brand logo

PHOTO | LIFE | INSPIRATION

Jul 2025

เต้ย-ณัฐวุฒิ เตจา
In My Place
เรื่อง : กษิดิ์เดช มาลีหอม
ภาพ : ธันวา ลุจินตานนท์
29 Jun 2022

หลายคนที่ติดตาม D1839 คงคุ้นและรู้จักเต้ย-ณัฐวุฒิ เตจา เป็นอย่างดี กับผลงานชุดภาพถ่าย ‘Live Through Something’ ที่เป็นการพูดถึงความรู้สึกการเป็นส่วนหนึ่งของเขาในเหตุการณ์การชุมนุมปี 2564 และเต้ยยังมีดีกรีเป็นเจ้าของรางวัลยอดเยี่ยมในรายการ Young Thai Award 2021 สาขาภาพถ่าย ในซีรีย์ 300 miles อีกด้วย 

เต้ยเริ่มชอบการถ่ายภาพตั้งตอนเรียนชั้นม.5 แต่ด้วยความที่ไม่รู้ว่ามหาวิทยาลัยมีคณะนี้ด้วยจึงไปเรียนสาขาเคมีที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีก่อนจะซิวไปเรียนถ่ายภาพที่คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในปีถัดมา ปีนี้เต้ยอายุครบ 25 ปีเต็มแล้วหลังจบมาได้สองปี 

มีสองสิ่งหลักๆ ที่ทำให้เราอยากหาโอกาสพูดคุยและถ่ายทอดมุมมองของเต้ยผ่านภาพถ่าย อย่างแรกสำหรับตัวเขานั้นการทำงานภาพถ่ายเสมือนเป็นการค้นหาความหมายและทำความเข้าใจต่อตนเอง อย่างที่สองบรรดาภาพวัตถุและสภาพแวดล้อมที่แลดูกระจัดกระจาย ไม่มั่นคงและถูกละเลย เขาสังเกตและร้อยเรียงมันเข้าด้วยกัน เหมือนสิ่งเหล่านั้นเป็นเสี้ยวหนึ่งในชีวิตของเขาได้อย่างงดงาม 

ในความคิดของผมนั้น หากจะทำความรู้จักชายคนนี้อย่างถ่องแท้แล้ว การหวนกลับไปพูดคุยกับเขาถึงงานที่เหมือนเป็นจุดเริ่มต้นอย่าง ‘In My Place’ เป็นสถานที่แรกที่เราควรจะเดินทางไป ว่ากันว่าผลงานชุดนี้ของเขานั้นมีความสำคัญมากทั้งในแง่การทดลองทำสิ่งใหม่และการต่อสู้กับอดีตของตนเอง งานชุด In My Place ถูกหยิบมานำเสนออีกครั้งในรูปแบบนิทรรศการที่ CTypeMag Gallery ตั้งแต่วันที่ 11 มิถุนายนที่ผ่านมา หลังจากได้เคยถูกนำเสนอในชื่อ ทุ่งกุลาร้องไห้ ใน Young Thai Award 2020

In My Place เป็นเรื่องราวในชีวิตส่วนตัวของเต้ยในบ้านเกิดที่อําเภอเกษตรวิสัย จังหวัดร้อยเอ็ด พื้นที่ที่อยู่ห่างจากอำเภอเมืองประมาณ 50 กิโลเมตรได้ ปี 2562 ที่เขาตัดสินใจเดินทางกลับบ้านหลังจากที่ห่างมาหลายปี เพื่อใช้บ้านเป็นวัตถุดิบในการทำโปรเจกต์จบในปีสุดท้ายของชีวิตมหาวิทยาลัย เขาพบว่าหลายๆ อย่างเปลี่ยนไป ความเจริญที่เข้ามาตั้งรกรากมากขึ้นจะสวนทางกับความรู้สึกของเขาในอดีตไหม นั่นคือสิ่งที่เขาเองก็อยากรู้

หนังสือภาพ Yangtze – The Long River ของ Nadav Kander คือหนึ่งในหนังสือที่ส่งต่อแรงบันดาลใจให้เต้ยทำโปรเจกต์กลับบ้านครั้งนี้ เต้ยเล่าให้ฟังว่าเขาหลงรักต่อการที่ช่างภาพถือกล้อง Medium Format เดินลัดเลาะไปตามแม่น้ำแยงซีเกียงและบันทึกภาพแลนด์สเคปในมุมที่แตกต่าง หาใช่ภาพวิวที่เขาคุ้นเคย หลังจากนั้นเต้ยจึงเริ่มศึกษาเทคนิคและการใช้อุปกรณ์ต่างๆ เพื่อนำมาต่อยอด ที่สำคัญประเด็นความเป็นคนนอกของพื้นที่ในหนังสือเล่มนี้ได้สะกิดใจอะไรบางอย่างในตัวของเต้ยเอง

