brand logo

PHOTO | LIFE | INSPIRATION

May 2024

นัน-นันทินี ตันศรีสกุล
Old Meets New
เรื่อง : กษิดิ์เดช มาลีหอม
ภาพ : นันทีนี ตันศรีสกุล
27 Jun 2022

คงจะเป็นเรื่องยากที่เพียงแค่ลำพังประสาทสัมผัสของมนุษย์ จะโอบรับความงดงามสีของท้องฟ้าที่แตกต่างกันในทุกๆ วัน จะรู้สึกถึงแสงอาทิตย์ในห้องทำงานที่เปลี่ยนไปในทุกชั่วโมงโดยที่เราไม่รู้ตัว หรือแม้กระทั่งเฝ้ามองการเดินทางของนกบนท้องฟ้า ซึ่งคงจะดีไม่น้อยหากเราสามารถสัมผัสการเคลื่อนไหวหรือการเปลี่ยนแปลงของสิ่งรอบตัวพวกนี้ได้ผ่านภาพพิมพ์ ทั้งหมดที่พูดมาไม่ใช่เรื่องเกินจริงแต่อย่างใด เพราะนั่นคือผลงานที่นัน-นันทินี ตันศรีสกุล ศิลปินผู้ใช้อัลกอริทึมในการสร้างสรรค์งานศิลปะและภาพถ่าย ในบทสัมภาษณ์นี้เราจะมารู้จักเธอให้มากขึ้นกับบทบาทนักประพันธ์อัลกอริทึมและวิชวลอาร์ตติสที่ร้อยเรียงช่วงเวลาอันยาวนานไว้ในเฟรมเดียว ตั้งแต่อิทธิพลศิลปะที่มีต่อเธอในวัยเด็กตลอดจนความสนใจและแรงบันดาลใจในการจับช่วงเวลาที่ไม่ใช่เพียงแค่วินาทีเดียวแต่เป็นทั้งวัน ที่ท้ายที่สุดทำให้เธอนั้นได้มีโอกาสสร้างกล้องรูเข็มดิจิตอลของตัวเองด้วยอัลกอริทึมในโปรเจกต์ ‘Generative Photography’ การท้าทายที่นำสิ่งที่เก่าแก่ที่สุดอย่างหนึ่งในแขนงภาพถ่ายมาเจอกับสิ่งใหม่อย่าง Machine Learning (แมชชีน เลิร์นนิ่ง) 

นันเป็นหนึ่งในศิลปินของคอลเลคทีฟในนิวยอร์กที่ใช้นามว่า ‘NUUM Collective’ ที่ประกอบไปด้วยศิลปินที่พื้นหลังต่างกัน คนหนึ่งแต่งเพลงมาก่อน อีกคนหนึ่งเป็นซาวด์อาร์ตติส อีกคนเป็นโปรแกรมเมอร์ อีกคนเป็นนักเต้น และในส่วนของนันจะรับผิดชอบในด้านนำเสนอเนื้อหาผ่านวิชวล ซึ่งเธอบอกว่าแม้แต่ละคนจะใช้เครื่องมือสร้างงานที่ต่างกันแต่พวกเขาสนใจสิ่งเดียวกันก็คือ การรับรู้ของมนุษย์ การตั้งคำถามถึงความสัมพันธ์ระหว่างระบบสัมผัสและการตี ความของสมอง

