brand logo

PHOTO | LIFE | INSPIRATION

Apr 2024

Guy Bourdin
ชายผู้ปฏิวัติภาพถ่ายแฟชั่น ด้วยโลกที่เหนือจริง
เขียน : ยอดมนุษย์..คนธรรมดา
16 Feb 2021
1928-1991

ภาพของนางแบบผิวขาว ผมแดง แต่งหน้าจัดจ้าน สีหน้าเย้ายวน เชิญชวนให้ค้นหา คือสิ่งที่ช่างภาพ กี บูร์แดง – Guy Bourdin นำเสนอผ่านหน้านิตยสารต่างๆ มายาวนานหลายสิบปี

 

คงไม่ผิดหากจะบอกว่า เขาคนนี้คือช่างภาพที่มีอิทธิพลมากที่สุดในโลกแฟชั่น 

เพราะขณะที่ภาพยุคก่อน ให้ความสำคัญกับเรื่องความงามของนางแบบและเครื่องแต่งกายเป็นหลัก แต่ภาพของบูร์แดงกลับเลือกสิ่งที่เหนือกว่า ด้วยเขาผสมผสานทั้งงานศิลปะและจินตนาการ ผ่านแสง สี การแต่งหน้า การจัดวางองค์ประกอบต่างๆ หรือแม้แต่สร้างเนื้อหาของภาพ จนกลายเป็นภาพถ่ายแฟชั่นที่เปี่ยมไปด้วยอารมณ์ และความเย้ายวน จนละสายตาไม่ได้เลย 

 

ไม่แปลกเลยว่า ทำไมหลายคนจึงแทบไม่เชื่อว่า นี่คือภาพถ่ายเมื่อ 50-70 ปีก่อน

 

ที่สำคัญผลงานของเขายังกลายเป็นแรงบันดาลใจให้ช่างภาพรุ่นหลัง ตลอดจนแบรนด์ต่างๆ นำงานและสไตล์ไปต่อยอดและพัฒนาเป็นผลงานใหม่ๆ เรื่อยมาถึงปัจจุบัน

 

ยอดมนุษย์..คนธรรมดา ขอพาทุกคนไปสัมผัสกับเรื่องราวของช่างภาพระดับตำนานของฝรั่งเศส ผู้บุกเบิกการนำงานแบบ Surreal เข้ามาผสมผสานในการถ่ายภาพนิตยสาร จนนำไปสู่การสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่แก่วงการแฟชั่น

 

01 ผู้หญิงที่เคยพบแค่ครั้งเดียว

 

เป็นเวลากว่า 30 ปีแล้วที่โรคร้ายได้พรากเอาชีวิต ช่างภาพมือดี กี บูร์แดง ไปตลอดกาล หากแต่เสน่ห์ในศิลปะที่เขาฝากไว้ กลับไม่เคยเลือนหายไปจากความรู้สึกของคนเลย และยังคงมีอิทธิพลต่อวิถีแฟชั่นของสาวปารีสจากรุ่นสู่รุ่นโดยไม่รู้ตัว

ด้วยเขาเป็นช่างภาพหลักของนิตยสารแฟชั่นที่ดังที่สุดในยุคนั้นอย่าง Vogue รวมทั้งยังถ่ายภาพโฆษณาให้กับแบรนด์ต่างๆ อย่าง Chanel, Charles Jourdan, Pentax และ Bloomingdale’s

Guy Bourdin for French Vogue, September 1972

จุดเด่นสำคัญในงานของเขาคือ การผสมผสานระหว่างวิถีชีวิตกับจินตนาการที่มีต่อผู้หญิงในปารีสไว้อย่างลงตัว บางภาพนำเสนอเรื่องราวง่ายๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน อย่าง การนั่งคาเฟ่ จิบไวน์แดง ซื้อขนมปังบาแก็ตต์ แต่บูร์แดงทำให้มันพิเศษขึ้น ด้วยการใช้สี แสง และตัวนางแบบที่โดดเด่น ทั้งการแต่งหน้า แต่งตัวหรือการแสดงอารมณ์

