ทุกครั้งที่เราเห็นงานภาพถ่ายคนใส่ชุดไทยโบราณถูกตัดแปะด้วยดอกบัวหรือวัตถุทางความเชื่อต่างๆ เรามักจะนึกถึงศิลปินคนนึง คือ ปูนปั้น กมลลักษณ์ สุขชัย อยู่เสมอ ด้วยเรื่องราวที่เธอสนใจนั้นค่อนข้างที่จะแตกต่างจากช่างภาพไทยคนอื่นรวมไปถึงวิธีการเล่าเรื่องและแสดงออกผ่านงานภาพถ่ายของเธอนั้นก็เรียกได้ว่าโดดเด่นและน่าจำ
เล่าก่อนว่าในวันเปิดตัวงาน Blue Fantasy เราก็ได้มาด้วยเช่นกัน พอเดินเข้าไปในงานตอนที่แขกยังมาไม่ถึงเรามีอาการช็อคและฉงนงงงวยไม่น้อยกับงานของเธอ เราเลยเดินไปหาปูนปั้นแล้วบอกว่าช่วยอธิบายงานให้เราฟังหน่อยโดยในลูกทัวร์ของเธอตอนนั้นก็มีเรา หมิง – กันต์รพี, รวงข้าว – ภรินทร์ลดา, หลิน – รินรดา และตั้ง – ตะวันวาด แก๊งเพื่อนของเธอเดินไปด้วยกัน ในขณะเดียวกันภัณฑารักษ์ประจำงานนี้คือ ผ้าป่าน – สิริมา ก็แอบเดินอยู่ใกล้ๆ และคอยช่วยเหลืออยู่
ในวันนั้นที่ปูนปั้นได้ทำงาน Red Lotus สู่วันนี้กับงาน Blue Fantasy นิทรรศการเดี่ยวของเธอนั้นมีการเติบโตทางความคิด ความเฉียบคมและการเปลี่ยนแปลงของตัวตนของเธอไปอย่างไร ด้วยความอยากรู้อยากเห็นของเราเองเลยชักชวนเธอมาพูดคุยกัน
การเติบโตของชิ้นงานและศิลปิน
วันนี้เรานัดกับปูนปั้นมาที่งานของเธออีกครั้งหนึ่งก่อนจะนั่งลงพูดคุยกัน เรามีคำถามแรกหลังจากที่ได้เดินดูงานของเธอตั้งแต่วันเปิดและอยากรู้มากๆ ว่าระหว่างงานนี้กับงานก่อนหน้านั้นมันแตกต่างยังไงบ้างสำหรับเธอ
“สำหรับเราคือต่างกันทุกมิติ หนึ่งคือด้วยเวลาคือเราอายุเท่านั้นกับเราอายุช่วงนี้ห่างกันสามสี่ปีมันมีระยะเวลาทำให้คนเราเปลี่ยนกลายเป็นอีกคนนึงเลย เรารู้สึกว่าเราเปลี่ยนทุกสองปีนี่คือตั้งสี่ปี (จากงานก่อน) มันไม่ได้หมายความว่าตอนก่อนเราเป็นเด็กแล้วตอนนี้เราโตขึ้นนะ แต่มันผ่านช่วงเวลาแล้วทำให้เรามองโลกอีกแบบนึงที่ไม่เหมือนเมื่อสี่ปีที่แล้ว
