ภาพ : ธันวา ลุจินตานนท์ , ณัฏฐพร ดั่งดาวดึงส์
ในโมงยามแห่งความสิ้นหวัง แสงไฟจากตึกสูงยังส่องสว่างทำงานอย่างไม่เคยหลับใหล กำปุ๊ง – ปองณภัค ฟักสีม่วง ศิลปินที่สะท้อนประสบการณ์และบรรยายความเหน็ดเหนื่อยการใช้ชีวิตในกรุงเทพฯ ผ่านภาพถ่ายของเธอ ที่เปรียบเสมือนบทบันทึกถ้อยคำของคนพ่ายแพ้ แต่ก่อนที่จะแพ้เขาได้สู้อย่างเต็มที่แล้ว ชุดภาพถ่ายที่ดูชวนเหงาสุดใจแต่ในมุมหนึ่งเป็นการบอกเราว่าให้มีความหวังสู้ต่อไป เพราะคุณไม่ได้เจอปัญหาอย่างเดียวดาย
ชื่อเสียงของเธอเป็นที่รู้จักจากการนำผลงานภาพถ่ายไปวางในตลาด NFT ด้วยสไตล์ภาพสีสันจัดจ้านแต่ชวนให้ครุ่นคิดถึงชีวิตประจำวันอันแสนลากเลือดของคนเมืองที่มีทิวทัศน์แลนด์มาร์คที่คุ้นชินเป็นฉากหลัง ด้วยความที่เรื่องราวในภาพนั้นไปสัมผัสความรู้สึกของใครหลายคนทำให้ภาพของเธอเปิดตัวเป็นที่รู้จักสู่วงกว้างในเวลาเพียงไม่นาน โดยปีนี้นับเป็นปีที่สามของเธอเท่านั้นเองในฐานะผู้สร้างสรรค์งานศิลปะผ่านภาพถ่าย หลังจากที่ปี 2019 ที่นับเป็นครั้งแรกที่เธอได้จับกล้อง DSLR โดยปี 2020 คอลเลคชั่น Bangkok in The Rain = Hell on Earth ถือเป็นผลงานแจ้งเกิดของเธอเลยก็ว่าได้ ที่ก่อนจะมาถึงตรงนี้ได้เธอเล่าให้เราฟังว่าต้องเจอกับคอมเมนต์แย่ๆ มากมาย แต่สุดท้ายเธอก็เอาชนะมาได้ด้วยความยึดมั่นในสิ่งที่ตัวเองทำแล้วมีความสุขจริงๆ
-กรุงเทพฯ เมืองที่กินความหวังของผู้คนเป็นอาหาร-
ในวรรคเปิดของงาน Bright Lights & Tired Street ขึ้นต้นว่า “แด่ผู้คนที่อาศัยอยู่ในเมือง ที่ถนนหนทางและความฝันพังทลาย” เราถามต่อถึงความรู้สึกภายใต้คำเหล่านี้ที่เธอเขียนกลั่นออกมาไว้ต้อนรับผู้ชมได้อย่างน่าสนใจ
“พอได้คอนเซ็ปต์ Bright Lights & Tired Street เราใช้เวลาไม่ถึงห้านาทีในการเขียนคำพวกนั้นออกมา แล้วแบบเหมือนเราคิดแล้วว่าเราไม่ได้ทำเพื่อตัวเอง เราทำให้คนที่รู้สึกอย่างนี้ให้มีคนเข้าใจเขา เพราะฉะนั้นสิ่งที่เรากำลังจะเขียนต้องเกี่ยวโยงกับทุกคน มันก็จะพูดถึงว่าถนนพังแล้วยังทำลายความฝันคนอื่นอีกหรอ แล้วก็คนที่ต้องตื่นเช้าและนอนดึก คนที่เหมือนแบบว่าไม่ได้มีอิสรภาพ เราก็อยากให้ความหวัง คือไม่รู้ว่าอาจเป็นความหวังที่แบบแค่นิดเดียว แต่สักวันมันน่าจะมีพื้นที่สำหรับพวกเขาที่จะอยู่ได้สบายกว่านี้ จริงๆ เราว่าหลายคนเป็นหรือน่าจะทุกคนในประเทศไทยเลยที่เขารู้อยู่แล้วว่ามันมีปัญหาอะไรบ้าง” ระหว่างที่ผู้เขียนนึกตามสิ่งที่เธอบรรยาย ได้เอ่ยเสริมว่า “ก็คือการเมือง” เธอพยักหน้าตอบรับ “มันหนีไม่พ้นอยู่แล้ว”
