brand logo

PHOTO | LIFE | INSPIRATION

Jul 2025

แอ๊ด - พีรพัฒน์ วิมลรังครัตน์
Our Motorway
เรื่อง : กษิดิ์เดช มาลีหอม
ภาพ : ธันวา ลุจินตานนท์
10 Aug 2022

นิทรรศการ Our Motorway เป็นส่วนต่อขยายของการทำโฟโต้บุ๊คในวาระครบรอบ 108 ปี ของกรมทางหลวงที่แอ๊ด- พีรพัฒน์ วิมลรังครัตน์ เป็นช่างภาพที่ได้โอกาสเดินทางเก็บเรื่องราวบนถนนมอเตอร์เวย์หลายสายในพื้นที่ที่คนปกติทั่วไปเข้าไปไม่ได้และพื้นที่ที่กำลังก่อสร้างอยู่ ทำให้ผลงานของเขาในครั้งนี้โดดเด่นในเรื่องของมุมมองภาพ และด้วยเอกลักษณ์ของพื้นที่ทำให้สไตล์ของภาพครั้งนี้แตกต่างจากงานก่อนๆ ของเจ้าตัว ซึ่งสำหรับผู้เขียนแล้วงานเซตนี้ไม่ใช่เพียงการฉายภาพทิวทัศน์และเส้นสายของถนนหนทางเท่านั้น แต่ยังเป็นบทบันทึกทางประวัติศาสตร์ของการคมนาคมบ้านเรา 

หากยังจำกันได้เมื่อเดือนมกราคมปีที่แล้วเราได้คุยกับแอ๊ดถึงการทำงานในบทบาทช่างภาพประจำตัวของอดีตนายกอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่เป็นเหมือนบทบันทึกเชิงสารคดี ในวันนี้วิธีการทำงานของเขายังคงรูปแบบเดิมแต่เปลี่ยนจาก ‘บุคคล’ เป็น ‘เรื่องราวบนถนน’ ในระยะเวลา 6 เดือนของการทำโปรเจกต์นี้เขาเดินทางไปแต่ละพื้นที่เพื่อบันทึกภาพถนนหนทาง ธรรมชาติและชีวิตบนสองฝั่งทางหลวงพิเศษหมายเลขต่างๆ เพื่อที่จะบอกเล่าว่าเรื่องราวระหว่างทางสวยงามเสมอ

หลังจากเปิดนิทรรศการไปได้ 2 วัน เราได้นัดคุยกับแอ๊ดถึงเบื้องหลังการทำงาน Our Motorway: Sense of Place ลำดับที่สอง หลังจากเริ่มทักทายกันเสร็จ พวกเราปรึกษากันว่าจะนั่งคุยกันตรงไหนดีที่จะเงียบพอให้ใจสงบ เราได้โต๊ะด้านหน้าของร้าน Gallery กาแฟดริป โต๊ะที่สองจากสุดท้ายใกล้กับประตูทางเข้าหอศิลป์ฯ 

ต่างคนต่างเตรียมตัว แอ๊ดกลับมาที่โต๊ะหลังจากไปสั่งกาแฟ ผมถามเขาว่าพร้อมเลยไหม เขาให้สัญญาณว่าโอเคแม้ยังไม่ได้จิบเครื่องดื่มอุ่นก่อนเริ่มเดินทางสู่บทสนทนา 