“มันมีช่วงนึงที่เราทำงานต่อไม่ได้ เพราะมันติดที่ Red Lotus มันติดอยู่กับการคาดหวังบางอย่างที่เราเอง ไม่รู้คนอื่นคาดหวังมั้ยแต่เราถามกับตัวเองว่า เห้ยมันจะดีขึ้นมั้ยงานต่อไปจะดีเท่าที่งานนี้ทำได้มั้ย พอจุดนึงเราไปอ่านหนังสือแล้วก็มีเวลาที่เรารู้สึกว่างาน Red Lotus มันมีชีวิตของมันโดยที่เราไม่ได้เป็นเจ้าของ เราไม่ใช่แม่ที่ให้กำเนิดงาน เราเป็นแค่คนทำ แล้วมันได้เดินทางไปในทางที่เหมือนแบบเหมือนงานมันเติบโตไปในทางที่มันควรจะเป็นเราควรแยกตัวเองออกมาโดยที่ไม่ไปยึดกับสิ่งนั้น เราจัดการตัวเองได้และลอยตัวแล้วกับเรื่องนี้
“เราก็รู้ว่าเป็นไปไม่ได้หรอกที่คนเขาจะไม่กลับไปดูงานเก่าเรา แล้วเกิดการเปรียบเทียบว่าชอบอันเก่ามากกว่า เราก็ไม่ได้เสียใจถ้าเป็นอย่างนั้นนะเพราะงานนั้นมันก็โตไปในทางที่คนส่วนนึงชอบ อีกงานนึงก็โตไปในอีกทางนึงได้เหมือนกัน”
พอเป็นแบบที่เธอเล่าให้เราฟัง เราก็เห็นความปลอดโปร่งในตัวเธออยู่ไม่น้อย ปูนปั้น ดูปลดล็อกอะไรบางอย่างในตัวเองได้และเธอก็มั่นใจกับเรื่องดังกล่าว
“ตอนที่เราจะคิดงานใหม่มันก็เลยโฟลว์ขึ้น เรารู้สึกเหมือนเราได้ทำเรื่องนี้เราโอเคแล้ว ก็ไม่ได้คิดว่าถ้าไม่ได้ทำเรื่องคล้ายๆ กัน เรื่องที่สืบเนื่องกัน มันจะดูมีความเป็นเราอยู่มั้ยแล้วมันหนักหัวเกินทั้งๆ ที่คนเราอะสมองสองข้างบางทีมันคิดคนละอย่างอะ มันก็เป็นไปไม่ได้ที่เราจะคิดแค่มุมเดียวเรื่องเดียวตลอดไป เราก็เลยขยับมาทำในเรื่องอีกเรื่องนึงที่คล้ายกันแต่เราก็สนใจ ได้ทำอะไรที่ใหม่ขึ้นและมันก็อาจจะเหมือนพัฒนาจากอันเก่า”
Why Blue, Why Fantasy
“Blue Fantasy เกิดมาจากว่าพี่ผ้าป่านบอกว่าจะมีนิทรรศการที่ HOP แล้วชวนเรามาทำ” ปูนปั้นตอบออกมาทันควันก่อนหัวเราะใส่
เราก็สงสัยอีกนั่นแหละกับชื่องานก่อนจะอ๋อเมื่อดูจบว่ามันหมายความว่าอะไร และการสอดแทรกกรอบรูปที่มีรูปสีน้ำเงินประกอบในงานนั้นคือคำตอบที่อยากรู้คุณคงต้องลองถามปูนปั้นดูเอง
แต่จุดมุ่งหมายของงานนี้เกิดจากอะไรและปลดล็อกอะไรให้กับชีวิตของเธอได้บ้างนั้น เธอกำลังจะเล่าให้เราฟังแบบยาวๆ
“เป็นจุดเริ่มต้นจุดหนึ่งเลยที่ทำให้เราพร้อมออกจาก Red Lotus แล้วออกมาสู่สิ่งอื่น เพราะช่วงสองปีก่อนหน้านี้เราก็ไปขายเคสมือถือมงคลซึ่งตอนนี้เราก็ไม่ทำแล้ว ทำให้เรารู้สึกว่าสิ่งที่เราอยากทำมันยิ่งไกลออกไปเรื่อยๆ พี่ผ้าป่านก็โทรมาชวนพอดีซึ่งช่วงนั้นเราก็ได้ทดลองทำพวกศิลปะบางอย่างกับโปสเตอร์หนังพี่เจ้ยด้วย มันเลยต่อเนื่องกันมาจากงานนั้นประมาณนี้
