ภาพ : วิรุนันท์ ชิตเดชะ
The Beginning
“ไม่ใช่ว่าผมเริ่มต้นจากการชอบการถ่ายภาพโดยตรงหรอกนะ” กันต์ สุสังกรกาญจน์ หรือ ‘ครูกันต์’ ของทุกคนเปิดบ้านอบอุ่นต้อนรับทีมงานของเราอย่างเป็นกันเอง จนทำให้ความเกร็งของเราในระหว่างการเดินทางมาถึงลดน้อยลงจนเกือบหมด “ผมชอบของเล่น และมองว่ากล้องถ่ายรูปเป็นของเล่นชิ้นหนึ่ง ด้วยกลไกของมันทำให้เราสนุกน่ะครับ ผมชอบเล่นรถบังคับมากจนถึงขั้นลงแข่งขันจริงจังเลยนะครับ แต่พอใกล้จะเอนทรานซ์ ก็ตัดสินใจเลิกเล่นรถบังคับไปครับ”
แม้ว่าจะออกตัวว่าชอบเครื่องยนต์กลไกเป็นทุนเดิม แต่ครูกันต์กลับเลือกเรียนรัฐศาสตร์ ทั้งๆ ที่เป็นเด็กที่เลือกเรียนสายวิทย์-คณิตมาตั้งแต่ช่วงมัธยมปลาย “ผมเรียนสายวิทย์ฯ เพราะเด็กเรียนเก่งเขาไม่มีใครเลือกเรียนสายศิลป์กัน สายวิทย์มันเลือกคณะได้กว้างกว่า แต่ช่วงเอนทรานซ์ ผมก็เลือกศิลป์-คำนวณ โดยอ่านเองและติวบ้างนิดหน่อย คือถ้าจะเอาคณะสูงกว่านี้ก็ต้องเป็นแพทย์หรือวิศวะ ผมไม่ได้ชอบทั้งฟิสิกส์ เคมี และชีวะพร้อมกันทั้งสามอย่าง รู้สึกว่าไม่ใช่แนว และไม่ใช่ทางของผม ผมชอบแค่เคมี เลขก็กลางๆ ผมเลยเปลี่ยนยุทธวิธี จากการเลือกสายแข็งก็มาเลือกสายปานกลางเอาครับ”
เส้นทางการถ่ายภาพของครูกันต์เกิดขึ้นตั้งแต่ก่อนเขาเข้าเรียนมหาวิทยาลัย มันเกิดจากเรื่องง่ายๆ จากการเข้าร่วมกิจกรรมกลุ่มขายของในชั้นเรียนของตัวเองช่วงมัธยมปลายเท่านั้น “ตอนนั้นผมกับเพื่อนๆ รวมตัวกันทำกิจกรรมของโรงเรียน ผมก็ไม่ได้คิดอะไรไปมากกว่าแค่อยากจะบันทึกภาพเหล่านั้นไว้เป็นความทรงจำ ก็เอากล้องพลาสติกป๊อกแป๊กของที่บ้านมาถ่าย และในช่วงม. 6 ผมก็ถ่ายรูปเพื่อนๆ ที่จะจบการศึกษาพร้อมกัน โดยในโรงเรียนจะมีกลุ่มช่างภาพที่มีหน้าที่ทำหนังสือรุ่น แต่ละห้องก็เลือกคนที่ถ่ายรูปเป็นมาถ่ายสมาชิกห้องผสมกับภาพของช่างภาพในโรงเรียน นั่นคือจุดเริ่มต้นจริงๆ ครับ
“และในช่วงเรียนรัฐศาสตร์สี่ปีนี่ ผมจริงจังกับการถ่ายรูปมากกว่าการเรียนอีกนะครับ” ครูกันต์เล่าด้วยรอยยิ้ม “ช่วงนั้นผมถ่ายรูปกิจกรรมทุกอย่างของคณะ ช่วงปิดเทอมก็ไปร่วมกับชมรมถ่ายภาพของคณะวิทยาศาสตร์ มีอาจารย์ในคณะพาไปทั่วประเทศไทยเลยครับ ขึ้นเหนือลงใต้ จริงจังมาก ตัวอาจารย์แกชอบเที่ยวธรรมชาติ ชอบออกไปเจออะไรใหม่ๆ ส่วนคุณพ่อของผมเป็นวิศวกรสำรวจฯ ดังนั้น พ่อจะไม่พาผมไปแคมป์ปิ้งอย่างแน่นอน เพราะตลอดชีวิตของพ่อทำงานในแคมป์มาตลอด พ่ออยากอยู่บ้านที่มีน้ำไหลไฟสว่าง นั่นคือความสุขของพ่อ ลูกก็เลยไม่ได้ไปแคมป์ปิ้งเดินป่า มาได้ทำช่วงอยู่มหาวิทยาลัยนี่ล่ะครับ”