หลังจากเช็คลิสต์หัวข้อที่เตรียมมาเรียบร้อยแล้ว ผมวางปากกาลงและให้เขาเป็นคนนำทางไปในเส้นทางทั้งหมดที่เขาได้เดินทางมาเป็นเวลากว่าครึ่งปี “จริงๆ เรารับงานนี้ก็เพราะว่ามันเป็นโอกาสครั้งนึงในชีวิต ความทรงจำครั้งนึงที่จะได้ถ่ายอะไรในลักษณะนี้ เข้าไปในพื้นที่ที่เราอยากรู้ เริ่มต้นถ่ายที่สาย 7 (กรุงเทพฯ-พัทยา) กับ สาย 9 (บางพลี-บางปะอิน) สองเส้นนี้คือเส้นหลักในปัจจุบัน ใช้มาตั้งแต่อดีต แล้วก็ไปถ่ายเส้นที่เก่ากว่าคือ สาย 35 สาย 35 คือเส้นพระรามสอง มันคือถนนว่าที่มอเตอร์เวย์แต่ไม่ใช่มอเตอร์เวย์ เป็นเส้นทางหลวงที่จะตั้งใจเป็นมอเตอร์เวย์ตั้งแต่แรก แต่มอเตอร์เวย์จริงๆ แล้วจะต้องเป็นระบบปิด เพื่อที่จะให้รถใช้ความเร็วได้อย่างปลอดภัย ตอนนี้เส้นทางนี้เขากำลังก่อสร้างเป็นมอเตอร์เวย์ลอยฟ้า และก็มีสาย 81 (บางใหญ่-กาญจนบุรี) ที่อยู่นครปฐม และก็สาย 6 (บางปะอิน-นครราชสีมา) ไปโคราช ไปสระบุรี ก็คือเรามีไปถ่ายทั้งระหว่างการดำเนินการสร้างด้วยและก็บางจุดที่สร้างเสร็จแล้ว”

โร้ดทริปกับงานภาพถ่ายเหมือนเป็นของคู่กัน เช่นเดียวกับในโลกภาพยนตร์ที่แอ๊ดนำซีนต่างๆ มาเป็นวัตถุดิบสำคัญในการสร้างงานในครั้งนี้และครั้งต่อไป “ส่วนมากจะเป็นซีนจากหนังมากกว่า เราก็เป็นอีกหนึ่งคนที่ชอบหว่องกาไวแล้วก็เราชอบเรื่องนึงที่เพื่อนแนะนำให้ดู ก็คือเรื่อง Happy Together (1997) ถ้าซีนในรถที่ชอบนะเป็นเรื่อง In The Mood For Love (2000) แต่ส่วนตัวเราชอบ Happy Together ตอนที่ลงไปดูแผนที่กัน ที่จอดรถข้างถนนซีนนั้นโคตรอยากได้อย่างนี้เลย จริงๆ ดูภาพตัวอย่างมาเราก็อยากได้รถเท่ๆ ไปเป็นพร็อพ สมมติเราอยากได้รถคลาสสิกใครจะให้เช่าขับไหมไปกลับกรุงเทพฯ ทุกวัน หรือรถเปิดประทุนคันใหญ่ๆ ถ่ายผ่านกระจกเท่ๆ อย่างหนัง Fear And Loathing In Las Vegas (1998) ที่จอห์นนี่ เดปป์เล่น แล้วก็หนังหลายๆ เรื่องที่ขับไปเรื่อยๆ ที่ระหว่างทางเราว่ามันสวย มันมีเรื่องราว ช่วงนั้นก่อนที่จะได้รับโปรเจกต์นี้มีเพื่อนแนะนำให้ดู Green Book (2018) ทำให้รู้สึกว่าระหว่างทางมันมีการสร้างความสัมพันธ์ของตัวละคร รถเป็นตัวดำเนินเรื่อง และหลังจากจบโปรเจกต์นี้ เสร็จปุ๊ปได้ดู Drive My Car (2021) ขนลุกเลย เฮ้ย..เราแบบทำไมมึงไม่มาเร็วกว่านี้นะ จะได้เป็นเรฟเฟอเรนซ์ที่ดีสำหรับเรา ฉากที่รถสีแดงวิ่งไปบนถนนแล้วมันก็ปล่อยเฟรมทิ้งแล้วแบบเหมือนแพนกล้องไปเป็นเมือง แบบสวยจัง สวยมาก อยากไปถ่ายเพิ่มเลย จริงๆ ความรู้สึกตอนนี้ถ้ามีโอกาสก็อยากกลับไปถ่ายเพิ่ม เพื่อสนองความต้องการเรื่องศิลปะมากขึ้น เพราะก่อนหน้านี้ในการถ่ายมันต้องตอบโจทย์ ภาพที่คนดูและสามารถเข้าใจได้ มันไม่ใช่แบบติสท์มาก ดูแล้วไม่เข้าใจ มันก็จะมีกึ่งกลางสิ่งที่ชอบและเข้าใจได้ด้วย แต่สุดท้ายแล้วถ่ายมามันไม่ได้ตอบโจทย์เขาอย่างเดียว ตอบโจทย์ตัวเองด้วย จึงเป็นตรงกลางระหว่างเราและเขา มันจะมีภาพที่เราแอบถ่ายเก็บมาด้วยจะเป็นภาพที่ไม่ได้แสดงในหนังสือแต่แสดงในนิทรรศการ บางภาพเขาก็ยังมีคำถามเลยว่าที่นี่ที่ไหน เออ..มันสวยนะแต่ว่ามันคือตรงไหนนะ แต่ถ้าบางโซนบางซีนที่เขาเห็นแล้วเขารู้เลยว่ามาจากที่ไหน ก็จะมีฟีลนั้นเหมือนกัน”

