brand logo

PHOTO | LIFE | INSPIRATION

May 2025

เดียร์ - ชัชพงษ์ อำภรรัตน์
Life Assistant
เรื่องและภาพ : ธันวา ลุจินตานนท์
สไตลิสท์ : ธีรยุทธ จันทรสมบัติ
19 Jan 2022

กว่าจะมาเป็นภาพถ่ายสักหนึ่งใบ หรือแฟชั่นสักเซ็ตหนึ่ง มันมีทีมงานมากมายที่อยู่เบื้องหลังการทำงานเหล่านี้ซึ่งกว่าจะได้ผลลัพธ์ออกมาเป็นภาพที่อยู่ในหัวของช่างภาพได้ ทีมที่สำคัญมากๆ คือ ทีมผู้ช่วยช่างภาพ ซึ่งเป็นเหมือนแขนและขาของช่างภาพเลยก็ว่าได้ เอาเข้าจริงจะพูดถึงขั้นเป็นคนรู้ใจรู้จักช่างภาพได้ด้วยซ้ำหากทำงานร่วมกันมาเนิ่นนาน เดียร์ – ชัชพงษ์ อำมรรัตน์ เป็นผู้ช่วยช่างภาพฟรีแลนซ์ที่อยู่ในวงการมากว่า 14 ปีแล้ว ผ่านการทำงานมามากมายโดยเฉพาะกับการเป็นผู้ช่วยของ ติ๋ม – พันธ์สิริ สิริเวชชะพันธ์ ช่างภาพแฟชั่นฝีมือระดับท็อปของบ้านเรา โดยในครั้งนี้ที่เราได้คุยกับเดียร์ทำให้เราเห็นและเข้าใจอะไรมากขึ้นเกี่ยวกับการเป็นผู้ช่วยที่มากกว่าผู้ช่วย หากคนอ่านกำลังสนใจหรืออยากเป็นผู้ช่วยช่างภาพ หรือการทำงานใดๆ ก็ตาม เราอยากเชิญชวนคุณให้อ่านจนจบ เพราะเดียร์ทำให้เรามีพลังใจมากขึ้นหลังจากได้คุยกับเขา

ประสบการณ์ 14 ปี

“เราเป็นผู้ช่วยมา 14 ปีแล้ว ตั้งแต่เรียนจบเลยตอนอายุ 23 จน 37 ละ ตอนนี้ก็เป็นฟรีแลนซ์ ทั้งผู้ช่วยช่างภาพ โลเคชั่น มีทำพร็อพบ้าง แล้วแต่ว่าเขาจะให้ไปทำอะไร ถ้าให้เรียกตัวเองก็เป็นผู้ช่วยช่างภาพแหละ อย่างอื่นเป็นงานเสริม หลักๆ เราก็จะชอบพวกงานแฟชั่น หรือพวกถ่ายลงเล่ม ลงนิตยสารต่างๆ เราก็เลยพยายามหางานที่มันยังวนๆ อยู่ในอุตสาหกรรมนี้” เดียร์หันหน้ามาคุยกับเราด้วยท่าทีสนุก ตาเขาเป็นประกายอย่างเห็นได้ชัด

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เรากับเดียร์เจอกัน เราเคยเห็นเดียร์มาหลายครั้งจากเพื่อนเราที่เป็นช่างภาพแฟชั่น แล้วก็ไปเจอกับเดียร์ช่วงที่เดียร์เว้นไว้ให้เป็นวันหยุดประจำชีวิตของเขาเมื่อสิ้นปีที่ผ่านมา ตอนนั้นเป็นจังหวะที่ทำให้เรารู้สึกว่าการนัดเขามาพูดคุยน่าจะเป็นอะไรที่ดีต่อทั้งผู้อ่านและเราเองด้วยซ้ำเพราะทัศนคติในการทำงานของเขานั้นมันน่าสนใจมาก

“ตอนแรกเราไม่รู้ตัวว่าเราชอบอะไร แต่เราโชคดีมากเพราะตอนไปฝึกงานเราได้ไปฝึกกับ พี่ติ๋ม – พันธ์สิริ คือสมัยที่เราเรียน พวกแนวฝึกงานภาพถ่ายมักจะเป็นถ่ายรูปท่องเที่ยว แลนด์สเคป ถ้าฝึกงานก็จะนึกถึงททท. เป็นหลัก แต่เราก็เลือกที่จะไปลองฝึกเป็นผู้ช่วยช่างภาพดู แล้วก็ได้ฝึกกับพี่ติ๋มนี่แหละ จริงๆ สมัยนั้นพี่ติ๋มแทบไม่รับเด็กฝึกงานเลย รับก็รับน้อยมากแต่เราก็โชคดีแหละ

