brand logo

PHOTO | LIFE | INSPIRATION

Sep 2024

เบียร์-วีระพล สิงห์น้อย
Shoot, Before Shot Down
เรื่อง : กษิดิ์เดช มาลีหอม
ภาพ : ธันวา ลุจินตานนท์
3 May 2022

“เคยดูภาพถ่ายเก่าๆ ตามหอจดหมายเหตุ ภาพขาวดำอะไรพวกนี้ สักวันหนึ่งเราก็อยากให้ภาพของเราเป็นสิ่งที่ใช้อ้างอิงได้แบบนั้น เป็นช่วงเวลาที่ถูกบันทึกไว้”

จากนักศึกษาสถาปัตยกรรมไทยที่พกกล้อง Pentax K1000 ไปลงเรียนคอร์สถ่ายรูปที่สารพัดช่างสี่พระยาในยามว่าง มีความสนใจศิลปะในวัดและวัง อินกับงานอนุรักษ์และชอบขุดคุ้ยประวัติศาสตร์ หลังเรียนจบมาเขาเคยทำงานอยู่สำนักพิมพ์สายสถาปัตย์มาก่อน ก่อนที่จะออกมาสร้างตำนานให้แก่ตัวเองในนาม Foto_momo ที่เขาตั้งใจล้อกับชื่อขององค์กรอนุรักษ์อาคารโมเดิร์น DOCOMOMO (Documentation and Conservation of Buildings, Sites and Neighborhoods of the Modern Movement) และเว็บไซต์นี้เป็นเหมือนหนังสืออ้างอิงในการทำงาน และคำว่า ‘Foto’ ก็คือการใช้ภาพถ่ายเป็นหลักในการนำเสนอเรื่องราวอาคาร เพราะตัวเขานั้นคือ ‘ช่างภาพ’ 

เป็นเวลา 7 ปีมาแล้วที่เบียร์-วีระพล สิงห์น้อย ได้รวบรวมข้อมูลและภาพถ่ายของอาคารสมัยใหม่ในประเทศไทย จุดเริ่มต้นของเขาในฐานะเจ้าของเพจ Foto_momo เกิดจากความประทับใจต่อรูปทรงของตึกฟักทองที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ก่อนที่จะกลายเป็นจุดเปลี่ยนให้อดีตนักศึกษาสถาปัตยกรรมไทยผู้นี้หันมาหลงใหลในตัวอาคารคอนกรีตหน้าตาประหลาดทั้งหลาย โดยโปรเจ็กต์ล่าสุดของเจ้าตัวที่เพิ่งจบไป คือ นิทรรศการ Something Was Here ที่จัดขึ้นที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) ที่เน้นถ่ายทอดช่วงเวลาที่โรยราของอาคารสมัยใหม่ที่ยังตั้งอยู่ และการล่มสลายของพื้นที่แห่งความทรงจำ โดยเฉพาะโรงหนังสกาลา

ทั้งตึกฟักทองและโรงหนังสกาลาเรียกได้ว่าเป็นอนุสาวรีย์ทางความทรงจำที่สำคัญที่สุดสำหรับเขาในฐานะช่างภาพผู้มีความตั้งใจจะรวบรวมภาพถ่ายอาคารทรงโมเดิร์นทั้งหมดในประเทศไทย ที่ธงในใจของเขาคือการได้มีประวัติศาสตร์ของอาคารเหล่านี้ให้คนรุ่นหลังสามารถมาศึกษาต่อได้เหมือนอย่างที่เขาศึกษาเรื่องราวของตึกในอดีตจากหอจดหมายเหตุ 

ต่อจากนี้ขออนุญาตดำดิ่งลงไปสู่บทสนทนา เรานัดเจอกันที่หอศิลป์บ้านจิม ทอมป์สัน (Jim Thompson Art Center) อาคารทรงร่วมสมัยที่ตั้งใจชูสัจจะวัสดุ เช่นเดียวกับคอนเซ็ปต์ของอีกหลายชื่ออาคารที่อยู่ในกรุภาพถ่ายของชายผู้นี้