สามปีที่แล้วแอ๊ดได้มีนิทรรศการภายใต้ชื่อ Sense of Place ซึ่งถูกยกมาเป็นคีย์เวิร์ดอีกครั้งในการกำหนดอารมณ์ของงานครั้งนี้โดยตีความภายใต้คำว่า มอเตอร์เวย์ สำหรับเขามองว่า Sense of Place นั้นเกิดขึ้นจากมุมมองสองฝั่ง ทั้งเราและเขาที่ทำงานร่วมกัน “เราว่ามันทั้งไปและกลับ หมายถึงว่าเราตีความของเราเองได้ด้วยและก็สังเกตพื้นที่นั้นตอบรับเรายังไง มีความรู้สึกที่ความเกี่ยวข้องแต่ละพื้นที่ที่ไปและก็มีความเชื่อมโยงในแง่ของความรู้สึกในการที่เราคัดรูปมาทุกรูป ทุกเรื่องราวที่เราจะเล่า เรารู้สึกว่ามันมีเซนส์เหมือนกันในนิทรรศการแต่ละครั้ง” 

ภาพทางยกระดับสาย 81 ที่ดูเงียบ สะอาดตาและมอบความรู้สึกปลอดภัยที่อยู่บนโปสเตอร์นิทรรศการ จริงๆ แล้วแอบมีอีสเตอร์ เอ้กที่บอกว่า Our Motorway เป็นคอลเลคชั่น Sense of Place ลำดับที่สองของแอ๊ด “จะมีกิมมิคนิดนึงในตัวโปสเตอร์ เป็นขีดสองเส้น มันจะมีความหมายซ่อนอยู่ของโปสเตอร์ มันคืออีสเตอร์ เอ้กของตัวกราฟิกที่ทำ โปสเตอร์เป็นรูปนี้ใช่ไหมครับ (ชี้ให้ดูเสาด้านล่างของทางยกระดับ) ที่เป็นขีดๆ เนี่ย มาจากอันนี้ พอเขาเอามาใช้เสร็จปุ๊ป เราก็เลยบอกว่ามันมีความเกี่ยวเชื่อมกับงานครั้งที่สองของเราก็ได้ เหมือนระหว่างนั้นเราพูดคุยกับเขาไปด้วย เราส่งรูปให้เขาทั้งหมดแล้วเขาเลือกรูปนี้ในการจัดทำเป็นคีย์วิชวล เขาบอกว่าการที่รถไปจอดอยู่ใต้เส้นทางนั้นเหมือนเป็นการให้ร่มเงา เหมือนเป็นที่พักพิงพึ่งพาได้ด้วย ตัวทางเป็นคอมโพสิชั่นมีความคลีน จริงๆ จะมองว่าแบบมีความเป็นไทยก็ได้ แบบจอดริมทางสบายๆ แต่มองดูอีกแบบก็ดูคลีนๆ เหมือนต่างประเทศ แต่จริงๆ แล้วบ้านเราก็มีเส้นทางที่ดูแล้วสบายตาเหมือนกัน ถ้าเรามองถนนให้เป็นศิลปะสวยงาม มันมองได้หมด อยู่ที่ว่าจะมองมันอย่างไร แต่เราว่าโชคดีจังหวะที่เจอตรงนั้น เจอรถที่จอดพอดีก็เลยถ่ายมา”

