brand logo

PHOTO | LIFE | INSPIRATION

May 2024

เพิร์ธ – ศิริน ม่วงมัน
ALL THE LIGHT WE LIVE IN
เรื่อง : อสมาภรณ์ พิริยะโภคานนท์
ภาพ : ธันวา ลุจินตานนท์
5 Aug 2022

“การรอดูพระอาทิตย์ตกเป็นช่วงเวลาที่ข้าพเจ้ารอคอยมาตลอดทั้งวัน ทิศตะวันตกที่มีระเบียงชั้นสองอยู่ถัดจากสวนหลังบ้านคือสถานที่ที่ข้าพเจ้าชอบไป การถ่ายภาพในระยะเวลานั้น เป็นการบันทึกทั้งความทรงจำและความรู้สึกที่ฝังแน่นลงไปบนภาพถ่าย”

คือคำอธิบายที่ ‘เพิร์ธ–ศิริน ม่วงมัน’ ช่างภาพรางวัลดีเด่นสาขาภาพถ่าย โครงการรางวัลยุวศิลปินไทยประจำปี 2564 มีต่อผลงานภาพถ่ายชุด Still Light – Still Life (II) หรือในชื่อภาษาไทยว่า แสงอาทิตย์ยังคงอยู่ ซึ่งจัดแสดงที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่วันที่ 19 กรกฎาคม – 7 สิงหาคม 2565

ภาพถ่ายเข้ามามีบทบาทในชีวิตเพิร์ธตั้งแต่เป็นนักเรียนประถม โดยมีจุดเริ่มต้นง่ายๆ จากการชอบดูอัลบั้มรูปเก่าๆ ที่ถูกเก็บไว้ในบ้าน เธอมีกล้องตัวแรกในชีวิตเป็น auto compact ตัวเท่ากำปั้นที่พ่อซื้อให้ เพิร์ธใช้มันถ่ายสิ่งรอบตัว ถ่ายเพื่อน ถ่ายสัตว์เลี้ยง ถ่ายสิ่งที่เธอใกล้ชิด จนพัฒนามาเป็นความหลงใหลในภายถ่ายแนว street และ candide ในปัจจุบัน

ด้วยความชอบที่มีต่อศาสตร์การถ่ายรูปอย่างเสมอต้นเสมอปลาย เมื่อถึงเวลาต้องเลือกมหาวิทยาลัย เธอจึงเลือกยื่นรอบพอร์ตฟอลิโอที่คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่อย่างไม่ลังเล

และผลงาน Still Light – Still Life (II) ที่เรากำลังพูดถึงกันอยู่นี้ คือผลผลิตที่ต่อยอดมาจากการเรียนสี่ปีของเพิร์ธ

แต่ละรูปที่ถูกจับใส่กรอบบรรจุไปด้วยความสามัญธรรมดา ไม่ว่าจะเป็นตู้ปลา ต้นไม้ ท้องฟ้า และแสงอาทิตย์ ด้วยความสงสัยถึงที่มาของรูปที่เธอถ่าย อะไรคือต้นแบบและแรงบันดาลใจ และเพราะอยากจะรู้จักตัวตนของเพิร์ธมากขึ้นอีกสักหน่อย เราจึงนัดกับเพิร์ธที่นิทรรศการของเจ้าตัวเพื่อพบเจอพูดคุย

หลังจากกล่าวทักทาย เดินดูรูปในงานจนครบทุกใบ บนสนทนาอันว่าด้วยภาพถ่ายก็เริ่มต้นขึ้น…

_______________________________

สมมติว่ามีกล้องหนึ่งตัวในมือ สิ่งไหนทำให้เพิร์ธรู้สึกว่าอยากยกขึ้นมาถ่าย

จริงๆ ไม่มีจุดมุ่งหมายอะไรเลย (หัวเราะ) เราเห็นอะไรเราก็ถ่าย แต่เท่าที่สังเกตส่วนใหญ่จะเป็นพวกวัตถุ เป็นพวกร่องรอยการมีอยู่ของอะไรบางอย่าง สิ่งที่หลงเหลือจากการใช้ชีวิตของคน เรารู้สึกว่าการถ่ายสิ่งเหล่านั้นไว้คือการบันทึกร่องรอย เผื่อบางทีมันอาจจะมีประโยชน์ในอนาคต

