brand logo

PHOTO | LIFE | INSPIRATION

May 2025

ต้อม - อำพล ทองเมืองหลวง
ภาพถ่ายกีฬาที่อัดแน่นไปด้วยความรู้สึก
เรื่อง และภาพ : ธันวา ลุจินตานนท์
4 Dec 2021

จากความรักในสโมสรฟุตบอลการท่าเรือของ ต้อม – อำพล ทองเมืองหลวง สู่การเป็นช่างภาพสโมสรที่คอยตามติดถ่ายภาพนักเตะในทีมจนได้ก้าวเดินไปจนถึงการถ่ายภาพทีมชาติของเขา กว่าสิบปีในสายงานนี้เขาผ่านอะไรมาหลายอย่าง แต่สิ่งที่เขาบอกกับเราว่าเป็นแรงผลักดันในการทำงานคือความสุขของเขาในทุกวันที่ได้ถ่ายภาพ

ความผิดหวังในฐานะนักบอลสู่การเป็นช่างภาพ

ต้อมเริ่มเดินทางชีวิตในวงการกีฬาจากการเป็นนักบอลเยาวชนที่สโมสรการท่าเรือก่อน แต่หลังจากนั้นชีวิตได้นำพาเขาไปเป็นนักศึกษาฝึกงานที่ช่องสาม โดยเล่าว่าเขาเริ่มจากการที่เพียงหาที่ฝึกงานให้เรียนจบไม่ได้ตั้งเป้าหมายอะไรไว้ แต่ตอนฝึกงานนั้นกลายเป็นช่วงที่เปลี่ยนชีวิตเขาให้ได้จับกับกล้องถ่ายรูปและลากยาวมาจนทุกวันนี้

“ผมเติบโตมาด้วยการเรียนที่เรียนให้จบ ไม่เคยอ่านหนังสือตอนสอบ พอมาฝึกงานเรารู้สึกเราเจอสิ่งที่เราชอบเลยอยากเป็นช่างภาพแต่พอจบไปก็ตกงานนะก็ไปทำอย่างอื่น

“ตอนฝึกงานผมฝึกเป็นนักข่าว จริงๆ ไม่ได้คิดอยากเป็นช่างภาพอยู่แล้ว ย้อนไปเราเป็นเด็กเกเรไม่ได้เรียนเพื่อมาเป็นอะไรเลย ไม่ได้คิดอะไรในหัว แต่ช่วงฝึกงานมันก็เป็นช่วงที่ทำให้เราได้ฝึกถ่ายรูป ก็เลยได้เข้าไปคลุกคลีกับการทำงานของสื่อกีฬาบ้านเรา

“สมัยนั้นผมจะได้ออกไปข้างนอก ไปกับพี่ช่างภาพ แล้วผมจะเป็นคนที่พกกล้องไปด้วย เผื่อถ่ายรูปอะไรที่เขาถ่ายกัน ภาพหมู่ผมก็ไปถ่ายกับเขา ได้แค่ไหนแค่นั้น พอฝึกได้สองสามเดือนก็คิดแล้วว่าอยากจะเป็นช่างภาพ หลังจากนั้นเราก็หาศึกษาเพิ่มเติมจากกูเกิล ไปดูกันตามเว็บบอร์ดว่าเขาถ่ายอะไรกันตั้งกล้องยังไง ค่ากล้องแบบไหน

“ผมเป็นคนชอบดูรูป ชอบดูงานคนอื่น ก็ดูมาตลอด แล้วกลับไปดูรูปทุกวันนี้ ผมก็ยังทำแบบนั้น คือกลับไปดูแล้วว่ามันมีปัญหายังไง พลาดอะไร แล้วก็จะลบทิ้งรูปที่มันเสียแบบไม่ใช้เลย ผมก็ยังทำมาตลอดตั้งแต่ปีแรกจนทุกวันนี้”

ภาพของต้อมมีความแตกต่างจากงานของช่างภาพกีฬาคนอื่นแบบเห็นได้ชัด เราเห็นเรื่องราวของภาพมากกว่าจะเห็นแค่เพียงแอคชั่นต่างๆ ความสวยงามและโดดเด่นของเขานั้นดึงดูดเราเข้าไปมากๆ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เกิดจากการที่เขาเคยเป็นนักกีฬามาก่อนด้วย เขาเลยเหมือนกับสามารถเดาได้ว่าเหตุการณ์ตรงหน้าจะเกิดอะไรขึ้น นอกจากช็อตกีฬามันๆ แล้ว ต้อมก็พยายามคิดหาเรื่องราวต่างๆ ที่สามารถเล่าออกมาผ่านภาพอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นโมเมนต์ของความดีใจ เสียใจ สัมผัสจากกองเชียร์​หรือเรื่องราวข้างสนาม เราเห็นถึงความรักอย่างแรงกล้าและความทะเยอทะยานอย่างยิ่งใหญ่จากรูปของเขาทุกใบ

