brand logo

PHOTO | LIFE | INSPIRATION

Apr 2024

Elliott Erwitt
Politics, Celebrities, Life Itself, And A Lot of Dogs
เขียน: ภาสินี ประมูลวงศ์
29 Nov 2021
1928-Present

Elliott Erwitt เป็นช่างภาพที่ไม่ชอบพูด

แม้แต่ในสารคดีเกี่ยวกับตัวเขาเอง ที่มีชื่อว่า ‘Silence Sounds Good’ หรือ ‘เงียบดี’ เขายังพูดด้วยสีหน้าจริงจังว่า “มันเป็นไอเดียที่น่าสนใจนะ บทสัมภาษณ์ที่ไม่มีใครพูดเลย ผมชอบแบบนั้น” ในชีวิตเขาให้สัมภาษณ์ไม่กี่ครั้ง และในบทสัมภาษณ์แต่ละครั้ง เขาจะตอบน้อย ตอบคำเดียว และตอบติดตลกทุกครั้ง

‘Finger up the nose, 2009’ self portrait © Elliott Erwitt/MAGNUM PHOTOS

 

แม้ Elliott Erwitt จะไม่ชอบพูด ภาพของเขาก็พูดเสียงดังชัดเจนอยู่แล้ว จนมันไม่ต้องการคำพูดอะไรมาขยายหรืออธิบาย และด้วยความที่เขาไม่ค่อยพูดนี่เอง เราจึงเลือกที่จะเล่าเรื่องราวชีวิตเขาผ่านภาพที่เขาถ่าย เพราะสิ่งที่เขาเชื่อ เห็น รัก ต่างก้องสะท้อนออกมาทางภาพอย่างชัดเจน มันคงเป็นการดีที่เราจะรู้จักเขาจากสิ่งที่พูดเสียงดังที่สุด

USA. California. 1955.

 

การเมือง คนมีชื่อเสียง ชีวิต และหมา 

นี่คือสิ่งที่เราจะมาทำความรู้จัก Elliott Erwitt กัน

 

———-

CUBA. Havana. Che GUEVARA. 1964.

Politics การเมือง

Elliott Erwitt เกิดที่กรุงปารีส เมื่อปีค.ศ. 1928 ในครอบครัวผู้ลี้ภัยชาวรัสเซีย ย้ายไปอิตาลี ก่อนจะย้ายมาอเมริกาตอนเขาอายุ 10 ขวบ แต่ถ้าถามถึงชีวิตในฐานะช่างภาพ มันเริ่มต้นที่กรุงนิวยอร์ค เมื่อปีค.ศ. 1948 

Elliott Erwitt ย้ายจากแคลิฟอร์เนียมาเรียนการถ่ายภาพที่นิวยอร์ค ได้พบกับ Robert Capa ที่เทียวไปเทียวมาระหว่างนิวยอร์คกับสมรภูมิสงครามโลกครั้งที่ 2, Edward Steichen ที่ตอนนั้นเป็น Director Of Photography ของ Museum Of Modern Art (MoMA) และ Roy Stryker ผู้เป็น Director ของ Farm Society Administration (FSA) หน่วยงานของรัฐบาลที่ใช้ภาพถ่ายเพื่อสร้างความตระหนักในสังคม “พวกเขาเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ผมมีงานแรก” Elliott Erwitt เล่า เขาพูดถึงงานที่ Roy Stryker มอบหมายให้เขาถ่ายบริษัทน้ำมันให้ FSA และจากเงินก้อนนั้น เขาได้ใช้ช่วงปีค.ศ. 1949 ท่องเที่ยวไปในอิตาลีและฝรั่งเศส

ไม่นานหลังจากนั้น Elliott Erwitt ก็ต้องเข้ากองทัพในตำแหน่งผู้ช่วยช่างภาพของกองทัพ เขาไปประจำการที่ฝรั่งเศสและเยอรมนี ส่วนใหญ่ช่วงเวลาที่เขาอยู่ในกองทัพ Elliott Erwitt ถ่ายเมืองและผู้คนที่เขาเจอ มีภาพชีวิตในกองทัพจากเลนส์ของเขาไม่กี่ภาพ ภาพที่เขาตีพิมพ์อย่างแพร่หลายมีเพียงภาพทหารผิวดำแลบลิ้นให้กล้อง (ค.ศ. 1951)

USA. Fort Dix, New Jersey. 1951.