การเรียนสถาปัตยกรรมไทยช่วยเสริมอะไรในงานภาพถ่ายของเราบ้าง

ทำให้เป็นคนรักการค้นคว้าข้อมูลทางประวัติศาสตร์ เราก็เคยถามตัวเองว่า สถาปนิกทุกคนไม่ได้ออกแบบเก่ง เราจะเป็นสายที่ชอบขุดคุ้ยข้อมูลทางประวัติศาสตร์แล้วเอามาต่อยอดมากกว่า เป็นแบบนั้นตั้งแต่ตอนเรียนแล้ว เรารู้ตัวว่าเราไม่ได้ออกแบบดี ชอบศึกษา ชอบของเก่า แล้วการเรียนสถาปัตย์ไทย เหมือนเป็นการปูพื้นฐานของศิลปะและสถาปัตยกรรมไทย รวมไปถึงท้องถิ่นด้วย พอเรียนมากๆ ขึ้น เราก็ตั้งคำถามว่า ความเป็นไทยที่แท้จริงคืออะไร บางทีความเป็นไทยในกระแสหลัก มันอาจจะไม่ตรงกับที่เราเจอ สุดท้ายแล้วอะไรคือไทยกันแน่ 

จากวัดวาอารามข้ามมาสู่อาคารโมเดิร์นได้อย่างไร

จริงๆ การศึกษาเรื่องอาคารโมเดิร์นนั้นมีมาตลอดแต่ไม่ได้ลงลึก แต่พอเราเริ่มถ่ายภาพ รวมรวบข้อมูล คอลเลคชั่นตึกพวกนี้ เราก็รู้สึกว่าลงลึกมากขึ้น เพราะเมื่อก่อนเราจะไปทางไทยประเพณี วัด วัง ส่วนสถาปัตยกรรมโมเดิร์นเราก็รู้น้อย พอเริ่มสะสมว่าจะมาทำเพจอันนี้ก็ศึกษามากขึ้น มาเจาะลึกด้านโมเดิร์นมากขึ้น จุดเปลี่ยนก็คือตอนที่ไปเจอตึกพวกนี้มั้ง

ตึกแรกที่ไปเจอแล้วเป็นจุดเปลี่ยนคือที่ไหน 

ตึกฟักทอง ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ตึกนั้นจริงๆ ไปทำงานในฐานะช่างภาพทำงานให้กับสมาคมสถาปนิกสยาม เขาก็จะให้รางวัลอาคารอนุรักษ์ดีเด่นเป็นประจำแต่ละปีๆ 

ตอนนั้นเราก็… ทำไมตึกนี้เราไม่เคยเห็นเลย ทั้งที่มันก็เป็นผลงานการออกแบบที่ดี แต่ว่าในวงการการเรียนสถาปัตย์เราไม่เคยเจอเลย เราก็เลยรู้สึกว่าสนุกกับการอยากรู้ว่าผลงานของสถาปนิกคนนี้มีอะไรอีก ตั้งแต่ยังไม่เริ่มทำเพจ ไปขุดคุ้ยข้อมูลว่าเขาทำออกแบบที่ไหนอะไรบ้าง 

ช่วงแรกก็จะได้มาประมาณ 10 กว่าหลังเราก็ไปตระเวนไล่จากสงขลาไปกรุงเทพ เจอที่มหาวิทยาลัยมหิดล เชียงใหม่มี ก็หาเวลาไปเชียงใหม่ ขอนแก่นก็ไป ก็จะเป็นการตามเก็บคอลเลคชั่นของคุณอมร ศรีวงศ์

สำหรับการทำงานภาพถ่ายของเบียร์ เราต้องบันทึกความทรงจำของพื้นที่มากกว่าองค์ประกอบความสวยงามของตึกเป็นหลัก หรือต้องเก็บทั้งสองอย่างร่วมกัน

