brand logo

PHOTO | LIFE | INSPIRATION

May 2025

แบงค์ - ชัยพฤกษ์ เฉลิมพรพานิช
Be Versatile
เรื่อง: กษิดิ์เดช มาลีหอม
ภาพ: ธันวา ลุจินตานนท์
21 Apr 2023

การสะกดคนดูให้จดจ้องอยู่กับภาพยนตร์เป็นเวลาหลายชั่วโมง ต้องอาศัยองค์ประกอบทั้งเรื่องวิทยาศาสตร์ สุนทรีย และการเข้าใจมนุษย์ เพื่อถ่ายทอดออกมาเป็นการเล่าเรื่องที่ทรงพลังและงดงาม ภาพเปรียบเสมือนภาษาของภาพยนตร์ที่มีหน้าที่สื่อสารอารมณ์และข้อมูล และภาพยนตร์ที่ถูกสร้างสำเร็จแล้วหนึ่งเรื่องไม่ใช่แค่ผลงานศิลปะหรือสินค้าในอุตสาหกรรมบันเทิงเท่านั้น แต่เป็นการเชิดชูแรงกายและแรงใจของคนทำงานทุกคน บทความนี้จะมาลงลึกถึงกระบวนการสร้างภาพยนตร์ผ่านสายตาของผู้กำกับภาพกับ แบงค์-ชัยพฤกษ์ เฉลิมพรพานิช ผู้ร่วมก่อตั้งโรงเรียนสังเคราะห์แสง และเจ้าของรางวัลภาพยนตร์แห่งชาติ สุพรรณหงส์ สาขากำกับภาพยอดเยี่ยม จากภาพยนตร์เรื่อง มะลิลา (2018) รวมถึงวิธีคิดต่อการถ่ายภาพนิ่งในฐานะผู้กำกับภาพ ว่ามุมมองที่เขาอยากจะหยุดเวลานั้นไว้เหมือนและต่างอย่างไรกับงานภาพเคลื่อนไหวที่เขาทำอยู่ ทักษะภาพนิ่งสามารถนำมาต่อยอดในการถ่ายทำภาพยนตร์ได้อย่างไรบ้าง และเวทมนตร์แห่งการเล่าเรื่องของสองสิ่งนี้คืออะไรสำหรับเขา ก่อนที่จะเข้าเนื้อหาอยากชวนมาทำความรู้จักกับตำแหน่งผู้กำกับภาพหรือ DP (Director of Photography) กันก่อน

Director of Photography

“หน้าที่ของ DP คือบันทึกทุกหยาดเหงื่อของทุกคนในกองถ่าย สมมติว่าในกองถ่ายมีคนหนึ่งร้อยคนทำงาน มีทีมเสื้อผ้า นักแสดง คนเขียนบท ทุกแผนกที่ทำงาน ทุกหยาดเหงื่อของเขาจะเข้ามาอยู่ในกรอบสี่เหลี่ยมหลังวิวไฟน์เดอร์ของช่างภาพ นี่คือหน้าที่ของช่างภาพอันดับแรกเลยซึ่ง DP จะเป็นคนเลือกเอาอะไรเข้ามาแล้วเอามันไว้อยู่ตรงไหน” 

หากเปรียบการทำงานระหว่างผู้กำกับภาพยนตร์และ DP แบงค์ยกตัวอย่างให้เราลองคิดตามจากสมรภูมิรบแห่งนึงที่มีกษัตริย์คอยบัญชาอยู่บนเนินเขาสูงที่มองเห็นภูมิทัศน์สนามรบเบื้องล่างอย่างปรุโปร่ง กษัตริย์ก็คือผู้กำกับภายนตร์ ผู้เฝ้ามองความเป็นไปของภาพรวมและตัดสินใจ ส่วนแม่ทัพที่น้อมรับคำบัญชาขี้ม้าลุยฝ่ากองทัพไปนั้นก็เหมือนผู้กำกับภาพที่เข้าไปแคปเจอร์ช่วงเวลาที่เกิดขึ้นขององค์ประกอบทุกอย่างหลังสิ้นเสียงการตีสเลท