จุดเริ่มต้น

พอเรารู้ว่าเธอไม่ได้เรียนหรือเริ่มทำงานด้านศิลปะมาก่อน อดีตจึงเป็นหัวข้อสนทนาที่เราอยากเริ่มรู้จักกับเธอมากขึ้น ถึงกระนั้นก็ตามนันบอกผมว่าตั้งแต่เล็ก เธอคลุกคลีอยู่กับโลกแห่งศิลปะเสมอมา นันเติบโตในครอบครัวที่มีพี่น้องห้าคน เธอเป็นคนที่สี่ ที่บ้านเธอมีธุรกิจโรงพิมพ์และบางวันห้องน้ำที่บ้านก็แปรสภาพเป็นห้องมืดของพี่สาว ก่อนหน้าที่จะใช้ชีวิตมหาลัย นันอยู่ที่ประเทศอังกฤษมาก่อน ด้วยจังหวะเวลาและโอกาสในตอนนั้น ทำให้เธอต้องเลือกเรียน BBA ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยตัวเธอเองก็ชอบเรื่องของตัวเลขไม่แพ้ศิลปะ ในช่วงแรกหลังจากเรียนจบเธอจับงานบริษัทที่ปรึกษาการตลาด หลังจากนั้นนันได้มีโอกาสอยู่ในทีม TEDxBangkok ปี 2015 ซึ่งเรียกว่าเป็นจุดเปลี่ยนเปิดประตูให้ใกล้ชิดกับความรักในวัยเด็กได้ใกล้ขึ้น ความรักที่มีต่อศิลปะ เพราะในช่วงนั้นเธอได้ช่วยงานอาร์ตไดเรกเตอร์ของทีม จึงได้มีโอกาสจับงานโปรดักชั่นต่างๆ อย่างใกล้ชิด ต่อจากนั้นเธอก็ได้เข้าไปทำงานกับทีม Bit Studio บริษัทเน้นทำอินเตอร์แอคทีฟเทคโนโลยี แม้จะไม่ใช่ตำแหน่งอาร์ตไดเรกเตอร์หรือดีไซเนอร์ แต่นั้นก็เพียงพอที่จะทำให้ได้เจอกับตัวเองในวัยเด็กอีกครั้ง ฉะนั้นในวัยเด็ก นันมองเห็นอะไรในศิลปะ ผมจำเป็นต้องถามเธอต่อ

“เราชอบความไม่มีผิดมีถูก เราเชื่อว่าคนแต่ละคนไม่มีทางมีประสบการณ์อะไรที่เหมือนกันอยู่แล้ว และศิลปะเป็นเรื่องของการตีความของแต่ละคน  เราจำได้ว่า เราระบายสีสีนึงแล้วเราบอกเขาว่าท้องฟ้ามันเป็นสีเหลือง แล้วเพื่อนเขาบอกว่ามันเป็นสีฟ้า ซึ่งครูก็บอกว่ามันไม่มีอะไรผิดถูก ซึ่งตรงนั้นเป็นสิ่งที่ทำให้เราสนใจ และก็เราไม่ได้นิยามมันว่าจะเป็นศิลปะหรือไม่เป็นศิลปะขนาดนั้น มันคือความไม่มีถูกมีผิด คือ ความเทา เรารู้สึกว่ามันไม่มีอะไรที่เป็นขาวดำที่แท้จริง” 

นักประพันธ์อัลกอริทึม

“ที่จริงมันไม่ได้ต่างจากนักประพันธ์ทั่วไปเลยนะ” นันเอ่ยขึ้นมาเพื่อขยายความตัวตนของเธอ ในขณะที่เรากำลังจะขอความเห็นในการแนะนำตัวเธอผ่านบทบาท Algorithmic Composer หรือนักประพันธ์อัลกอริทึม โดยเธอมองว่าการวางเลเยอร์ของโครงสร้างเพลงในแต่ละบทนั้นไม่ต่างกับการเขียนอัลกอริทึม สองสิ่งนี้มีความเกี่ยวเนื่องกันอยู่นั่นคือเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างตัวเลข “เห็นได้ชัดจากพวก Percussions (เพอร์คัชชั่น) มันเป็นอัลกอริทึมอยู่แล้ว ตีห่างกันกี่วินาที แล้วก็มีอีกเครื่องดนตรีนึงตีห่างกันกี่วินาที ค่อยๆ เร็วขึ้น ช้าลง ทั้งหมดรวมกันหลายๆ เลเยอร์แล้วความรู้สึกมันเป็นยังไง มันเป็นความคิดที่เป็นตัวเลขมากๆ อีกมุมคือตัวโน้ตที่แตกต่างกันมันเป็นเรื่องของสัดส่วนของคลื่นเสียง ความถี่ของคลื่นเสียงทำให้เราได้ยินตัวโน้ตที่แตกต่างกันโด เร มี บางคลื่นเสียงนำความรวมกันแล้วเพราะ เราก็สร้างมันเป็นคอร์ด “เธอยกตัวอย่างเพลง Twinkle Twinkle Little Star ของโมสาร์ทที่มีถึง 12 รูปแบบ ที่อาจจะฟังรวมแล้วเหมือนกันแต่ข้างในมีแพทเทิร์นนั้นต่างกัน เธอกำลังนำพาให้เราเห็นพลังของแพทเทิร์นมากขึ้นเรื่อยๆ “สุดท้ายแล้วเรารู้สึกว่านักประพันธ์ทุกคนก็คิดถึงแพทเทิร์นใหญ่อยู่แล้วล่ะ” 

