brand logo

PHOTO | LIFE | INSPIRATION

May 2024

Hub of Photography
Connecting Our Community to Focus
เรื่อง : กาญจนาภรณ์ มีขำ
ภาพ : ธันวา ลุจินตานนท์
9 Sep 2021

หากพูดถึงพื้นที่ใหม่ที่มีภาพถ่ายเป็นประเด็นหลักในการใช้งานแล้วนั้น เราเชื่อว่าใครหลายๆ คนคงได้ยินชื่อ Hub of Photography (HOP) แกลเลอรี่ภาพถ่ายน้องใหม่ภายในห้างซีคอนสแควร์กันมาแล้วเป็นแน่ กับงานแรกอย่าง SELFPRESSION ที่ เปรียบเสมือนนิทรรศการเปิดพื้นที่และรวมถึงเป็นการแสดงจุดยืนของพื้นที่นี้เช่นเดียวกัน บทสัมภาษณ์นี้ D1839 จะพาทุกคนไปทำความรู้จักแนวคิดของทั้งสามผู้นำทัพอย่าง นักจัดการงานสร้างสรรค์ ผ้าป่าน – สิริมา ไชยปรีชาวิทย์ ผู้เป็นส่วนหนึ่งในการทำงานสร้างสรรค์มาตั้งแต่ The Jam Factory มาจนถึง GroundControl อีฟ – มาริษา รุ่งโรจน์ นักเดินทางที่ใช้ภาพถ่ายในการเล่าเรื่อง เจ้าของเพจ ABOVE THE MARS และปิดท้ายด้วย ทอม – ธีระฉัตร โพธิสิทธิ์ ช่างภาพเชิงพาณิชย์ผู้สนใจประเด็นการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เขาทั้งสามคือผู้ที่จะพาพื้นที่แห่งนี้ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดให้กับวงการถ่ายภาพผ่านคติอย่าง “Connecting Our Community to Focus” มาทำความรู้จักพื้นที่แห่งนี้ไปด้วยกันจากแนวคิดและการทำงานของพวกเขา

What’s the matter of our COMMUNITY?

การสร้าง ‘พื้นที่’ นั้นคำถามสำคัญก็คงเป็นเราสร้างมันมาเพื่ออะไรและเพื่อใครบ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง HOP นั้นมีเป้าหมายเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนและพัฒนาวงการภาพถ่ายผ่านพื้นที่นั่นเอง ซึ่งแน่นอนว่าการจะพัฒนาสิ่งใด ‘ปัญหา’ ถือเป็นสิ่งที่พวกเขาทั้งสามต้องทำความเข้าใจอย่างยิ่งยวดเพื่อเข้าไปอุดรอยและพา ‘วงการภาพถ่าย’ ก้าวไปข้างหน้าต่อ ผ้าป่านผู้ที่มีฉากหลังการสัมภาษณ์ออนไลน์ครั้งนี้เป็นห้องหนึ่งในโรงพิมพ์ที่เจ้าตัวขอปลีกวิเวกมาให้สัมภาษณ์กับเราก่อนนั้นเป็นคนเปิดประเด็นถึงเรื่องสิ่งที่เขาและใครๆ ในวงการน่าจะประสบพบเจอ อย่างเรื่องที่เรามีคนมากความสามารถอยู่ในคอมมูนิตี้แต่ด้วยพื้นที่ที่มีจำกัดแถมซ้ำพอเป็นเรื่องของงานศิลปะแล้วนั้นเป็นสิ่งที่ได้รับความสำคัญท้ายๆ ที่รัฐบาลพอจะเจียดงบมาสนับสนุนได้