“มันเป็นความรู้สึกแบบนั้นในกองถ่าย เราเป็นคนที่เอาสิ่งที่อยู่ในหัวของผู้กำกับ แล้วทำมันออกมาเป็นภาพและจากสคริปต์ที่เป็นตัวหนังสือ ผู้กำกับก็จะมีภาพในหัวจากสคริปต์นั้นอยู่ DP มีหน้าที่ทั้งตีความตัวหนังสือและคุยกับผู้กำกับว่าตกลงควรเป็นอย่างไร เพราะไม่มีใครเคยเห็นหนังเรื่องนี้ จนกระทั่ง DP เป็นคนเอาออกมาจัดลงไปอยู่ในสี่เหลี่ยมว่าใช่หรือไม่ใช่ คล้ายๆ คนที่ทำหน้าที่สเก็ตช์รูปคนร้าย DP ต้องมีเซนซ์แบบว่าวาดรูปเสร็จแล้วใช่แบบนี้ไหมที่คุณต้องการ DP มันเลยเป็นงานที่ต้องครีเอทีฟและเมเนจเม้นต์ไปด้วยกัน 

“มีหนังสือที่ให้คำจำกัดความของ DP อยู่ว่า เอาภาพในหัวของผู้กำกับมาวางออกเป็นภาพในเฟรม ผ่านเครื่องมือที่เรียก Cinematic tool ก็มีเรื่อง Lens choice เรื่องสี เรื่องแสง เรื่อง Camera work เคลื่อนกล้องหรือไม่เคลื่อนกล้อง พวกเทคนิคทุกอย่างที่อยู่ในกล้อง ทั้งหมดคือเครื่องมือของช่างภาพในการสร้างหนัง เวลาดูหนังหนึ่งเรื่อง จะมีคาแรกเตอร์ของหนังอยู่ในนั้น เขาใช้คำว่า ‘ลุค’ ของหนัง ซึ่ง DP เป็นคนสร้างลุคที่ว่านั้น เวลานึกถึงหนังที่เราชอบที่สุดเราจะมีภาพความรู้สึกของลุคนั้นว่าภาพสไตล์นี้โทนนี้” 

บทและผู้กำกับ คือ ไบเบิลของ DP

หากผู้ที่เป็นคนตัดสินใจครั้งสุดท้ายคือ ผู้กำกับภาพยนตร์ งานภาพที่ออกมานั้นจะบอกเล่าถึงตัวตนของ DP ได้มากแค่ไหนกัน สิ่งที่เรียกว่าสไตล์และลายเซ็นของผลงานจะปรากฏชัดเจนเพียงไหน แบงค์บอกเราว่าบทบาทของ DP ในประเด็นนี้เหมือนร้านอาหารตามสั่งที่ทำงานอยู่ภายใต้โจทย์ที่ได้มา แต่การเป็นอะไรก็ได้หรือมีความหลากหลายสูงไม่ได้สะท้อนว่าจะบกพร่องจินตนาการต่อการสร้างสรรค์ เพราะ DP ต้องนำภาพในหัวของผู้กำกับมาทำงานร่วมกับ Cinematic tool ซึ่งสไตล์ที่ว่านั้นก็อาจจะมองเห็นได้แต่ก็ไม่ง่ายนักในความเป็นจริง

