brand logo

PHOTO | LIFE | INSPIRATION

May 2024

จูน - วรรษมน ไตรยศักดา
Capture the Diversities
เรื่อง : กาญจนาภรณ์ มีขำ
ภาพ : ธันวา ลุจินตานนท์
20 Dec 2021

“เราเป็นคนพูดไม่เก่ง แต่เรามีเรื่องที่อยากเล่าเต็มไปหมด ซึ่งเราใช้ภาพถ่ายในการเล่าแทน” จูน – วรรษมน ไตรยศักดา ช่างภาพที่ขอใช้ ‘ภาพถ่าย’ เล่าเรื่องความหลากหลายจนกว่าจะกลายเป็นเรื่องธรรมดาในสังคม

เราคุยกับจูนหลังจากที่เธอได้รับทุนการศึกษา Chevening จากรัฐบาลสหราชอาณาจักร เรียนต่อระดับปริญญาโทที่ Goldsmiths สาขา Gender, Media and Culture จูนในวัยสามสิบบอกกับเราว่านี่คือ ‘New Twenty’ ของเธอ หรือก็คือการเดินทางบทใหม่ด้วยความรู้สึกยี่สิบอีกครั้งนั่นเอง

ก่อนหน้านี้เรารู้จักจูนในฐานะช่างภาพภายใต้สังกัดสื่อออนไลน์ชื่อดังอย่าง The Standard ผู้สนใจในประเด็นภายในชุมชน LGBTQ เธอทำโปรเจ็กต์ส่วนตัวมาตลอดในประเด็นดังกล่าว ทำให้เราอยากรู้ว่าอะไรทำให้เธอเจาะจงประเด็นและเหตุใดทำไมจึงเลือกการเล่าเรื่องเหล่านี้ผ่าน ‘ภาพถ่าย’

ประกอบสร้างเรื่องราวผ่านภาพถ่าย 

จูนจบจากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จุดเริ่มต้นของจูนในการเป็นช่างภาพอาชีพจากการไปฝึกงานที่ BK Magazine ตามมาด้วยคำถามจากคนจำนวนไม่น้อยที่ว่า “จบอักษรฯ ทำไมมาถ่ายรูป” คำถามนี้ดูเป็นปัญหาโลกแตกที่ระบบการศึกษาในประเทศไทยได้สร้างมายาคติต่อการเรียนและการทำงานว่าต้องเป็นสิ่งที่เชื่อมต่อกัน เกิดสองได้จะต้องมาจากหนึ่งบวกหนึ่งเท่านั้น ทั้งที่จริงๆ แล้วนั้นไม่จำเป็นเสมอไป เราปฏิเสธไม่ได้ว่าถ้าคุณจะเป็นหมอต้องผ่านการศึกษาพื้นฐานแบบไหนมาเพื่อประกอบวิชาชีพ แต่สำหรับการเรียนสายมนุษยศาสตร์นั้นเหตุใดจึงถูกปิดตายและถามว่า “จบไปจะทำอะไร”  ซึ่งสำหรับจูนแล้วการเรียนสายมนุษยศาสตร์นั้นเป็นเหมือนรากฐาน การศึกษาถึงแก่นความเข้าใจในมนุษย์และสังคม และเป็นพื้นฐานที่เธอนำมาใช้ประกอบอาชีพ ‘ช่างภาพ’ ได้ และการที่ได้ทำงานนี้ทำให้เธอได้ใช้เสียงของเธอเป็นส่วนหนึ่งในการถ่ายทอดเรื่องราวชีวิตผู้คนกลุ่ม LGBTQ ด้วยหมุดหมายเพื่อสร้างความเข้าใจกันและกัน 