“อันนี้เป็นประเด็นที่เราอยากแลกเปลี่ยนกับหลายๆ คนมาก เพราะว่าเราน่าจะเห็นร่วมกันตรงกันว่าจริงๆ แล้วคอมมิวนิตี้ของศิลปินไทยมันควรที่จะได้พื้นที่ที่ดีกว่านี้ได้รับการสนับสนุนที่มากกว่านี้ เพราะมันเป็นแขนงหนึ่งของอาร์ตที่มีคนมีความสามารถที่ดีอยู่ในเมืองไทยเยอะ แล้วก็ไปชนะรางวัลที่เมืองนอก ไปทำงานกับเอเจนซี่ที่เมืองนอกตั้งเยอะ แต่ว่ามันกลายเป็นว่าพื้นที่ในประเทศมันไม่ได้รับการสนับสนุน อย่างที่รู้กันพอเป็นสายงานศิลปะมันไม่ได้รับการสนับสนุนโดยรัฐบาลอยู่แล้ว สองคือยิ่งเป็นภาพถ่ายมันก็มีความเป็นลูกเมียน้อยระดับหนึ่งเพราะมันถูกมองให้เป็นศิลปะที่ไม่ได้เป็นศิลปะขนาดนั้น มันไม่ค่อยถูกรวบเข้าไปอยู่ในวงการศิลปะแบบ fine art ที่จะได้มูลค่าหรือนักสะสมต่างๆ จะให้ความสำคัญกับสิ่งนี้ มันไม่ได้เป็นสื่อใหม่แล้วแต่มันก็ไม่ได้กว้างพอขนาดนั้นถ้าเราไปเทียบกับในเมืองนอกมันก็จะมีเวทีการประกวดหรือแม้กระทั้งพวก residency (โครงการศิลปินพำนัก ที่สถานที่หรือหน่วยงานจะให้การสนับสนุนศิลปินให้มาสร้างงานศิลปะจากแรงบันดาลใจในพื้นที่ของตน) สำหรับช่างภาพ มันมีความเคลื่อนไหวในเมืองนอกค่อนข้างเยอะ เขาต้องไปโตในพื้นที่เหล่านั้น เพราะประเทศไทยยังไม่มีพื้นที่ให้เขา” 

ผ้าป่านอธิบายภาพรวมของปัญหาในชุมชนภาพถ่ายของเราจากมุมที่เธอเจอ ก่อนจะส่งไม้ต่อให้กับอีฟเสริมในส่วนที่เธอคิดว่าขาดหายไปอย่าง physical space จากการที่คนรอบตัวของเธอนั้นมีพรสวรรค์แต่ไม่มีโอกาสได้ไปต่อเพราะยังขาดพื้นที่ในการ ‘เห็น’ ผลงานและ ‘สร้าง’ ผลงานด้วยเช่นเดียวกัน ส่วนในมุมของทอมเขามองว่าภาพถ่ายนั้นมีหลายประเภทและตัวเขาเองที่เป็นช่างภาพจากการลองผิดลองถูกและเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในหลายๆ กลุ่มของช่างภาพทำให้เห็นว่าเราอยู่กันอย่างกระจัดกระจายและยังขาดโอกาสที่จะได้มาแลกเปลี่ยนแนวคิดและองค์ความรู้กัน

“เราได้ไปงานแสดงศิลปะร่วมสมัยที่แกลเลอรี่ต่างประเทศ เราเห็นงานภาพถ่ายเข้าไปอยู่ในจุดนั้นน้อยมากเราก็ถามเขาว่าทำไมถึงมีงานภาพถ่ายน้อย เขาตอบเรากลับมาว่าภาพถ่ายคุณค่ามันน้อยกว่างานประเภทอื่น เราก็ก็รู้สึกว่าเออมันยอมไม่ได้แล้วนะ ฉะนั้นมันก็เลยกลายมาเป็นแรงผลักดัน เราเลยหันมาสนใจเรื่องศิลปะร่วมสมัยมากขึ้น ภาพถ่ายมันควรจะมีหน้าที่มากกว่าการเป็นเพียงสื่อในการเล่าเรื่อง แต่มันควรจะให้ประโยชน์ มีความงาม แล้วสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเราสามารถเห็นว่างานภาพถ่ายเติบโตขึ้นเยอะทั้งในไทยและต่างประเทศ เราเคยมีแกลเลอรี่ที่ดีมากๆ อย่าง House of Lucie มาเปิดในเมืองไทย อันนั้นเสียดายมากที่ House of Lucie จากไปแบบแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ที่คนไทยจะได้เติบโตในระดับสากลจากบ้านเขาเองมันหายไป ฉะนั้นตรงนี้ก็เลยกลายเป็นช่องว่างที่ HOP จะมาทำงานต่อจากตรงนี้พร้อมกับ ที่ได้รับโอกาสจากผู้ใหญ่อย่างซีคอนสแควร์มาเขาให้อิสระกับพวกเราในการสร้างสรรค์พื้นที่นี้” 