“เราเลือกฝึกงานเป็นผู้ช่วยช่างภาพพี่ติ๋ม เพราะงานพี่ติ๋มมีแสงไฟแสงแฟลช มีลูกเล่นเยอะ เราก็คิดว่าดีเหมือนกัน เพราะเราจะได้ไปเริ่มนับหนึ่งใหม่กับการที่จะทำอาชีพผู้ช่วยช่างภาพไปฝึกอันยากๆ ก่อนเลยอย่างน้อยมันจะได้น่วมๆ โดนเยอะๆ มันจะได้เก่งขึ้น จากความคาดหวังของเรา มันต้องทำเป็นสักอย่างแหละ พอฝึกงาน เราก็สนุกกับมันนะ เหมือนเปลี่ยนโลกไปเลย

“พอสนุก เวลาก็ผ่านไปเร็ว แล้วมันก็ทำให้เราอยากทำ… อยากทำ… อยากทำ… เติมพลังไปเรื่อยๆ จนพี่ติ๋มก็ถามว่าสนใจทำประจำเป็นผู้ช่วยแกมั้ย เราก็เออ… ก็ดีเหมือนกันนี่หว่า… เข้ามือกันแล้ว อยู่มา 4-5 เดือน เราก็เลยรันจากนั้นมา พอเราเหมือนเจอสิ่งที่เราชอบก็เลยคว้ามันแล้วทำจนผ่านไปสิบสี่ปี” 

เราสอบถามเดียร์ถึงการทำงานกับติ๋มเพราะว่ามีผู้ช่วยช่างภาพที่เราสนิทชอบบอกว่าติ๋มนั้นดุมากจนถึงมากมาก เดียร์มองหน้าเราแล้วยิ้มพร้อมกับตอบแบบไม่ต้องคิดมากเลยว่า “พี่ติ๋มสมัยก่อนดุมาก ตามองวิวไฟน์เดอร์ ปากสั่งแบบ มือกดชัตเตอร์ ตาอีกข้างจะมองผู้ช่วย  แต่ทำงานกับพี่ติ๋มดีอย่างนึงคือมันเป็นระบบ เธอดูไฟก็ดูไฟเลย โอเปอร์เรทก็โอเปอร์เรทไป ทำคอมฯ ก็ทำคอมฯ เพราะว่าถ้าเราผิดพลาดเขาจะได้ว่าถูก แล้วเขาก็บอกกับเราว่า เพราะมู้ดมันได้แค่พริบตาเดียวเท่านั้น แล้วกว่ามันจะมา เราทำงานทั้งวันเพื่อแค่เสี้ยววินาทีนั้น เขาก็ไม่อยากพลาด

 “จริงๆ แล้วเมื่อก่อนเราก็ไม่ค่อยเข้าใจเท่าไหร่ เราแค่ทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุด แต่เราเป็นพวกแบบว่า ถ้าโดนบ่น โดนนวดไปแล้ว เราจะไม่กลัว จะไม่แหยง เราต้องรอด ยังไงก็ต้องรอด ถ้าโดนบ่นเรื่องนี้ โดนด่าเรื่องนี้ ยังไงต้องกลับมาทำให้ไม่โดนบ่นให้ได้ แล้วพอมันได้แล้ว ทุกอย่างมันง่ายละ อยู่ที่ใจเลย

“เมื่อก่อนไปกับพี่ติ๋ม เป็นเงาตามตัวแกเหมือนกัน คือแทนที่วันหยุดเรา พี่ติ๋มมีประชุม เราไม่จำเป็นต้องไปก็ได้ แต่เราเลือกที่จะไป เพราะเราคิดว่ามันมีแต่คนเก่งๆ นั่งอยู่ในโต๊ะ แล้วทุกคนก็แบกหนังสือไปว่า อยากให้แสงสีเป็นแบบนี้ โพสเป็นอีกเล่มหนึ่ง ทำไมเราจะไม่เข้าวะ เพราะมีแต่คนเก่งเขาไปนั่งคุยกัน เราจะไปกับพี่ติ๋มตลอด จนกลายเป็นว่าเห็นพี่ติ๋มที่ไหน ก็เห็นเราที่นั่น พี่ติ๋มจะเอาอะไรเราก็จะจดไว้ เพราะเราก็ไม่อยากลืมของ คือถ้าหน้างานไม่พร้อม มันก็จะเหมือนคนไม่ทำการบ้านไปโรงเรียน จะไม่อยากไปโรงเรียนแบบหลบๆ ครู แต่ถ้าเราทำการบ้านไปก็จะเป็นแบบ ‘เรียกฉันสิ… เรียกฉัน’ เพราะเราพร้อม”