แม้ว่าจะทำกิจกรรมถ่ายภาพเป็นหลักมากกว่าการเรียน แต่ก็ดูเหมือนว่ามันจะยังไม่ใกล้การจับกล้องเป็นอาชีพอยู่ดีนะ เราตั้งข้อสังเกต มันเกิดขึ้นจริงๆ เมื่อไหร่กันเหรอ “หลังจากจบปริญญาตรีแล้ว ผมก็ตัดสินใจว่าผมจะไม่ทำอะไรที่เสียเวลาอย่างการไปเรียนปริญญาตรีโฟโต้ใหม่อีกสี่ปีเป็นอันขาด ผมเลยมองว่าผมจะเรียนต่อปริญญาโท และหาคอร์สโฟโต้ลงสั้นๆ แทน ตอนนั้นผมยังไม่ได้มุ่งมั่นจะทำอาชีพช่างภาพเต็ม 100% เลยเลือกเรียนต่อปริญญาโทเพื่อเป็นหลักประกันกับชีวิตน่ะครับ กว่าจะได้มาจับเป็นอาชีพจริงจังก็น่าจะตอนกลับมาจากเมืองนอกเลยน่ะครับ”
ช่วงที่ครูกันต์กลับมาหางานทำที่ประเทศบ้านเกิดเป็นช่วงเวลาที่ประเทศไทยประสบวิกฤติภาวะเศรษฐกิจครั้งสำคัญของประวัติศาสตร์ที่เรียกว่า ‘วิกฤติต้มยำกุ้ง’ พอดี “ผมจบด้านการพาณิชย์ระหว่างประเทศ ซึ่งจะไปทำอะไรได้ในตอนนั้น คนโดนเลย์ออฟกันครึ่งค่อนเมือง ผมเป็นเด็กไม่มีประสบการณ์ มีแต่ใบปริญญา ก็เลยตัดสินใจหอบ portfolio ภาพขาวดำ 10 ภาพของตัวเองไปสมัครงานเรื่อยๆ จนน้าชำ (ชำนิ ทิพย์มณี) เรียกเอาพอร์ตผมไปดู และแกเป็นคนสัมภาษณ์ผม แต่แกบอกว่า ‘ผมว่าคุณไปทำงานศิลปะของคุณดีกว่า’ อะไรประมาณนั้นนะครับ จำไม่ได้แน่ว่าแกพูดอะไรบ้าง”
หลังจากเดินหางานไปทั่วสารทิศ ครูกันต์ก็เริ่มต้นอาชีพหลังกล้องด้วยการเป็นครูสอนที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ควบคู่ไปกับการถ่ายปกอัลบั้มของศิลปินต่างประเทศที่มีค่ายในเมืองไทย และงานช่างภาพนิ่งเบื้องหลังกองถ่ายภาพยนตร์ไทยเรื่องดังๆ หลายเรื่อง โดยวิชาแรกที่เขารับหน้าที่สอนคือ ‘ห้องมืดขาวดำ’ “อะไรทำให้ผมเป็นครูมาได้ยาวนานเหรอ ตอบยากจัง” เขารำพึง ก่อนจะนิ่งไปสักพัก “นึกออกแล้ว ผมงานน้อย เลยมีเวลาไปสอน ถ้าผมเป็นช่างภาพที่งานชุกมากๆ ก็คงจะไม่ค่อยมีเวลาสอนสักเท่าไหร่ ปัจจัยหลักๆ คืองานผมน้อย เลยจัดเวลาสอนง่ายหน่อย คือ คุณต้องเลือกเอาอย่างใดอย่างหนึ่งนะครับ ถ้าคุณจะเป็นช่างภาพคอมเมอร์เชียลจัดๆ คุณก็ต้องทิ้งงานสอน ผมเลยเลือกเป็นทั้งช่างภาพฟรีแลนซ์ และอาจารย์ฟรีแลนซ์น่ะครับ สองอย่างนี้ก็พอดีๆ กัน”