“เราเป็นคนชอบประวัติศาสตร์ ไม่ได้เป็นนักวิชาการประวัติศาสตร์แต่เป็นคนธรรมดาที่ชอบประวัติศาสตร์ เราอ่านอยู่แล้วและเราก็อินกับความรู้สึกร่วมของคนในช่วงนี้กับสถานการณ์บ้านเมืองที่เกิดขึ้นมากๆ มันเลยเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เราเล่าเรื่องในเวย์นี้ที่เป็นเรื่องที่พูดถึงรัฐบาลและสถาบัน
“ส่วนของพงศาวดารนั้นเหมือนกับตำนาน เป็นวรรณกรรมคนละแบบกับประวัติศาสตร์ที่เป็นการสืบสวนสอบสวนแล้วมันไม่ได้เล่าเชิงวิทยาศาสตร์ขนาดนั้น แต่มันเล่าในแง่ของครอบครัวครอบครัวหนึ่งอวตารที่เหมือนสมมติเทพที่อวตารลงมา สองสิ่งนี้เลยเป็น source ที่ดีที่เราเอาเรื่องราวมาทำต่อ
“พระเจ้าปทุมสุริยวงศ์ เป็นพงศาวดารเรื่องแรกที่เราอ่าน แล้วโชคดีที่ชอบเลยเรื่องราวมีความเชื่อมโยงกับดอกบัวซึ่งเราก็อินกับความหมายของดอกบัวอยู่แล้ว ยิ่งพอไปรีเสิร์ชต่อก็ได้เห็นว่ามันลึกกว่านั้น
“เราสงสัยว่าทำไมพงศาวดารของเรื่องนี้ต้องมีวงเล็บไว้ว่าเป็นพงศาวดารเขมร ทำไมต้องมีกษัตริย์ชาวเขมรในคำให้การชาวกรุงเก่าของอยุธยานะ ซึ่งกลายเป็นว่าในการที่จะเถลิงอำนาจของกษัตริย์อยุธยา เขาจะเชื่อมโยงตัวเองกับกษัตริย์เขมร เราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าในยุคก่อนคือพื้นที่ความเป็นเขมรมันยิ่งใหญ่มาก กษัตริย์เราก็พูดภาษาเขมรเป็นราชาศัพท์ อันนี้เราก็ตอบไม่ได้หรอกว่ามันอาจจะมีการเปลี่ยนผ่านอำนาจ โดยที่อาจจะมีคนกลุ่มหนึ่งที่มีความเป็นเขมรแล้วก็มีฝั่งที่อาจจะเรียกว่ากลุ่มคนที่ใช้ภาษาไทยมาเทคโอเวอร์
“ซึ่งเรื่องแบบนี้สำหรับเรามันเป็นความแฟนตาซี ไม่ใช่แฟนตาซีแบบภาพที่เป็นหนังแฟนซีเป็น มันแฟนตาซีเหมือนเวลาเราอธิบายหนังโป๊ คือมันเป็นแฟนซีของใครคนใดคนหนึ่งที่สร้างมาเพื่อตอบสนองความปรารถนาของมนุษย์เพื่อที่จะทำอะไรสักอย่าง