ในส่วนของการจัดแสดงนิทรรศการเขาได้ลงมือทำด้วยตัวเองทั้งหมดมีอย่างเดียวที่ไม่ได้ทำคือการโปรโมตงาน การจัดแสดงด้วยอยู่ภายใต้คอนเซ็ปต์ที่ว่า การกลับไปมองสิ่งเก่าด้วยสายตาใหม่ เขาจึงเลือกใช้วัสดุที่มีความเก่าอย่างกรอบรูปวินเทจ เพื่อสื่อสารความต้องการนั้นออกมา ในส่วนของการจัดเรียงเขาต้องการให้มันดูมีความเป็นบ้าน ซึ่งการเลือกวางตำแหน่งของภาพก็จะใกล้เคียงกับที่บ้านหรือบ้านญาติที่เต้ยได้ไปถ่ายมาและยังมีการค้นคว้าเพิ่มเติมด้วย เพื่อให้สมจริงที่สุด สำหรับผมในระยะห่างที่เต้ยมีต่อบ้านยังมีความอบอุ่นให้แก่เราในฐานะผู้ชมได้พักอิงอยู่บ้าง นี่อาจเป็นสารสำคัญที่เต้ยอยากจะบอก

วันอาทิตย์ที่ผ่านมาเราถือโอกาสนัดเต้ยที่ CTypeMag Gallery เพื่อถามไถ่สารทุกข์สุกดิบและสนทนากันในเรื่องราวที่เขาเก็บไว้ข้างหลัง โดยมีฉากภาพประกอบเป็นบรรดากรอบรูปน้อยใหญ่เฝ้ามองพวกเราคุยกันผ่านแสงสะท้อนของแดดยามบ่าย

จุดเริ่มต้นของโปรเจกต์ In My Place เกิดขึ้นได้อย่างไร

จริงๆ ตอนเรียนเราถนัดถ่ายพวกโปรดักส์ พวกไลต์ติ้งในสตูดิโอ อาจารย์ก็เชียร์มากๆ ให้ทำอันที่ถนัดต่อ แล้วโปรเจกต์ In My Place มันเริ่มมาจากเราเข้าห้องสมุดตอนปีสาม เราได้ไปทำงานห้องสมุด เราก็เห็นหนังสือภาพที่มันเป็นพวกภาพแลนด์สเคปหรือเป็นภาพที่ไม่ได้อยู่ในสตูดิโอ อยู่ข้างนอก ไม่ใช่ภาพคน ก็เลยสนใจ เปิดดูหลายๆ เล่ม แล้วก็ได้ศึกษาวิธีการถ่ายเทคนิค การเรียงรูป การทำเป็นหนังสือ จริงๆ อาจารย์ก็ยังไม่ได้เชื่อขนาดนั้นว่าเราจะทำได้ เพราะว่ามันน่าจะเป็นงานแรกๆ ที่เราทำออกมาในสไตล์นี้ ก็เลยลองไปถ่ายดู อาจารย์ก็โอเคให้ทำต่อ 

ระยะเวลาทั้งหมดที่ไปถ่าย ใช้เวลานานไหม

ธีสิสมันมีกระบวนการของมันประมาณหนึ่งปี ไปๆ กลับๆ แต่ละครั้งระยะเวลาไม่เท่ากันมีหนึ่งอาทิตย์สองอาทิตย์ บางทีเป็นเดือนก็มี มีรอบที่กลับไปน้ำท่วมก็ติดอยู่บ้านเป็นเดือนเลย ก็เก็บแคปเจอร์รูปตอนน้ำท่วมและพอหลังน้ำท่วมก็กลับไปอีกรอบหนึ่ง 

พ่อกับแม่ว่าอย่างไรบ้างตอนที่จะออกไปเรียนถ่ายภาพที่มช.