หลังจากได้เรียนถ่ายภาพอย่างจริงจังในชั้นมหาวิทยาลัย ยังรู้สึกชอบมันเหมือนเดิมไหม

เท้าความก่อนว่าที่บ้านไม่ได้อยากให้เรียนสายศิลปะแต่แรก เขากลัวว่าเราจะไม่มีรายได้ เลยอยากให้เราเป็นครูมากกว่า แต่สุดท้ายแล้วเขาก็ค่อนข้างปล่อยให้เราได้เลือกตามใจนะ เพราะมันก็ชีวิตเรา เราก็ไปเลย ตัดสินใจเรียน มันก็มีทั้งวิชาที่ชอบและไม่ชอบ ถ้าที่ชอบก็จะเป็นพวก landscape หรืองาน conceptual เพราะเราชอบเดิน ชอบไปเที่ยว ส่วนที่ไม่ชอบจะเป็นวิชาที่ต้องจัดไฟในสตูดิโอ เพราะว่ามันอยู่แต่ในห้องสี่เหลี่ยม หรือกับการถ่ายภาพโฆษณาหรือแฟชั่น คือถามว่าถ่ายได้ไหม มันก็ได้นะ แต่เราไม่รู้สึกถึงความเชื่อมโยงอะไร ไม่เหมือนการถ่ายสิ่งที่มีอยู่แล้วในธรรมชาติ มันเป็นสิ่งที่เราชอบถ่ายมาตั้งแต่เด็ก แล้วมันก็เป็นแบบนั้นมาเรื่อยๆ แต่ก็ไม่แน่เหมือนกัน อนาคตเราอาจจะเปลี่ยนไปสนใจอย่างอื่น

เห็นว่าเพิร์ธเป็นช่างภาพสายประกวดด้วย ทำไมถึงเลือกเส้นทางนี้

อย่างแรกคืออยากได้เงิน (หัวเราะ) อย่างที่สองคือเราคิดว่ามันน่าจะเป็นผลดีถ้าเราส่งงานไปให้กรรมการตัดสิน จะได้รู้ว่าปัจจุบันตัวเราอยู่ในระดับไหน ซึ่งถ้าเกิดไม่ได้รางวัลก็จะปลอบใจตัวเองว่ามันเป็นแค่ความเห็นของกรรมการชุดนึง ของคนกลุ่มนึงที่เขาตัดสินงานเรา งานเราอาจจะไม่ตรงกับสไตล์หรือแนวคิดที่เขามองหา

เคยส่งเวทีแปลกๆ บ้างไหม หรือเวทีที่คิดว่าคงไม่เหมาะกับเราแต่ก็ลองส่งดู

งานประกวดของเพจออนไลน์ที่ตัดสินจากจำนวนกดไลก์ก็เคยส่งไปนะ แต่ก็รู้สึกว่ามันอาจจะไม่ใช่การวัดผลที่ดีเท่าไหร่ เพราะสุดท้ายแล้วจำนวนไลก์มันแปลว่าเพื่อนเยอะ

คิดว่าเวทีการประกวดเป็นสิ่งที่จำเป็นรึเปล่าในวงการภาพถ่าย 

อาจจะจำเป็นก็ได้ เพราะอย่างน้อยมันก็เป็นโอกาสในการเผยแพร่งานไปด้วยในตัว ถ้าชนะเราก็จะก้าวขึ้นไปอีกระดับนึง แต่ถ้าไม่ได้ก็แค่กลับมาอยู่ที่เดิม อาจจะไม่มีแสงส่องลงมาหาเหมือนคนที่เขาชนะ แต่ก็ต้องหาทางอื่นในการส่งตัวเองขึ้นไป พัฒนางานต่อไปเรื่อยๆ ช้าหน่อยก็ไม่เป็นไร