แพทเทิร์นของสิ่งรอบตัว

พอได้คุยกันไปทั้งในเรื่องของการสังเกตและนำสิ่งรอบตัวมานำเสนอผ่านวิชวลบวกความเหมือนกับนักประพันธ์เพลงในแง่ของการคิดจัดวางแพทเทิร์น ทำให้ชั่วขณะหนึ่งผมก็คิดถึง Ryūichi Sakamoto (ริวอิจิ ซาคาโมโตะ) ขึ้นมา นึกถึงตอนที่ริวอิจิเก็บเสียงเม็ดฝนที่กระทบถังพลาสติกที่บ้าน เก็บสุ้มเสียงต่างๆ บนท้องถนน เก็บเสียงน้ำไหลใต้ธารน้ำแข็งที่แอนตาร์กติกา นำมาเป็นวัตถุดิบทำเพลงแนวแอมเบียนต์ในอัลบั้ม Async เสียงธรรมชาติทั้งหลายที่ริวอิจิเก็บมาจริงๆ แล้วเป็นสิ่งที่ดำเนินไปเป็นวัฏจักรตลอด แต่บางครั้งเราอาจจะไม่ได้ทันรับรสของมัน คล้ายๆ การเลือกใช้สิ่งรอบตัวที่เกิดขึ้นตลอดในชีวิตประจำวันของนัน ที่เธอมองมันเป็นแพทเทิร์นและพยายามจะสื่อสารผ่านภาพและวิดีโอ ผมคัดงานบางส่วนที่จะช่วยสร้างความเข้าใจต่อประเด็นและแนวคิดที่นันต้องการจะบอกพวกเรา ก่อนจะไปยลกล้องรูเข็มดิจิตอลผลงานไฮไลท์ของเธอในบทความนี้

เริ่มที่ผลงานส่วนตัวอย่าง Study of Scale ที่พูดถึงเรื่องตารางเวลาในชีวิต งานนี้แสดงให้เห็นตั้งแต่หนึ่งนาทีในหนึ่งชั่วโมงหน้าตาเป็นยังไงจนไปถึงหนึ่งนาทีในหนึ่งเดือน ที่ส่วนของหนึ่งนาทีนั้นจะเล็กลงเรื่อยๆ จนแทบจะมองไม่เห็น นันต้องการจะสื่อถึงภาวะบางอย่างที่เรารู้สึกในหนึ่งนาทีที่ขณะนั้นอาจจะอยู่ในความกังวลหรือความสุข ที่มองห่างออกมาในสเกลหนึ่งนาทีในหนึ่งเดือนนั้นแทบจะไม่มีความสำคัญ ต่อมากับงาน 24 Hour Calendar หรือเรียกว่าปฏิทินแสง เป็นการถ่ายวิดีโอในห้องเพื่อดูแสงแดดที่เปลี่ยนไปในแต่ละชั่วโมง นันเล่าว่าเธอสนใจเพราะในช่วงกลางเดือนกันยายนจนถึงกลางเดือนตุลาคมอยู่ในฤดูใบไม้ร่วงที่แสงจะค่อยสว่างขึ้นช้าๆ ที่จะทำให้เห็นแพทเทิร์นของแสงชัดเจนมาก “เวลาเราใช้ชีวิตในแต่ละวันเราแค่รู้สึกแต่เราไม่ได้เห็น แต่พอเรารู้สึกอีกทีผ่านไปแล้วเดือนนึง เราก็เลยอยากให้เห็นแพทเทิร์นของการเปลี่ยนแปลงในแต่ละวัน”