หลังจากที่เราได้ชมภาพในงานเสร็จได้เกิดก้อนอารมณ์มวลใหญ่ที่ชวนอึดอัดแต่มองเข้าไปก็สวยงาม จึงชวนคุยต่อถึงว่าการคัดภาพมาจัดแสดงเธอเริ่มต้นจากจุดไหนและชื่อของงานมีที่มาที่ไปอย่างไร
“Bright Lights & Tired Street จริงๆ มันเป็นท่อนแรกของเพลง Walk Above The City ของ The Paper Kites ซึ่งเป็นเพลงที่ปุ๊งชอบมาก เหมือนตอนนั้นเรารู้ตัวว่าชอบถ่ายภาพในเมืองตอนกลางคืน แต่เราไม่รู้ว่าจะทำยังไงให้มันเข้าถึงคนทุกคนให้หลายๆ คนได้รับประสบการณ์ร่วมกัน ให้มันไม่ใช่งานของปุ๊งคนเดียว คนอื่นสามารถดูแล้วรู้สึกร่วมไปกับมัน
ภาพส่วนใหญ่ (ในงาน) ที่ปุ๊งถ่ายก็จะเป็นภาพในกรุงเทพฯ ทั้งนั้น และก็มีการต่อยอดภาพที่มาจากบทสัมภาษณ์ของ Vouge ที่ปุ๊งเคยลง Bangkok in The Rain = Hell on Earth มันก็เลยกลับไปมองถึงปัญหาว่าทำไมภาพนั้นถึงเกิดขึ้น มันเกิดจากปัญหานู่นนี่สุดท้ายเราก็มานั่งคิดว่า ไอ้ปัญหาที่ทุกคนเคยเจอ วิกฤตต่างๆ หรือความงามหลายอย่างที่คนเจอ มันมารวมเป็นอะไรได้บ้าง ปุ๊งก็นึกถึงเพลงนี้ขึ้นมา เออมันก็ดูเหมาะ Bright Lights ก็แสงสีในเมือง Tired Street คนที่ต้องทำงานเหนื่อย ก็รู้สึกว่ามันก็เหมาะกับภาพชุดนี้ดี”
ระหว่างที่คุยกัน เราสารภาพความรู้สึกหลังจากที่ได้ดูงานของกำปุ๊งไปว่า เรารู้สึกถึงความเหนื่อยล้าจนหมดแรงแต่ไม่วายก็ยังโดนแสงสีเทอาบอยู่ทุกเวลา เป็นความรู้สึกที่ว่าร่างกายที่แค่ถึงห้องคงทิ้งตัวลงและหลับไปอย่างไม่รู้เรื่องรู้ราว แต่แสงไฟจากป้ายโฆษณาก็คงทำงานไม่มีที่ท่าว่าจะเหน็ดเหนื่อย ซึ่งมันก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ เพราะเหมือนเธอส่งสัญญาณแห่งความเข้าใจบางอย่างตอบกลับมา
“ปุ๊งเคยสมัยที่เป็นสถาปนิก ทำงานออฟฟิศ ออฟฟิศก็ไกลพอสมควร คือเราก็เสียเวลาเดินทางไปเพื่อเข้างานเก้าโมง แล้วเก้าโมงหนึ่งนาทีก็คือสาย กลับบ้านต้องเลิกงานหกโมงเย็น แต่งานยังไม่เสร็จ คือกลับไม่ได้ โห่ ถ้าวันนั้นฝนตกการเดินไป MRT ก็ลำบาก แล้วกลับมาก็อย่างที่บอกมันก็เหนื่อยแล้วหลับจริงๆ มันเป็นชีวิตที่เรารู้สึกไม่ได้คุ้มค่า”