“มันทะเยอทะยานตั้งแต่ได้งาน ผมเรียนจบมาก็ตกงาน พอตกงานก็ไปสมัครสยามกีฬาที่แรก เพราะมันเป็นที่ที่รับช่างภาพกีฬาใหม่ๆ เขาก็ไม่เรียกเกือบปี แล้วถามว่าผมได้งานได้ไง ผมก็ไปหาชื่อบุคคลคนนึงใน Facebook สุดท้ายก็ไปเจอนะ คือเป็นชื่อเขาต่อท้ายด้วยชื่อองค์กร​ (สยามกีฬา) ผมเลยส่งข้อความไปแนะนำตัวกับเขา แล้วบอกกับเขาตรงๆ เลยว่าผมตกงาน แผนกพี่รับมั้ย เขาบอกก็รับสมัครนะ ผมก็สมัครแล้วก็ได้เลย ตอนนั้นคือเป็นแผนกฟุตบอลสยาม”

จากช่างภาพกีฬาสู่ข่าว

หลังจากอยู่กับสยามกีฬามาได้ประมาณ​ 5 ปี ต้อมได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของทีมข่าวออนไลน์ PPTV ตั้งแต่ตอนฟักไข่โดยมีรุ่นพี่ที่เขารู้จักมาชักชวน ซึ่งต้อมยอมรับว่ามันเหมือนเป็นคนละแนวทางการถ่ายภาพเลย ส่วนเราที่ได้สัมภาษณ์เขานั้นก็คิดมาก่อนหน้านี้ว่ามันอาจจะไม่มีอะไรที่แตกต่างกันมาก แต่พอฟังแล้วได้รู้เลยว่ามันต่างแบบเห็นได้ชัดด้วยซ้ำเราเลยขอให้ต้อมช่วยอธิบายมาให้เราเห็นภาพมากขึ้น

“มันมีความคล้ายแล้วก็แตกต่างกัน  ความคล้ายคือภาพข่าวบางทีเรามีประเด็นเป็นสำคัญ กีฬาก็เหมือนกัน ถ่ายภาพข่าวมันจะมีคีย์เวิร์ด ไม่ได้ถ่ายเอาสนุก แต่บางครั้งเราก็สนุกด้วย ถ่ายเอางานด้วย มีประเด็นมาเลยว่าเราจะนำเสนออะไร ยกตัวอย่างภาพกีฬา ถ้าคุณถ่ายสวยมาก แต่วันนี้ท่าเรือแพ้ รูปมันก็ไม่เข้ากับประเด็น ต้องหาประเด็นอื่นภาพกีฬาจะเป็นแบบนี้ ภาพข่าวก็เหมือนกันเราต้องเน้นประเด็น แต่ประเด็นข่าวก็จะกว้างไปอีก แล้วก็ยากไปอีก ยากคนละแบบนะ

“คนที่ถ่ายแต่ข่าวก็บอกว่ากีฬานี่โคตรยากเลย คนถ่ายกีฬาก็บอกข่าวถ่ายไม่รู้เรื่อง” ต้อมเสริม “โชคดีที่ผมไม่ได้ตั้งตัวว่าเป็นช่างภาพอะไร ตลอดเวลาศึกษามาทุกแนว เก่งมั้ย คงไม่ได้เก่งชำนาญ แต่ผมชอบมันมากพอ ตอนถ่ายภาพข่าวก็จะมีความเป็นกีฬาเข้าไป อันนี้พี่ๆ ช่างภาพเขาบอกมาว่างานเรามีส่วนของความเป็นกีฬาไม่เหมือนช่างภาพข่าวที่เขาถ่ายกัน

“คือภาพเราจะมีช็อตเสี้ยววินาที เป็นภาพที่ถ่ายแล้วถ่ายไม่ได้อีก อะไรแบบนี้ พวกช็อตแอคชั่นก็เข้ามาในนั้น ถ้าดูงานอาจจะเห็นว่าภาพผมจะมีช็อตกีฬาเข้าไป เขาเรียก ‘จังหวะนรก’  จริงๆ มันก็ถูกนะ เพราะสกิลการถ่ายกีฬาเรามันสอนให้เราอยู่ถูกที่ถูกเวลา ไม่ใช่อยู่ดีๆ เรานั่งตรงนี้แล้วถ่ายได้แบบโชคดี เพราะกีฬามันคือสิ่งที่ผ่านไปแล้วก็ผ่านไป ข่าวมันก็เหมือนกัน แต่กีฬามันเข้มข้นกว่า”