เขาไม่ยากแต่เรายาก เราเรียนสายวิทย์มา จริงๆ เรียนที่บางมดมาปีนึง แล้วเราก็ซิวไปมช. ตอนนั้นยากมากแต่ว่าดีอย่างนึงที่บ้านเราเขามีความไม่ค่อยอะไร ค่อนข้างที่จะเชื่อใจ เราทำไรเราจะบอกเขา คือเขาง่ายมากตอนซิว แต่เป็นเราเองที่ร้องไห้ คือกลัวหลายๆ อย่าง 

กลัวอะไร

ตอนนั้นรู้สึกว่ากลัวทำออกมาได้ไม่ดี เพราะเราไม่ค่อยชินกับการทำอะไรแล้วมันเฟล หรือมันออกมาไม่เนี้ยบ มันก็เลยรู้สึกว่ามันลดไม่ได้ ถ้าทำอะไรมันต้องทำให้จบ ถ้าคิดว่าทำแล้วไม่ถึงจะไม่ทำ จะรอก่อน ถ้าคิดว่าทำได้ต้องเกิน 70-80 เปอร์เซ็นต์ จะทำกับทุกอย่าง เรารู้สึกว่าเราเป็นคนที่พลาดไม่ได้เพราะพลาดแล้วจะมันจะขึ้นยาก ในเชิงต้นทุนหรือในข้างในนี้ (เต้ยชี้ที่หน้าอกของเขา)

ทำไมถึงเลือกกลับไปที่บ้าน

ตั้งแต่เด็กๆ เรารู้สึกว่าไม่ค่อยชอบอะไรเกี่ยวกับบ้านของตัวเอง ทั้งผู้คน วัฒนธรรม รวมถึงอาหาร เรารู้สึกว่าถ้าได้ออกไปไหนสักที่ จะรีบออกไปให้ได้เร็วที่สุดเลย พอเราไปเรียนเรารู้อะไรเยอะขึ้น การที่เราไม่ชอบมัน เราไม่ชอบเพราะอะไร มันก็เลยเป็นจุดเริ่มต้นที่เราเอาสไตล์งานที่แบบเราอยากทดลองทำ ที่เราดูหนังสือมาจากห้องสมุด มาบวกกับการที่เราอยากจะกลับไปสำรวจบ้านตัวเองอีกรอบนึงว่าเรายังจะคิดเหมือนเดิมอยู่ไหม

เรื่องไหนที่มันรู้สึกฝังใจที่ไม่ชอบจริงๆ

เอ่อ… โรงเรียน เราไม่ชอบโรงเรียนมากๆ แต่มันก็จะมีแค่จุดจุดเดียวที่เราอยู่โรงเรียนแล้วเราคอมฟอร์ทที่สุดก็คือห้องชมรมดนตรีไทย เราอยู่ชมรมดนตรีไทย แล้วตอนกลับไปเราก็ไปตามเก็บโรงเรียน สุดท้ายตอนเลือกงาน เลือกมาแค่รูปห้องดนตรีไทย เพราะเรารู้สึกว่าเราอยากเก็บรูปที่เหลือไว้พื้นที่ส่วนตัวดีกว่า 

ทั้งหมดทั้งมวลมันเกิดขึ้นตอนช่วงม.ปลายใช่ไหม 

ใช่ๆ ช่วงม.ปลายจะรู้สึกว่ามันจะเริ่มชัดเจนมากที่สุด คือตอนแรกก็มีความรู้สึกมาเรื่อยๆ คือยังไม่รู้ว่ามันเป็นอะไรเพราะอะไร แต่พอขึ้นม.ปลาย ก็เออรู้แล้วว่าเราไม่ค่อยชอบมัน ตัวเราจะอยู่ในหมู่บ้านอีกทีนึง โรงเรียนจะอยู่ในอำเภอแล้วพวกพื้นที่สาธารณะต่างๆ ส่วนใหญ่จะอยู่ในตัวจังหวัด มันก็จะมีความรู้สึกว่ามันทำให้เราพลาดหรือขาดอะไรไปจากการที่อยู่ตรงนี้ (เต้ยหมายถึงบ้าน) ส่วนอาหารมันไม่ชอบตั้งแต่ตอนเด็กๆ แล้ว เราอยู่กับยาย ยายก็ชอบให้กินพวกแจ่วน้ำพริกอะไรแบบนี้ เมื่อก่อนไม่ชอบ 

แล้วตอนนี้

ตอนนี้ชอบมากๆ  เพราะอะไรก็ไม่รู้ รู้สึกว่าพอเราโตขึ้นแล้วความเป็นอีสานมันมีความเท่ 