งาน Tiny Movies ใช้เทคนิคการถ่ายทำมุมขนานกับพื้นโลก ชิ้นที่น่าสนใจมากๆ คือ Off-leash Hour ชื่อของงานมาจากช่วงเวลาที่คนสามารถนำสุนัขไปปล่อยให้วิ่งเล่นเองได้ในสวน งานนี้คนดูสามารถปฏิสัมพันธ์ได้โดยเลื่อนเคอร์เซอร์เพื่อซูมอินดูผู้คนและสุนัขที่วิ่งเล่นอยู่ได้” นันให้เราจินตนาการตามว่าหากเรายืนอยู่ในสนาม เราจะทำได้เพียงเฝ้าดูกิจกรรมผ่านเพียงบุคคลๆ หนึ่ง ซึ่งสิ่งที่เธอทำนั้นต้องการให้เราได้เห็นภาพใหญ่ของการเคลื่อนที่ของสิ่งมีชีวิตทั้งหมด นอกจากนี้งานในซีรีส์เดียวกันชื่อ Shadow Walk ที่แสดงให้เราเห็นเงาที่ยืดของผู้คนที่เดินผ่านทางลาด ที่นันตั้งใจเล่นกับการบีบอัดของเวลาแต่ภาพที่ปรากฏกับเป็นเงายืดของผู้คนที่สัญจรไปมา “แพทเทิร์นแบบนี้เราจะเห็นยากมากเพราะเรายืนติดกับเงาตัวเอง แต่ว่าด้วยมุมของกล้องมันเลยทำให้เห็นเงายืดแล้วก็หด ปกติเราจะเห็นอย่างนี้ในช่วงกลางวันกับช่วงเย็นไม่สามารถเห็นในเวลา 20 วินาทีแบบนี้ได้” โดยผมบอกกับเธอไปว่าในซีรีส์นี้ทำให้นึกถึงงาน Powers of Ten (1977) ของสองสามีภรรยาอีมส์เป็นอย่างมาก ซึ่งเจ้าตัวก็ชอบหนังสั้นเรื่องนี้เช่นกัน พร้อมเปรยไว้ว่าอนาคตอยากจะทำโปรเจกต์ที่เล่าเรื่องผ่านการซูมอินบ้าง

อีกหนึ่งงานที่อยากชวนดูคือ NQRW Trains at Times Square – 42 Street ตัวโปรดของนันในซีรีส์ En Route ระหว่างที่รอรถไฟใต้ดิน เธอตั้งกล้องถ่ายตั้งแต่ในจังหวะที่รถไฟกำลังจะเข้าชานชาลาจนวิ่งออกไปทั้งขบวน ซึ่งในเฟรมเดียวเราจะเห็นทั้งหมดสี่ชานชาลาด้วยกันจากใกล้สุดไปไกลสุด จับภาพโดยเทคนิค Slit-scan ภาพจะซ้อนกันเป็นเลเยอร์ ซึ่งเราจะได้เห็นความเล็กใหญ่ต่างกันทั้งของรถไฟและคน 

“แนวคิดหลักของเราคือการทำให้เห็นแพทเทิร์นใหญ่ๆ สิ่งที่มันเกิดขึ้นผ่านเวลา ผ่านพื้นที่ที่กว้างเกินกว่ามนุษย์คนเราจะสามารถรับรู้ได้ อย่างเช่นงานที่เป็นปฏิทิน เราไม่สามารถรู้สึกถึงสิ่งนั้นได้ด้วยประสาทสัมผัสที่เรามี หรืองานที่พระอาทิตย์ขึ้น เราไม่สามารถเห็นแพทเทิร์นอย่างนั้นในภาพเดียวได้ เราว่ามันเป็นการใช้อัลกอริทึมให้เห็นสิ่งใหม่ในสิ่งเดิม เราลงเดินบันไดและเห็นเงาตัวเองเหมือนเป็นการที่เราได้เห็นตัวเองในมุมที่ไม่ได้เห็นจากร่างกายของเราอย่างเดียว” นันตบท้ายให้เราเข้าใจว่าทุกงานของเธอนั้นเกี่ยวข้องกันในตัวเอง นั่นคือการพยายามเล่าสิ่งเดียวกันจากหลายๆ มุม