ความประทับใจแรกเกิดจากอาคารมันหน้าตาแปลกมากกว่า เราประทับใจกับรูปทรงมัน ส่วนเรื่องความสัมพันธ์ของคนในพื้นที่เป็นประเด็นรองลงมาที่ทำให้เราต่อยอดไปถึงตรงนั้น เพราะว่าตอนที่เริ่มทำ เราก็จะไปศึกษาว่า อะไรคืออาคารโมเดิร์นที่เขาจำกัดความและนิยามกัน มันก็จะมีประเทศต่างๆ ที่เขารวบรวมไว้เยอะ เราก็จะไปเจอช่างภาพอิตาลีหรือรัสเซีย ที่เขารวบรวมเก็บไว้เยอะ เราก็สงสัยว่าทำไมประเทศเราไม่มี ในขณะที่กัมพูชาก็มี ฟิลิปปินส์ก็มี แล้วจะมีตำราเล่มหนึ่ง ไปรวบรวมตึกโมเดิร์นในศตวรรษที่ยี่สิบแบบรวบรวมจากทั่วโลก กัมพูชาก็ถูกเลือกไว้ว่ามีอาคารโมเดิร์นเหมือนกันนะ แต่ประเทศไทยไม่ถูกพูดถึง เราก็เลยทำของเราเองบ้างดีกว่า ก็เลยเป็นจุดเริ่มทำ Foto_momo

ถ้าอาคารที่เราผูกพันด้วยเกิดต้องหายไปหรือถูกทำลายลงไป สำหรับคนทำงานแล้วอารมณ์ร่วมสามารถมีมากได้แค่ไหนหรือต้องแยกตัวเองออกมาให้ได้

อารมณ์ร่วมระหว่างคนกับตัวอาคาร มันจะส่งผลชัดเจนคือการที่เรามีประสบการณ์ เคยไปใช้สถานที่มากกว่า ของตัวเองน่าจะเป็นสกาลา อาคารอื่นอาจจะไม่เคยผูกพันมาก แต่สกาลาเราเคยที่จะไปดูหนัง เดินป้วนเปี้ยนแถวนั้น ตอนวัยรุ่นในสมัยเรียน แล้วพอมันผูกพันถึงวันที่มันถูกทุบ มันก็รู้สึกใจหาย 

แสดงว่าแวบแรกที่นึกถึงสกาลาขึ้นมาก็คือเรื่องของการดูหนังมากกว่าตัวอาคาร

ใช่ครับ เพราะว่า อาคารที่มีความผูกพันต่อคนมักจะเป็นอาคารที่เป็นพื้นที่สาธารณะ ถึงแม้ว่าจะดำเนินการโดยเอกชนหรืออะไรก็ตาม แต่ด้วยรูปแบบที่เป็นอาคารสาธารณะมีประชาชนเข้าไปใช้พื้นที่บ่อยๆ มันจะสร้างความผูกพันกับคนที่ไปใช้งาน เช่น โรงหนัง โรงเรียน มหาวิทยาลัย ก็จะมีหลายๆ คนจะผูกพันกับอาคารเรียนของตัวเองหรือโรงแรมที่ตัวเองไปพักบ่อยๆ หรือเคสทุบบ้านส่วนตัว เราจะไม่พบความผูกพันเท่า เพราะบ้านก็จะมีความเป็นปัจเจก เราอาจไม่ได้อินเท่าเจ้าของบ้าน แต่ที่โรงหนัง เรารู้สึกว่าเราเป็นเจ้าของมันเพราะเราได้ไปใช้งานมันบ่อยๆ  

อยากให้ลองเล่าถึงกระบวนการในการถ่ายอาคารสักแห่งหนึ่ง 

ขั้นตอนการวางแผนมันก็เริ่มจากแรกๆ ที่เราไปตามหา ตระเวนตั้งแต่หาดใหญ่ขึ้นมา มันก็มีวางแผนคร่าวๆ ว่าจะไปที่นู้นที่นี่ บางครั้งเดินเซอร์เวย์ก็บังเอิญเจอ 