“เรื่องพระเจ้าปทุมสุริยวงศ์ก็เหมาะสุดเพราะ หนึ่ง ไม่รู้เป็นใครกันแน่เพราะบอกไม่ได้ว่ามาจากไหน เนื้อเรื่องก็ดูหาความเป็นจริงยาก แต่ก็ถูกเชื่อว่าเป็นจุดเริ่มต้นซึ่งไอเดียนี้รัชกาลที่หนึ่งก็ใช้เหมือนกัน ในแง่ที่การเชื่อมโยงตัวเองกับอำนาจอย่างเขมรเพราะเขาเองก็แบบเป็นคนธรรมดาที่ปราบดาภิเษกเข้ามาเหมือนกัน เพราะเรารู้สึกว่าเป็นเทพอยู่แล้วหรือคนธรรมดาอยู่แล้วแต่เพราะว่าการเป็นเทพแบบนี้คือการทำพิธีการบางอย่างให้คนเป็นเทพเหมือนกัน แต่ถึงจะมีวิธีการเรียกที่ต่างกันแต่ก็คือการนำคนขึ้นเป็นเทพเหมือนกันด้วยความแฟนซี”
เราอาจจะสปอยล์ก่อนสักนิดหลังจากที่ปูนปั้นเล่าจบเผื่อผู้อ่านยังไม่เห็นว่าภาพของสีน้ำเงินนั้นคือสัญลักษณ์ของอะไร คำใบ้คือธงชาติ
In Family Pun Trust
ตัวแสดงและแบบของปูนปั้นนั้นเธอหยิบเอาครอบครัวของเธอเองเข้ามาสวมหมวกตัวแสดงในเรื่องราวที่เธอได้แต่งขึ้นมา เพราะตัวเธอต้องการให้คนดูนั้นรู้สึกถึงความเป็นโครงสร้างเปล่าของพงศาวดารที่สามารถเอาใครเข้ามายัดใส่ในงานนี้ก็ได้
“ที่บ้านดูเอนจอยกับการทำงานตลอดเขาก็เลยไม่ได้อะไร แต่เขาไม่ได้ถามนะว่ามันคืออะไรกันแน่เพราะว่าเราก็ให้ป้าเขียนพงศาวดาร เขาก็นั่งเอาแว่นขยายขยายแล้วเขียนแล้วก็ถามเรื่องที่บ้าน แต่พอถามเขาก็มาเห็นว่าเราให้ใส่ชุดไทยแต่งงาน ฉากแต่งงาน ฉากนู่นนี่แล้วให้มันเป็นแบบพงศาวดารแต่เขาก็ไม่ได้ถามว่ายังไง เรารู้สึกว่าอาจจะเป็นเพราะว่าเราทำงานกับเขาตั้งแต่เรดโลตัสแล้วไง เขาก็คงรู้สึกแบบไอปั้นก็ทำๆ ไปเหอะ (หัวเราะ) ให้ทำอะไรก็ทำๆ ไปเถอะ แต่เหมือนแบบมันเป็นแบบเขาก็ชอบช่วยอะ
“มันเป็นพื้นที่ของการช่วงชิง เราเอาเรื่องนี้มาเป็นคีย์หลักของการทำงานด้วยไอเดียที่ว่าผู้มีอำนาจมันจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องยึดกุมเรื่องเล่ายึดกุมพื้นที่นั้นๆ เป็นเชิงนัยบางอย่างที่จะบอกว่าประชาชนทั่วไปอย่างเราที่เข้ามาไปแทรกแทรงตำนานพงศาวดารของครอบครัวที่ศักดิ์สิทธิ์ คือการช่วงชิงพื้นที่ระหว่างตำนานของพงศาวดารกับเรื่องราวของที่บ้านโดยที่เรื่องราวทั้งหมดในพงศาวดารเกิดขึ้นจากการเล่าเรื่องของที่บ้านเราเลย
“เราไม่ได้อยากให้ครอบครัวเราเป็นครอบครัวที่ศักดิ์สิทธิ์หรอกแต่เราอยากให้มันเป็นเหมือนว่าตำนานนี้เป็นโครงสร้างเปล่าๆ ที่ใครก็เอาครอบครัวตัวเองเข้าไปได้ มันจะเป็นใครก็ได้แค่เปลี่ยนที่อยู่แค่ย้ายการปักหมุดแบบเมืองในจินตนาการลงมาบนพื้นโลกแล้วก็เลือกตรงไหนเป็นศูนย์กลางก็ได้