แต่ถ้าเราดูในชีวิตเขา เราจะเห็นว่า Elliott Erwitt พูดเรื่องการเมืองอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการเมืองระดับประเทศที่เขาได้เป็นช่างภาพกลุ่มแรกที่เข้าไปคิวบาตอนที่สหรัฐอเมริกากับคิวบาสานมิตรภาพตอนปีค.ศ. 1964 เขานั่งอยู่บนรถคันเดียวกับ Fidel Castro ถ่ายออกมาเห็นมุมมองเดียวกับที่ Fidel Castro เห็น และถ่าย Che Guevara หัวเราะตาหยีขณะสูบซิการ์ หรือเหตุการณ์โด่งดังอย่าง Kitchen Debate ตอนปีค.ศ. 1959 ที่รองประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา Richard Nixon ยืนเถียงกับเลขาธิการสหภาพโซเวียต Nikita Khrushchev ว่าอเมริกากับโซเวียตใครเจริญกว่ากัน ที่หน้าชุดครัวจำลองในงาน American National Exhibition กลางกรุงมอสโค  Elliott Erwitt เล่าว่า วันนั้นเขาไปในฐานะช่างภาพโฆษณาจากบริษัทตู้เย็น ไม่ใช่ช่างภาพข่าวด้วยซ้ำ แต่เพราะเขาต้องยืนอยู่ในชุดครัวจำลองในขณะที่คนอื่นอยู่ข้างนอก เขาจึงได้ภาพที่เห็นทั้งครัว คนสองคนที่ยืนเถียงกันอย่างออกอารมณ์ และคณะผู้ติดตามที่เคร่งเครียดไม่แพ้กัน

Cuba.1964.

Cuba.1964.Che Guevara

USSR. Moscow. 1959. Nikita KHRUSHCHEV and Richard NIXON.

ภาพถ่ายของ Elliott Erwitt พูดถึงการเมืองในระดับสังคมด้วยเช่นกัน เช่นภาพที่เขาถ่ายชาวผิวดำใช้อ่างล้างหน้าแบ่งแยกสีผิวตอนปีค.ศ. 1950 หรือภาพกลุ่มคนยืนมองภาพที่พิพิธภัณฑ์ Prado ที่ Madrid (ค.ศ.1995) ที่กลุ่มผู้ชายยืนดูภาพนู้ด ในขณะที่ผู้หญิงยืนดูภาพที่แบบใส่เสื้อผ้า ก็เป็นภาพที่แม้จะขบขัน แต่ก็อ่านนัยยะได้ถึงเพศที่ส่งผลต่อการมอง และสถานะของภาพนู้ดที่เป็น Male Gaze

USA. North Carolina. 1950.

SPAIN. Madrid. 1995. Prado Museum.

 

ภาพถ่ายของ Elliott Erwitt พูดถึงการเมืองทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจด้วยน้ำเสียงเรียบง่ายและใกล้ตัว คล้ายกับที่ตัวเขาเองเคยพูดว่า “ภาพถ่ายเป็นสิ่งที่เรียบง่ายมาก เราแค่โต้ตอบต่อสิ่งที่เห็น และถ่ายภาพออกมาเยอะๆๆๆๆๆๆ” 

Celebrities คนมีชื่อเสียง

FRANCE. Paris. 1952.