-ความเป็นภาพยนตร์ในงานภาพถ่าย-
เราเห็นคำโปรยหนึ่งเกี่ยวกับเรื่อง ‘ความเหงา’ ของคอลเลคชั่นในนิทรรศการนี้บนอินสตราแกรมของ HOP – Hub Of Photography เจ้าของพื้นที่จัดแสดงงานในครั้งนี้ จึงหยิบมาถามเจ้าตัวทำไมถึงเลือกเล่าภาพถ่ายของตัวเองผ่านความเหงาและสีสันที่ดูเหนือจริง
เธอขำแกมเขิน ก่อนจะตอบว่า “จริงๆ ไม่ได้ตั้งใจ มันออกมาเอง พอคนเห็นอ่ะค่ะเขาตีความไป ตอนแรกปุ๊งไม่รู้ว่ามันเหงา เหมือนว่ามันมีวันที่คุยซูมกับทาง HOP เนี่ยค่ะ ตอนนั้นพี่ผ้าป่าน (สิริมา ไชยปรีชาวิทย์) เขาก็นั่งมองภาพแล้วก็พูดขึ้นมา เหงา เหงา เหงา เหงา เหงา เราก็แบบมันขนาดนั้นเลยเหรอคะ เออใช่ ดูแล้วมันเหงา ก็เลยอ่อคนมองมันคืออย่างงี้” เราอยากเช็คกับเจ้าตัวอีกรอบจึงถามเธอต่อว่า แล้วตัวศิลปินไม่ได้มองแล้วรู้สึกเหงาอย่างนั้นใช่ไหม
ดูเหมือนเธอยังอยู่ในอารมณ์ขันก่อนตั้งใจตอบว่า “เมื่อก่อนตอนที่เราคิด เราแค่อยากให้มันเหมือนภาพในภาพยนตร์ มันจะมีงานหนึ่งชื่อ Let The Rain Fall เป็นภาพสีเขียวแล้วมีฝนตกลงมา เราแค่จินตนาการมันเป็นฉาก ฉากหนึ่งที่มันขึ้นมาหลังจากที่โลกถูกทำลายล้าง ฉากภัยพิบัติสักอย่างเราคิดแค่นั้น”
เอิ่ม..ผมพยักหน้ารับตอบว่าใช่ ภาพของกำปุ๊งมันมีความเป็นหนังดิสโทเปีย ที่เล่าเรื่องโลกหลังการล่มสลายของระบอบใดระบอบหนึ่ง ซึ่งตอนแรกที่เธอพูดถึงว่าอยากให้ภาพของเธอมันถูกเข้าใจได้โดยคนอื่นไม่ใช่เป็นภาพของเธอคนเดียว ก็อาจจะเป็นเรื่องบังเอิญของ ‘ความเหงา’ ที่คนรู้สึกถึงความเหงาร่วมกันกับภาพตรงนี้ จากนั้นเราขอให้เธอขยายความอีกประโยคหนึ่งบนคำโปรยของ HOP ที่ว่า ‘ทุกที่สามารถสร้างเป็นฉากหนังได้เสมอ’ เพิ่มเติม
“พอเราได้ดูหนังเยอะๆ เราก็จะเริ่มสังเกตแล้ว อย่างยิ่งเราทำงานในสายโปรดักชั่นด้วยการดูหนังของเราเปลี่ยนไป เมื่อก่อนดูแค่ภาพสวย สีสวยหรือหนังเรื่องนี้มันทำให้เราอินทั้งๆ ที่ไม่รู้เลยว่าทำไม โตขึ้นมาถึงได้รู้ว่าเขาเล่นดีหรือเขาจัดพร็อพแบบนี้มันเลยดูสวย แล้วหนังหลายเรื่องที่ถ่ายในกรุงเทพฯ เขานำเสนอออกมาได้ต่างกันมากเลยนะ อย่าง The Hangover Part II (2011) หรือล่าสุดกับซีรีส์ฆาตกรต่อเนื่อง The Serpent (2021) เขาถ่ายโรงพักได้สวยมาก