“บทและผู้กำกับถือเป็นไบเบิลของเรา ถ้าถามว่าจะใส่ลายเซ็นตัวเองได้มากแค่ไหนผมว่าได้ไม่เยอะ ถ้าคิดว่าหน้าที่ของ DP จะทำสิ่งนี้ให้มันอร่อยมากในแบบที่มันเป็นมากที่สุด ฉะนั้นลายเซ็นของ DP ผมค้นพบว่ามันอยู่ที่วิธีการทำงาน มันไม่ได้อยู่ที่ภาพ เช่นถ้าในแบบของผมจะเป็นประเภทที่จะชอบสัมภาษณ์ไดเรกเตอร์แบบสุดๆ หรืออย่างการที่ผมชอบทำงานกับทีมนี้หรืออุปกรณ์แบบนี้ที่เป็นอุปกรณ์ที่เราถนัดเช่นกัน DP มีความคล้ายนักแข่งรถ F1 เพราะกล้องถ่ายหนังและเลนส์บนโลกนี้มันมีให้เลือกเต็มไปหมดเมื่อไหร่ที่คุณซื้อเป็นของตัวเอง คุณจะอดใจไม่ใช้ของตัวเองได้เหรอ มันก็จะกลายเป็นว่าคุณก็จะขับแต่รถคันเดิม กระบวนการที่ผมชอบที่สุดคือวันที่มาคิดว่าจะให้ลุคภาพมันออกมาทางไหน แล้วก็มาแมตช์กับอุปกรณ์ของเรา ก็เลยเป็นเหตุผลว่า DP สำหรับผมควรจะปรับไปได้เรื่อยๆ มันก็อาจจะไม่มีลายเซ็นทางภาพซะทีเดียว แต่ลายเซ็นมันอาจจะอยู่ในดีเทลงานบางอย่าง” 

ฉันสามีภรรยา

สังเกตว่าภาพยนตร์หลายๆ เรื่องที่ขึ้นหิ้งเกิดจากความสัมพันธ์ของผู้กำกับและ DP ที่รู้ใจกัน เช่น คู่หูหว่องกาไว (Wong Kar Wai) กับคริสโตเฟอร์ ดอยล์ (Christopher Doyle) หรืออย่างโรดริโก้ พริเอโต (Rodrigo Prieto) DP ผู้เคยร่วมงานทั้งกับ อังลี (Ang Lee) มาร์ติน สกอร์เซซี (Martin Scorsese) อาเลฆันโดร อิญญาร์ริตู (Alejandro Iñárritu) เคยพูดว่า “ท้ายที่สุดคนที่ตัดสินใจก็คือผู้กำกับภาพยนตร์ ตัวเขาเองมีหน้าที่รับฟังไม่ใช่แค่ผ่านการได้ยินเท่านั้นแต่ต้องรู้สึกตามไปด้วยเพื่อที่จะเข้าใจสิ่งที่เขาหรือเธอต้องการจะเล่าจริงๆ”

“ความสัมพันธ์ระหว่างผู้กำกับกับ DP มันมีหนังสือฝรั่งเขียนไว้ว่าเป็นความสัมพันธ์แบบคู่แต่งงาน บรีฟของผู้กำกับ เขาบอกว่าอยากกินอะไรหวานๆ สดชื่นๆ พอเราทำมาให้ เขาบอกยังไม่ใช่ อันนี้เปรี้ยวไป ถ้าไม่ใช่ ไม่ใช่อย่างไร ลองอธิบายมา เราก็ค่อยๆ มาจูน อันนี้ใช่ไหม ทำไมไม่บอกอย่างนี้ตั้งแต่แรก (หัวเราะ) หรือก็จะมีความสัมพันธ์แบบผู้กำกับที่จะบอกว่าอยากกินอะไรก็ได้ ซึ่งเวลาเจอผู้กำกับกินอะไรก็ได้ร้านไหนก็ได้ที่ไม่มีภาพในหัว อารมณ์ขอเห็นก่อนแล้วค่อยวิจารณ์ จะเหนื่อยมาก นี่คือความสัมพันธ์ที่ชัดเจนเลยระหว่างผู้กำกับและ DP เมื่อไหร่ที่เขาพูดมาประมาณนี้ แล้วเราใส่ความคิดสร้างสรรค์ลงไปในเมนูของเรา แล้วเขาเห็น เขาอยากกินอันนี้ ดีกว่าที่เขาคาดหวังไว้ เราก็จะฟิน ถ้าไม่ซิงก์กันก็จะตีกันและจะซัฟเฟอร์มาก ถ้าผู้กำกับมีความชัดเจนและมีทักษะในการสื่อสารที่ดีทุกอย่างจะง่ายขึ้น ค้นพบว่าในความสัมพันธ์ของผู้กำกับและ DP ในโลกใบนี้ในหนังระดับใหญ่ๆ เขาก็จะจับคู่กัน แล้วก็จะดัง จนถึงจุดนึงก็แยกกัน สังเกตหว่องกาไวกับคริสโตเฟอร์ ดอยล์ในยุคนึงที่หนังหว่องสร้างชื่อ ถึงจุดนึงทั้งคู่ก็รู้สึกว่าต่างคนต่างไม่มีอะไรให้ค้นหา เขาก็แยกวงไปหาความสัมพันธ์ใหม่ๆ แต่วันนึงที่เขาไปเจอโลกมากขึ้นเขาอาจจะกลับมาก็ได้” ประโยคที่แบงค์ตบท้ายทำให้ผมคิดถึงเรื่อง Happy Together (1997) ขึ้นมาทันที