ทราบมาว่างานนี้ก็ชนะการประกวดมาเหมือนกัน แถมยังเป็นงานที่ต่อยอดมาจากงานพรีธีสิส อยากให้เล่าที่มาให้ฟังหน่อย

ที่ได้รางวัลมาเป็นงานชุดแรก Still Light – Still Life (I) ส่วนงานที่จัดแสดงอยู่นี้เป็นธีสิส เคยจัดอยู่ในนิทรรศการออนไลน์ชื่อ Helios รวมผลงานของนักศึกษาปี 4 ทั้ง 43 คนไว้ในเว็บไซต์ งานเราก็เป็นหนึ่งในนั้น แต่ด้วยความที่รูปมันมีจำนวนเยอะมาก คิดว่าออนไลน์อย่างเดียวมันอาจจะยังไม่ตอบโจทย์กับการจัดภาพให้คนเข้าใจได้ง่าย พอมีโครงการ Young Thai Artist ที่เราเคยผ่านเข้ารอบยื่นข้อเสนอมาว่าสามารถยื่นพอร์ตฟอลิโอไปให้พิจารณาได้ เขาจะคัดจากผู้สมัครมาจัดแสดงงานที่หอศิลป์ฯ กรุงเทพ เราก็เลยส่งไป

แล้วในฐานะเจ้าของผลงาน การเป็นออนไลน์กับการเป็นนิทรรศการต่างกันยังไงบ้าง

สื่อออนไลน์อาจจะแชร์ไปได้เยอะ มันไปได้ทั่วโลก แต่นิทรรศการมันจะมีรีแอคชั่นบางอย่างที่ออนไลน์ให้ไม่ได้ อย่างเรานั่งอยู่ตรงนี้ก็จะแอบได้ยินคนคุยกันตอนเขาเดินดู สำหรับเรานิทรรศการมันเลยดูมีชีวิตชีวามากกว่า เหมือนได้หายใจร่วมกับคนดู

แต่ดูเหมือนช่วงเวลาโรคระบาดไม่อนุญาตให้เราได้หายใจร่วมกับคนดูสักเท่าไหร่ คิดว่ามันทำให้เราก้าวหน้าได้ช้าลงด้วยไหม

จริงๆ เรียนจบมาก็ยังรู้สึกว่างเปล่าอยู่นะ ถึงจะมีหรือไม่มีโรคระบาดมันก็ช้าเหมือนกัน เพราะในไทยไม่ค่อยมีอาชีพทางด้านศิลปะรองรับทั่วประเทศขนาดนั้น ส่วนใหญ่มันกระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพ หรืออย่างดีหน่อยคือเชียงใหม่ ยังมีพื้นที่ทางศิลปะเยอะอยู่ แต่ว่าอย่างบ้านเราที่อยู่ลำปางก็จะไม่ค่อยมีงานอะไร เท่าที่เราจำได้คือตั้งแต่เด็กเคยไปอยู่นิทรรศการเดียว จัดอยู่ในห้างสรรพสินค้า งานเดียวเลย จนมาเรียนเชียงใหม่นี่แหละถึงได้ไปดูงานศิลปะเยอะขึ้น

มันเปลี่ยนความรับรู้ของเราที่มีต่อศิลปะมากขึ้นด้วยไหม 

ใช่ พอเราไปดูงานเยอะขึ้น เราก็เรียนรู้วิธีการเล่าเรื่อง วิธีการเรียงภาพให้ดูน่าสนใจ เราก็เลยนำกลับมาใช้กับตัวเองดู 

Still Light – Still Life เป็นงานที่พูดเรื่องแสงโดยตรงทั้งสองชุด อยากรู้ว่าทำไมถึงสนใจองค์ประกอบแสงมากถึงขนาดออกมาเป็นสองนิทรรศการได้

คิดว่ามันเป็นแรงบันดาลใจที่มีมาตั้งแต่ตอนเด็กสมัยมีกล้องตัวแรก ที่จริงเราไม่ได้คิดว่าคอนเซ็ปต์มันจะต้องเป็นแสงตั้งแต่แรกหรอก แต่พอลองมาเรียน ได้ลองฝึกวิเคราะห์ มองย้อนกลับไปว่าทำไมเราถึงบันทึกภาพแนวนี้ออกมาเรื่อยๆ เราก็ได้คำตอบว่าชีวิตตอนนั้นมันอาจจะเครียด 