และถึงแม้ว่าทั้งสามจะนำปัญหาที่เขาได้พบมาเป็นส่วนในการคิดกิจกรรมหรือวางแผนในพื้นที่แล้วนั้นยังมี reseach ที่ทางทีมได้เก็บข้อมูล พบว่าช่างภาพไทยยังประสบปัญหาในเรื่องของพื้นที่การจัดแสดงงานเพื่อหาว่าพวกเขาจะทำอะไรให้ตอบโจทย์ในการพัฒนาชุนชนภาพถ่ายของเราให้แข็งแรงยิ่งขึ้นไปอีกด้วย ผ้าป่านได้ปิดท้ายถึงรุ่นพี่ที่สร้างพื้นที่สำหรับภาพถ่ายและพวกเขาของเป็นอีกแรงที่ช่วยให้ ‘ภาพถ่าย’ ได้ไปต่อ

“ตรงนี้เราเห็นโอกาสร่วมกันทั้งวงการ และคิดว่าสิ่งที่พวกเรากำลังทำกันอยู่ จริงๆ มันเป็นส่วนหนึ่งที่พยายามจะขับเคลื่อน เพราะว่าจริงๆ พูดย้อนกลับไปไม่ใช่ไม่มีพื้นที่แบบนี้เลย เราก็ต้องให้เครดิตอย่างกาฐมาณฑุ (Kathmandu Photo Gallery) ที่มีมาอย่างยาวนานแล้วก็ขับเคลื่อนด้วยศิลปิน ด้วยช่างภาพ ซึ่งที่แห่งนี้พยายามซัพพอร์ตให้เรามาถึงตรงนี้ได้ ย้อนกลับไปในช่วงการทำ photo gallery สมัยก่อนอาจารย์มานิต (มานิต ศรีวานิชภูมิ) ก่อร่างสร้างในยุคนั้นช่างภาพก็ยังไม่ได้เยอะ หรือว่าได้รับการสนับสนุนจากที่ต่างๆ แต่ว่าเห็นไหม พอเป็นช่างภาพทุกคนอยากพัฒนาวงการที่ตัวเองอยู่ เพราะฉะนั้นเราให้เครดิตกับแกลเลอรี่ที่เป็นรุ่นพี่ รุ่นอา แล้วก็ยังมีอื่นๆ อีกเยอะแยะมากมาย อย่าง Ctype แกลเลอรี่ ก็เป็นการลงทุนด้วยตัวเองแล้วก็มาจากช่างภาพจริงๆ”

How to CONNECT?

“HOP เป็นดังภาพฝันของทุกคนที่รักในการถ่ายภาพถ้ามันไม่มีข้อจำกัดเราอยากจะเห็นที่ที่ทำให้คนได้มาแชร์แพชชั่นร่วมกัน มีการถกเถียงในทุกๆ เรื่อง สำหรับการถ่ายภาพ” อีฟบอกกับเราถึงภาพรวมการมีอยู่ของ HOP ที่เธอวาดฝันไว้และกำลังทำให้เป็นจริงผ่านการเชื่อมโยงคนที่มาจากหลายหลากความสนใจในงานภาพถ่าย หลายหลากตำแหน่งหน้าที่บนพื้นที่ที่พวกเขาจัดสรรปันส่วนให้ทุกคนเข้าถึงได้ทั้งหมด 4 ส่วนด้วยกัน ได้แก่ 