หลังจากได้ดูผลงานของแอ๊ด ผมแชร์ความรู้สึกตัวเองให้เขาฟังว่าภาพต่างๆ นั้นมีร่องรอยของการมีชีวิตแบบไม่จำเป็นต้องเห็นคนตัวเป็นๆ ก็สัมผัสถึงความรู้สึกของการมีชีวิตได้ ซึ่งสำหรับเขาแล้วภาพถ่ายคือการบันทึกความเคลื่อนไหว ซึ่งจะเก็บไว้เป็นความทรงจำต่อไป “เราชอบเล่าภาพในเรื่องราวแต่ละสถานที่ที่เราไป ถ้าภาพไหนมันคลิ๊กมันรู้สึกเราก็อยากจะหยิบมันมาเล่า ทุกๆ ครั้งที่เราแคปเจอร์หรือจดจำมันเรียบร้อยแล้ว เราจะมีภาพที่มันนั่งอยู่ในหัวอยู่แล้วล่ะ เป็นภาพต่อเนื่องหรือภาพก่อนที่เราจะแคปเจอร์ เหมือนที่เราบอกทุกครั้งว่ามันก็คือภาพเคลื่อนไหวและทุกครั้งที่เราดูรูปจะจำความรู้สึกนั้นได้ ความร้อน ความงอแง ความขี้เกียจออกจากบ้าน กลับมาแล้วนอนดึกมากแล้วต้องตื่นเช้าอีก ทุกๆ ครั้งก็จะมีอารมณ์บ้างในความเหนื่อย แต่ก็รู้สึกสนุกเวลาที่ได้ออกไปทำงานออนไซต์ ได้เหงื่อแล้วมันรู้สึกสนุก มีความทรงจำ ซึ่งมันไม่ได้งอแงทุกครั้งนะ หมายถึงว่าเหนื่อยว่ะ ต้องออกอีกแล้วหรอวะ ทำไมไม่นอนนู่น อ่อ..เรามีแมว เราต้องกลับมานอนบ้าน เพราะบางครั้งวันนี้นัดได้ที่สระบุรี และโคราชนัดได้พรุ่งนี้ วันนี้ก็ต้องวนกลับมาบ้านแต่จริงๆ สมมติเรานอนนั่นก็จบแล้ว แต่ก็ไม่ได้นอนไงเพราะต้องกลับบ้าน”

ฟังเงื่อนไขบางอย่างที่เขาได้เล่าออกมาก็อดนึกไม่ได้ ว่าผลงานชิ้นนี้จะสำเร็จได้อย่างไรหากไม่มีการซัพพอร์ตจากคนใกล้ตัว “ภรรยาเป็นคนขับรถให้ เราก็เป็นคนที่นั่งดูเส้นทาง โดยระหว่างทางเราจะดูซ้ายขวามีอะไร ถ้าแวะจอดได้ก็จะแวะ แวะไม่ได้ก็จะถ่ายเก็บเป็นฟุตเทจ ถ้าจุดนี้เราสนใจจริงๆ เราก็จะส่งไปถามผู้ใหญ่ว่าผมอยากลงไปถ่ายตรงนี้เข้าไปได้ไหม ถ้าเขาอนุญาตเขาประสานให้ถ้าได้ก็ได้ แต่ถ้าเขามองว่ามันไม่จำเป็นก็ต้องดูหน้างานว่ายังไง จริงๆ อยากเป็นเหมือนโรเบิร์ต แฟรงค์นะ อยากได้อย่างนั้น แต่นี่ต่างคนก็มีงานประจำ มันก็เป็นโปรเจกต์ที่มีกรอบเวลาทั้งการเขียน และการถ่าย รวมถึงการถ่ายเพิ่มและถ่ายซ่อมด้วย”

