่างกระจกใสสะท้อนภาพการใช้ชีวิตของคนในตรอกและยังมองเข้าไปเห็นผลงานภาพถ่ายที่จัดวางอยู่บนผนัง
สำหรับ เต้ – ธวัชชัย พัฒนาภรณ์ ตึกทั้งสองเป็นทั้งที่ทำงานและบ้าน การเปิดพื้นที่ใหม่อย่างโซนแกลเลอรี่เปรียบเสมือนการขยายบ้านหลังเดิมตอบโจทย์การทำงานและการใช้ชีวิตให้เต็ม และยังเป็นอีกหนึ่งความท้าทายในเรื่องของรสนิยมการทำงาน
“สนุกดีในแง่ของการทดสอบรสนิยมของเราว่าทำแล้วจะออกมาเป็นแบบไหนในงบประมาณที่มี ถ้ามันโอเคเราก็ดีใจกับมัน ก็เหมือนการทำบ้าน สี สเปซ จะจัดการพื้นที่ยังไง มันเหมือนการที่คุณลองทำบ้าน ทดสอบว่าเขามอง เลือกบ้าน สร้างบ้านยังไง ให้ต้นไม้เยอะ ให้สิ่งแวดล้อมมันเป็นยังไง ส่วนหนึ่งของพื้นที่ที่ทำขึ้นก็เป็นตัวบอกว่าคนทำเป็นคนยังไง ศิลปินมองอะไรและเราเรียนจบมาทางออกแบบ เลยพอจะออกแบบให้ตัวเองได้ ต้องดูดีและควรที่จะส่งเสริมภาพถ่ายที่จัดแสดง” เต้อธิบายเพิ่มเติมถึงแนวคิดในการเปิดพื้นที่ใหม่นี้
เต้จบการศึกษาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ และได้จับงานสถาปัตย์เพียงครั้งเดียวก่อนค้นพบว่า ‘ไม่ชอบ’ และไม่ใช่ทางสำหรับเขา แต่ก็ต้องยอมรับว่าการเรียนสถาปัตย์นั้นทำให้ได้ลองถ่ายภาพจำนวนมากเพื่อค้นคว้าข้อมูล แล้วจุดที่ทำให้เต้ ‘ชอบ’ ถ่ายภาพจริงๆ มาจากที่ใดเราถาม
“ตอนไป work and travel ที่สหรัฐอเมริกาหลังเรียนจบแล้ว เราชอบเข้าร้านหนังสือ เราชอบดูหนังสือการถ่ายภาพ ชั้นหนังสือภาพถ่ายมักจะติดกับชั้นหนังสือสถาปัตยกรรม น่าจะเป็นจุดที่เริ่มสังเกตตัวเอง เมื่อก่อนตอนถ่ายรูปอยู่เมืองไทยเราไม่ค่อยเจอหนังสือถ่ายภาพ ไม่ได้สนใจด้วย พอเจอที่นู่นเราก็หิ้วหนังสือกลับมาเมืองไทย พอเรากลับมาเราก็ไปเทคคอร์สถ่ายภาพเบื้องต้น ที่วิทยาลัยสารพัดช่างสี่พระยา ค่าเรียนถูกๆ ชั่วโมงละ 1 บาท เพื่อจะได้รู้ว่าการเรียนถ่ายภาพเป็นยังไง แล้วหลังจากนั้นก็ถ่ายรูปมาตลอด เรียนรู้ด้วยตนเอง ถามผู้รู้ด้วย”
ภาพถ่ายต้องการพื้นที่
เราชมภาพถ่ายจากที่ใดได้บ้าง สามารถตอบได้ว่า ‘ทุกที่’ เราเห็นงานภาพถ่ายผ่ายสายตาของเราแทบจะตลอดเวลาแต่หากถามถึงว่าเรามีพื้นที่เฉพาะให้กับภาพถ่ายให้ผู้ชมได้ดื่มด่ำกับความงามอย่างตั้งใจก็คงจะตอบยากไม่ใช่น้อย แต่สำหรับเต้นั้นเขาคิดเสมอว่าภาพถ่ายต้องมีพื้นที่ของมันให้คนได้เห็นถึงรายละเอียด