 

“อย่างที่คุณก็น่าจะรู้ ภาพถ่าย Marilyn Monroe ขายง่ายกว่าภาพเพื่อนบ้านคุณ” Elliott Erwitt กล่าว “ผมต้องพูดว่างานถ่ายโฆษณาเป็นแรงขับเคลื่อนของผมเช่นกัน มันให้เงินผมใช้จ่าย ผมไม่มีข้ออ้างสำหรับการทำงานโฆษณา ในทางกลับกัน ผมดีใจที่มีมัน”

เมื่อออกจากกองทัพตอนปีค.ศ. 1953 Elliott Erwitt เริ่มก้าวต่อไปด้วยการเป็นช่างภาพอิสระให้นิตยสาร เช่น Life, Holiday, Look เขาถ่ายทั้งงานข่าวไลฟ์สไตล์ที่ทำให้เขาได้เดินทางไปที่ต่างๆ ทั่วโลก และงานถ่ายคนมีชื่อเสียง ทั้งการถ่ายภาพ Marilyn Monroe หลายครั้งในชีวิตของเธอ, ถ่าย Jackie Kennedy (ที่ก้ำกึ่งทั้งการเป็นส่วนหนึ่งของวงการบันเทิงในฐานะ Fashion Icon และทางการเมืองในฐานะสตรีหมายเลข 1) ร้องไห้อย่างที่เราไม่เคยเห็นจากภาพไหน ในงานศพ John F. Kennedy หรือภาพ John F. Kennedy เองขณะเขายังมีชีวิตอยู่ สูบบุหรี่ท่ามกลางผู้คน

New York.1956.Marilyn Monroe

USA. Arlington, Virginia. November 25th, 1963. Jacqueline KENNEDY at John F. Kennedy’s Funeral.

คนมีชื่อเสียงในภาพของ Elliott Erwitt ไม่ได้ดูสวยงามตามแบบฉบับที่เราจะเห็นพวกเขาได้จากภาพอื่น Elliott Erwitt ไม่ได้ดึงจุดเด่นจุดขายของพวกเขาออกมา แต่เขาถ่ายวินาทีที่ฉากหน้าเหล่านั้นหลุดออกและเผยคนดังคนนั้นในแบบคนธรรมดา 

New York.1956

ไม่ว่าคนในภาพจะเป็นใคร โด่งดังขนาดไหนหรือไม่ก็ตาม Elliott Erwitt เล่าว่า เขาจะถ่ายพวกเขาด้วยมุมมองเดียวกัน มุมมองของเขาคือการมองหาความเป็นมนุษย์ เขาจึงเห็นและเก็บภาพแบบนั้นมา “คุณแค่เดินไปรอบๆ มองสิ่งต่างๆ พยายามใส่มันเข้าไปในภาพสี่เหลี่ยม และหวังว่าคุณจะได้บางอย่าง”

 

Life Itself ชีวิต

FRANCE. Orleans. 1974.

 

Elliott Erwitt รักผู้คน เขาจึงถ่ายพวกเขาออกมาอย่างมีชีวิต

ภาพที่ส่วนตัวและเป็นหนึ่งในภาพที่เล่าเรื่องชีวิตได้งดงามที่สุดภาพหนึ่งในชีวิตการทำงานของเขาคือภาพภรรยานั่งมองลูกทารก (ค.ศ. 1953) “นั่นคือภรรยาคนแรก ลูกคนแรก แมวตัวแรก ของผม” 

ถ้าเราดู Contact Sheet เราจะเห็นว่ามันเป็นม้วนฟิล์มที่ Elliott Erwitt ถ่ายครอบครัวในวันธรรมดาๆ เหมือนภาพใส่อัลบั้มในทุกครอบครัวที่ถ่ายกันทั่วไป ภาพก่อนหน้ามีทั้งภาพภรรยาเขายิ้มให้กล้อง ภาพเขาเองอุ้มลูก โดยภาพภรรยา ลูก และแมวที่โด่งดังนั้นถ่ายมาเพียงชอตเดียวเท่านั้น

USA. New York City. 1953.