“เราเป็น introvert แต่เราสนุกที่ได้ไปเรียนรู้ชีวิตผู้คน ตอนที่เราฝึกงานกับ BK Magazine เราเป็นคนกรุงเทพฯ แต่เราแทบจะไม่เคยเที่ยวกรุงเทพฯ หรือสังเกตเมืองนี้อย่างจริงจัง คอลัมน์แรกๆ ทำเรื่องร้านที่มีอายุประมาณ 50 ปี ได้ไปคุยกับคนที่อยู่ตรงนั้น เราก็พบว่า เราเป็นคนกรุงเทพฯ ที่อยู่แต่ในโซนที่เราเกิด แล้วเราก็ไปเรียนนอกเมือง [สมุทรปราการ] แต่ไม่เคยที่จะมารับรู้ถึงสิ่งที่อยู่ในกรุงเทพฯ บ้านเกิดของเรา วันหนึ่งได้ไปคุยกับดาราอีกวันก็ไปคุยกับคนปกติ โลกนี้มันสนุก แต่เราก็ยังอยู่ภายในคอมฟอร์ทโซนของตัวเอง โดยที่เราไม่ต้องออกไปปะทะ เราได้เรียนรู้จักโลกได้รู้จักตัวเองก็สนุกดี แล้วเราก็ขี้เกียจเขียนเพราะว่าสมัยเรียนเราเขียนเยอะ”

“งานแต่ละงานของเราคือการต่อจิ๊กซอว์ในภาพใหญ่ รู้สึกว่ามันคือความหลากหลายในการใช้ชีวิต ซึ่งกลุ่มคน LGBTQ ก็เป็นหนึ่งในความหลากหลายนั้น”

7465 คือ Personal Project ชุดแรกที่ทำให้เราได้รู้จักจูน ชุดภาพถ่ายเยาวชนที่ใส่ชุดนักเรียน เครื่องแต่งกาย ภายใต้กฎระเบียบที่ทำให้ชีวิตใครหลายๆ คนต้องผูกติดกับมันไว้เป็นระยะเวลาราว 22 ปี นอกจากเรื่องเครื่องแต่งกายยังรวมไปถึงทรงผม ในภาพแต่ละใบเราจะเห็นการต่อสู้เพื่อแสดงอัตลักษณ์ของตัวเองภายใต้ขีดจำกัดอย่าง ‘ชุดนักเรียน’ ของน้องๆ ทุกคนไม่ว่าจะเป็นไซส์เสื้อ เครื่องประดับที่เสริมมาเท่าที่จะทำได้ ชุดภาพนี้จูนตั้งใจถ่ายทอดความหลากหลายที่ถูกซ่อนไว้ภายใต้กฎระเบียบทางการศึกษา

“สำหรับงาน 7465 เราไปจัดแสดงในหลายประเทศ เขาก็จะถามว่าน้องๆ นักเรียนเป็นเกย์หรือทรานส์ทุกคนหรือเปล่า ซึ่งไม่ใช่ คนจะมองภาพว่าเราเป็นช่างภาพที่เกาะประเด็นเรื่อง LGBTQ แต่จริง ๆ แล้วเราสนใจเรื่องการใช้ชีวิต ดังนั้นมันไม่ได้มีแค่กลุ่ม LGBTQ เท่านั้น เรากำลังมองถึงความหลากหลายแล้วเพียงแค่ LGBTQ มันอยู่ในความหลากหลายนั้นด้วย”

หรือชุดภาพจากงาน Pride ที่จูนเดินทางไปเก็บภาพมามากกว่า 10 เมือง จากไปเก็บภาพกิจกรรมในขบวน จนมาสู่ชุดภาพที่เธอทำให้กับนิตยสารสารคดี เป็นการจินตนาการว่าหากมี Pride ที่กรุงเทพฯ บ้างจะเป็นอย่างไร

“โปรเจ็กต์งาน Pride เราก็ไม่คิดว่ามันจะเป็นโปรเจ็กต์ on-going ใหญ่โต ตอนเราเป็นฟรีแลนซ์ เราก็สามารถวางแผนได้ว่าเราจะไปงานนี้ จัดช่วงไหนที่ไหน คนหลายคนจะบอกว่าภาพถ่ายคือการเก็บอดีต สำหรับเรา งาน Pride คืออดีตของที่อื่น แต่มันจะเป็นอนาคตที่กรุงเทพฯ ที่สามารถเป็นได้ แล้วมันก็เลยเป็นงาน spin-off ที่ลงในสารคดี ว่า ‘If Today were a Bangkok Pride, …’ ”