เครียดตั้งแต่ประถมเลยเหรอ…

ใช่ เครียดเรื่องการเรียน เรื่องสภาพแวดล้อมที่นั่น เรื่องครอบครัว เราเรียนสายวิทย์แล้วมันไม่ใช่สิ่งที่เราชอบเลย เพราะเราก็รู้ตัวมาตลอดว่าตัวเองน่าจะหัวศิลปะมากกว่า แล้วมันก็น่าจะเป็นแสงตอนเย็นที่บ้านที่เป็นจุดเริ่มต้นให้เราได้ลองถ่ายรูป

แสงตอนเย็นวันนั้นหน้าตาเป็นยังไง

จำได้ว่าเป็นแสงสีส้ม…

แปลว่าหลักๆ แล้วงานนี้จะบอกกับคนดูว่าตราบใดที่มีแสงอยู่ จงมีชีวิตอยู่ต่อไป 

ใช่ ที่เราเลือกแสงอาทิตย์เพราะว่ามันคือธรรมชาติ เหมือนกับชีวิตเราที่ก็เป็นธรรมชาติ ถ้ามีแสงก็มีชีวิต ซึ่งคนดูอาจจะดูไม่รู้เรื่องเลยก็ได้นะ แต่ก็มีบางคนมาเขียนบอกว่าแบบมันก็ช่วยทำให้เขาดีขึ้นเหมือนกัน

 ชื่องาน Still Light แปลว่ายังคงมีแสงอาทิตย์อยู่ ส่วน Still Life แปลได้สองแบบ หนึ่งคือเป็นสไตล์การถ่ายภาพ กับอีกอย่างคือแปลว่ายังมีชีวิตอยู่ต่อ เราเป็นคนที่เครียดกับโลก แล้วก็ถ่ายภาพเพื่อบันทึกแล้วก็เยียวยา ก็เลยอยากให้คนดูเข้าใจแนวคิดนี้ อาจจะทำให้ดูได้ง่ายขึ้น ภาพเราจะได้ช่วยเยียวยาให้เขาได้ง่ายขึ้น ถ้าเป็นแบบนั้นได้ก็จะดีมากเลย 

ขอย้อนกลับไปที่แรงบันดาลใจของงาน มีใครที่นับว่าเป็นต้นแบบบ้างไหม

มีคุณ Robby Müller เป็นผู้กำกับภาพที่เรารู้จักผ่านภาพยนตร์เรื่อง Paris, Texas ก็เลยลองตามงานดูที่เป็นสารคดีชื่อ Living the Light ลองศึกษาว่ากระบวนการการถ่ายภาพของเขาเป็นยังไง มีวิธีมองโลกยังไง งานภาพเคลื่อนไหวอีกงานที่ชอบคือเรื่อง Lady Bird กำกับโดย Greta Gerwig เราชอบวิธีการใช้ชีวิตของตัวละครที่อยากจากบ้านไปที่อื่น เพื่อไปสู่สิ่งที่ดีกว่า รู้สึกเชื่อมโยงกับชีวิตตัวเอง

แล้วก็ Kazuhei Kimura เป็นศิลปินชาวญี่ปุ่นที่เราดูงานหนังสือภาพ เขาเล่าเรื่องด้วยภาพเกี่ยวกับความสัมพันธ์ที่ดูไกลห่าง แต่เขาพยายามจะเล่าว่าที่จริงแล้วใกล้ชิดกัน เราจะดูว่าเขาเรียงลำดับภาพยังไงให้มันเล่าเรื่องตามที่เขาต้องการ