ผู้ช่วยสำหรับเดียร์คืออะไร

การทำงานในระบบสตูดิโอภาพถ่ายหรือการถ่ายงานแบบ commercial เราจะรู้กันอยู่ว่ามีทีมผู้ช่วยช่างภาพประมาณ 2-3 คนต่อหนึ่งเซ็ตหรือมากกว่านั้น เราเลยให้เดียร์ช่วยอธิบายเพื่อสร้างความเข้าใจที่ตรงกันมากขึ้นถึงลำดับขั้น และหน้าที่ของผู้ช่วยแต่ละคนนั้นแตกต่างกันอย่างไร ไล่ตั้งแต่ผู้ช่วยสามไล่มาถึงหนึ่ง

“รุ่นเราสมัยก่อนถ้าคุณเป็นผู้ช่วยสาม คุณไม่มีสิทธิ์จับอุปกรณ์เลยนะ เตรียมขาเซนต์ (C-Stand หรือ Century Stand) เตรียมของสแตนด์บายเพื่อให้เขาทำงานง่าย เวลาเอาไปเสิร์ฟให้กับหน้าเซ็ต หน้าที่คือแค่เตรียมอย่างเดียวจริงๆ พวกอุปกรณ์เสริมต่างๆ ใส่หัวไฟยังไม่มีสิทธิ์ที่จะใส่ให้

“ผู้ช่วยสองก็เป็นเรื่องอุปกรณ์วางไฟแบบนั้น เลื่อนไฟหน่อยขยับไฟหน่อยด้วยการบอกกล่าวหรือส่งซิกส์ ผู้ช่วยสามก็จะเอาของมาให้ผู้ช่วยสอง

“ผู้ช่วยหนึ่งจะอยู่ข้างกล้อง ข้างช่างภาพ ตาเขาก็จะเห็นคนทำโอเปอร์เรทเป็นยังไง ช่างภาพจะเอาอะไร มองเห็นภาพรวมทุกอย่างเพื่อที่จะเซอร์วิสช่างภาพได้ แต่ทุกวันนี้มันก็บีบลงหน่อยแล้วเหลือสองคนหรือคนเดียว”

สำหรับเรา เราเชื่อว่าการเป็นผู้ช่วยคือการที่คุณอยู่พร้อมซัพพอร์ทช่างภาพเป็นหลัก โดยถ้าเราเข้าใจช่างภาพนั้นมันจะเป็นโบนัสให้กับเราในการทำงานเพราะงานมันจะราบรื่นและเห็นภาพเดียวกัน ซึ่งเดียร์ก็บอกเราว่ามันสำคัญมากเพราะมันเสริมสร้างทีมเวิร์ค แล้วก็ช่วยในเรื่องของเวลาให้เร็วขึ้นด้วย

“ผู้ช่วยที่ดีควรจะเชื่อช่างภาพก่อน ให้เขาเป็นที่หนึ่งในห้อง ข้อดีอย่างนึงที่เราทำภาพนิ่ง เพราะคนมันน้อย แล้วเราจะรู้ว่าเจ้านายเราเป็นใคร ไม่ต้องสนเลยว่าใครเป็นใครมาจากไหน ลูกค้าต้องการนี่… ไม่ต้องเลย เราสนใจแค่ช่างภาพ เราเสิร์ฟแค่ช่างภาพ เพราะในหัวเขา เขารู้อยู่แล้วว่าเขาต้องการอะไร ถ่ายไปทำอะไรต่อ ช่างภาพเขาจะถูกบรีฟมาแล้วว่าเขาจะถ่ายอะไร ต้องการอะไร เพราะฉะนั้นเราก็เชื่อช่างภาพคนเดียว แล้วพอมันจบงานมันก็สบาย ก็เอาแบบที่เขาอยากได้เพราะสวยของแต่ละคนนั้นก็ต่างกัน เขาก็จะรู้ดีที่สุด ก็ตามเขาไป กว่าจะเป็นผู้ช่วยหนึ่งก็ไม่ง่ายนะ ต้องไต่มาจาก สาม สอง แล้วหนึ่ง กว่าจะขึ้นมาก็ต้องใช้ เวลา ยิ่งอยู่ด้วยกันมากก็ยิ่งจะเข้าใจ เข้ามือมากขึ้น”