 

นางแบบบางคนมาในรูปลักษณ์สีสันสดใส กรีดตาด้วยอายชาร์โดสีฟ้า ทาลิปกลอสส่องประกายแวววาว สวมถุงน่องซาตินสีดำดูเซ็กซี่ ติดขนนกที่หน้าผาก แววาวไปทั่วทั้งตัว ใส่กางเกงรัดรูป มีสายพันรัดตัว สวมรองเท้าส้นสูง

Guy Bourdin

Guy Bourdin for Charles Jourdan, Autumn 1979

ว่ากันว่า แรงบันดาลใจที่ทำให้นางแบบของเขาดูไม่เหมือนใคร มาจาก ‘แม่’ ผู้หญิงที่เคยพบหน้าเพียงครั้งเดียว

 

Helmut Newton ช่างภาพชื่อดังร่วมยุค เล่าถึงเพื่อนรักว่า

 

“ถึงแม้เขาจำอะไรไม่ได้มากเกี่ยวกับแม่ แต่จำได้ว่าเธอผมสวยและผิวสีครีม เขาจึงชอบทำงานกับผู้หญิงที่ผมสีแดง และผิวขาวเหมือนดอกลิลลี่ การแต่งหน้ามากมายนั้นก็เป็นเพราะความทรงจำเกี่ยวกับแม่ของเขาเหมือนกัน”

Charles Jourdan Ad Campaign, ca. 1975

พ่อของเขาเป็นชาวสเปน ส่วนแม่เป็นชาวเบลเยียม ทั้งคู่แยกทางกันตั้งแต่บูร์แดงเป็นทารก โดยเขาถูกปล่อยให้อยู่กับปู่และย่าที่นอร์มังดี ซึ่งมีกิจการร้านอาหารชื่อ Brasserie Bourdin อยู่ที่กรุงปารีส

 

ต่อมาพ่อของเขาแต่งงานอีกหน และพาแม่เลี้ยงกับน้องๆ ย้ายกลับมาอยู่ด้วยกัน

 

ว่ากันว่า แม่ของเขาพยายามมาพบลูกชายคนเดียวเช่นกัน แต่กลับถูกขัดขวางโดยครอบครัวใหม่

 

บูร์แดงไม่พอใจเรื่องนี้มาก และมักเล่าให้ใครต่อใครฟังว่า เขาเคยเจอแม่แค่ครั้งเดียว ตอนนั้นเธอมาที่ร้านเพื่อนำของขวัญมามอบให้ และอีกหนเขาได้คุยกับเธอผ่านทางโทรศัพท์

 

แต่ถึงจะพบหน้ากันแค่ครั้งเดียว ภาพของแม่กลับฝังแน่นในจิตใจ เขารู้สึกว่าเธอเป็นผู้หญิงที่สวยอย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อน และสง่างามในฐานะชาวปารีส ความทรงจำนี้เองที่มีอิทธิพลและส่งผลต่อการสร้างสรรค์งานของเขาในอีกหลายปีถัดมา

 

พออายุ 18 ปี ขณะที่บูร์แดงกำลังปั่นจักรยานเล่นที่พรอว็องส์ เขาได้พบกับ Lucien Henry พ่อค้างานศิลปะ ชายผู้นี้เองที่ทำให้เด็กหนุ่มรู้จักความงามทางศิลปะ

บูร์แดงย้ายไปอยู่บ้านของเฮนนี่นานหกเดือน หมกหมุ่นอยู่กับการวาดภาพเขียนภาพ กระทั่งต้องไปเป็นทหารอากาศอยู่ที่เซเนกัล อาณานิคมหนึ่งของฝรั่งเศสในทวีปแอฟริกา

 