พอเราเริ่มศึกษาเยอะมากขึ้น เราก็จะพอไกด์ได้ว่าเมืองจะมีองค์ประกอบแบบนี้ อาคารพวกนี้มันต้องอยู่ประมาณตรงนี้ เหมือนเริ่มฉลาดมากขึ้นว่าเราต้องไปตรงไหนถึงเจออาคารแบบนี้  เช่น ไปตามถนนใหญ่ พหลโยธินหรือสุขุมวิทที่มุ่งไปตามเมืองใหญ่ๆ เช่น เชียงใหม่ โคราช ขอนแก่น พวกนี้จะมีหมด ประวัติศาสตร์ของเมืองก็จะผูกพันกับความเจริญ ความพัฒนาของการตั้งฐานทัพ มันก็จะมีความเป็นยุคสมัยเข้ามา ถนนที่มันพุ่งไปสู่หัวเมืองต่างๆ รถไฟ มันก็จะมาพร้อมกับความเจริญ เป็นชุมชนสมัยใหม่ สร้างเป็นโรงหนัง ธนาคาร สถานที่ราชการ เราก็พอจะเดาได้ มันก็จะมีอาคารที่แปลกๆ หลงหูหลงตาที่บังเอิญเจอบ้างก็มี แล้วพวกเมืองใหญ่ที่มีมหาวิทยาลัยใหญ่ๆ ก็จะมี 

ภาพถ่ายอาคารสถาปัตยกรรมที่ดี ในนิยามของเบียร์ มันสามารถมีรถวิ่งได้ไหม มีคนเดินอยู่ได้ไหมหรือต้องชูตัวอาคารให้เด่นสง่าอย่างเดียว

มันมีสองแบบ ถ้าในประเพณีนิยมของการถ่ายรูปสถาปัตย์ เขามักจะโฟกัสไปที่ตัวอาคารเป็นหลัก เพราะเราต้องเล่าเรื่องเกี่ยวกับสถาปัตยกรรม พวกภาพถ่ายเชิงพาณิชย์จะเป็นแบบนั้น เนี๊ยบมากเป็นพิเศษ ถ่ายบ้าน ถ่ายโรงแรม ต้องเคลียร์รถที่จอดบัง เคลียร์ถังขยะ เคลียร์ผู้คน แต่ในเชิงของงานสารคดี แบบ Foto_momo เราไม่สามารถไปเคลียร์อะไรได้มาก ปล่อยให้เป็นตามที่เป็นอยู่ อาจจะมีลบสายไฟออกบ้าง เพื่อให้ภาพมันสะอาดมากขึ้น

ซึ่งความทรงจำของคนเราก็คงไม่ได้เป๊ะอะไรขนาดนั้น

คือเรียกว่าอ้างอิงจากความสมจริงของพื้นที่ เราไม่ได้แต่งภาพโกหกแบบหน้ามือเป็นหลังมือ แต่งภาพจากสีเหลืองเป็นสีอื่น 

ถ้างั้นสามารถเรียกงานที่เบียร์ทำอยู่เป็นภาพถ่ายสถาปัตย์กึ่งภาพถ่ายสารคดีได้ไหม

เรียกอย่างนั้นก็ว่าได้ เราก็อยากจะทำให้ภาพถ่ายพวกนี้มันมีประวัติศาสตร์ของมันที่ถูกต้อง สมมติผ่านไปสิบยี่สิบปีคนรุ่นหลังเอามาอ้างอิง เขาก็จะได้อ้างอิงได้ถูกต้อง ไม่ได้เวอร์วังโกหกเกินไป

เคยดูภาพถ่ายเก่าๆ ตามหอจดหมายเหตุ ภาพขาวดำอะไรพวกนี้ สักวันหนึ่งเราก็อยากให้ภาพของเราเป็นสิ่งที่ใช้อ้างอิงได้แบบนั้น เป็นช่วงเวลาที่ถูกบันทึกไว้ 