พอฟังเดียร์เล่าออกมาแบบนี้ เรามองเห็นเลยถึงประสบการณ์ของเขาที่ผ่านการช่วยช่างภาพเก่งๆ มาเยอะ เราเลยอดถามไม่ได้จริงๆ ว่าสำหรับตัวเขาแล้ว คิดว่าชีวิตตอนนี้ การงานตอนนี้มันคือจุดไหนแล้ว เขามองหน้าเราแล้วยิ้มแบบเขินๆ ก่อนจะตอบออกมา “เราเบอร์ต้นๆ เลยแหละ (หัวเราะ) เราคิดแบบนั้นเลยเพราะว่าคนที่เราช่วยทุกคนก็เป็นคนเก่งทั้งหมด แล้วถ้าเราได้อยู่กับคนเก่งแสดงว่าเราก็ต้องเก่งสิ ใช่มั้ย

“เรื่องความมั่นใจในการทำงานก็เป็นอีกเรื่องที่ต้องมี ถ้าเรารู้สึกมั่นใจ มันก็ต้องดี แต่ก่อนที่จะมั่นใจได้ เราก็ต้องบอกเหตุผลให้ได้ก่อนว่าทำไมเราใช้อุปกรณ์ชนิดนี้ อุปกรณ์ชนิดนี้ให้เอฟเฟ็กต์อย่างไร แสงมันเหมือนเลย์เอาท์มั้ย ก็อปมากไปมันก็ไม่ดี ก็ไม่ใช่เรฟแล้ว มันคือการก็อปปี้ มันก็ต้องมีเทคนิคของมัน อะไรประมาณนั้น”

บาลานซ์ชีวิต

“ทุกวันนี้ชีวิตมีความสุขมาก แต่ก่อนเราก็คิดว่าเราใช้ชีวิตเป็นนะ แต่ก็มีแบบไม่ดี แบบบ้างาน เขาให้ทำ เราก็ทำไม่ได้แบ่งเวลา เพราะสมัยก่อนอุตสาหกรรมนี้คนมันไม่ได้มีเยอะแบบนี้อุปกรณ์มันก็แพง ไม่ใช่ว่าใครจะมีคอมฯ ได้แต่ตอนนี้ทุกอย่างมันง่ายขึ้น เมื่อก่อนขั้นตอนเยอะ กว่าจะเป็นรูปถ่ายหนึ่งใบ ไม่ได้มีโทรศัพท์แล้วเรียกว่าตัวเองเป็นช่างภาพ โน… เมื่อก่อนมันยากกว่านั้น

“ตอนที่งานที่เราทำได้ไปขึ้นบิลบอร์ดก็ดีใจแบบ ‘อันนี้กูทำเว้ย’ อันนี้ก็ทำ อันนั้นก็ทำ เดือนนี้สามบิลบอร์ดเว้ย เราก็ภูมิใจไปบอกพ่อแม่ ถึงจะไม่ได้เป็นคนกดชัตเตอร์ หรือว่าไม่ได้เป็นหัวเรือในงานนั้น แต่เราเป็นจิ๊กซอว์ในอุตสาหกรรมนี้ เรารู้สึกดี มีความสุขมากแล้วก็เชิดชูในสิ่งที่เราทำ เพราะทุกอาชีพมีคุณค่า เราคิดแบบนั้นนะ ขอให้สารตั้งต้นเราจริงใจกับมัน มันก็ดีตลอด”

จากที่เราคุยกับเดียร์มาจนเกือบหนึ่งชั่วโมง เรารับรู้ได้ว่าเขาเป็นมนุษย์คนนึงที่ได้พบสิ่งที่ใช่ตั้งแต่แรกเริ่มและอยู่กับมันอย่างมีความรักกับงานที่เขาได้ทำ เราอยากรู้มากว่าเขาทำงานทุกวันได้ยังไง แบ่งเวลาชีวิตยังไง แล้วก็ทำยังไงให้ไม่หมดไฟกับงาน “ในหนึ่งปีเราจะแบ่งเลยว่าหนึ่งเดือนสามสิบวัน เรารับสิบงานกำลังสวย เพราะจะได้มีวันเตรียมงาน คิดงาน เตรียมตัวถ่ายหนึ่งวัน อีกวันคือวันถ่ายจริง แล้วก็มีอีกวันคือวันที่เราเอาของไปคืน เคลียร์ของ สำหรับเรารู้สึกว่าแบบนี้มันเวิร์คไม่อึดอัดไป