ณ เมืองดาร์โก เขาได้ทำงานเป็นผู้ช่วยช่างภาพทางอากาศ ค่อยๆ ซึมซับเทคนิคต่างๆ แม้จะยังไม่เก่ง แต่เขารู้สึกว่าเหมือนได้เจอชีวิตใหม่ กระทั่งปลดประจำการในอีก 2 ปีถัดมา ชีวิตของเขาพัวพันอยู่กับการขายกล้อง วาดภาพ และถ่ายภาพ เขาตระเวนถ่ายภาพทั่วปารีสและนอร์มังดี สำรวจชีวิตของผู้คนและทิวทัศน์ของเมืองหลังสิ้นสุดยุคสงครามว่าเป็นอย่างไร

 

หากแต่นั่นไม่ใช่สไตล์ที่แท้จริง แนวภาพที่เขาสนใจ คือ ภาพเหนือจริงที่เปี่ยมไปด้วยจินตนาการ หรือที่เรียกกันว่า Surreal โดยบุคคลหนึ่งที่มีอิทธิพลกับบูร์แดงมากคือ May Ray ช่างภาพแนวเหนือจริงชาวอเมริกัน ที่หลงใหลการทดลอง และชอบตั้งคำถามต่างๆ กับสังคมผ่านผลงานศิลปะ

ว่ากันว่ากว่าที่บูร์แดงจะไปทำงานกับเรย์ได้ต้องใช้ความพยายามหนักมาก เขาถูกภรรยาของเรย์ปิดประตูใส่หน้าถึง 6 ครั้ง กระทั่งครั้งที่ 7 เรย์จึงยอมรับเขาเป็นศิลปินในสังกัด

 

เรย์สอนให้บูร์แดงรู้จักการจัดองค์ประกอบภาพ การใช้แสง และการใช้จินตนาการเข้ามาผสมผสานในงาน ตลอดจนผลักดันให้ชายหนุ่มจัดนิทรรศการภาพในปี 1952 ผ่านนามแฝงว่า Edwin Hallan

 

แต่ที่สำคัญสุด คือ เขาเป็นคนแนะนำบูร์แดงให้กับหัวหน้ากองบรรณาธิการ Vogue Paris ซึ่งนั่นเองที่กลายเป็นจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ที่ส่งให้เขาถูกจดจำในฐานะตำนานช่างภาพแฟชั่นตลอดกาล

 

02 ความซับซ้อนของช่างภาพ

 

“นางแบบทุกคนอยากทำงานร่วมกับเขา เขาเป็นคนค่อนข้างซับซ้อน เป็นศิลปินอย่างไม่ต้องสงสัย คล้ายๆ กับเป็นอัจฉริยะด้านมืด เขาสามารถนำความซับซ้อนในตัวเองมาผสานกับความรู้สึกที่มีต่อผู้หญิงแล้วถ่ายทอดออกมาเป็นผลงานได้อย่างน่าทึ่ง” Susan Moncur นางแบบที่เคยร่วมงานกับบูร์แดงกล่าว

 

หลายคนตัดสินบินข้ามมหาสมุทรเพื่อมาร่วมงานกับเขา เพราะในยุค 1960-1970 เขาคือช่างภาพแฟชั่นที่ทรงอิทธิพลที่สุด

 

ภาพถ่ายของเขาเป็นแรงบันดาลใจให้หญิงสาวชนชั้นกลางมากมายให้กล้าลุกขึ้นมาเปลี่ยนสไตล์ของตัวเอง จากเดิมที่เป็นแนวคลาสสิคเชยๆ ไปสู่การแต่งกายที่เต็มไปด้วยสีสัน และความเป็นปาร์ตี้ จนกลายเป็นวัฒนธรรมใหม่ของฝรั่งเศส