The Process
สิ่งหนึ่งที่สายคอนเทนต์อย่างเรามักตั้งคำถามกับสายวิชวลก็คือ เขาเปลี่ยนภาพสีสันจัดจ้านบนโลกแห่งความเป็นจริงให้กลายเป็นภาพโมโนโทนบนแผ่นฟิล์มและแผ่นกระดาษได้อย่างไร เขารู้ได้อย่างไรว่าสีไหนจะให้ความเข้มอ่อนของสีเทาอยู่ในระดับไหน นี่เป็นคำถามที่เรามักจะถามผู้ลั่นชัตเตอร์ด้วยความใคร่รู้เสมอ ครั้งนี้ก็ไม่ต่างกัน “การถ่ายทอดภาพสีให้ออกมาเป็นภาพขาวดำสำหรับผมคือการเปลี่ยนน้ำหนักภาพในหัวครับ” ครูกันต์อธิบายราวกับมันเป็นกระบวนการง่ายๆ เหมือนการใช้ชีวิตประจำวัน “ผมเห็นภาพตรงหน้าคือรู้ทันทีว่าขาว-เทา-ดำจะมีน้ำหนักอย่างไร มองไปถึงกระบวนการในห้องมืดเลยว่าจุดนี้จะขาวเกินไป หรือดำเกินไปเมื่อเข้าห้องมืด อันนี้จากประสบการณ์ล้วนๆ เลยครับ ภาพขาวดำจริงๆ แล้วมันก็มีแค่โทนขาวกับโทนดำ เท่านั้นเองครับ ก็เหมือนกับดนตรีที่มีแค่เสียงสูงกับเสียงต่ำ เราจะเอามันมาร้อยกันอย่างไรให้ไพเราะ ภาพขาวดำก็คือการนำน้ำหนักของสีขาวกับสีดำมาเคียงกันอย่างไร โทนสีเทาต้องเป็นอย่างไร จริงๆ แล้วผมว่าเรื่องเหล่านี้เป็นสัญชาตญาณมากๆ เลยนะครับ มันไม่มีสูตรตายตัว ไม่มีงานวิชาการด้านศิลปะที่จะมาอธิบายได้ทั้งหมด 100% หรอกครับ ไม่อย่างนั้นทุกคนก็แต่งเพลงเพราะหมดแล้วสิ”
เห็นชัดเลยว่าภาพสีสันตรงหน้า เมื่อผ่านสายตาเปี่ยมประสบการณ์ของครูกันต์แล้ว มันกลายเป็นกระบวนการผลิตภาพขาวดำอย่างเบ็ดเสร็จ ถ้าเช่นนั้น ในช่วงการเปลี่ยนผ่านจากกระบวนการในห้องมืด มาเป็นกระบวนการโฟโต้ช็อปที่หน้าจอ เขาต้องปรับตัวมากน้อยขนาดไหน เราถามด้วยแววตาใสซื่อ เกือบจะเป็นซื่อบื้อเสียด้วยซ้ำ เพราะในหัวเราเชื่อว่ากระบวนการในห้องมืดและกระบวนการหน้าจอนั้นแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ครูกันต์เพียงแค่อมยิ้มอย่างเอ็นดูกับคำถามของเรา “ไม่ค่อยมีคนรู้หรอกครับว่า ตอนที่ผมไปเรียนต่อที่ต่างประเทศ ผมเรียนโฟโต้ช็อปเวอร์ชั่นสามมาด้วยนะครับ” เราเลิกคิ้วอย่างคาดไม่ถึง “ผมเริ่มเรียนโฟโต้ช็อปมาตั้งแต่ตอนนั้น ควบคู่กับการเรียนกระบวนการในห้องมืดกับอาจารย์ไปพร้อมกัน ดังนั้น สำหรับผม ผมมองทุกอย่างเป็นชิ้นเดียวกันหมด โฟโต้ช็อปตอบโจทย์ในการแก้รอยขูดขีดแบบฟิล์มเสียที่ไม่สามารถแก้ไขในห้องมืดได้ มันคือการทำงานควบคู่กันครับ