สารภาพว่าก่อนที่จะมาเจอกัน ผมแอบไปเสาะหาข้อมูลคนที่จะสัมภาษณ์ตามประสาแล้วดันไปเจอเพลย์ลิสต์นึงใน Spotify ที่แอ๊ดสร้างไว้ชื่อว่า Motorway หนึ่งในนั้นมีเพลง California Dreamin’ อยู่ด้วย “เพลย์ลิสต์อันนี้จริงๆ เพิ่งสร้าง แต่เป็นเพลงที่ฟังเวลาเดินทางของเราอยู่แล้ว แต่ที่ชอบจริงๆ จะเป็นพวกเพลงวันพีช เพราะระหว่างทางมันต้องตื่นอ่ะ มันฟังไม่ออก เพลงมันจะเร้าๆ หน่อย ที่บอกไปแฟนเราเป็นคนขับใช่ป่ะ ส่วนตัวเราและเขาชอบฟังเพลงแบล็กพิงก์ แต่ถ้าฟังอนิเมะตอนขับรถเขายิ่งโอเค แบบฟังเพลงดราก้อนบอล เพลงการ์ตูนหมดเลย เพื่อนแฟนเคยนั่งรถไปด้วยกัน เคยแซวนึกว่าอยู่ดองกี้ มันเหมือนเพลงเร้าในดองกี้ให้แบบเดินเร็วๆ เขาก็แซว แต่ถ้าแฟนไม่ง่วงก็จะเปิดพวก California Dreamin’ สร้างบรรยากาศ

คุยกันไปเรื่อยๆ เขาก็กล่าวติดตลกว่าก่อนที่จะทำโปรเจกต์นี้ไม่ได้สนใจสิ่งที่เกิดขึ้นหรือเรื่องราวระหว่างทางเลย ทุกครั้งที่นั่งรถผ่านเส้นมอเตอร์เวย์สาย 7 ก็จะคิดอย่างเดียวว่าจะต้องไปขึ้นเครื่องบินที่สุวรรณภูมิให้ทัน ผมถามเขาต่อว่าและตอนนี้ล่ะช่วงเวลาที่น่าจดจำมากที่สุดในโปรเจกต์ของคุณคือตอนไหน ซึ่งภายหลังเหตุการณ์นี้ได้กลายมาเป็นรูปใบนึงที่เขาชอบที่สุดในงานครั้งนี้

“ครั้งนึงขึ้นไปสามคน เรา แฟนเรา เจ้าหน้าที่ คือ เจ้าหน้าที่ เขาขอกลับก่อน เพราะเขามีธุระ แฟนเราก็ต้องขับรถไปส่งเขา แล้วเราก็เดินคนเดียวบนเส้นทาง ในความทรงจำของเรารู้สึกว่า ก็เดินเรื่อยเปื่อยไม่มีจุดหมาย เดินไปคนเดียวบนถนน แต่ข้อดีเราได้ศึกษาว่า เราเรียนรู้ว่าเราจะถ่ายอะไรบนถนน เพราะในมุมถ้าเรามองปกติเหมือนการขับรถหรือมองระยะที่มนุษย์เห็นปกติ มันจะรู้สึกเฉยๆ เราอยากได้มุมแบบเบิร์ดอายวิว รูปมุมสูงแต่เราอยากได้คุณภาพแบบที่ไม่ใช่โดรน คือโดรนคุณสามารถบินเท่าไหร่ก็ได้ สมมติถ้าเราจะต้องใช้กล้อง DSLR เราจะทำอย่างไรให้ได้ภาพที่เรารู้สึกชอบ หลังจากผลของการเดินครั้งนั้น เราต้องการที่จะขึ้นไปบนความสูงเท่านี้ เท่าเสาไฟฟ้าและไล่มองเส้นทาง เพราะว่าเราชอบความโค้งของเขื่อนลำตะคอง ฝั่งซ้ายก็มีภูเขามองแล้วสบายตา สบายใจ เส้นทางก็สวย ถ้าเป็นไปได้ เราจึงฝากคำถามไปถามผู้ใหญ่ขอรถกระเช้าได้ไหม หรืออะไรบางอย่างที่ทำให้เราได้ขึ้นไป ก็ขึ้นไป ก็นัดไปอีกครั้งหนึ่ง แต่ฟ้าฝนไม่เป็นใจ วันที่เราไปฝนตกแต่คือว่ารถเขามาให้แล้ว ก็ต้องเอาก็ต้องขึ้นตอนฝนตกก็ต้องยอม เรารู้สึกว่าถ้าฝนตกมันก็น่าจะสวยนะ เพราะคนไม่ค่อยถ่ายด้วยตอนฝนตก หนึ่งคือกลัวกล้องเสีย สองคือกลัวฟ้าผ่าด้วย แต่คือทางพี่เจ้าหน้าที่ เขาใจดี ทุกอย่างที่เป็นสื่อนำไฟฟ้าให้เอาออกจากตัวให้หมด เพราะเราจะขึ้นไปสูงระดับตัวเสาไฟ อย่างมือถือ นาฬิกาห้าม จริงๆ กล้องก็ไม่ควรนะครับ ขึ้นเสร็จไปแล้วรีบลงมาเลยนะ คือมันเหนือความรับผิดชอบของเขา เพราะเป็นความต้องการของเราที่ดื้อดึงที่จะอยากได้รูปนี้ เรารู้สึกว่ามาแล้ว พี่เขาก็มาแล้ว เขาขับมาจากอีกจังหวัดเพื่อมาดูแลเราให้เราถ่ายแล้วฝนก็ตก ก็เอาวะ..สุดท้ายได้รูปมาในแบบที่ชอบ เป็นหนึ่งในภาพที่เราประทับใจ”