แรงขับสำคัญที่ทำให้เขาสร้างงานฉีกทุกกรอบเช่นนี้ มาจากความกดดันที่ฝังรากตั้งแต่เด็ก ทั้งการที่แม่ทอดทิ้ง รู้สึกว่าพ่อไม่รักและตัวเองไม่เคยเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว แถมเขายังชอบขังภรรยากับลูกชายไว้ที่อพาร์ตเมนต์ เธอจะทำอะไรเพียงลำพังไม่ได้ จนสุดท้ายในปี 1971 เธอก็ถูกพบเป็นศพเพราะใช้ยาเกินขนาด นี่ยังไม่รวมกับแฟนสาวอีกหลายคนที่พยายามฆ่าตัวตาย เพราะทนการบงการและกฎระเบียบแปลกๆ ของเขาไม่ได้

 

แต่ถึงอย่างนั้น เขาก็สามารถแปรความกดดันให้กลายเป็นผลงานที่แปลกใหม่ ไม่เหมือนใคร ดังเช่นนิยามที่ใครหลายคนให้คือ ‘เก๋ไก๋ น่าหมั่นไส้ และมักเหนือจริง’

Guy Bourdin for Charles Jourdan, January 1978

หลายคนบอกว่างานของบูร์แดง มีความเป็นอีโรติกสูง มักหยิบยกประเด็นที่เกี่ยวกับเรื่องเพศขึ้นมาเล่า ภาพผู้หญิงเปลือย กินไส้กรอก และอื่นๆ อีกมากมาย แต่ที่น่าสนใจคือ ถึงมันจะเร้าอารมณ์มากเพียงใด แต่ภาพเหล่านั้นกลับไม่เคยเฉียดใกล้ความหยาบคาย ลามก หรืออนาจารเลย เพราะสิ่งที่เขาดึงมาได้คือ อารมณ์และความปรารถนาของมนุษย์ ที่ต้องการอยากปลดปล่อยมันออกมา และทำให้ผู้หญิงที่อ่าน Vogue เข้าใจว่า เสน่ห์เหล่านี้ คือสิ่งที่ผู้ชายส่วนใหญ่ต้องการจากผู้หญิง

 

บูร์แดงหลงใหลการถ่ายภาพลงนิตยสารมาก หลังก้าวสู่วงการแมกกาซีน เขาแทบไม่เคยจัดนิทรรศการงานเลย เพราะตั้งใจให้งานทั้งหมดถูกนำเสนอผ่านหน้าหนังสือเท่านั้น 

 

เขาเริ่มต้นงานที่ Vogue ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 1955 ด้วยภาพที่ชื่อว่า Hat Shocker หลังจากนั้น เขามีผลงานภาพกับที่นี่ต่อเนื่องยาวนานถึง 30 ปี โดยระหว่างนั้นเขามีช่างภาพคู่หูที่ชื่อ  Helmut Newton ซึ่งเป็นทั้งเพื่อนและคู่แข่ง คอยผลักดันและเติมเต็ม ช่วยกันสร้างวงการแฟชั่นยุคใหม่ด้วยกัน

 

Guy Bourdin for Chapeau-choc (Hat Shocker) , 1954

เคยมีผู้วิเคราะห์ว่า แม้บูร์แดงกับนิวตันจะถ่ายภาพแฟชั่นล้ำสมัยเหมือนกัน แต่งานของบูร์แดงกลับเป็นที่พูดถึงมากกว่า ด้วยภาพถ่ายก็เป็นเหมือนลูกกวาดที่เต็มไปด้วยสีสัน และพลังมหาศาล ส่วนหนึ่งมาจากความสามารถทางด้านศิลปะที่สั่งสมมาตั้งแต่ก่อนเริ่มจับกล้อง

 

หลายคนมักเปรียบฉากของเขาว่าเป็นเหมือนหนังของ Alfred Hitchcock เพราะมันทั้งน่าระทึกใจ ชวนลุ้น น่าติดตาม และอาจดูน่าสะพรึงกลัว บ่อยครั้งที่เขาทำให้นางแบบเป็นซากศพ ดูน่าเกลียด น่าสยดสยอง หรือบางครั้งแต่งหน้าเยอะจนดูเหมือนตุ๊กตา คล้ายๆ เป็นหุ่นเชิด