“จากที่ว่าศูนย์กลางตรงนั้นเป็นจุดกลางอำนาจแต่มันก็อาจพูดเป็นอันนั้นได้ไม่เต็มปากเพราะมันอยู่ด้วยระบบเศรษฐกิจอย่างรัฐกทม. ก็ต้องการที่จะเป็นเมืองพระวิษณุกรรมสิทธิ์ก็จะมีความยิ่งใหญ่เชิงเศรษฐกิจมาด้วยแต่มันก็เป็นการสร้างความทับซ้อนระหว่างโลกในจินตนาการกับโลกความเป็นจริงแล้วก็เสริมอำนาจขึ้น
“เนื้อหาครอบครัวเรามันไม่ได้จำเป็นสำหรับทุกคนมันจะเป็นแค่ มีความหมายแค่ของเราและครอบครัวเรา คือเรากำลังจะบอกว่ามันไม่จำเป็นที่คุณจะต้องรู้สึกหรือรู้ทุกอย่างเกี่ยวกับครอบครัวปั้น แต่สุดท้ายแล้วมันคือการกลับไปมองประวัติศาสตร์ครอบครัวตัวเองในฐานะที่เรารู้สึกว่าเรื่องเล่าคืออำนาจดังนั้นเรื่องเล่าของเราก็คืออำนาจของเรา”
ด้วยความที่ครอบครัวของปูนปั้นนั้นมีส่วนผสมของความเป็นศิลปินอยู่เยอะ ทั้งพ่อเป็นช่างปั้น (ลูกเลยชื่อปูนปั้น) ช่างวาดภาพ ป้าเป็นช่างตัดเย็บ ย่าก็ชอบเย็บเศษผ้าที่เหลือทิ้ง ปูนปั้น เลยนำสิ่งเหล่านี้มาผสมจนออกมาเป็นอินสตอลเลชั่นในงานนี้หรือบางชิ้นก็ทำแล้วปูนปั้นถ่ายนำไปใช้ในภาพ
“เราใช้ครอบครัวคุ้มเลย เราพยายามสร้างการเล่าเป็นทอดๆ ด้วยการทำงานบางอย่าง เช่น เรื่องป้าที่เขาทำหยดนมไหลออกจากนิ้ว เกิดจากวิธีการที่เขามาเล่าเรื่องนี้ว่า เออฤาษีมีนมไหลออกจากนิ้วแล้วออกมาเป็นฟอร์มที่ถูกตัดเย็บแล้วทำผ่านของ
“การตัดเย็บเนี่ยมันคือการเล่าเรื่องราวของเขาซ้อนเข้าไปแล้วปลายทางมันเป็นพงศาวดารอีกทีหนึ่ง เราไม่แน่ใจว่ามันจะเรียกยังไงให้มันโอเคแต่มันเหมือนว่าประวัติของคนที่เล่าสำคัญกว่าเรื่องที่เล่า ใครเป็นคนเล่าคนที่เล่าเป็นใคร ใครเป็นคนที่ทำ
“อย่างป้าอีกคนนึงเขาทำดอกบัวเรื่องราวของเขาเป็นแบบนี้เลยทำดอกบัวออกมาเป็นแบบนี้ ส่วนป๊าก็เป็นช่างวาดภาพ ย่าก็เป็นเล่าซ้อนไปอีกป้าทำป้าตัดเสื้อแล้วมีเศษผ้าแล้วก็จะเห็นความประหยัด ขี้เหนียวของย่าที่เอาเศษผ้าทั้งหมดมาต่อกัน แต่จริงๆ ตอนแรกเราเห็นเรานึกถึงนา เพราะย่าเป็นคนทำนาทำสวนอะเรารู้สึกว่ามันเป็นบล็อกแบบผืนนาอะ แล้วการต่อกันก็เล่าอีกเรื่องนึงเราเลยรู้สึกว่าการต่อกันของผ้าของย่ามันเล่าความเป็นครอบครัวบางอย่างเราเลยเอามาเล่าเอามาทำเป็นฟอร์มของสมุดพงศาวดารของเรา”