- © GUN SUSANGKARAKAN
- © GUN SUSANGKARAKAN
“สำหรับผม กระบวนการห้องมืดกับกระบวนการโฟโต้ช็อปเป็นอันเดียวกันเลยครับ” เขาเดินหายไปหยิบหนังสือที่ดูเก่าเก็บ แต่มองออกว่าผ่านการรักษาทะนุถนอมเป็นอย่างดีออกมาเปิดให้พวกเราดู “ชาร์ต film data ที่ John Sexton ทำให้ Ansel Adams ก็คือฟิล์มเคิร์ฟที่ถูกถ่ายทอดมาในโฟโต้ช็อปนี่ล่ะครับ มันคือสิ่งเดียวกัน คนพัฒนาก็คือตัวจอห์นเอง คนเดียวกัน และในตอนที่โฟโต้ช็อปเริ่มพัฒนาโปรแกรม เขาก็ไปปรึกษา Charlie Cramer เพื่อศึกษากระบวนการต่างๆ ของเขาในห้องมืด เครื่องมือต่างๆ ของโฟโต้ช็อปก็ถอดแบบมาจากกระบวนการอนาล็อกในห้องมืดทั้งสิ้น ถ้าเข้าใจพื้นฐานตรงนี้ ดิจิตอลกับอนาล็อกก็ไม่ใช่ความแตกต่างหรอกครับ”
ถ้าเช่นนั้น ครูกันต์เชื่อในเครื่องมือไหนมากกว่ากัน… เป็นคำถามที่เราหลุดปากออกไปแล้วอยากจะตบปากตัวเอง เพราะเอาเข้าจริง… เขาได้ตอบคำถามนี้ไว้แล้วเมื่อสักครู่ แต่อีกครั้งที่ครูกันต์เพียงแต่อมยิ้มบางๆ ก่อนจะตอบคำถามของเราโดยไม่ให้เรารู้สึกอายมากนัก “ร่างกายผมแบกไม่ไหวแล้วครับ” เขาเหลือบมองไปยังอุปกรณ์กล้องแน่นปึ้กที่ทีมงานของเราแบกมาพบเขาในวันนั้น “ตอนเด็กๆ ผมยังแข็งแรง ผมแบกกล้องจนหลังทรุด ตอนนี้ผมใช้รถล้อลากเท่านั้นครับ ตอนนี้ผมเลือกยึดความสะดวกของร่างกายเป็นหลักเลยครับ ถ้าโลฯ สามารถขับรถถึง เดินถือกล้องไม่ไกล ใช้ฟิล์มได้ ผมก็เลือกเท่าที่จำเป็น ผมไม่แบกขาตั้งพร้อมไฟสองหัวอีกต่อไปแล้วครับ นอกจากงานคอมเมอร์เชียลที่มันจำเป็นจริงๆ”
กรรมวิธีการระหว่างอนาล็อกกับดิจิตอลมันอาจจะคล้ายกันก็จริง แต่ในทางปฏิบัติ มันแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงนะ ช่างภาพของเราตั้งข้อสังเกต ส่วนตัวแล้วครูกันต์ชอบกระบวนการไหนมากกว่ากันระหว่างดิจิตอลกับอนาล็อก ช่างภาพ (และบรรณาธิการบริหารของเรา) ที่นั่งอยู่ข้างๆ ถามขึ้นมาราวกับรู้ใจว่าจริงๆ แล้วเราอยากจะถามอะไรแบบนี้มากกว่าคำถามตื้นๆ ที่เราเพิ่งหลุดออกไปเมื่อสักครู่ ทำให้เราลอบถอนหายใจอย่างโล่งอก “ณ ตอนนี้ ผมชอบดิจิตอลครับ” ครูกันต์ตอบโดยไม่ลังเล “เพราะมันสุดแล้วน่ะครับ มันทำให้จินตนาการเราเปิดกว้างมากกว่า เพราะสามารถควบคุมสิ่งที่เราไม่สามารถทำได้ในห้องมืดทั้งหมด ในส่วนของอนาล็อก ผมทำมาหมดแล้ว ทั้ง contrast control ที่มันยากมากๆ ต้องคิดตั้งแต่ก่อนถ่ายว่าจะให้น้ำหนักภาพออกมาเป็นอย่างไร เอาฟิล์มไป flash ก่อนนำมาถ่ายเพื่อลดคอนทราสต์ เพิ่มความสว่างในพื้นที่มืด พอถึงเวลาล้างก็ต้องควบคุม ล้างลด-ล้างเพิ่ม ตอนพรินท์ก็ต้องไป flash กระดาษซ้ำก่อน ผมทำได้มาหมดแล้วจริงๆ ผมก็ฟินไปตั้งแต่ตอนนั้นที่ทำได้แล้ว เป็นความรู้สึกที่ว่าผมทำได้ช่วงที่ผมไปเรียนกับจอห์นนั่นล่ะครับ ก่อนที่ผมจะไปเรียนกับเขา ผมก็พรินท์ไม่ได้เรื่องเหมือนกัน น้ำหนักสายตาผมยังไม่ได้ พอได้เป็นครูแป๊บเดียว ผมพลิกหน้ามือเป็นหลังมือเลยครับ จบทุกอย่าง”
The Master and The Apprentice
ฟังๆ ดูแล้วการมาถึงของมาสเตอร์อย่างจอห์นคือปัจจัยเปลี่ยนชีวิตของครูกันต์เลยนะ เราตั้งข้อสังเกต ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง ความเป็นครูเป็นศิษย์ในวงการช่างภาพนั้นสำคัญขนาดไหน ในสายตาของครูกันต์กันล่ะ “งานสายช่างภาพเป็น on-the-job training ครับ” เขาตอบทันทีโดยไม่ต้องคิด “มันคือระบบคิดของโรงเรียนอาชีวะครับ โรงเรียนที่ผมไปเรียนที่อเมริกาก็เป็นโรงเรียนอาชีวะ เรียนมาสองปีก็จบทำงานได้เลย ไม่จำเป็นต้องมีปริญญาตรี ผมว่ามันก็เป็นเช่นนั้นล่ะครับ”
และในฐานะที่ผ่านประสบการณ์อย่างโชกโชนในโลกสีเทามาแล้วทั้งในระบบอนาล็อกและดิจิตอล มีสิ่งไหนที่ครูกันต์ยังไม่ได้ทำอีกไหม เราอดสงสัยไม่ได้ “ในโลกดิจิตอล ทุกอย่างมันตอบสนองผมได้เต็มที่แล้วครับในแนวทางที่ผมทำ” เขายิ้ม “ความท้าทายถัดไปคือการทำอะไรที่มันผสมผสานระหว่างฟิล์มกับดิจิตอลครับ” เราเลิกคิ้ว “คือการทำดิจิตอลพรินท์ลงกระดาษซิลเวอร์น่ะครับ เพราะความเป็นดิจิตอลมันไม่สุดอยู่อย่างหนึ่งคือกระบวนการพรินท์ มันไม่ได้จับต้อง ไม่มีกระบวนการที่จับต้องได้เหมือนกระบวนการในห้องมืด ภาพมันผ่านมือคนน้อยไปหน่อย มันผ่านกระบวนการในหัวเยอะไปหมด แต่ผ่านกระบวนการมือน้อยมาก ผมยังสนุกกับการสัมผัสน้ำยาลื่นๆ เมือกๆ อยู่ ยิ่งถ้าน้ำยาเหม็นๆ นี่ยิ่งชอบดมเลยครับ” ประโยคนี้เรียกรอยยิ้มได้จากทั้งช่างภาพ และผู้ช่วยช่างภาพที่นั่งอยู่ในห้องได้อย่างพร้อมเพรียง