นางแบบคนหนึ่งเล่าว่า เธอไม่ต้องโพสท่าอะไรมาก แค่นอนตายบนพื้นหรือร้องไห้หลังอ่านจดหมายรัก มันเหมือนเป็นการเล่าเรื่องบางอย่าง ที่ทำให้คนรู้สึกอยากรู้อยากเห็น แล้วเวลาถ่ายเขาจะดูสนุกมาก ยืนหัวเราะคิกคัก

Guy Bourdin, Vogue Paris, 1970

บูร์แดงชอบทำงานกับนางแบบหน้าใหม่ๆ มากกว่าพวกมืออาชีพ อาจเป็นเพราะพวกเธอมีอะไรให้ค้นหา และยังไม่รู้วิธีการที่จะรับมือกับเขาได้ดีพอ เนื่องจากเขาชอบสร้างบรรยากาศแปลกๆ ให้นางแบบรู้สึกกดดัน สตูดิโอของเขาเป็นเหมือนคุกใต้ดิน ไม่มีโทรศัพท์ ไม่มีการติดต่อกับโลกภายนอก ห้องน้ำก็สกปรก มืด น่ากลัว บางครั้งก็มีหนูวิ่งเผ่นผ่าน แถมเขายังสนุกที่จะดึงเวลาเพื่อจะได้อยู่กับพวกเธอนานๆ

 

ไม่แปลกเลยว่าทำไมนางแบบหลายคนรู้สึกทนไม่ได้ และมองว่าเขาเป็นพวกเกลียดผู้หญิง

 

ซึ่งประเด็นนี้ Michel น้องชายต่างแม่ก็เห็นด้วย โดยบอกว่า บูร์แดงต้องการลงโทษผู้หญิง เพราะแม่ทำให้เขาผิดหวัง เขาอาจจะปฏิวัติการถ่ายภาพแฟชั่น และทำให้มันกลายเป็นงานศิลปะ แต่ความจริงแล้ว เขาเป็นคนบ้า และเป็นคนที่ใช้ชีวิตร่วมกันได้ยาก

 

Guy Bourdin For French Vogue,March,1973

แต่ถึงอย่างนั้น ภาพของเขาก็ยังเป็นที่ต้องการไม่เปลี่ยนแปลง เพราะเขาสามารถสร้างสรรค์สิ่งใหม่ได้ตลอดเวลา เขาสนุกกับการคิดถึงสถานการณ์ที่เป็นไปไม่ได้ ฉากแฟนตาซีที่ทุกคนชมแล้วรู้สึกเหมือนกับโบยบินไปด้วยกัน นี่เองที่กลายเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้แบรนด์หรูมากมาย อยากให้เขามาถ่ายภาพโฆษณาให้ ซึ่งบูร์แดงก็ทำออกมาได้อย่างดีเยี่ยม และทำให้ภาพเหล่านั้นกลายเป็นที่กล่าวขานในวงกว้าง แม้ว่ามันอาจจะดูแหวกแนวไปมากก็ตาม

 

อย่างเช่นภาพปฏิทินของ Pentax เมื่อปี 1980 เขาให้นางแบบอเมริกัน Nicolle Meyer เปลือยเปล่าและนอนคว่ำอยู่ข้างสระทาเล็บสีแดงที่ดูเหมือนเลือด หรือแคมเปญภาพของ Roland Pierre เมื่อปี 1982-1983 ดูคล้ายๆ จะเหมือนเป็นบันทึกอุบัติเหตุของตำรวจมากกว่าภาพถ่ายแฟชั่น ขณะที่โฆษณาของ Charles Jourdan เมื่อปี 1975 เขาก็ไม่ได้ใช้นางแบบ แต่กลับถ่ายภาพรองเท้าข้างหนึ่งคู่กับสายไฟสองเส้น โดยที่เต้าเสียบเส้นหนึ่งมีเลือดไหลออกมาจากรูเสียบปลั๊ก