“ความที่ภาพถ่ายมันไม่มีที่เฉพาะ ขนาดของงานภาพถ่ายก็เหมือนจะใหญ่ก็ไม่ใหญ่มาก space ก็จะไม่ใช้มาก พื้นที่เล็กๆ ที่มันเอาอยู่ในเรื่องภาพถ่ายก็ไม่ค่อยมี ด้วยตัวตลาดของศิลปะภาพถ่ายก็ไม่ได้มีมูลค่าเท่างานทัศนศิลป์แบบอื่นที่จะไปอยู่ในพื้นที่ใหญ่ๆ แล้วสำหรับพวก commercial gallery รายได้จากงานขายภาพถ่ายก็ไม่น่าจะคุ้มเขา มันก็ก้ำๆ กึ่งๆ เพราะตลาดงานภาพถ่ายเรารู้สึกว่ามันยังไม่ค่อยมี อาจจะมีบ้าง แต่ไม่เยอะ เป็นงานช่างภาพรุ่นเก่าๆ ที่ขึ้นหิ้งไปแล้วในตลาดสากล ยังไม่ค่อยมีงานของคนรุ่นใหม่ มันยังไม่ค่อยมี ทั้งๆ ที่ คนกลับมาถ่ายรูป คนกลับมาใช้ฟิล์มเยอะ แต่มันอยู่ในจอโทรศัพท์ แต่ไม่ค่อยมีพื้นที่ให้ดูจริงจัง”
“ภาพถ่ายต้องการสเปซที่ไม่ใหญ่มาก ปิดๆ ประมาณหนึ่ง ยิ่งแบบ intimacy ยิ่งต้องเล็กไปอีก สภาพแสงอีก เราเข้าใจคนที่อยากแสดงงาน มันก็ไม่ได้มีให้เลือกมาก”
ประเดิมงานแรกที่ได้จัดในห้องสี่เหลี่ยมแห่งนี้เป็นภาพถ่าย ’รงค์ วงษ์สวรรค์ ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ ที่ฝากผลงานร่ำรวยทางภาษาให้กับประเทศไทยไว้ก่อนที่เขาจะจากไป บันทึกผ่านสายตาของเต้ โดยมีกล้องฟิล์มทั้งขนาด 135 มม.และ 120 มม. นั่งรถไฟขึ้นไปเก็บภาพระหว่างสัมภาษณ์ที่สวนทูนอินถึงสามครั้งตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 – 2551 พร้อมกับหนึ่ง – วรพจน์ พันธุ์พงศ์ นักสัมภาษณ์มือทองที่อยู่กับวงการร่วม 30 ปี
เนกาทีฟถูกทำให้ฟื้นคืนสู่ผืนกระดาษอีกครั้งหลังจากอยู่ภายใต้การจัดเก็บภายในสตูดิโอนานนับสิบปี แต่ด้วยความพิเศษของสสารประเภทนี้ที่ยังคงเก็บรายละเอียดจากวันที่กดชัตเตอร์จวบจนถึงปัจจุบันทำให้เราได้เห็นอิริยาบถต่างๆ ของ ’รงค์ วงษ์สวรรค์ในพื้นที่การทำงานของเขา
“รูปพวกนี้ตอนแรกเราดูฟิล์มนึกว่ามันจะไม่รอด มันไม่น่าจะปรินท์ได้ เนกาทีฟมันบาง คอนทราสมันไม่ค่อยมี เพราะในห้อง แสงตุ่นๆ มันไม่ใช่แสงตรงเข้ามาในห้อง มันเป็นแสงในป่าแล้วสะท้อนมาเข้าห้องอีกที มันจะมีแดดตอนสายๆ ที่เข้ามาตรงๆ แต่มันก็ไม่สวยหรอก ตอนแรกหนักใจ ใช้ speed shutter ต่ำ ไม่ได้ใช้แฟลช ไม่ได้ใช้ขาตั้ง ฟิล์มขนาด 120 มม. เราถ่ายน้อยมากเพราะแสงมันไม่พอ เราคิดว่าไม่น่าจะปรินท์ได้ ตั้งแต่เมื่อเลือกฟิล์มตั้งแต่สิบปีที่แล้ว แต่ก็เก็บไว้ไม่ได้ใช้ จนสองปีที่แล้วก็รื้อจัดการฟิล์มเก่าเจอเซ็ทนี้แล้วก็มาลองปรินท์ภาพเล็กใส่สมุดบันทึก มันก็ไม่ได้คมชัด 100% แต่มันปรินท์ได้สวย เราก็เลยมาไล่ปรินท์ขนาด 8×10 นิ้ว เป็นพรูฟให้นักเขียนดู ตอนแรกก็ยังไม่คิดจะแสดงงาน”
ช่างภาพคนนี้ไม่ใช่แฟนตัวยงของนักเขียนชื่อดัง เพียงแต่ก็ได้ยินเสียงลือเสียงเล่าอ้างมาไม่ใช่น้อยของเจ้าของสมญานาม พญาอินทรีแห่งสวนอักษร อย่าง ’รงค์ วงษ์สวรรค์ เราสอบถามถึงเต้ในวัย 25 ปีนั้นต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้างกับการถ่ายภาพประกอบหนังสือโดยมีบุคคลประวัติศาสตร์เป็นแบบ
“ไม่ได้เตรียมตัวเหมือนเราไปเจอคนหนึ่งคนแล้วก็ไปว่ากันหน้างาน แต่ก็รู้ว่าเงื่อนไขคือ เรากับพี่หนึ่งก็ขึ้นรถไฟไป จังหวะที่เข้าเมืองมาฟอกไตก็นัดไปเจอที่คลินิก แล้วก็ขึ้นสวนทูนอินด้วยกันไป บางทีก็ต้องรอหนึ่งวันกว่าจะสัมภาษณ์ได้เพราะหลังจากฟอกไตจะเพลียมาก ต้องพักผ่อน ก็อยู่ที่สวนทูนอินคราวละสามสี่วัน จนคุณ ’รงค์ ลงมาฟอกไตในเมืองเชียงใหม่อีกครั้ง ก็แยกกันที่คลีนิค ตอนแรกที่พบกันคุณ ’รงค์ ต้องฟอกไตสัปดาห์ละสองครั้ง พอช่วงหลังๆ ก็เป็นสัปดาห์ละสามครั้ง ซึ่งมัน maximum แล้วสำหรับผู้ป่วยโรคไต ช่วงหลังแกก็จะเหนื่อยมากขึ้น”
“ตอนแรกเราก็พยามคิดแต่มันก็ไม่ใช่วิธีทำงานที่จะมาเซ็ทอะไร เขาก็เป็นผู้ใหญ่ด้วย ผู้ป่วยด้วยจะไปขออะไรได้ มันเซ็ทไม่ได้หรอก มันก็แล้วแต่แต่ละครั้งว่าโอกาสเป็นยังไง การเคลื่อนตัวเคลื่อนย้ายของทั้งคุณ ’รงค์, นักเขียนและเราได้แค่ไหน บางทีก็ไม่ได้ แสงไม่ได้ บรรยากาศไม่ได้ ภาพถ่ายก็แบบนี้แหละต่อให้เห็นอยากได้มันก็ไม่ได้หรอก มันไม่ใช่”
การร่วมเดินทางนั้นทำให้เขารู้ว่า ’รงค์ วงษ์สวรรค์ไม่ใช่เพียงนักเขียนผู้เลื่องชื่อแต่เขายังเป็นช่างภาพผู้หลงใหลในศิลปะบนแผ่นฟิล์มอีกด้วย
“ได้รู้ว่าแกเคยเป็นช่างภาพที่เก่งมาก ก่อนที่จะเขียนหนังสือ โดยที่เราไม่รู้มาก่อนคนอื่นก็ไม่ค่อยรู้ แกรู้เรื่องกล้องเยอะ เขาถ่ายจริงจัง เขาใช้ Mamiya เขาบอกเลนส์มันดีนะแต่กลไกมันห่วย ชอบติชอบอะไรแบบนี้” เต้เล่าถึงบทสนทนาเรื่องกล้องที่เกิดขึ้นระหว่างเขาและ ’รงค์ วงษ์สวรรค์
ย้อนไปเมื่อ 10 ปีก่อนครั้งที่เต้ยังเป็นเด็กหนุ่มการที่ได้ไปร่วมฟังบทสนทนานั้นเขาได้อะไรกลับมาจากสวนทูนอินบ้าง
“น่าจะเป็นเรื่องความจริงจังในการใช้ชีวิต การเลือก การพยายามให้ตัวเองอยู่จุดที่ดีต่อการใช้ชีวิต ทั้งส่วนตัวและครอบครัว แม้ในเวลาที่ยังไม่พร้อมในเรื่องฐานะ คุณ ’รงค์เป็นนักเขียนก็ไม่ได้ร่ำรวย แต่สามารถส่งลูกชายคนโต (วงค์ดำเลิง วงษ์สวรรค์) ไปเรียนเมืองนอก และทำบ้านที่น่าอยู่มากได้บนดอย เลือกที่จะใช้ชีวิตได้ มีรสนิยมที่ดี นี่เราได้เรียนรู้ถึงการให้ความสำคัญต่ออาชีพที่รัก ทำงานอย่างเต็มที่ มีวินัย ต่อเนื่องและรับผิดชอบต่อหน้าที่ด้านอื่นๆ ไม่ให้บกพร่องด้วย”
ปัจจุบันสตูดิโอของเต้พร้อมต้อนรับคนที่สนใจในงานแอนะล็อกนี้ได้ลองมาชมผลงานและดูผลลัพธ์สุดท้ายของการพัฒนางานภาพถ่ายจากแผ่นฟิล์มได้ที่ พื้นที่จัดแสดงภาพถ่าย “เสียงพูดสุดท้าย ’รงค์ วงษ์สวรรค์” ที่ PATANI STUDIO ซอยนานา เยาวราช เปิดให้เข้าชมผลงานได้ในวันพุธ – วันอาทิตย์ ระหว่างวันที่ 29 พฤศจิกายน 2563 – 14 กุมภาพันธ์ 2564 เวลา 12:00 – 18:00 น.