อีกคนคือ Rinko Kawauchi คนนี้ถ่ายภาพแสงเหมือนกัน แต่งานเขาค่อนข้างจะลึกซึ้งมาก อย่างในเล่ม Illuminance หรือ The Eyes, The Ears อาจารย์ที่ปรึกษาเราแนะนำมาช่วงหาข้อมูล เขาจะถ่ายภาพแสงที่ดูเป็นวงจรแล้วเล่าเป็นวัฏจักรชีวิต เป็นคนแรกๆ เลยที่ทำให้เราอยากทำหนังสือภาพ 

ตอนนี้เริ่มทำหรือยัง

มีสองเล่มแล้วค่ะ (ยิ้ม)

การทำหนังสือภาพใช้ความพยายามต่างจากการจัดนิทรรศการไหม

ต่างมาก เพราะมันดูงานได้คนละแบบ หนังสือมันจะเริ่มตั้งแต่หน้าแรกไปหน้าสุดท้าย แต่ว่านิทรรศการคนดูอาจจะเริ่มฝั่งไหนก่อนก็ได้ ดูรูปไหนก่อนก็ได้ การเล่าเรื่องมันจะต่างกัน 

ทั้ง Paris, Texas และ Lady Bird ที่เพิร์ธชอบต่างก็เป็นภาพยนตร์ที่พูดถึงชีวิตของคนธรรมดา ตัว Still Light – Still Life (II) เองก็เป็นรูปที่ถ่ายแต่สิ่งธรรมดา ความธรรมดานี้มันมีความหมายยังไง ทำไมถึงควรค่าต่อการบันทึกเอาไว้

เราคิดว่ามันเป็นบันทึกสำหรับตัวเราเองเลย เป็นร่องรอยว่ามีตัวเราอยู่บนโลก มันคือการทำงานเพื่อบอกว่าเราคือคนที่เคยอยู่ตรงนี้ ทำให้เราเข้าใจตัวเองมากขึ้น อยู่กับตัวเองมากขึ้น 

ที่สำคัญคือมันเป็นการถ่ายสิ่งที่เกิดขึ้นแค่ครั้งเดียว เราเลยรู้สึกว่ามันพิเศษดี สิ่งที่เราถ่ายมันธรรมดาก็จริง แต่ความธรรมดาที่ว่านี้มันเกิดขึ้นแค่ครั้งเดียว 

เพิร์ธเคยบอกอีกว่าแสงไม่ได้มีแค่ด้านสว่าง สิ่งที่มาพร้อมกับแสงเสมอคือเงา อยากรู้ว่าแนวคิดนี้เกิดขึ้นตอนไหน แล้วมันบอกอะไรบ้าง

เงากับแสงมันก็มีเฉดของมัน เฉดมืด เฉดสว่าง เราก็เลยลองเอามันมาเปรียบเทียบกับชีวิตดู มันก็คล้ายๆ กันนะ แต่ถ้าถามว่าตอนนี้ชีวิตเราอยู่เฉดตรงไหน ก็คงตอบว่ากลางๆ 

แล้วถ้าเป็นชีวิตในฐานะเด็กจบใหม่ มองพื้นที่ในวงการภาพนิ่งและวงการศิลปะโดยรวมของบ้านเรายังไง

อย่างที่พูดไปก่อนหน้าว่ามันมีพื้นที่รองรับน้อย ก็เลยคิดว่าอนาคตอยากให้มันมีการปรับโครงสร้างให้กระจายไปทั่วประเทศ แต่มันก็ต้องพัฒนาก่อนนะ ให้คนดูรู้สึกว่าศิลปะมันเข้าถึงได้ง่ายขึ้นกว่าเมื่อก่อน ตอนนี้หลายคนไม่กล้าเข้ามาดูเพราะกลัวเข้าใจยาก แต่เราว่าเราสามารถทำให้ศิลปะมันเข้าถึงทุกคนได้ ไม่งั้นทุกคนก็ต้องมาดูงานศิลปะที่กรุงเทพ ซึ่งมันไม่สะดวกเลย เรื่องของการเดินทาง งบประมาณ เรื่องโอกาสด้วย เหมือนที่เราต้องมาตามหาความฝันไกลถึงกรุงเทพฯ มันกลายเป็นว่าถ้าใครมีความฝันประมาณนี้ก็ต้องออกจากบ้านมาเพื่ออยู่ที่นี่ ถึงจะทำให้สิ่งที่เราชอบมันเป็นจริงขึ้นมาได้ 