  1. HOP PHOTO GALLERY แกลเลอรี่หลักที่คัดสรรผลงานจากช่างภาพที่มีชื่อเสียง ช่างภาพต่างประเทศ หรือเหมาะกับการจัดนิทรรศการแบบกลุ่ม
  2. WHOOP! เป็นห้องที่เปิดโอกาสให้กับช่างภาพที่ยังไม่มีประสบการณ์ได้ส่ง proposal เข้ามาให้ทาง HOP พิจารณาเพื่อนำมาจัดแสดงได้
  3. HOP CLUB  มาด้วยคอนเซปต์ photographer co-working space พื้นที่ใช้สอยอเนกประสงค์ปรับเปลี่ยนไปตามกิจกรรมที่จะเกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็น portfolio review หรือ workshop ต่างๆ ในอนาคต รวมไปถึง photobook gallery ที่ HOP เป็นเหมือนสะพานที่นำหนังสือภาพที่คัดสรรจากร้านต่างๆ มาจัดวางให้ผู้อ่านได้สัมผัสของจริงก่อนจะไปสั่งซื้อโดยตรงกับทางร้าน เป็นอีกหนึ่งแนวทางที่ HOP ต้องการสนับสนุนให้เกิดวงจรการสร้างงานไปจนยังการชงงานให้ภาคส่วนอื่นๆ ด้วย
  4. FOTO INFO LEARNING CENTER เป็นส่วนที่ให้ข้อมูลความรู้เชิงเทคนิค อุปกรณ์สำหรับการถ่ายภาพ

นอกจากพื้นที่ on ground แล้วทาง HOP ก็ได้สร้างพื้นที่ online เพื่อส่งต่อข้อมูลข่าวสาร อีฟเสริมเรื่องการทำงานออนไลน์ของ HOP ไว้ว่า

“พูดถึงออนไลน์ของทาง HOP เนี่ยก็จะเป็นแบบที่ทุกคนเห็นทั้งเฟสบุคและอินสตาแกรม ทางออนไลน์มีจุดประสงค์หลักคือการแชร์แรงบันดาลใจให้กับช่างภาพ และนำเสนอว่าตอนนี้เกิดอะไรขึ้นบ้างในวงการของเรา พอเราแชร์ข่าวสารคนก็จะได้เข้าใจว่าเขาสามารถติดตามอะไรที่กำลังเกิดขึ้นได้บ้างบนสถานการณ์ ณ ตอนนี้ จริงๆ แล้วออนไลน์เป็นส่วนหนึ่งในการแบ่งปันสิ่งที่เกิดขึ้น และพาให้คนเข้ามาสู่พื้นที่ของเราอย่าง HOP”

เท่าที่เราได้พูดคุยกับทั้งสามคนประเด็นหลักในการเชื่อมโยงนั้นคือการที่พวกเขาคิดครอบคลุมไปยังทุกหนแห่งที่ภาพถ่ายไปมีส่วนร่วมด้วย หรือสรุปก็คือ ‘ความหลากหลาย’ ในวงการนั่นเอง ทั้งสามย้ำตลอดบทสนทนาว่าสิ่งที่พวกเขาคิดนั้นอยากให้ไปถึงทุกภาคส่วนในวงการจริงๆ อย่างงานนิทรรศการแรกพวกเขาเลือก SELFPRESSION นิทรรศการที่นำผลงานช่างภาพ 100 คนมาจัดแสดง พวกเขาต้องการส่งสารให้กับทุกคนรู้ว่าภาพถ่ายไม่ได้มีแนวเดียว และยังบอกอีกว่าประเทศเรานั้นมีช่างภาพ มากมายเพียงใด 