ทั้งๆ ที่เวลาเราเข้าไป ไม่มีอะไรเลยมีแต่เสียงพัดลม หึ่งๆ อะไรวะ มันไม่มีอะไรน่ามองเลย แต่คือเขาทำให้มันสวยมาก แล้วปุ๊งรู้สึกว่าสีสันในภาพช่วยเหมือนกัน ปุ๊งเห็นช่างภาพหลายคนถ่ายแค่ร้านค้าทั่วไปก็ทำให้มันสวยขึ้นมาได้ หนังหลายๆ เรื่องเขามักจะแสดงความสวยงามออกมา แม้ว่ามันจะไม่ได้ดูสวยแต่เขาก็ทำให้สวย ปุ๊งเลยอยากใช้สิ่งนั้นมาทำให้อะไรที่ดูแบบไม่น่าดูหรือดูธรรมดาสำหรับคนอื่นให้มันสวยขึ้น”
พอได้ทราบแล้วว่าเธอนำเทคนิคจากภาพยนตร์ตรงนี้มาใช้เพื่อนำเสนอประเด็นในงานภาพถ่าย เลยทำให้อยากรู้ต่อเลยว่ามีหนังเรื่องไหนสักเรื่องไหมที่ตอนเธอตั้งเฟรมจะถ่ายแล้วโผล่เข้ามาในหัวตลอดเลย
เธอขำแกมเขินเหมือนเดิม แต่ครั้งนี้ดูมากกว่า “จริงๆ หนังเรื่องที่ทำให้เรารู้สึกชอบพวกนี้มากขึ้นคือ John Wick: Chapter 3 (2019) เพราะว่าฝนมันตกทั้งเรื่อง แสงมันสวยจริงๆ ไฟมันเยอะ แล้วก็อย่างเรื่อง The Umbrella Academy (2019-2022) คือคนจะชอบทักว่างานเราเหมือนงานของหว่อง หรือ Blade Runner 2049 (2017) แต่เราว่ามีอีกหลายเรื่องที่เป็นแรงบันดาลใจให้เรา อย่าง Blade Runner เรามีแค่ภาพเดียวคือภาพสีส้ม นอกนั้นจะมาจากซีรีส์ซะส่วนใหญ่”
-เหตุเกิดจากความเหงา-
แม้พอจะได้รู้แล้วว่าเบื้องหลังของงานภาพถ่ายของเธอมีที่มาจากอะไร ผู้เขียนก็ยังสังหรณ์ว่าอาจจะต้องมีอะไรที่มากกว่านี้ เราคุยกันไปเรื่อยถึงในหัวข้อเรื่องหนัง ในจังหวะหนึ่งเธอบอกเราว่า “ถ้าดูด้วยสีผ่านๆ มันจะเหมือนหนังกอบกู้โลก หนังแอคชั่นไซไฟเนาะแต่จริงๆ แล้วดูลึกลงไปมันอาจจะเป็น Lost in Translation (2003) ก็ได้ แต่แบบเปลี่ยนเป็นกรุงเทพฯ”
ภาพสการ์เลตต์ โจแฮนส์สันมองออกไปนอกหน้าต่างวิ่งเข้ามาในหัวพร้อมกันปากเราก็ขยับถามไปโดยอัตโนมัติว่า ทำไมถึงเป็น Lost in Translation…
“เราเคยมีอารมณ์แบบนั้นน่ะ เราเคยใช้ชีวิตคนเดียวแล้วก็อยู่ในกรุงเทพ แม้ว่าจะมีงานทำ มีเพื่อน บางทีเราก็ไม่ได้อยากออกไปข้างนอก ไม่มีอะไรไดรฟ์ให้เรามีชีวิตชีวาเลย แล้วก็บางครั้งมันเหนื่อยเกินกว่าด้วย เหนื่อยเกินว่าที่จะทำอย่างอื่น แค่นั่งอย่างเงี้ย… วันที่ต้องพักขอแค่นั่งเฉยๆ แบบนี้ แม้ว่าเราจะใช้ชีวิตอยู่ในเมือง มันก็ยังรู้สึกว่าไม่ใช่ที่ไม่ใช่ทางอยู่ดี” เรารู้สึกว่าน้ำเสียงของเธอในรอบนี้มีความเป็นส่วนตัวมากที่สุดตั้งแต่ได้คุยกันตั้งแต่ต้น