อีกทั้งสำหรับจูน ประเด็น LGBTQ ยังเป็นสิ่งที่ต้องพูดถึงเพื่อให้เกิดความเข้าใจในวงกว้างและใช้ภาพถ่ายเพื่อเป็นตัวช่วยในการอธิบายตัวเลือกในการใช้ชีวิตในมวลชน

“ชุดภาพ MR. PEARL เราทำเพื่อตอบโจทย์ตัวเองที่อยากถ่ายสารคดีขาว-ดำ และอยากทำความรู้จัก trans man หรือ ผู้ชายข้ามเพศ ในช่วงที่เราถ่ายทำเมื่อปี ค.ศ. 2015 trans man ยังเป็นศัพท์ใหม่ที่หลายคนยังไม่เข้าใจ และกลายเป็นเงาของ ‘ทอม’ ที่ทุกคนเข้าใจมาก่อน เราต้องการถ่ายทอดเรื่องราวการใช้ชีวิตของเขา ว่ามันเป็นยังไง เขามีประสบการณ์ยังไง ผ่านการที่ต้องแทนตัวเองว่าทอมเพราะไม่มีช้อยอื่นเหมือนที่เราเคยรู้สึก”

เพิ่มศักยภาพทางเนื้อหาให้แข็งแรงยิ่งขึ้น

ถึงแม้ว่าจูนจะทำงานสายภาพถ่ายให้กับสื่อต่างๆ มาโดยตลอด แต่การเลือกเรียนต่อในปริญญาโทนั้นไม่ได้เรียนสายตรงเพื่อการประกอบอาชีพของเธออย่างการเรียนถ่ายภาพ แต่กลับเป็นด้านสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ที่รวมศาสตร์ด้าน sociology, media และ communication มาด้วยแทน จูนออกตัวว่าเรื่องเทคนิคการถ่ายภาพ การจัดแสง ยังเป็นสิ่งที่ต้องเรียนรู้เพิ่มเติม แต่เธอรู้แล้วว่าจุดเด่นของเธอและด้านไหนที่เธออยากก้าวไปเป็นที่หนึ่งนั่นคือการจริงจังกับ ‘เนื้อหา’ ด้านสังคมศาตร์ของเธอนั่นเอง 

“การรู้สกิลพื้นฐานสำหรับถ่ายรูปมันจำเป็นนะ สำหรับเราข้อเสียของเราคือพอมันต้องทำงานในความรู้เชิงเทคนิคของการถ่ายภาพเราจะไปถึงจุดนั้นไม่ได้ ทุกวันนี้เราก็ยังจัดแสงไม่เก่ง แต่เรารู้เลยจากตอนทำงานว่ามันมีสิ่งที่น่าสนใจเยอะ มีงานวิจัยที่น่าอ่าน หลายๆ อย่างอัพเดตไปเยอะ แต่พอเราทำงานแล้วเราไม่มีเวลาเลย เราก็เลยรู้สึกว่าเราอยากไปเรียน และเราก็รู้ว่าในจุดแข็งของเราคือเราเป็นช่างภาพที่มีพื้นด้านสังคมศาสตร์ อีกทั้งสำหรับเราแล้ว ถ้าคุณถ่ายมนุษย์ คุณก็ควรเข้าใจมนุษย์ พอปัญหาตอนถ่ายงานคนทรีตมนุษย์เป็นแค่ object ซึ่งการดูภาพมันคือคอนเทนท์อย่างนึงที่ตัวเราอยากใส่ใจมัน” 

ศาสตร์ด้านสังคมที่ไม่เคยหยุดอยู่กับที่ ในทุกๆ ก้าวที่มนุษยชนเติบโตขึ้น ศาสตร์นี้มีหน้าที่บันทึกเรื่องราวสร้างความเข้าใจต่อการพัฒนาของมนุษย์ สำหรับจูนแล้ว การเลือกไปเรียนที่ Goldsmiths สาขา Gender, Media and Culture นั้นยังเป็นเหมือนการไปอัพเดตเนื้อหาการทำงานของเธอด้วย