อาคารโมเดิร์นที่รักที่สุดคือที่ไหน

คงเป็นสกาลากับตึกฟักทอง ตึกฟักทองจุดเริ่มต้นที่ทำให้เราชอบอาคารแบบนี้ สกาลาจุดเปลี่ยนของความผูกพัน เห้ยทำไมเราทำอะไรกับมันไม่ได้เลย ทำไมเราช่วยมันได้แค่นี้ 

ผมจำได้ว่าตอนนั้นตัวผมเองก็โกรธมาก

จะบอกว่าวันนั้นที่ไปยืนไลฟ์สด มันแอบร้องไห้จริงๆ นะ ไปอยู่กับแฟนสองคน แล้วตอนนั้นก็มีช่างอยู่นิดหน่อย อยู่กันไม่เยอะสี่ห้าคนประมาณนี้ เราก็ไม่คิดว่าอาคารจะทำให้เราร้องไห้ได้ ตั้งแต่เราดูหนังรอบสุดท้ายของสกาลา เรื่อง Cinema Paradiso (1988) ที่มีฉากทุบโรงหนัง แล้วแฟนก็บอกว่าเห้ยเหมือนเรายืนอยู่ในเหตุการณ์หนังเลย มันสะเทือนใจ ทั้งที่ตัวเองไม่ได้แบบผูกพันกับสกาลาเท่าคนอื่นนะ เชื่อว่ายังมีคนอีกมากที่เขาเป็นคอหนังจริงๆ เขาดูมากกว่า จริงๆ ผมคิดว่าผมเป็นเด็กต่างจังหวัด ตัวเองไม่ได้เป็นเจ้าของสกาลายังรู้สึกขนาดนี้ แล้วคนที่เขาดูแบบทุกวันเสาร์อาทิตย์ เขาไม่ใจหายกันเลยหรอ เรียกว่าเราเป็นวงนอกห่างๆ ด้วยซ้ำ เรายังรู้สึกกับมันขนาดนั้น

รู้สึกอย่างไรกับ 7 ปีที่ผ่านมากับการเป็นกระบอกเสียงให้แก่สถาปัตยกรรมโมเดิร์นในไทย

เสียงมันก็ดังมากขึ้นนะ การที่ได้รู้จักคนต่างๆ จริงๆ เราก็ไม่ได้เก่งร้อยเปอร์เซ็นต์แต่ว่ามองว่าได้ผลไหม พอมามองจากเหตุการณ์สกาลามันไม่ได้ช่วยอะไรเลย ทั้งๆ ที่มันน่าจะได้ผล แต่ก็เห็นแล้วว่า ไอ้ลำพังกระบอกเสียงเพียงเท่านี้ไม่มันพอ

แต่สิ่งปลอบใจ ก็คือจุดเริ่มต้นแรกเราแค่อยากรวบรวม เราอาจไม่ใช่เป็นคนสำคัญที่จะไปตะโกนบอกใครได้ขนาดนั้น เพราะเชื่อว่าในแวดวงวิชาการ มีครูบาอาจารย์เขาเก่งกว่าเรา เขาก็ทำอยู่แล้ว แต่เราเริ่มต้นจากการที่เราอยากรวบรวมข้อมูล เราก็ทำในสถานะตรงนี้ให้ดีที่สุด พอเจอเคสสกาลา มันก็เฟลเหมือนกัน มันช่วยไม่ได้จริงๆ นะ อย่างน้อยเอาวะ รูปถ่ายที่เราถ่ายมาก็พอเป็นฐานข้อมูลให้คนรุ่นหลังได้ใช้ได้ 

-บทส่งท้าย-

เบียร์เริ่มทำเพจจากสถานการณ์ตอนที่ตึกโมเดิร์นเริ่มถูกทุบมากขึ้น เป็นปัจจัยที่ทำให้เขาต้องรุดออกตระเวนตามหาเหล่าสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ให้ได้มากที่สุดเท่าที่พละกำลังจะอำนวย ซึ่งสิ่งที่เขาทำมาก็ประสบความสำเร็จระดับหนึ่งในการสร้างการตระหนักต่อคุณค่าสถาปัตยกรรมเก่าออกไปสู่วงกว้าง 