คือเมื่อก่อนไม่ชอบคำว่าอีสานเลยเหรอ 

เอ่อ…ไม่ชอบรถแห่ ไม่ชอบอะไรแบบนี้ ไม่ชอบเด็กแว้น แต่ทุกวันนี้มันก็เท่ดีนะ 

เหมือนว่าที่พูดมามีแต่สิ่งที่ไม่ชอบ แล้วสิ่งที่เราชอบที่เราอยากเจอคืออะไรในตอนนั้น 

มันเป็นแบบที่ที่มีผู้คนเยอะๆ มีอะไรสนุกๆ ให้ทำ มีโรงหนัง มีที่ให้ไปนู่นไปนี่เหมือนวัยรุ่นที่นี่ (กรุงเทพฯ) เขามีกัน 

ซึ่งตัวอำเภอเมืองก็ไม่มีอะไรเหมือนกันใช่ไหม

มีแต่ตลาดนัด ก็คือเวลาจะไปเที่ยวตลาดนัด มันจะมีทุกสัปดาห์ สัปดาห์ละวัน เราก็จะไปนัดเจอกันที่นั่นแหละ เหมือนไปเที่ยวไม่มีไร รูปที่มีสไลเดอร์สีฟ้าๆ อันนั้นถ่ายที่ตลาดนัดเหมือนกัน

จุดไหนที่ทำให้เรากล้าเปิดใจให้ตัวเองได้กลับบ้านอีกครั้ง

มันมีวิชานึงตอนปีสามที่ให้ถ่ายอะไรก็ได้ไม่จำกัดเทคนิค แต่ว่าเขาจะเน้นพวกแนวคิด ก็เลยไปเจองานๆ นึงที่เขากลับไปหาครอบครัว โดยมีคนที่บ้านเป็นอัลไซเมอร์ วันนั้นเรากลับมาห้องแล้วเราก็กลับมาหาว่ามีอะไรอยู่บ้างที่เป็นของที่มาจากบ้าน แล้วเราก็เอาพวกผ้าห่ม เสื้อ และของหลายๆ อย่างที่พ่อแม่เอามาให้หลายๆ อย่างมาถ่าย พอถ่ายเสร็จปุ๊ปแล้วมันเริ่มคิดถึงบ้าน จำได้ตอนปีสามเทอมสอง พอขึ้นมาปีสี่ก็เลยจะทำอะไรสักอย่างเกี่ยวกับบ้าน 

ความคิดถึงบ้านที่บอกเมื่อกี้เราเห็นอะไรแล้วเราคิดถึงนะ

คิดถึงพวกของในบ้าน พอเราไปดูงานคนที่เขาถ่ายบ้านเขาแล้วดูภูมิใจที่จะเล่า ที่จะให้คนเห็นบ้านตัวเอง เราก็เริ่มรู้สึกว่าเราอยากถ่ายบ้านตัวเองดูนะ ตอนนั้นก็ยังไม่รู้ว่าเรากลับไปเราจะรู้สึกแบบไหน แบบเดิมไหม ก็อยากลอง

คำว่า ‘บ้าน’ หมายถึงว่า เป็นบ้านที่เราอยู่จริงๆ หรือจังหวัดนั้น อำเภอนั้น

ตอนนั้นคือรู้สึกว่าเป็นบ้านที่เราอยู่จริงๆ เป็นหลัง 

ตอนเข้าไปถ่ายครั้งแรกมันมีความรู้สึกเหมือนว่าเราไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งกับพื้นที่นั้นอยู่ไหม เหมือนที่ตอนเราอยากออกมา 

มีๆ ตอนเราไปครั้งแรกๆ ยังไม่กล้าถ่ายรูปบ้านตัวเอง ก็เลยเป็นรูปข้างนอกบริเวณรอบๆ เราก็เลยไปปรึกษาอาจารย์ว่าจะถ่ายแบบการเปลี่ยนแปลงของที่บ้านดีไหม เพราะยังไม่กล้าถ่ายบ้านตัวเองเท่าไหร่ที่นี้พอเราปรึกษาอาจารย์ไปสักสองสัปดาห์สามสัปดาห์ ก็มีพี่บอล พี่ผ้าป่าน พี่หมิง เขาไปทำเวิร์คช็อปที่คณะที่เชียงใหม่ ก็เลยเจอเขา เขาก็เลยคอมเมนต์กัน สุดท้ายมันก็ได้คอมเมนต์รวมๆ มาตกตะกอนกับตัวเองว่า จริงๆ เราอยากกลับบ้านเพื่อจะไปมองมันด้วยสายตาใหม่ที่เราได้รับรู้อะไรมากขึ้น มันก็เลยเป็นการค่อยๆ ขยับจากพื้นที่เข้าไปที่บ้านแบบเอาเท่าที่ไหว 