“บางทีเราปฏิเสธไม่ได้ว่าที่เราทำงานถ่ายรูป มันเล่นกับอารมณ์ เพราะฉะนั้นแย่ที่สุดเลยคืออารมณ์มันติดไปใช้กับอีกงาน แล้วมันยากมากที่คุณจะไม่มีอารมณ์ งานที่คุณอินมันต้องมีอารมณ์ร่วมถึงจะส่งเสริมกัน

“เราก็เคยเป็นคนแบบนั้น (เอาอารมณ์ที่ไม่ดีจากงานหนึ่งไปอีกงาน) เลยต้องเบรคตัวเอง ไม่รับงานเลย หนีไปเลย เราไปถามตัวเองว่าจริงๆ แล้วแบบนี้มันไม่น่ารัก แล้วพอรู้ตัวมันก็ติดไปแล้วจนคนรอบข้างเป็นคนบอก เราเลยรู้สึกว่าไม่ได้และอยู่ที่บ้านทำไมยังเหมือนทำงานอยู่เลย เพราะฉะนั้นแบบนี้มันไม่เวิร์ค

“พอไปเบรคตัวเอง อยู่กับตัวเองมาเลยตั้งคำถามคำตอบให้กับตัวเองอยู่สองสามปี แล้วกลับมาทำงาน เราเลือกที่จะไปเที่ยวหนึ่งเดือน เราชอบขี่มอเตอร์ไซค์มาก อากาศที่ดีที่สุดคือช่วงเดือนธันวาใช่มั้ย เราก็เลยเลือกเดือนธันวาว่าเราจะไม่รับงานเลย

“ส่วนช่วงเดือน 5 เดือน 6 หลังสงกรานต์ เราก็เบรคไปทำทุเรียนที่บ้าน ปลูกต้นไม้ ไปทำเรื่องอื่น ฉะนั้น ในหนึ่งปีเราจะหายไป 3 เดือน เท่ากับว่าเราเหลือเวลาทำงานแค่เก้าเดือน ก็สองร้อยกว่าวัน ถ้าสมมติปีนี้ทำงาน 120 วัน เราก็พอละ 120 – 150 วันก็เท่ากับเดือนนึงสิบงาน พอดี 12 วัน 13 วัน (ต่อเดือน) แล้วแต่ว่าช่วงนั้นใช้เงินเยอะหรือเปล่า ถ้าใช้เงินเยอะ ก็ต้องรับเยอะ เป็นลักษณะแบบนั้นเพราะตัวผมเองก็ไปทำโลเคชั่นด้วย ไปทำอะไรด้วย มันก็เบรคๆ ไป ไม่งั้นมันจะทำแค่เสร็จอย่างเดียวไม่เอาสวย พอทำงานทุกวันติดกัน มนุษย์เราก็จะแบบถ่ายๆ ไปให้เสร็จๆ เราไม่ได้อยากเป็นแบบนั้น เรารู้สึกว่าถ้าทำงาน ต้องเอาสวยไปเลย เพราะมันคือสมบัติของช่างภาพในวันนั้น คือเราไปช่วยเขาสร้างสมบัติอะ แล้วถ้าเราทำให้สมบัติเขาดีเขาสวย มันดีกว่านะ

“สำหรับผมรูปที่ดีต้องมองแล้วไม่เบื่อ กี่ปีมันต้องดูเท่อยู่ เราอยากเป็นอย่างนั้น”

เรายอมรับเลยว่าพอคุยกันจบเราได้สร้างความเข้าใจแก่ตัวเองด้วยว่าชีวิตมันควรจะเป็นแบบที่เดียร์บอก แบ่งเวลาบาลานซ์ให้กับงานและชีวิต รวมไปถึงจุดที่เขาย้ำเสมอว่าสารตั้งต้นที่ดีของการทำงานมันคือใจของเรา ถ้าใจเรามา ใจเราเอา มันก็ทำให้เรามีความสุขกับงานที่เราทำแล้ว เราเลยหวังว่าคุณผู้อ่านจะได้รับประกายไฟเฉกเช่นเดียวกับที่เราได้รับจากเดียร์หลังอ่านบทความนี้ แล้วเอาไปต่อยอดให้กับชีวิตตัวเองได้ด้วย

พิสูจน์อักษร : ชลดา สวนประเสริฐ