 

จาก Contact Sheet เราจึงเข้าใจว่ารูปแบบการถ่ายภาพของ Elliott Erwitt ในช่วงเวลาที่ไม่ได้ถ่ายงาน คือการถ่าย Snap Shot หรือการถ่ายเร็วๆ ตามสิ่งที่เห็น ซึ่งเขาก็เรียกภาพตัวเองแบบนั้น มีคนเคยถามเขาว่าสำหรับ Elliott Erwitt แล้ว ภาพ Snap Shot กับภาพที่ถ่ายใช้เวลาในการถ่ายแตกต่างกันอย่างไร “มันไม่แตกต่างกัน” นั่นคือคำตอบของเขา “ภาพที่ดีคือภาพที่ดี สิ่งที่แตกต่างระหว่างแต่ละภาพอย่างเดียวสำหรับผมคือภาพที่ดีและภาพที่ไม่ดีหรือภาพที่น่าเบื่อ ส่วนภาพที่ตราตรึงคุณ ที่ทำให้คุณคิด ที่ทำให้คุณมีอารมณ์บางอย่าง ทำให้คุณหัวเราะหรือร้องไห้ นั่นคือภาพที่ดี”

SPAIN. Valencia. 1952.

 

‘ภาพที่ดี’ แบบที่ Elliott Erwitt นิยามมีอยู่มากมายและต่อเนื่องในชีวิตเขาตลอด 70 ปี ตั้งแต่ช่วงขวบปีแรกของการเป็นช่างภาพ เราเห็น ‘ภาพที่ดี’ จากชีวิตส่วนตัว และ ‘ภาพที่ดี’ ที่เขาถ่ายจากการเดินบนท้องถนน พิพิธภัณฑ์ กิจกรรมกลางแจ้งต่างๆ และร้านรวง Snap ของ Elliott Erwitt มักเก็บผู้คนขณะพวกเขากำลัง ‘ใช้ชีวิต’ อยู่ โดยเฉพาะภาพผู้คนที่กำลังมีความรักในรูปแบบใดๆ ก็ตาม

London.TATE.1993.

USA. East Hampton, New York. 1981.

 

“ผมหวังว่าภาพที่ผมชอบที่สุดจะยังไม่ถูกถ่าย” Elliott Erwitt พูดเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา นั่นแปลว่า ปัจจุบันในวัน 93 ปี เขายังคงมองหา ‘ภาพที่ดี’ อยู่เสมอ

USA. New York City. 1955.

And A Lot of Dogs หมา

USA. New York City. 1999

มีนักข่าวเคยถาม Elliott Erwitt ว่าอะไรที่เขารักที่สุด

“ผู้คน” เขาตอบ เงียบไปสักพัก “ผู้คน” เขาย้ำอีกครั้ง  

เงียบ

“และหมา”

แน่นอนว่ามันเป็นบทสนทนาที่เรียกเสียงฮา แต่ในความฮานั้นคือความจริง Elliott Erwitt ออกหนังสือภาพถ่ายเกี่ยวกับหมามาแล้ว 8 เล่ม “ผมถ่ายหมาตลอดจนมีหนังสือเกี่ยวกับมันมา 8 เล่มแล้ว แต่ผมไม่จำเป็นต้องให้ Print หรืออะไรกับมันเลย” เขาเคยเล่าติดตลกถึงความรักอย่างไม่มีผลประโยชน์มาเกี่ยวข้องของหมา ตัวเขาเองเลี้ยงหมามาตลอดชีวิตและเลี้ยงจำนวนเยอะขึ้นเรื่อยๆ เขาถ่ายทั้งหมาของตัวเอง และหมาของคนอื่น

GB. ENGLAND. Birmingham. 1991.