ต้อมเสริมให้เราเห็นภาพของความเข้มข้นในการถ่ายกีฬาให้เราเข้าใจต่อว่า “ตอนผมอยู่ที่สยามกีฬา เวลาได้ไปงานใหญ่ระดับทีมชาติ หรือไปต่างประเทศ ภาพสำคัญๆ คือ จังหวะดีใจหลังยิงประตู แต่เอาเข้าจริงเราคอนโทรลอะไรได้กับ 11 ตัวเนี่ย พอเราไปงานต่างประเทศมันจะต้อง… คือถ้าระดับอาเซียน ที่นั่งคือ ใครถึงก่อนได้ก่อน เราก็ต้องแข่งขันตั้งแต่แรกแล้ว แต่คนถนัดแย่งกันตั้งแต่ถ่ายรูปทีมสิบเอ็ดคน เอียงนิดก็ไม่ได้ หรือไปถ่ายรูปแชมป์ ทุกอย่างที่เราดินมันมีเวลาอะไรที่ทำให้เราต้องคิดเยอะ

“ส่วนสำหรับตอน PPTV คือต้องอ่านเยอะมาก เช่น ถ้าคุณไม่ชอบการเมืองก็ต้องอ่าน ผมไม่ได้ทำงานเพื่อความสุข บางทีก็ต้องแข่งขัน ผมวางตัวว่าผมจะเป็นช่างภาพที่ใครเหมือนผมไม่ได้ เพราะถ้าใครเหมือนผมได้แปลว่าเขามาแทนที่เราได้ ถ้าผมออกไปแล้วหาคนใหม่ก็เรื่องของเขา แต่ต้องไม่เหมือนผม ตอน PPTV คือทำงานหนักมาก แต่ก็ทำงานหนักมาตลอด แบบตอนไฟไหม้ก็ไม่มีคนบอกเพราะต้องไปเอง เซฟเอง ทำรูปให้ดีที่สุด ต้องเร็วที่สุด สมมติถ้าเราลงรูปไม่ทันก็ต้องหาความแตกต่างที่ดีที่สุด”

กลับสู่สังเวียนหญ้าสีเขียว

ต้อมกลับมาสู่สนามหญ้าที่คุ้นเคย แต่ด้วยการเปลี่ยนไปของเทรนด์ การเสพกีฬาจากออฟไลน์กลายเป็นออนไลน์ การใช้รูปในช่องทางโซเชียลมีเดียก็เข้ามาและสร้างความแตกต่างจากแต่ก่อน “ทุกวันนี้ผมกลับมาถ่ายภาพกีฬาอีกครั้ง ตอนนี้ผมก็เป็นหัวหน้าช่างภาพที่ MainStand แล้วก็มาประจำให้กับสโมสรฟุตบอลการท่าเรือ แล้วยังทำฟรีแลนซ์ถ่ายกีฬาด้วยแล้วแต่เขาจ้าง การทำงานเป็นช่างภาพทุกวันนี้มันก็เปลี่ยนไปนะ พอมันกลายเป็นโลกออนไลน์ มันมีอิสระมากกว่าก่อน พวกภาพหนังสือพิมพ์คือเราถ่ายทั้งวันแต่เขาเอารูปเดียวไปใช้ แต่ออนไลน์คือเขาเอาเรื่อยๆ ไม่มีกรอบหนังสือพิมพ์มาบังคับด้วยว่าจะใช้ตรงนี้ต้องถ่ายรูปแบบไหน เอาแน่นๆ มั้ย ออนไลน์คือเอาเร็ว เพราะเอาไปใช้ในโซเชียลมีเดีย”

ทีนี้ ด้วยความเร็วของการใช้งานมันก็ทำให้เรามีคำถามมากมายที่อยากรู้ โดยหนึ่งในนั้นคือการตัดสินใจเลือกใช้ภาพแต่ละภาพ และเขารู้มั้ยว่าพอกดชัตเตอร์ครั้งนึงลงไปแล้วภาพนั้นจะใช้ได้หรือไม่ “ประมาณ​80% รู้ตัวว่าจะได้ คนที่ไม่ได้ถ่ายกีฬาจะชอบคิดว่าเออกล้องดีก็จบ แต่จริงๆ มันไม่ใช่ คือ ผมถ่ายรูปมาไม่เคยรัวกดมั่วซั่วเลยทั้งๆ ที่กล้องมันถ่ายได้ถึง 12f​ps (frame per second) ผมต้องดูจังหวะเสมอ เพราะว่าบางทีโฟกัสมันดิ้น ถ้ากดอย่างเดียวแล้วมันดิ้น รูปที่ถ่ายมาทั้งหมดโฟกัสวืดไปหมด ใช้ไม่ได้