“ทุกอย่างเราสร้างเพื่อให้เกิดคอมมิวนิตี้ไม่ใช่แค่คนกลุ่มเดียว เราเปิดนิทรรศการแรก SELFPRESSION  จาก 100  คนเราจะได้เห็นความหลากหลายในแนวทางการทำงานของช่างภาพ เรามีช่างภาพรุ่นใหญ่อย่างไมเคิล เชาวนาศัย กับ Gift Lee ที่ทำงานอยู่บนโลกอินเทอร์เน็ต มันคือการอยู่ร่วมกันได้ นี่คือมุมมองของ HOP และนิทรรศการถัดๆ ไปที่กำลังจะเกิดมันก็จะมีความ fine art ผสมกับ street กับ fashion เพื่อให้เห็นและย้ำว่าเราต้องการเข้าถึงทุกกลุ่มจริงๆ” ผ้าป่านอธิบาย

แน่นอนประเด็นที่เรา D1839 ต้องขอถามต่อด้วยความสงสัยใคร่รู้ ว่าความหลากหลายนี้วัดจากอะไร HOP มีกรอบของมันไหมหรือพวกเขามีแผนอย่างไร เพราะความหลากหลายนั้นช่างกว้างเหลือเกินเหมือนดังการนับเม็ดทรายในทะเล จะมีใครตกหล่นไปหรือเปล่า ตอนนี้ความหลากหลายนั้นมันพอแล้วหรือยัง 

“เราว่ามันคือระหว่างทางเหมือนกัน อย่างงาน SELFPRESSION ที่เราเลือกมา 100 คนตรงนี้ เราก็ตั้งคำถามเหมือนกันว่ามันจะครบไหม เราพยายามจะไปแตะในทุกๆ แนว หลายๆ อันเราเสนอชื่อกันเยอะแล้วก็ตัดออกไปด้วยเหมือนกัน เราคิดตลอดระหว่างการคัดเลือกว่า เรามีคนจาก catagoery นี้แล้วหรือยัง ถ้าเราไม่เลือกเขาจะน้อยใจไหม จริงๆ มันมีข้อดีของการทำงานสามคนที่ช่วยกันตรวจสอบว่ามันครอบคลุมแล้วหรือยัง แต่เราจะสามารถอ้างได้ไหมว่าเราพูดถึงทั้งวงการแล้วจริงๆ มันไม่ได้ แต่เราว่าตอนนี้มันอยู่ระหว่างทางที่จะรู้จักคนมากขึ้นไปเรื่อยๆ อย่างตอนนี้ HOP เองก็มี FOTOINFO มาอยู่ในพื้นที่ข้างๆ ส่วนตัวเราไม่รู้จักกลุ่มนี้เลย เราไม่รู้จักสายอุปกรณ์เลย เราก็จะยกให้พี่ทอมจัดการ เขาก็รู้จักคนสายนี้ แต่ถามว่ามันถูก include ในหัวเขาเรากับอีฟไหม ก็คือไม่ แต่พอเขาเข้ามาเป็นพาร์ทเนอร์ทำให้เรารู้ว่าจริงแล้วมันต้องเปิดพื้นที่ให้กลุ่มคนเหล่านี้เช่นเดียวกัน คนถ่าย stock photo เขาไม่มีคุณค่าตรงไหน เขามีนะ นั่นคืออาชีพนะ ตัดกลับมาศิลปินไม่ใช่อาชีพนะ ศิลปินถ่ายภาพเขาไม่สามารถหาเงินเลี้ยงชีพด้วยภาพถ่ายอย่างเดียว ถ้าจะวัดว่าอะไรคืออาชีพก็คือการใช้ภาพถ่ายเลี้ยงตัวเองได้ ซึ่งช่างภาพ stock photo เขาทำได้ ช่างภาพสายอื่นต้องทำงานอื่นไปด้วย เช่นทำกราฟิกไปด้วยถ่ายภาพไปด้วย ทีนี้เส้นแบ่งหรือคำจำกัดความอันนี้มันอยู่ตรงไหน สำหรับพวกเราคือมันค่อยๆ รู้เยอะขึ้นได้ ณ วันนี้เราทั้งสามไม่มีทางบอกได้ว่ารู้ทุกอย่างแล้ว เราไม่ได้แต่งตั้งตัวเองเป็นผู้รู้ตั้งแต่แรก เราคือคนที่ไม่รู้แต่ระหว่างทางจะรู้ให้ จะรู้เพิ่ม แล้วจะไม่หยุดที่จะรู้ด้วย น่าจะเป็นแบบนี้ที่น่าจะให้สัญญาได้” ผ้าป่านเล่าถึงหมุดหมายและคำมั่นสัญญาของเธอที่จะเรียนรู้ทุกสิ่งที่เข้ามาให้เธอรู้จักเพื่อขยายขอบความหลากหลายจากที่ HOP เป็นอยู่