ความพิเศษที่ยากจะเลียนแบบนี้ ที่ส่งให้เขากลายเป็นช่างภาพที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งของยุค

 

 

03 สิ้นสุดด้วยความตาย

 

หลังขึ้นไปสู่จุดสูงสุดของวงการมานานหลายสิบปี ความนิยมในภาพเหนือจริงแบบบูร์แดงก็เริ่มเสื่อมคลายลง ผู้คนหันมาสนใจภาพที่เน้นความเป็นธรรมชาติมากยิ่งขึ้น บวกกับนางแบบหลายคนก็เริ่มทนเขาไม่ไหว ขอยุติการทำงานร่วมกัน เพราะรู้สึกว่าบูร์แดงเรียกร้องมากเกินไป

 

ไม่เพียงเท่านี้ บูร์แดงยังมีปัญหาเรื่องพฤติกรรมส่วนตัว ทั้งติดต่อยากเพราะเขามักดึงสายโทรศัพท์ออกจากตัวเครื่องอยู่ตลอด แถมยังเชื่อเรื่องโชคลางอย่างหนัก เลือกทำงานกับคนที่เกิดในจักรราศีที่พอใจ เวลากินอาหาร หากโต๊ะนั้นมีคนนั่งอยู่แล้ว 13 คน คนที่ 14 ก็จะถูกสั่งให้ลุกขึ้นไป หรือการที่เขาขี่อูฐมายังสำนักงานของ Vogue กลางกรุงปารีส แถมยังบอกใครต่อใครว่า ใฝ่ฝันจะใช้ศพจากห้องดับจิตมาเป็นนางแบบ

 

แต่ที่เรียกว่าเป็นจุดพลิกผันสำคัญคือ การที่แฟนสาวของเขา Sybille Dallmer แขวนคอตายเมื่อปี 1981 โศกนาฏกรรมครั้งนั้นเป็นเหมือนจุดระเบิดทำให้เขาหมดแรงบันดาลใจ และไม่สามารถสร้างฉากที่แปลกใหม่ในหัวได้อีกเลย บูร์แดงเลยหยุดทำงาน เริ่มใช้ชีวิตอย่างสันโดษ

 

ถัดมาอีกปีหนึ่ง เขาถูกเรียกเก็บภาษีจำนวนมาก เขาไปสำนักงานสรรพากรด้วยร่างกายที่เปลือยเปล่า พร้อมกับชี้หน้าด่าเจ้าหน้าที่ว่าเป็นนาซี จนถูกส่งตัวเข้าคุก แม้บรรณาธิการของ Vogue จะมาประกันตัว แต่บูร์แดงกลับบอกว่าอยากอยู่ในคุกต่อ 

แม้สุดท้ายบรรณาธิการจะเอาเขาออกมาอยู่ดี แต่บูร์แดงก็ไม่มีผลงานเป็นชิ้นเป็นอันอีก กระทั่งในปี 1991 บูร์แดงก็จากไปอย่างเงียบๆ ด้วยโรคมะเร็ง พร้อมทิ้งผลงานไว้มากมาย ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นแรงบันดาลใจให้ช่างภาพรุ่นใหม่ได้เดินตามจนถึงทุกวันนี้

 

ข้อมูลประกอบการเรียบเรียง

– สารคดี Dreamgirls: The photography of Guy Bourdin สถานีโทรทัศน์ BBC

– เว็บไซต์ THE UNITED NATIONS OF PHOTOGRAPHY

– เว็บไซต์ Anatomy Films

– เว็บไซต์ The Guardian

– เว็บไซต์ PHAIDON

– เว็บไซต์ TRENDLAND

พิสูจน์อักษร ชลดา สวนประเสริฐ