“ถ่ายกีฬามันสอนให้เราสังเกตกับความเร็ว ความคิด ถ้าถ่ายวิ่ง กดจังหวะก้าวสวยๆ ไม่ใช่รัว เพราะว่าเราทำงานแข่งกับเวลา ไม่ได้ทำแบบพรุ่งนี้ค่อยส่ง แต่คือถ่ายแล้วส่ง เราต้องการภาพไปใช้ตอนนี้เลย เราไม่มีเวลาแต่ง แค่ครอป แล้วก็ส่งให้ฝ่ายดูแลเพจ ช่างภาพกีฬาทุกวันนี้มันยากขึ้นอีก พอเป็นออนไลน์แล้วมันแข่งกันเรื่องความเร็วจนเราครีเอทมุมต่อลำบาก เพราะต้องหาเวลามาส่ง คือมันต้องส่งงานไปดูเกมไปด้วย 

“ความผิดพลาดมันเป็นเรื่องที่ต้องเจอตลอดนะ แต่ผมไม่เคยเจอในนัดสำคัญ พวกที่เจอก็จะเป็นแบบ… มันยิงประตู ผมเห็นนะ แต่ผู้เล่นมาบังมุม แล้วบางทีมันต้องโฟกัสหลายอย่างนอกจากนักบอลดีใจ ยังมีแฟนบอลดีใจ ตัวสำรองดีใจ แต่คือถ้าสักสิบแมทช์ คุณยังพลาดเรื่องเดิม แปลว่ามันเป็นปัญหาที่คุณแล้ว”

ก่อนจะจากกันเราถามต้อมถึงความฝันในการถ่ายทีมฟุตบอลว่าอยากถ่ายทีมอะไรที่ไหน ต้อมตอบกลับมาอย่างรวดเร็วว่ายังไงก็ต้องเป็นทีมรักของเขาอย่าง แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด โดยไปถึงที่โรงละครแห่งความฝัน โอลด์ แทรฟฟอร์ด แต่เขายังทิ้งท้ายให้เราอีกหน่อยว่าทุกวันนี้ชีวิตเขาก็กำไรกว่าที่เคยคิดแล้ว

“ผมอยากถ่าย เดวิด เบ็คแฮม ที่สนาม โอลด์ แทรฟฟอร์ด แต่มันไม่ทันแล้ว แต่ตอนนี้เอาจริงผมก็มาไกลกว่านั้นแล้ว ผมได้ไปถ่ายบอลโลกหญิงที่ฝรั่งเศสเมื่อปีค.ศ. 2019 นั่นเป็นสิ่งที่ไม่เคยคิดมาก่อน ตอนอยู่สยามกีฬาก็มีได้ไปทัวร์นาเมนท์ใหญ่ๆ ได้บันทึกภาพประวัติศาสตร์ของฟุตบอลไทย ทั้งฟุตบอลหญิงแชมป์ซีเกมส์ 2013 ที่เมียนมาร์ หรือบอลชายแชมป์ซีเกมส์ 2015 ที่สิงคโปร์ แล้วก็นัดที่ทำให้ฟุตบอลไทยฟีเวอร์กลับมาอย่างการคว้าแชมป์ซูซูกิคัพ 2014 ได้ในรอบ 12 ปีที่สนามบูกิต จาลิล ประเทศมาเลเซีย แต่ถ้าได้ไปบอลโลกกับทีมชาติชายก็คงดีนะแต่ก็ไม่ได้ไปสักที

“ไม่เคยคิดนะว่าตัวเองจะถึงระดับนี้ คือขนาดนี้ตอนนี้เป็นสิ่งที่เราไม่เคยคิดมาก่อน ผมเป็นคนคิดไม่ไกล เด็กๆ ฝันว่าอยากนั่งเครื่องบิน ตอนฝึกงานก็เห็นพี่ๆ ได้นั่งเครื่องบินไปทำข่าวที่นั่นที่นี่ก็เห็นว่าถ้าเราจะได้นั่งเครื่องบินคงต้องทำงานสายนี้แน่เลย เป็นทางเดียวที่เราจะได้ไปต่างประเทศ เพราะบ้านเราไม่มีเงิน คงไม่ได้ไป พอทำงานสายนี้ก็ได้ไปจริง ไปมาเยอะมาก ผมก็มีความคิดที่แบบไปครั้งเดียวก็พอละ เพราะฝันเราคือครั้งเดียวที่เหลือคือกำไร”

ติดตามผลงานของ ต้อม – อำพล ทองเมืองหลวง ได้ที่เฟซบุค เพจ และ อินสตาแกรม FEELPHOTO 

พิสูจน์อักษร: ชลดา สวนประเสริฐ