มะลิลา

แบงค์รู้จักกับนุชี่ (อนุชา บุญยวรรธนะ) ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง ‘มะลิลา’ มาตั้งแต่ที่เขาเรียนจบใหม่ๆ และได้รับโอกาสจากนุชี่ในการทำงานถ่ายวิดีโอให้บริษัทเอกชนซึ่งวิดีโอพรีเซนเทชั่นกำลังเป็นที่นิยมในสมัยนั้นในยุคเปลี่ยนผ่านมาสู่กล้อง DSLR 

ความสัมพันธ์ในลักษณะสามีภรรยาตามที่กล่าวมาข้างต้นนั้นไม่เกินจริงแต่อย่างใด แบงค์บรรยายให้ฟังว่าสิ่งนี้ได้เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ในวันแรกๆ ของชีวิตวัยทำงานของเขา ซึ่งทั้งคู่ก็ได้มีโอกาสทำงานด้วยกันมาตลอดจนมาถึงผลงานภาพยนตร์เรื่อง อนธการ (2015) และมะลิลา โดยมะลิลาเป็นภาพยนตร์ที่ขับเคลื่อนเรื่องราวไปอย่างช้าๆ ทุกการกระทำที่เกิดขึ้นจะถูกถ่ายออกมาให้คนดูได้มีเวลาละเมียดในรายละเอียด  สิ่งที่แบงค์เล่าให้เราฟังต่อไปนี้อาจจะถือว่าเป็นครั้งแรกเลยที่แบงค์ได้พูดถึงความหมายที่เขาเข้าใจต่อเรื่องมะลิลาและถ่ายทอดผ่านกระบวนการและเครื่องมือออกมาเป็นผลงานสุดวิจิตรนี้