งานแบบไหนถึงได้มาตรฐานสำหรับ HOP ถ้าความหลากหลายคือเม็ดทรายทั่วทั้งหาดมันคงจะเป็นเรื่องยากเกินไปที่พวกเขาจะพาทั้งหาดมาจัดแสดงในพื้นที่นี้ แล้วสิ่งไหนที่พวกเขาจะเลือกเข้ามาเป็นเกณฑ์ที่จะทำหน้าที่ตอบโจทย์สิ่งที่พวกเขาตั้งใจส่งต่อให้วงการ

“เราจะรู้ได้ยังไงว่าศิลปินมีคุณสมบัติหรือเปล่า มันเป็นคำถามถึงพวกเราที่เป็นผู้ก่อตั้งด้วยว่าพวกเรามีคุณสมบัติพอแล้วหรือเปล่าที่จะเลือกคนอื่น” 

เอาล่ะ… ผู้อ่านทุกคน… มาถึงตรงนี้เราเจอคำถามซ้อนในคำตอบจากผ้าป่านแล้ว แต่เธอได้อธิบายเพิ่มว่าสิ่งนี้เป็นเรื่องสำคัญมากในการทำงานที่ต้องคัดเลือกผลงานเข้ามาจัดแสดง ซึ่งสำหรับเกณฑ์ที่ผ้าป่านใช้นั้นคือการ “เฝ้ามองศิลปินแต่ละคนในแนวทางที่เขาสร้างสรรค์ผลงานอยู่ แล้วก็ดูเบื้องหลังของเขา หรือว่าการพัฒนางานของเขา ดูทั้งการยอมรับในระดับสากล และในส่วนของศิลปินหน้าใหม่นั้น เราก็ดูว่าเขามีแนวโน้มที่น่าสนใจหรือเปล่า คัดลอกงานคนอื่นไหม” และส่งหน้าที่การคัดเลือกผลงานนี้ให้กับอาชีพ curator หรือ ภัณฑารักษ์ เพื่อเป็นการสร้างมาตรฐานให้ชัดเจนในงานต่อๆ ไป

“เราต้องการซัพพอร์ตในทุกภาคส่วนของคอมมิวนิตี้นี้จริงๆ ที่ไม่ใช่แค่ช่างภาพ คือไม่งั้นจะกลายเป็นว่าเราซัพพอร์ตการสร้างงานของช่างภาพ แต่ไม่ซัพพอร์ตตัวละครอื่นๆ ที่อยู่ในคอมมิวนิตี้นี้ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือคิวเรเตอร์ที่คนมักจะมองข้ามว่าแบบคิวเรเตอร์โฟโต้มันมีไหมวะ คนไทยที่แบบสนใจศึกษาหัวข้อไหนหรือดูแลศิลปินคนไหนอยู่ ที่เป็นศิลปินภาพถ่ายคือน้อยมาก ซึ่งเราสนับสนุนตรงนี้ด้วยอึกจุดนึงก็คือว่าจะมีคิวเรเตอร์เข้ามาดูแล้ว อย่างครั้งต่อไปเราได้ จอยส์ – กิตติมา จารีประสิทธิ์ จากใหม่เอี่ยมมาคิวเรทงานให้ แล้วหลังจากนี้ เราก็จะเชิญคิวเรเตอร์มาเรื่อยๆ เพื่อดูแลการจัดแสดงงานที่ HOP Photo Gallery เพื่อให้มันมีมาตรฐานขึ้นมา แล้วก็เพื่อสนับสนุนอาชีพภัณฑารักษ์ด้วย”

What to FOCUS ?