ระหว่างทางที่ทำโปรเจกต์ เราได้ตกตะกอนในเรื่องไหนไหม

เรารู้สึกว่าระหว่างทางเราได้อยู่กับที่บ้านเยอะขึ้น อยู่กับคนที่บ้าน อยู่จริงๆ เป็นสัปดาห์เป็นเดือน แล้วบางครั้งที่กลับไปเกือบจะไม่ได้ออกไปถ่ายเลยก็มีเพราะว่าเราได้อยู่บ้าน 

โมเมนต์ที่บอกว่าเราอยู่ที่นี่ได้แล้วมันมาตอนไหน

รู้สึกว่ามันเกิดจากการที่เรายอมรับตัวเองมากกว่า คนอื่นเขาไม่ได้มาอะไรกับเราเลย แค่ตอนนั้นเรารู้สึกอะไรของเราเอง แล้วเราอยากจัดการความรู้สึกนี้ พอได้กลับไปอีกครั้งนึงแล้วได้เจอผู้คน เจอสถานที่ เจออะไร มันไม่ได้มีอะไรที่แย่ มันมีแค่ความรู้สึกเราตอนนั้นที่มันแย่ไปเอง 

ตอนที่กลับไปถ่าย คนแถวบ้านเราจำเราได้ไหม

ผมว่าเขาจำเราได้ เขาคุยกับเราเหมือนเดิมแต่ว่าเราเองแหละที่ไม่ชินกับเขา 

ซึ่งตอนนี้ชินยัง

ก็ยังไม่ชิน คือบทสรุปของโปรเจกต์มันคือการถามตัวเองว่าผมอยู่ได้ไหม ก็อยู่ได้ แต่ถามว่าอยู่ไหม ก็ยังไม่อยู่ 

จุดประสงค์เราไม่ได้ต้องการกลับไปผูกติดกับมันให้แนบแน่น เราแค่อยากรู้ว่าเข้าใกล้ที่สุดได้แค่ไหนใช่ไหม

เราแค่อยากรู้ความรู้สึกตัวเองให้มันชัดขึ้น ว่ามันเป็นเพราะอะไรเมื่อก่อนกับตอนนี้มันต่างกันยังไง ทำไมถึงรู้สึกต่างกัน

จริงทุกอย่างมันก็ยังเหมือนเดิมอยู่ แต่เป็นตัวเราเองที่มองมันต่างไป

ใช่ครับ เหมือนเราเข้าใจมันมากขึ้น เข้าใจพื้นที่ เข้าใจผู้คน เข้าใจวัฒนธรรม เราเข้าใจว่าเด็กแว้นเกิดขึ้นมาได้อย่างไร อาหารมันเป็นยังไง ทำไมผู้คนถึงเป็นแบบนี้ มันเป็นการเข้าใจพื้นที่มากขึ้น 

ก็คือเข้าใจว่าสิ่งที่มันเกิดขึ้นมันไม่ได้เกิดขึ้นแบบเฉยๆ 

ใช่ๆ ทุกอย่างมันมีเหตุผล 

“บ้าน บางทีมันอาจจะไม่ใช่แค่คำ แต่เป็นตัวตนที่เราแบกไว้อยู่ตลอด” เต้ยคิดอย่างไรกับประโยคนี้

รู้สึกว่าบ้านมันคือข้างในมันไม่ใช่แค่สถานที่มันคือสิ่งที่เราแบกไปด้วยมันคือตัวตนของเรา 

แสดงว่าบางครั้งที่เราอยู่เชียงใหม่เราก็เห็นตัวเองในมุมของนิสัยที่มาจากที่โน่น 

คือมันเป็นบางอย่างที่เราทำไปเชื่อมต่อกันโดยที่เราไม่รู้ตัว อย่างอยู่ดีๆ เราก็ไปซื้อเสื้อที่มารู้ที่หลังว่ามันเหมือนเสื้อของพ่อในรูป มันก็จะมีความเชื่อมโยงในแบบนี้ ที่เราก็คอยค้นหาอยู่เรื่อยๆ 