กล้องรูเข็มในศตวรรษที่ 21

“เราสนใจวิธีสร้างภาพใหม่ๆ สร้างกล้องของตัวเอง เริ่มจากการตั้งคำถามจากสิ่งที่ตัวเองนำเสนอ บางทีเขียนอัลกอริทึมมาก็ยังไม่แน่ใจถึงผลลัพธ์ ความสงสัยคือสิ่งที่ทำให้เราสนใจจะทำสิ่งนั้น” ความคิดที่เป็นสารตั้งต้นของการเริ่มโปรเจกต์ Generative Photography ที่นันได้สร้างกล้องรูเข็มด้วยอัลกอริทึม โดยภาพที่ถูกถ่ายสร้างขึ้นจาก Matchine Learning (แมชชีน เลิร์นนิ่ง) เท่ากับว่าในภาพเหล่านี้นั้นไม่มีคนจริงๆ อยู่เลย 

ก่อนหน้าที่จะเริ่ม นันได้ไปลงเรียนคลาส Analog Photography ที่ NYU เธอเล่าให้ฟังว่าได้เรียนตั้งแต่การฝึกพิมพ์ภาพแบบยังไม่มีฟิล์ม การถ่ายกล้องฟิล์มจนไปถึงทำกล้องของตัวเอง พร้อมกับเล่าสาเหตุที่เลือกเรียนวิชานี้ “เราว่ามันมีลิมิตของสื่อที่เป็นดิจิตอล และยังไม่มีสื่ออะไรที่อยู่ตรงกลางระหว่างสื่อดิจิตอลกับสื่ออนาล็อก มันมีลักษณะอะไรบางอย่างในอนาล็อกที่สามารถเอามาอยู่ในดิจิตอลได้ และมันก็มีความงดงามของดิจิตอลที่สามารถเข้าไปอยู่อนาล็อกได้” 

ระหว่างที่คุยกันไปนันเลื่อนสไลด์ไปถึงรูป View of the Boulevard du Temple ที่ถ่ายด้วยเทคนิค Daguerreotype เมื่อปี 1838 “ซึ่งพอเราเรียนรู้ถึงภาพถ่ายภาพแรกว่ามันถูกถ่ายด้วยระยะเวลาหลายชั่วโมงมาก ยิ่งทำให้เรารู้สึกว่ามันเป็นการย่นย่อเวลาอย่างหนึ่ง คือภาพถ่ายมันไม่ได้เป็นการจับภาพในชั่วเวลาแบบเดียวเท่านั้นมันสามารถเก็บความเป็นไปหรืออะไรหลายๆ อย่างได้อีกเยอะ” เธอกล่าวเทียบกับสิ่งในปัจจุบันที่เราชินกับความว่องไวในการโฟกัสและบันทึกผ่านเซ็นเซอร์ภายในชั่วพริบตา

เธอเลื่อนหน้ามาถึงคิวรูปใบไม้ที่ถ่ายด้วยเทคนิค Cyanotype ความประทับใจต่อเสน่ห์ของเนื้อภาพของยุคสมัยเมื่อเกือบสองร้อยปีที่แล้ว ทำให้เธอตัดสินใจสร้างกล้องรูเข็มขึ้นมาเป็นครั้งแรก “มันเป็นความไม่มีเลนส์ ความแบน แสงใสๆ ของสิ่งที่เราวางทับ หรือความพราวมันเป็นปฏิกิริยาทางเคมีแทนที่จะเป็นเซ็นเซอร์ของกล้อง”