มาสู่ประเด็นสุดท้ายอย่างต่อจากนี้ HOP อยากจะทำสิ่งใดต่อและอยากให้ทุกคนมอง HOP แบบไหน 

“เราอยากจะให้คนมองเราเป็นพื้นที่ที่จะเติบโตไปด้วยกัน มันก็เลยถูกเอามาคิดในเรื่องของกิจกรรมในพื้นที่ของเรา เราโฟกัสในเรื่องการสร้างคอมมิวนิตี้ แล้วมันไม่ได้มาจากแค่เราสามคน มันมาจากคนทุกกลุ่มแล้วเราฟังทุกคน มันถึงจะต้องมีกิจกรรมต่างๆ เกิดขึ้นมากมายแล้วกิจกรรมเหล่านี้มันมาจากหลายๆ คนอย่าง อาจารย์ปู่ (ผศ. สุรพงษ์ เอี่ยมพิชัยฤทธิ์) ที่เขาจะมาทำ workshop ไซยาโนไทป์ เขาก็พูดถึงปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างเรื่องน้ำยา เราก็มีหน้าที่แก้ไขและหาสิ่งที่เขาต้องการมาตอบตรงจุดนี้ อันนี้คือสิ่งหนึ่งที่เป็นเสน่ห์ของ HOP คือการเชื่อมโยงคนเข้าด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นคนที่ทำงานเองก็ตาม หรือคนที่ทำแกลเลอรี่ หรือฝั่งทางธุรกิจเองก็ตาม” ทอมอธิบายในส่วนที่เขาถนัดอย่างเรื่องงานเทคนิคว่าเขาจะต้องการเชื่อมโยงและตามหาในสิ่งที่ขาดหายไป 

ท้ายที่สุดแล้วสิ่งที่ HOP อยากพาวงการก้าวไปข้างหน้าก็ต้องเริ่มจากตัวพวกเขาเองที่ต้องไม่หยุดพัฒนาและสร้างพื้นที่นี้ให้แข็งแกร่ง เพื่อเป็นกระบอกเสียงและเป็นอีกหนึ่งเสียงเพื่อยืนยันคุณภาพของผลงานที่เข้ามาร่วมจัดแสดงกับ HOP 