สิ่งที่เราสังเกตได้อีกอย่างในงานของกำปุ๊งคือ ภาพในงานส่วนใหญ่จะถูกถ่ายจากที่สูง ซึ่งสิ่งนี้เธอก็ได้อธิบายและอนุญาตให้เราเข้าใกล้เธออีกขั้นหนึ่ง
“มันอาจทำให้รู้สึกว่าเราตัวเล็กลง ส่วนตัวยอมรับว่าปุ๊งเป็นคนที่มีอีโก้เยอะมากและเราไม่ชอบ หมายถึงว่าถ้าเรามองตัวเองผ่านคนอื่นเราก็คงจะไม่ชอบบางอย่างที่เราแสดงมันออกมา บางครั้งเราหยิ่งบางครั้งเราดูเป็นคนไม่ได้น่าคบหาเท่าไหร่ เหมือนเรามองชีวิต มองผ่านเมืองหรือแม้กระทั่งการขึ้นเครื่องบินแล้วมองลงมามันทำให้เรารู้สึก แบบตัวเล็กลง มันทำให้เราถ่อมตัว จริงๆ มันอาจจะไม่ใช่เหตุผลนั้น แต่แค่รู้สึกว่า เราไม่ได้เก่งไปกว่าใครหรอก เราไม่ได้ดีขนาดนั้น ไม่ใช่ในทางเนกาทีฟ แต่ทำให้เรารู้ได้ว่าโลกนี้มีอะไรอีกเยอะ”
ตรงกลางห้องจัดแสดงมีภาพนิ่งที่ถูกนำมาเรียงต่อกันเป็นภาพเคลื่อนไหว ดวงไฟในห้องต่างๆ บนตึกสูงที่ผลัดกันกะพริบไปมาช่วยให้เล่าเรื่องได้อารมณ์อีกระดับ พอนึกถึงสิ่งที่เธอบอกเราว่าเมื่อสักครู่ว่ามองลึกลงไปในงานของเธอจะเจอกลิ่นอายความโดดเดี่ยวของ Lost in Translation อยู่ ซึ่งคอลเลคชั่นภาพเคลื่อนไหวที่จัดแสดงอยู่เป็นผลงานลำดับที่สองของเธอในแนวนี้
“อันแรกจะตื่นเต้นๆ เหมือน Stranger Things (2016-2022) หน่อย ดูลึกลับ อันนี้จะดูเหง๊า เหงา แต่งานนั้นมันเกิดจากเพราะความเหงาจริงๆ แล้วเราเป็นคนที่ชอบหันไปเจอเลข 3:33 ตีสามจุดสามสาม เอาจริงๆ ไม่ได้ถ่ายตอนตีสามแต่ทำขึ้นมาเพราะเวลานั้น มันจะเป็นช่วงที่เราเริ่มหิว นอนไม่หลับ ต้องคิดงานต่อแต่ขี้เกียจทำ มันเป็นช่วงดาว์นแหละ แล้วเราก็เหมือนคิดอะไรไม่ค่อยออก ไม่อยากให้เสียงานก็ใส่ๆ พอทำภาพเสร็จ ก็พยายามทำดนตรี เหมือนมองจ้องมันอ่ะแล้วก็กดไปให้มันได้อารมณ์มัน”
มาถึงจังหวะที่ต้องถามคำถามบังคับอย่าง ‘ส่วนตัวชอบภาพไหนมากสุดในงาน’ เธอตอบกลับมาทันควันเลยว่า ตอบไม่ได้ แต่เรื่องราวท่ีร้อยเรียงอยู่ภายใต้คำตอบแสนกระชับนี้นั้นชวนทำให้เราประทับใจมากๆ ต่อมุมมองของศิลปินผู้นี้