นันเริ่มทำกล้องรูเข็มแบบจริงจังด้วยกล่องรองเท้า และพัฒนาใช้กล่องขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ จนมาจบที่กล่องทีวี เหตุที่ต้องใช้กล่องขนาดนี้เพราะว่าต้องการให้ใส่กระดาษไฟเบอร์ไซส์ใหญ่ที่สุดได้ เธอเล่าต่อว่าครั้งแรกที่ถือไปถ่ายนั้นไม่รู้ว่าจะต้องใช้เวลาเท่าไหร่ ภาพแรกที่นันเก็บมาได้คือบริเวณประติมากรรม Alamo ในนิวยอร์ก พร้อมเล่าประสบการณ์ให้เราฟังว่า “อันนี้เป็นภาพแรกที่ถ่ายด้วยกล้อง Pinhole (พินโฮล) ที่จริงคิวบ์นี้เป็นคิวบ์ที่ดังมากในนิวยอร์ก อยู่ใกล้ๆ ห้องมืดที่เราใช้ สมมติถ้าคนไปยืนรอบแล้วดันพร้อมกันมันหมุนได้ ซึ่งเราโชคดีมากในยี่สิบ สามสิบวินาทีที่เรายืนอยู่ตรงนั้นคนหมุนพอดี ก็เลยได้ภาพของคิวบ์จากมุมที่ต่างกัน” 

กล้องรูเข็มที่นันสร้างขึ้น 4 รูปแบบ

หลังจากได้ทดลองถ่ายด้วยกล้องรูเข็มแบบจริงๆ ไปแล้ว นักประพันธ์อัลกอริทึมของเราก็เริ่มคิดหาวิธีในการโค้ดชุดคำสั่งนี้ขึ้นมา ด้วยความเข้าใจการทำงานของกล้องรูเข็มในแบบของเธอเองและด้วยตัวเลขที่เธอคิดเอง ขั้นตอนต่อมาสิ่งจำเป็นที่สุดของการถ่ายภาพ ก็คือแสงนั่นเอง นันเลือกใช้ภาพที่สร้างขึ้นด้วยคอมพิวเตอร์ในการมาเป็นแหล่งกำเนิดของภาพ “คิดว่าจะใช้ภาพที่สร้างด้วยคอมพิวเตอร์ทั้งหมดที่ไม่ได้มีอยู่จริงเลย โดยตั้งคำถามว่าวิธีสุดล้ำนี้มันจะให้ได้ความรู้สึกที่เหมือนหรือต่างจากภาพธรรมดายังไง อันนี้เราทำกับยูกวาง จาง เพื่อนเราอีกคนที่ศึกษาด้าน Machine Learning (แมชชีน เลิร์นนิ่ง) เขาสร้างภาพจากวิดีโอการแสดงของ NUUM Collective ซึ่งภาพที่ออกมาไม่ใช่คนจริงนะแต่เป็นภาพที่คอมสร้างขึ้นมาให้เหมือนกับคน แล้วเราก็รันมันใน Pinhole Algorithm (พินโฮล อัลกอริทึม) ของเรา ซึ่งสุดท้าย มันก็ออกมาเป็นลักษณะคล้ายๆ กับภาพวาดมากกว่าอีก ทั้งที่จริงๆ มันเป็นกระบวนการทำภาพพิมพ์ทั้งหมด มันไม่ใช่การที่เราจุ่มสีแล้วเอามาวาด” นันอธิบายในเชิงหลักการต่อว่าเป็นการสร้างเลเยอร์วาดสีดำทับไปเรื่อยๆ ด้วยเปอร์เซ็นต์ความทึบที่ต่ำมาก  ซึ่งเธอบอกอีกว่าสามารถปรับความทึบให้เห็นชัดแค่ไหนก็ได้ด้วยการเปลี่ยนตัวเลข ทำให้สามารถใช้ได้กับวิดีโอที่ความยาวแตกต่างกันได้