มุมมองที่มันเกิดขึ้นในงาน In My Place มันสามารถนำไปต่อยอดงานตัวอื่นของเรายังไงบ้าง 

In My Place เป็นการทดลองอะไรๆ หลายๆ อย่าง ทดลองการทำความเข้าใจในตนเอง ทดลองเทคนิค ทดลองการทำงานโปรเจกต์ระยะยาวหรือโปรเจกต์ส่วนตัว เรารู้สึกว่ามันจะมาช่วยงานเราในอนาคตได้ทั้งในเชิงเทคนิคและวิธีคิด 

คิดว่าการถ่ายภาพเพื่อเข้าใจตัวเอง มันสำคัญยังไงบ้างกับการเป็นศิลปินภาพถ่าย

ส่วนตัวเราเริ่มสังเกตว่าหลายๆ คนทำงานเริ่มจากตัวเองก่อน อย่างเราเหมือนตอนแรกที่บอกไปอยากทำเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ แต่พอกลับไปเราไม่รู้จักพื้นที่นั้นเลยจะไปทำได้อย่างไร ก็เลยต้องย้อนกลับมาทำความเข้าใจในตัวเองก่อนที่ไปทำความเข้าใจอย่างอื่น

งาน In My Place กับ Live Through Something มีความเชื่อมโยงกันตรงไหนไหม ในเชิงของตัวตนเรา 

เวลาเราถ่ายงานเราไม่ได้ถ่ายแค่แอคชั่น เราชอบถ่ายสิ่งของเล็กๆ น้อยๆ เราชอบถ่ายพื้นที่ ผู้คน เราชอบถ่ายอะไรที่มีความเชื่อมโยงกับความเป็นอีสานต่อตัวเอง เราจะถ่ายพวกอาหารอีสานเยอะมาก ซอยจุ๊ ส้มตำ ไก่ย่าง หรือถ่ายคนขาย อย่างลุงแก่ๆ ที่เคยบุหรี่ เพราะเราสูบบุหรี่ มันจะมีความรู้สึกแบบเราถ่ายสิ่งที่เราอยากเข้าใจหรือถ่ายสิ่งที่เราเป็นส่วนหนึ่งในนั้น 

อนาคตยังคงการเล่าเรื่องในการเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่อยู่ไหม หรืออยากลองพัฒนาคอนเซ็ปต์ไปในทิศทางอื่นไหม

จริงๆ งาน In My Place ก็อยากทำต่ออยากถ่ายคน อยากท้าทายตัวเอง อยากเข้าใกล้ เข้าไปอีกเพราะเรารู้สึกว่า เราไม่ค่อยได้เชื่อมต่อกับผู้คนเท่าไหร่ ก็อยากจะลองเหมือนกันว่ามันจะไปได้ไกลถึงไหน ส่วนคอนเซ็ปต์งานในอนาคตก็อยากทำงานในพื้นที่อยู่ แต่อยากจะขยับไปในพื้นที่ของคนอื่น มันก็เริ่มจากถ่ายม๊อบเนี่ยแหละก็ก่ำกึ่งอยู่ระหว่างการที่ถ่ายสิ่งที่เรารู้จักแต่ถ่ายคนอื่น รู้สึกว่าอยากให้มันค่อยๆ ขยับไปมากกว่า 

In My Place ในนัยยะหนึ่งมันก็คล้ายหนัง Coming of Age ที่พาเราไปใช้ชีวิตร่วมกับตัวละคร เฝ้าดูเขาหรือเธอเดินทางในชีวิตจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง ที่หลายๆ เรื่องราวไม่ได้ปรากฏจุดจบพร้อมความสุขหรือทิ้งท้ายด้วยรอยยิ้มสักเท่าไหร่ แต่เพียงแค่พาเราสำรวจจิตใจของมนุษย์ผ่านการกระทำในระหว่างทางเสียมากกว่า เช่นเดียวกับงานของเต้ยในซีรีย์นี้ที่ปรากฏได้อย่างชัดแจ้งในการทำความเข้าใจ ‘บ้าน’ ต่อตัวเองในอดีตที่มองด้วยสายตาปัจจุบัน บ้านของเขานั้นจะเปลี่ยนไปอย่างไร และความรู้สึกที่เคยรู้สึกจะยังคงอยู่หรือเสื่อมสลายหายไป เป็นคำตอบที่เขาต้องค้นหาให้กับตัวเองอีกต่อไป

พิสูจน์อักษร : ชลดา สวนประเสริฐ