ตัดภาพมาที่หนังทั้งหมดที่แอ๊ดยกขึ้นมาให้เราฟังช่วงตอนต้นของบทสนทนา ลึกๆ แล้วไม่เพียงแค่ซีนที่เขาต้องการพูดถึง แต่เป็นเรื่องราวในนั้นด้วย ภาพของรถคาดิลแลคสีเทอร์ควอยซ์กำลังฝ่าหิมะเพื่อจะได้กลับไปอยู่กับครอบครัวให้ทันค่ำคืนแห่งวันคริสต์มาส ในเรื่อง Green Book ภาพของเจ้ารถซ้าบสีแดงแล่นผ่านเมืองบ้านเกิดของโชเฟอร์สาวท่ามกลางหิมะเพื่อกลับไปชำระบาดแผลของอดีตในเรื่อง Drive My Car ภาพของชายหนุ่มสองคนจอดรถริมข้างทางเพื่อดูแผนที่หาทางไปน้ำตกในประเทศที่ห่างจากบ้านเกิดพวกเขาอีกฟากโลกในเรื่อง Happy Together ตัวละครทั้งหมดที่เอ่ยมาต่างเดินทางไกลทั้งภายในและภายนอกจิตใจ อย่างราบรื่นและขรุขระ บางคู่ไม่เข้าใจกันตั้งแต่เริ่มแต่ตอนสุดท้ายสนิทแนบแน่น บางคู่ก่อกำแพงขึ้นสูงเมื่อพบกันแต่ระยะทางและเวลาก็ค่อยๆ ทลายกำแพงนั้นจนหมดไป บางคู่รักกันในชนิดที่จินตนาการไม่ได้ว่าจะแยกจากกันยังไง แต่สุดท้ายกลับจากลาโดยไม่มีเหตุผล ในช่วงท้ายผมถามแอ๊ดว่าอะไรคือสิ่งที่เขาอยากจะสื่อสารที่สุดใน Our Motorway เขาตอบผมว่า “แน่นอนว่าจุดหมายที่เราจะไปนั้นสำคัญ แต่เรื่องราวที่เกิดขึ้นระหว่างทางมันก็งดงาม หากมีเวลาและไม่เร่งรีบ ลองปล่อยใจให้อยู่กับสองข้างทางบ้างอาจจะได้พบเจอสิ่งสวยงามที่ไม่เคยสังเกตหรือบางครั้งอาจจะเจอช่วงเวลาที่น่าหงุดหงิดใจบ้างก็ตาม เหมือนการเติบโตในสายสัมพันธ์ของตัวละครที่มีทั้งเรื่องน่ายินดีและเจ็บปวด ที่จะเป็นการเรียนรู้เพื่อให้ก้าวต่อไป”

สุดท้ายสำหรับช่วงวันหยุดยาวที่จะถึงนี้ ขอให้ทุกท่านเดินทางโดยสวัสดิภาพครับ

พิสูจน์อักษร: ชลดา สวนประเสริฐ