“เวลาเราตัดสินใจเลือกมันแล้ว เราก็จะแฮปปี้กับทุกงาน แต่ถ้าคนถามแบบนี้ เราจะชอบตอบว่าเราภูมิใจกับอะไรมากกว่า คือเป็นงาน 25th floor เป็นงานที่เราถ่ายเก็บมาหนึ่งปี ภาพจากมุมนั้น เราก็รู้สึกว่า มันทำให้เราต้องรอ มันทำให้เราแบบใช้เวลากับมัน เพราะจริงๆ เราเป็นคนใจร้อนมาก ทำอะไรปุบปับ เหตุผลที่เราไม่ถ่ายภาพฟิล์มก็เพราะว่าฉันใจร้อน ฉันอยากได้อย่างใจฉัน แต่คอลเลคชั่นนี้เราถ่ายตั้งแต่ธันวาคม ปี 2020 ถึง ธันวาคม ปี 2021 แล้วก็เก็บมันเรื่อยๆ ก็เลยรู้สึกว่ากูก็อดทนนะ ก็เริ่มรู้สึกดีกับตัวเองขึ้นมา รู้สึกภูมิใจ”
คอลเลคชั่น 25th floor ของกำปุ๊งได้แรงบันดาลใจมาจาก Balkon ของออร์ฮาน ปามุก หนังสือรวมภาพถ่ายที่นักเขียนรางวัลโนเบลผู้นี้ใช้เวลาห้าเดือนกำกับตั้งกล้องบนระเบียงห้องพักในกรุงอิสตันบูลถ่ายความเป็นไปในเบื้องหน้าของเขาในทุกๆ วัน ซึ่งภาพถ่ายทั้งหมดที่เขาได้ถ่ายมานั้นไม่ได้มีอะไรเกินค่าไปว่าการที่คุยกับตัวเองในระดับจิตวิญญาณ โดยแรกเริ่มนั้นปามุกต้องการถ่ายภาพเพียงแค่อยากละตัวเองออกจากการเขียนสักครู่ ภาพที่ได้เห็นแม้ว่ามันไม่ได้สร้างอิทธิพลต่อเรื่องราวในงานเขียนมากนักแต่เขาก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกสิ่งรอบตัวเขานั้นต่างส่งผลซึ่งกันและกัน เช่นเดียวกับที่ภาพถ่ายของกำปุ๊ง ที่แน่นอนว่ามองดูไปแล้วเป็นเนื้อหาที่เข้าใจได้ไม่ยากแต่ระหว่างทางกว่าจะบ่มเพาะความรู้สึกขนาดนี้ลงมาในงานได้นั้น ก็ต้องแลกกับอะไรมาไม่น้อย
-ปลายทางของการทำสิ่งที่ชอบ-
นานาปัจจัยและประสบการณ์สะสมมาหลายปีจนตกผลึกออกมาเป็นผลงานของกำปุ๊งที่ชวนผู้ชมหลากหลายมาพูดคุยในประเด็นเดียวกันได้ ซึ่งมันก็เป็นสิ่งที่น่าคิดต่อหากฉากและชีวิตไม่ใช่กรุงเทพฯ ล่ะ หากเธอมีโอกาสได้ไปใช้ชีวิตในประเทศอื่นหรือพื้นที่อื่น อารมณ์ของภาพก็จะถูกสื่อสารออกมาแบบเดียวกันไหม
“ปุ๊งก็อยากรู้เหมือนกัน คือมีเพื่อนเคยถาม และปุ๊งก็เคยคิดว่าปุ๊งอยากไปเมืองอื่น อยากไปถ่าย แต่ว่าอาจจะต้องใช้เวลาเรียนรู้เมืองนั้นเหมือนกัน เพราะว่าเมืองเขามีเอกลักษณ์อย่างไร มันทำให้เรารู้สึกอะไรยังไงแล้วเราไปทำอะไรที่นั่น แล้วเราถึงจะรู้ว่าจะพรีเซนต์มันออกมาอย่างไร อย่างกรุงเทพฯ มันทำให้เราเป็นแบบนี้ เราก็ไม่รู้ว่าถ้าเราไปอยู่นิวยอร์กมันจะเป็นอีกอย่างไหม หรือเราอาจจะไม่อยากถ่ายรูปเลยก็ได้ ถ้าเกิดเราอยู่ที่นู้น”