นอกจากนี้ในส่วนของการพิมพ์ภาพก็เป็นสิ่งที่น่าสนใจไม่น้อยสำหรับนัน ภาพที่ถูกวาดโดยใช้ Machine Learning (แมชชีน เลิร์นนิ่ง) เมื่อนำมาทดลองพิมพ์ด้วยเทคนิค Gelatin Silver Print จะเป็นอย่างไร เนื่องจาก Silver Particle (สิ่งที่ทำให้กระดาษเปลี่ยนสีเวลาโดนแสง) ไม่ได้ทำปฏิกิริยากับแสงอย่างเป็นเส้นตรง “เวลาทำในคอมเราบอกมันให้วาดเลเยอร์ทับเลเยอร์ เราบอกมันว่าน้ำหนักของแต่ละเลเยอร์ควรจะต่างกันแค่ไหน  แต่ Silver Particle ที่อยู่บนกระดาษแต่ละเลเยอร์ไม่ได้สำคัญเท่ากัน เลเยอร์แรกอาจจะสำคัญกว่า แสงลงครั้งแรกปุ๊ปมันเห็นอะไรก่อนในเสี้ยววินาทีแรกทำให้สิ่งที่กระทบกระดาษก่อนเป็นสิ่งที่เห็นชัดที่สุด” ทั้งหมดเธอบอกว่าเป็นสิ่งจะต้องหาคำตอบเพิ่มเติมในอนาคต

และแล้วความตั้งใจทำโปรเจกต์นี้ก็ปรากฏ “เราอยากให้ภาพดิจิตอลมันไม่ติดอยู่กับแค่ว่าถ่ายและเป็นภาพ มันมีสองเรื่อง อันแรกเรื่องการย่นย่อของเวลาและการแคปเจอร์ความเป็นไปผ่านเวลาในหนึ่งเฟรม อันที่สองเราอยากให้มันมีวิชวลที่มันไม่เหมือนแค่ว่าถ่ายวิดีโอ เหมือนเป็นฟิลเตอร์ที่เราสร้างขึ้นมาด้วยความที่เราอยากให้มันเป็นแบบนั้น แทนที่จะแค่ใช้สิ่งที่มันมีอยู่แล้ว” 

สำหรับใครที่สนใจอยากจะติดตามผลงานอื่นๆ ของนัน สามารถไปตามกันต่อได้ที่ nuntinee.com หรืออินสตาแกรม nun.tinee เพราะอันที่จริงมีงานอีกหลายซีรีส์ที่น่าสนใจ ซึ่งผมคงเอามาเล่าได้ไม่หมดภายในบทความนี้ สำหรับโปรเจกต์งานภาพถ่ายในอนาคต เธอตั้งใจจะทำกล้องพาโนรามารูเข็มที่สามารถขยับถ่ายได้เอง ส่วนตัวยอมรับว่าน่าสนใจมากๆ ต่อมุมมองที่จะเกิดขึ้นใหม่และลักษณะภาพที่เราไม่เคยได้เห็นมาก่อน นอกจากการสร้างสรรค์ผลงานแล้วเธอกำลังได้สอนวิชา Seeing Patterns เป็นการสอนให้คนมองหาแพทเทิร์นรอบๆ ตัว “สำหรับเราการสอนคือการสร้างเครื่องมือไปผลิตสิ่งที่เราสนใจมากขึ้นไปเรื่อยๆ แล้วจะได้ดูว่าเขาจะเอาสิ่งนี้ไปประยุกต์กับอะไรมากขึ้น” เช่นเดียวกันกับผมที่บทสนทนาทั้งหมดนี้เหมือนการเข้าห้องเลคเชอร์ที่ออกมาพร้อมสายตาที่จับจ้องต่อสิ่งรอบตัวได้เปลี่ยนไป และก่อนจะลากันเธอยังไม่ลดความมุ่งมั่นในการชวนผู้เขียนและช่างภาพของเราไปสร้างกล้องด้วยกันที่นิวยอร์ก 

ผลงาน Generative Photography ได้จัดแสดงที่ Re-Fest CultureHub และ MLxArt ในรูปแบบของอินสตอลเลชั่น และที่ Processing Foundation Conference และ UW-Madison Art ในรูปแบบของ Artist Talk

พิสูจน์อักษร: ชลดา สวนประเสริฐ