What’s Next
สุดท้ายเราได้ขอให้ปูนปั้นสรุปงานนี้ให้เราฟังหน่อยในฐานะของการเป็นศิลปินหลังทำงานเสร็จแล้วได้รู้สึกอะไรกับตัวเอง และหนทางการทำงานในอนาคตของเธอนั้นจะเป็นอย่างไรต่อ
“เหนื่อย” เรายังถามไม่จบคำถามเธอก็ตอบเราพร้อมยิ้มทะลุแมสก์
“งานนี้ได้พรูฟวิธีการนะถ้าเทียบกับเรดโลตัส วิธีการที่มันไม่เหมือนเดิมเลยกับวิธีคิดภาพที่เห็น การมองโลกก็ไม่ต่างจากเดิมเท่าไหร่ แต่ว่ามันก็ทำให้เรารู้สึกว่ามันไม่ใ่ช่แค่ทำเรดโลตัส มันมีเนื้อเรื่องมันมีความเป็นไปได้ใหม่ๆ มากกว่านั้น
“โจทย์ของเราตอนทำอันนี้คือไม่ได้จะทำแบบเดิม เรารู้สึกว่าแบบเดิมเราก็ปล่อย ให้มันโตไปทางนั้นแล้วก็อยากทำอีกแบบนึง คือเราเป็นคนโรคจิตที่แบบอยากได้อะไรที่ใหม่สำหรับตัวเองเพราะอาจจะบอกว่าของใหม่ๆ จะไปซ้ำกับคนอื่นอันนี้ไม่รู้ไงเพราะว่าไม่ได้ดูงานเยอะขนาดนั้นแล้วก็รู้สึกว่าตอนทำความเป็นไปได้ใหม่ในการเล่าเรื่องถ่ายภาพเหมือนการลดทอนบทบาทของกษัตริย์ในเรื่องแล้วให้มันเป็นแบบภาพพิกเซลแตกๆ เป็นดอกบัวหรือเป็นเท้าแล้วตัวคนถูกเซ็นเซอร์คือไม่ได้เป็นจุดหลักคือก็จะมาเป็นส่วนเสี้ยวเดียวที่มันดูไม่สมประกอบที่จะเป็นคน ดูเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่โผล่มานิดหน่อยประมาณนั้น
“หลังจากนี้จะทำโปรเจกต์ต่อเหมือนกันแต่น่าจะเป็นอีกเวย์นึง คือถ้าถามว่าเป็นเรื่องเล่าหรือกลิ่นอายคล้ายเดิมมั้ยมันก็อาจจะแต่ว่าเราพยายามหาวิธีการแปลกใหม่ในการลองเล่าอะไรบางอย่างที่อาจจะไม่ได้เป็นแค่เรื่องราวประวัติศาสตร์ อาจจะเป็นอีกด้านนึงเลยอยากลองทำแบบอะไรที่ไม่เคยทำเพราะว่าเราชินกับการรีเสิร์ชแล้วก็ทำ รีเสิร์ชแบบประวัติศาสตร์หรืออะไรบางอย่างเท่านั้น แต่อันนี้ก็จะแบบอาจจะลองหาวิธีที่ตัวเองไม่เคยทำ และก็คงเป็นภาพถ่ายเพราะมันต้องแสดงเป็นงานภาพถ่าย อาจจะมีบ้างแต่คงไม่ใช่ในงานนี้”
หลังจากจบงานนี้หากใครอยากติดตามดูงานของปูนปั้นต่อไปว่า Visual ของเธอนั้นจะพัฒนาไปในทางไหน และความทับซ้อนของเรื่องราวนั้นจะข้นคลั่กจนถึงขั้นใด เราบอกได้ว่าอีกไม่นานเกินรอจะได้เห็นกันอย่างแน่นอน