เนื่องจากเราสัมภาษณ์เธอในช่วงโค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งผู้ว่า กทม. เราจึงอยากรู้ว่าอนาคตกำปุ๊งคิดว่าตัวเองจะสามารถเล่ากรุงเทพฯ ให้เป็นอีกอารมณ์หนึ่งได้ไหม เช่น จากความสิ้นหวังสู่ความหวัง เป็นต้น
เสียงหัวเราะของเธอนำหน้ามาก่อนคำตอบ “จริงๆ งานนี้มีรูปเดียวจากทั้งหมดทั้งมวล คือเราก็พยายามนะ ทำให้รูปมันพยายามมีความหวังอ่ะ แต่มันน่าจะอยู่ที่นิสัยเราด้วย พอชอบทำอะไรที่มันดูยุ่งเหยิงหรือไม่ได้อะไรที่มันออกมาสดใสขนาดนั้น อย่างภาพถ้าเป็นแนวนั้นก็จะมีโทนเดียวโทนส้ม มีภาพเดียวในงาน แม้หลายๆ อย่างไม่ได้ไดรฟ์ให้ความหวังคนขนาดนั้นแต่เราก็พยายาม” ภาพที่ว่านั้นของเธอชื่อคอลเลคชั่น Give Me Hope เราจับใจความได้ว่าความยุ่งเหยิงหรือความเหงาเป็นสิ่งที่คนรู้สึกได้มากกว่า ก่อนที่จะทิ้งประโยคให้เราคิดตามต่อว่า “หรือสุดท้ายถ้ามันมีความหวังทุกอย่างดีขึ้นแล้วอาจจะไม่สนุกก็ได้”
สิ่งที่ตั้งใจจะถามกำปุ๊งในตอนจบของการสนทนาก็คือปลายทางที่ตัวเธออยากจะไปให้ไกลถึงไหนบนเส้นทางนี้ ทั้งในแง่ของตัวผลงานเองหรือการเป็นศิลปินภาพถ่าย เพราะว่าวันนี้พวกเราอยู่ที่ห้อง WHOOP! ห้องที่เปิดพื้นที่ให้กับศิลปินหน้าใหม่ได้จัดแสดงผลงาน
“คือเราพยายามไม่ทรีตตัวเองเป็นช่างภาพ ‘ช่างภาพ’ เพราะว่าเหมือนมันเป็นแค่สิ่งหนึ่งที่เราแสดงออกมาได้โดยการถ่ายรูป สุดท้ายเราก็ยังชอบทำดนตรี เรายังอยากที่จะปล่อยเพลงต่อไปเรื่อยๆ สมมติว่าถ้ามีโปรเจกต์แลนด์สเคปอันไหนที่มีคนอยากให้เราทำเราก็อยากทำต่อ คือเราไม่ได้รู้สึกว่าเราต้องจำกัดศิลปะด้านใดด้านหนึ่ง
ก็เลยรู้สึกว่าเราต้องกลับไปคิดว่าเราเริ่มมาเพราะอะไร เราเริ่มเพราะความชอบ เราไม่ได้เริ่มทำเพราะเงิน แม้ว่าทุกวันนี้มันจะทำเงินให้เรา แต่สุดท้ายต้องอย่าลืมว่าเราทำเพราะเราแฮปปี้กับมัน เราเอ็กพอร์ตรูปออกมาเพราะว่ามันสวย แค่นั้น เราต้องกลับไปคิดเรื่องพวกนั้นบ่อยมากๆ ทุกวันนี้ เพราะสุดท้ายตราบใดที่เรายังทำมันเวลามีความสุข ก็จะไม่พยายามไปคิดว่าทำเพื่ออะไร เราทำเพื่อความสุขตัวเอง”
–
สามารถเข้าชมนิทรรศการ ‘Bright Lights & Tired Street’ ได้แล้วถึงวันที่ 19 มิถุนายนนี้
ที่ HOP – Hub Of Photography
เปิดให้บริการทุกวัน 11.00 – 19.00น.
ชั้น 3 โซน MUNx2 ซีคอนสแควร์ ศรีนครินทร์