USA. New York City. 2000.

หมาในภาพของ Elliott Erwitt มักน่ารักแกมตลก ส่วนใหญ่เพราะมีลักษณะบางอย่างคล้ายคน เช่น หมาชิวาว่าที่ใส่เสื้อไหมพรม พุดเดิ้ลที่ยืนเกาะขอบสนามตัวเท่าคน ดัลเมเชียนใส่แว่นกันลม หรือหมาที่นั่งบนตักจนกลายเป็นเหมือนคนหน้าหมา 

ความรักหมาของ Elliott Erwitt คงเล่าได้ชัดเจนที่สุดจากการที่ในการขาย Print ของ Magnum Photo ธีม ‘บ้าน’ Magnum Photo ให้ช่างภาพเลือกตีความคำว่า ‘บ้าน’ ในรูปแบบของตัวเอง Elliott Erwitt เลือกตั้งกล้องถ่ายตัวเองกับหมาบนโซฟาในห้องนั่งเล่น เพื่อแสดงถึงบ้านในแง่สถานที่ ช่วงเวลา และ ‘หมา’ คือความรักความอุ่นใจ หมาคือบ้านของเขา

 

———-

 

ภาพของ Elliott Erwitt หลากหลายประเด็น แต่อย่างที่เราเห็น สิ่งที่เขาดึงออกมาในทุกอย่างที่เขาถ่าย คือความเป็นมนุษย์ 

Elliott Erwitt ทำให้เรามองเห็นชีวิตที่อยู่ลึกลงไปกว่าภาพจำที่สิ่งต่างๆ ตั้งใจจะเป็น เพราะเขาเก็บวินาทีที่สิ่งเหล่านั้นเป็นอย่างที่มันเป็น วินาทีที่เต็มไปด้วยอารมณ์ ทั้งสุข เศร้า หรือโกรธ ภาพของ Elliott Erwitt ไม่บอกเล่าเรื่องราวยิ่งใหญ่ แต่เฉลิมฉลองให้ช่วงเวลาธรรมดาเล็กๆ น้อยๆ 

Elliott Erwitt ทำให้เราเห็นชีวิต และชีวิตก็เป็นสิ่งที่สวยงามในความเรียบง่ายของมัน

 

Additional Read

 

  1. New York Times Lens. Talking Photography
    With Elliott Erwitt By Todd Heisler. https://lens.blogs.nytimes.com/2015/03/30/talking-photography-with-elliott-erwitt/
  2. The Guardian. Elliott Erwitt: ‘Photography is pretty simple. You just react to what you see’ By Nadia Sayej. https://www.theguardian.com/artanddesign/2020/nov/09/elliott-erwitt-interview-photographer
  3. Elliot Erwitt. https://www.elliotterwitt.com/
  4. Magnum. Making the Image: Mother and Child. https://www.magnumphotos.com/theory-and-practice/contact-sheet-mother-child-elliott-erwitt-portrait/
  5. Magnum. Behind the Image: The Kitchen Debate. https://www.magnumphotos.com/newsroom/politics/elliott-erwitt-behind-the-image-the-kitchen-debate/
  6. Magnum. Inside the World of Elliott Erwitt. https://www.magnumphotos.com/arts-culture/society-arts-culture/inside-the-world-of-elliott-erwitt/
  7. Magnum. Elliott Erwitt: Personal Best. https://www.magnumphotos.com/arts-culture/elliot-erwitt-personal-best/
  8. Financial Times. Elliott Erwitt: ‘In my 90s, my work looks different than I’ve ever seen it before’. Tara Tabbara. https://www.ft.com/content/dc59eb12-af50-40b5-9bdc-edff7bf86385
  9. Times. Elliott Erwitt’s Very Own Personal Best. https://time.com/3777045/elliott-erwitts-very-own-personal-best/
พิสูจน์อักษร: ชลดา สวนประเสริฐ