“เราหวังว่าเราจะได้ทำงานเหล่านี้ต่อไปเรื่อยๆ เพื่อที่จะได้โฟกัสที่ทุกคนในอุตสาหกรรมนี้ HOP ซึ่งคำว่าอุตสาหกรรมนี้มันยังมีอีกหลายส่วนที่เรายังไม่ได้ไปแตะ เช่น ร้านพิมพ์ ร้านเข้าเฟรม หรือแบรนด์ต่างๆ ที่จะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในนี้ได้ สุดท้ายแล้วส่วนหนึ่งของ HOP มันจะกลายไปเป็น แบรนด์ที่บอกว่าแบรนด์นี้มันซัพพอร์ตคอมมิวนิตี้นี่นะ แล้วมันก็จะสามารถมีแบรนด์อื่นๆ เข้ามาได้เช่นกัน เพื่อสร้างให้เกิดการไหลเวียนของเงินได้จริงๆ ไม่มีแค่การซื้อขายงานในแกลเลอรี่เท่านั้น เป้าเราคือการสร้างแกลเลอรี่ สร้างพื้นที่ มีทั้งอีเว้นต์ มีทั้งโอเพ่นคอลมา มีการประกวดระดับโลกมา ตอนนี้เรากำลังสร้างแบรนด์ของ HOP เพื่อเป็นตัวการันตีได้ว่าจะเป็นพื้นที่ซัพพอร์ตพวกเขาไม่ว่าในมุมไหนก็ตาม ที่เรามองถึงเรื่องแบรนด์คือเราอยากผลักดันให้งานของช่างภาพได้ก้าวออกไปทั้งในเอเชียหรือระดับโลก ว่าถ้ามีสแตมป์ของตัว HOP อยู่พวกเราคือคอมมูนิตี้ของภาพถ่ายที่ช่างภาพมารวมตัวกันคิวเรเตอร์มารวมตัวกัน อันนี้ก็เลยจะมีการคุยกับหน่วยงานอื่นๆ เพื่อเป็นการพัฒนาต่อไป ทั้งตัว RPST ที่เป็นพันธมิตรหลักของเรา หรือ Street Photo Thailand รวมถึงแบรนด์ต่างๆ ที่ถ้าเขาออกอุปกรณ์ใหม่ๆ ก็สามารถมาทดลองในพื้นที่ของเราได้” 

“เราตั้งใจว่าสิ่งที่โฟกัสของเราคือจุดเริ่มต้นและเป้าหมายที่จะไป เรื่องว่าแผนที่เราวางไว้มันจะออแกนิก สำหรับคอมมิวนิตี้เรามองว่าเราเริ่มจากหนึ่งสองสามให้แข็งแรงแล้วเราให้ผู้คนเข้ามาเสริม หรือนับต่อจากนี้ เราไม่ต้องการเป็นคนที่วางทุกอย่างไว้หมด สิ่งนั้นมันคือเผด็จการที่เราไม่อยากให้มันเป็น” 

ผ้าป่านปิดท้ายบทสนทนาว่าพวกเขานั้นต้องการสร้างพื้นที่ให้แข็งแรงให้คนได้เข้ามาถกเถียงถึงประเด็นที่เราต่างรัก ซึ่งเขาเชื่อว่าสิ่งที่เขาทำนั้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่จะช่วยเสริมให้กับชุมชนของเราและขยายวงการให้กว้างขึ้นไปเรื่อยๆ จนถึงจุดที่ไม่ว่าใครที่สนใจในงานภาพถ่ายก็สามารถเข้ามาในพื้นที่นี้แล้วได้อะไรกลับไป 

สำหรับการสัมภาษณ์ในครั้งนี้ D1839 ต้องขอขอบคุณทั้งสามผู้ก่อตั้งที่สละเวลามาพูดคุยในเรื่องของสิ่งที่พวกเรารัก เป็นดั่งความหวังใหม่ที่จะช่วยพาพวกเราได้ทำในสิ่งที่ชอบและให้เกิดการยอมรับในเชิงประจักษ์มากยิ่งขึ้น นี่เป็นเพียงก้าวแรกของ HOP เราต้องมาดูกันต่อไปว่าพวกเขาจะนำทางพื้นที่นี้ไปสู่จุดไหน การที่เรามีแกลเลอรี่ภาพถ่ายอยู่ในศูนย์การค้านั้นอาจบ่งบอกได้ว่า ‘ภาพถ่าย’ ได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตของผู้คนแล้ว หวังว่าครั้งนี้จะถึงคราที่คนที่อยากทำงานภาพถ่ายได้มีโอกาสแสดงฝีมือและสร้างผลงานให้เราได้เห็นถึงความหลายหลากในแนวคิด และผู้สร้างงานได้มีอำนาจต่อรองในสิ่งที่เขาอยากทำ งานที่เขาอยากสร้างอย่างตรงไปตรงมาไร้การปิดกั้นจากอำนาจใดๆ ก็แล้วแต่เสียที

พิสูจน์อักษร: ชลดา สวนประเสริฐ