“ศาสตร์ด้านสังคม องค์ความรู้มันมีการอัพเดตกันเรื่อยๆ อย่างเรื่อง gender เองในสมัยที่เราเรียนก็ยังเป็นแค่เรื่อง LGBT ที่ยังไม่มี Q เข้ามา แต่ในตอนนี้มันเปลี่ยนไปแล้วอย่างมหาลัยที่เราเลือกจะไปเรียนก็มีเรื่อง queer history เป็นสาขาแรกของโลกที่พูดเรื่องนี้ อย่างคำว่า non-binary 10 ปีที่แล้วก็ไม่มีใครรู้จัก สิ่งเหล่านี้เป็น contemporary isuue ในทุกแง่มุมไม่ว่าคุณจะทำสื่อหรือทำงานอาร์ต ถ้างั้นเราก็ต้องไป เราอยู่ที่นี่ มีคนมาคุยกันบ้าง แต่ยังไม่จริงจังเท่าที่เราต้องการ เราอยู่ที่นี่เราคุยกับคนที่เป็น activist เราก็จะได้มุมมองของ activist หรือถ้าเป็นสื่อหรืองานศิลปะ ก็จะได้จากมุมมองของเขา เราเลยรู้สึกว่าเราต้องออกไป ไปรู้ว่าตอนนี้เนื้อหาที่เราสนใจในการทำงานมันอัพเดตไปถึงไหนแล้ว แล้วด้วย Goldsmiths ที่เราเรียนมันก็อยู่ใจกลางที่ต่อให้เราไม่ได้เรียนการถ่ายภาพ มันก็ยังอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เรายังสามารถหาเวิร์คช็อปสำหรับงานถ่ายภาพได้อยู่”

ทำไมยังต้องเป็น ‘ภาพถ่าย’ เล่าเรื่อง

“สำหรับภาพถ่าย ตัวเราเองเป็นคนที่พูดไม่ค่อยรู้เรื่องและเป็นคนเสียงเบา พอเป็นงานภาพมันทำให้คนสนใจเรื่องที่เราจะสื่อได้แล้วเราก็มีเรื่องที่เราแคร์อยู่ แล้วคนก็สนใจตรงนั้น ภาพถ่ายหรืองานสื่ออื่นๆ ที่เราทำมันทำให้คนหันมาสนใจงานเราได้ เราทำงานออนไลน์ ยอดเอนเกจเมนต์มันมีผลอยู่แล้ว สำหรับ เรามันคือตัววัดว่างานที่เราตั้งใจจะสื่อนั้นมันไปถึงมวลชนขนาดไหน มันมีคนรับรู้สารของเราแค่ไหน แต่พอทำงานไปสักพัก สิ่งที่สำคัญกับเราคือคอมเมนต์เล็กๆ ที่บอกว่างานเราทำให้เขาได้ค้นพบตัวเอง ไม่ได้อยู่คนเดียว สิ่งที่เขาเป็นไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาด หรือคนที่ไม่ใช่ LGBTQ เองก็ได้รู้ว่าคนในคอมมูนิตี้เป็นอย่างไร เราว่าข้อดีของงานบนอินเทอร์เน็ตคือมัน searchable มันสามารถสืบค้นข้อมูลต่อได้ และมันก็จะอยู่ตลอดไปตราบใดที่เรายังใช้อินเทอร์เน็ต”

แม้ว่าเรื่องที่จูนกำลังศึกษานั้นมีเรื่องราวหลายพันหมื่นในเนื้อหา แต่ตัวเธอเลือกที่จะใช้ภาพถ่ายเพื่อย่อยเนื้อหาเหล่านั้น และส่งต่อให้กับผู้คนผ่านผลงานและสื่อ เพื่อกระจายผลงานให้ไปสู่วงกว้างเท่าที่เป็นไปได้และพาความหลากหลายเหล่านี้ไปสู่ความปกติในสังคม 

รับชมผลงานภาพถ่ายอื่นๆ ของ จูน – วรรษมน ไตรยศักดา ได้ที่ https://watsamontriyasakda.com และ  https://www.instagram.com/junewatsamon

images
images
images
images
images
images
images
พิสูจน์อักษร : ชลดา สวนประเสริฐ