ถ้าอยากให้ลำปางมีอะไรสักอย่างเกิดขึ้น อย่างแรกที่มันต้องมีคืออะไร

จริงๆ เราแทบไม่ได้กลับลำปางเลย ส่วนใหญ่จะอยู่เชียงใหม่ แต่ถ้าถามว่าอะไรที่ควรจะมีเป็นอย่างแรก เราว่าน่าจะเป็นแกลเลอรี ซึ่งในอนาคตเราก็อยากทำแกลเลอรีนะ

ไหนๆ ก็คุยเรื่องอนาคต เพิร์ธมองอนาคตตัวเองไว้ยังไง จุดสูงสุดที่อยากจะไปถึงให้ได้ในเส้นทางช่างภาพคืออะไร

อยากทำหลายอย่างเลย อยากทำหนังสือขาย อยาก edit ภาพ ทำแกลเลอรี เป็นภัณฑารักษ์ รับงานประจำ รับงานฟรีแลนซ์ (ขำ) แต่ยังเลือกไม่ได้นะ ยังไม่ได้ตัดสินใจ

ถ้าให้เลือกที่หนึ่งในใจในวินาทีนี้เลยล่ะ

ก็น่าจะเป็นทำแกลเลอรีที่บ้าน เพราะว่าเราชอบเรียงภาพ รู้สึกว่าทำแล้วมีสมาธิขึ้น เหมือนเราได้เข้าใจเรื่องราวได้ลึกซึ้งขึ้นด้วย อีกอย่างคืออยากให้แกลเลอรีเข้าถึงได้ง่าย อยากให้คนเข้าถึงศิลปะ

เราคิดว่าถ้ามันไม่มีใครทำ เราคงต้องทำ ยังไงมันก็ต้องแก้ปัญหาการกระจุกตัวที่ว่าสักทางนึง อาจจะเป็นเราที่ควรเริ่ม เข้าใจว่ากว่าจะถึงจุดนั้นได้ก็คงจะใช้ความรู้ที่มี ระยะเวลา แล้วก็งบประมาณพอสมควรเลย แต่ความคิดเรื่องแกลเลอรีนี่ไม่ได้มีแค่เราคนเดียวนะ มีปรึกษาแฟนไว้ด้วย แต่เขาก็อยากทำที่สงขลาบ้านเขาเหมือนกัน เราว่าเป็นเรื่องดีนะที่คนรุ่นใหม่รู้สึกว่าอยากกลับไปทำอะไรที่บ้านตัวเอง

_______________________________

 

บทสนทนาของเราสองคนสิ้นสุดลงที่คำถามนั้น แต่ก่อนที่จะจากกัน เพิร์ธก็พาเราไปดูสมุดสีดำเล่มหนึ่งที่วางอยู่หน้าประตูทางเข้า มันคือเครื่องบันทึกความทรงจำร่วมกันระหว่างเธอกับผู้เข้าชมงาน หน้าหนึ่งที่เพิร์ธประทับใจและเลือกเปิดให้เราดู มีลายมือเขียนเอาไว้ว่า “ภาพของคุณทำให้เรากลับมาคิดได้ว่า ชีวิตมันก็สวยงามของมันอยู่แล้วนี่นา”

และเราเห็นด้วยตามนั้น ทั้งตัวงาน Still Light – Still Life (II) และบทสนทนากับหญิงสาวเจ้าของงานที่เพิ่งผ่านพ้นไปเมื่อครู่ บอกกับเราว่าไม่ว่าในโมงยามของปัญหาจะมืดมนแค่ไหน สุดท้ายแล้วแสงอาทิตย์จะสว่างขึ้นเสมอในตอนเช้า ย้ำเตือนว่าเรายังคงอยู่บนโลกนี้ มีตัวตนเสมอมา และจงใช้ชีวิตต่อไป

 

พิสูจน์อักษร: ชลดา สวนประเสริฐ