แม้ตอนนี้เจ้าตัวก็น่าจะเก็บอาคารโมเดิร์นในประเทศไทยครบหมดแล้ว งานที่ทำอยู่ตอนนี้ของเขาก็คือไปถ่ายซ้ำ เฝ้าดูอัพเดทสถานะของสถานที่ โดยมีเป้าหมายระยะยาวคือการทำหนังสือภาพที่อิ่มเอมไปทั้งภาพและข้อมูลในเล่มเดียว เพื่อให้เผยแพร่สิ่งที่เขาตั้งใจทำอยู่ให้ออกเดินทางไปไกลกว่าเดิมและง่ายต่อการสืบค้นของคนรุ่นหลัง

ปัญหาเรื่องการตั้งอยู่หรือดับไปของอาคารโมเดิร์นก็มีบริบทคล้ายคลึงกันทั่วโลกตามวงล้อของโลกที่หมุนตามความเร็วของอัตราค่าเงิน มีอาคารไม่น้อยในหลายประเทศที่ต้องถูกทำลายเพื่อสร้างเป็นศูนย์กลางค้าแห่งใหม่กลางใจเมือง นอกจากนั้นเขาได้ทิ้งท้ายให้เราเก็บประเด็นไปคิดต่ออย่างน่าสนใจถึงสถานะการมีอยู่ของอาคารโมเดิร์นกับงานภาพถ่าย ที่จะทำให้เราเห็นมิติของประเด็นสถานการณ์อาคารโมเดิร์นได้ครอบคลุมมากขึ้นและเข้าใจบทบาทและหน้าที่ของภาพถ่ายจริงๆ ว่ามีไว้เพื่ออะไรสำหรับในบริบทนี้ 

“จริงๆ ทุกพื้นที่มันจะมีคำถามต่ออาคารโมเดิร์นอยู่ตลอด ในสหรัฐอเมริกาเองก็จะมีอาคารอย่างศาลาว่าการบอสตัน (Boston City Hall) ที่คล้ายกับตึกสัตวแพทย์ที่จุฬา ตึกนั้นถูกคนที่ไม่ชอบมองว่าเป็นก้อนหินยักษ์ประหลาดที่ตั้งอยู่ในเมือง คือทุกที่ความเป็นโมเดิร์นมันกลายเป็นแบบก้อนวัตถุหน้าตาประหลาด เป็นก้อนคอนกรีตน่าเกลียด ซึ่งไม่ใช่แค่ในสังคมไทยสังคมเดียว ประเทศที่เป็นต้นกำเนิดก็รู้สึกเหมือนกัน แต่เราไม่สามารถพูดได้ชัดเจนว่ามันดีหรือไม่ดี แต่มันเคยมีอยู่ พยายามคิดว่ามันคือช่วงเวลาของประวัติศาสตร์สถาปัตย์ที่มันก็ต้องเก็บไว้ให้คนรุ่นหลังดูเป็นตัวอย่างบ้าง ไม่ใช่รื้อไปหมดเลย 

อย่างสกาลาอีกหน่อยเด็กรุ่นหลังจะรู้ไหมว่าโรงหนังสแตนด์อโลนเป็นอย่างไร ถ้าเก็บไว้ก็ยังพอให้มีสิ่งที่เราพอนึกถึงได้ แล้วการเก็บเป็นตัวอาคารมันดีกว่าเก็บเป็นภาพถ่ายอยู่แล้วร้อยเปอร์เซ็นต์ มันได้เข้าไปใช้ ได้เห็นมิติกว้างลึก เพราะภาพถ่ายทำแบบนั้นไม่ได้”

พิสูจน์อักษร: ชลดา สวนประเสริฐ