“เริ่มต้นจากอ่านบท อ่านเสร็จรอบแรก เรารู้โจทย์เป็นหนังเกย์ที่มีเวียร์ (ศุกลวัฒน์ คณารศ) เล่นกับพี่โอ (อนุชิต สพันธุ์พงษ์) พี่นุชี่ก็เล่าว่าเป็นหนังเล่าเรื่องความรักของชายกับชายที่กลับมาเจอกัน อ่านบทเสร็จเราไม่รู้สึกถึงหนังเกย์นะ มองว่าเกย์เป็นประเด็นรอง เรื่องหลักคือพูดถึงศาสนาพุทธ พูดถึงความตาย พูดถึงความไม่จีรัง รอบแรกยังเหวออยู่ ยังไปไม่เป็น ยังไม่มีไอเดียในทางภาพ อ่านบทรอบนึงก็ทิ้งไว้ไปทำนู่นทำนี่ และกลับมาอ่านอีกรอบค่อยๆ ตีความบางอย่างที่ยังแคะไม่ออก จังหวะที่นั่งคุยกับผู้กำกับก่อนจะเริ่มทำงาน มีไอเดียอะไรก็มาโยนใส่กัน คุยกันอยู่นานมาก คุณนุชี่ ก็ยังไม่รู้ว่าเขาจะไปทางไหน สัมภาษณ์กันไปมาว่าเขาเห็นหนังแบบไหน เขาก็บอกมาว่า ฉันไม่อยากให้หนังมันสวย เธอห้ามถ่ายมันสวย ในใจก็คิดว่าถ้าไม่สวยพี่ก็ไม่ยอมหรอก (หัวเราะ) แต่เราก็พยายามประมวลว่าเขาหมายความว่าอะไร แล้วเขาก็พูดกลับมาคำนึงว่า ฉันนึกออกแล้วว่าอยากให้ภาพมันดู ‘ฮัมเบิล’ (humble) คือหนังไม่ได้ต้องการจะสอนคนเกี่ยวกับศาสนาพุทธ หนังต้องการที่จะวางอยู่แล้วให้คนนั่งดูมันอย่างเป็นกลาง และค่อยๆ ตีความ พอเราได้คำว่า ‘ฮัมเบิล’  มันแคร็กไอเดียเรา ถ้างั้นลองกล้องระดับกลางไหม มะลิลาเป็นหนังที่ไม่มีกล้องเคลื่อนที่เลย เหมือนเราไปนั่งดูสังเกตการณ์อะไรบางอย่างอยู่ในที่ที่นึง คิดว่าหนังมันคือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงที่พาคนดูไปนั่งเก้าอี้อยู่ตรงนั้นมองดูสิ่งที่เกิดขึ้น หันซ้ายหันขวา มองพินิจพิจารณา จากตรงนั้นมันเลยเป็นไอเดียของงานภาพขึ้นมาทันที ถอดออกมาในการถ่ายทำก็มีภาษาภาพ เช่น ทาทามิช็อต (Tatami shot) อย่างหนังของโอสุ (Yasujiro Ozu) เพราะว่ามันเป็นระดับของการคุกเข่าไหว้พระ เวลาคนยืนเราก็จะวางกล้องระดับตรงกลางสายตา เส้นขอบฟ้าก็อยู่กลางเฟรมพอดี” 

ซึ่งหากใครเคยได้ชมเรื่องมะลิลาแล้วก็จะสังเกตเห็นได้ว่าทำไมบางเฟรมถึงมีพุ่มไม้รกๆ อยู่ด้านข้างทั้งที่นักแสดงก็อยู่ในจุดที่สมมาตรของเฟรมแล้ว เรื่องดังกล่าวคือความตั้งใจที่แบงค์อยากจะสื่อสารผ่านนิยามของหนังที่ตั้งไว้ว่าจะทำให้ ฮัมเบิลที่สุด “เวลาทำงานผมจะวางเฟรมที่ชอบให้สวยที่สุดก่อน เสร็จแล้วจะทำลายมันทิ้ง เช่น จะแพนกล้องไปทางขวาก็เอาเท้าเขี่ยๆ ให้มันขยับออก เอาพุ่มไม้โยนเข้าไปให้มันเป็นเฟรมที่ไม่เพอร์เฟค” หรือแม้แต่การที่นักแสดงในเรื่องจะต้องนั่งหรือนอนบนพื้นดินเท่านั้น ทั้งหมดนี้ก็เพื่อขับความรู้สึกของนิยามดังกล่าวที่มาจากผู้กำกับภาพยนตร์

ค้นพบสัญญะ

มะลิลาไม่ใช่ภาพยนตร์ที่มีทุนในการสร้างมากมายอะไร ถึงแม้จะได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงวัฒนธรรมแล้วก็ตาม แบงค์เสริมต่อว่าเพราะฉะนั้นขั้นตอนการเตรียมตัวก่อนถ่ายทำจริงจึงใช้เวลาเยอะมากเป็นพิเศษและที่สำคัญผู้กำกับอย่างนุชี่ก็ต้องการให้ภาพแต่ละภาพที่ไล่เรียงออกมานั้นแตกต่างกัน โดยแม้ว่าจะวางแผนก่อนแค่ไหนขึ้นชื่อว่างานศิลปะแล้วนั้น ระหว่างการทำงานมักจะเกิดการสรรค์สร้างความหมายและสัญญะบางอย่างที่น่าสนใจลงไปในงานเสมอๆ

“แนวคิดมันเป็นเรื่องของสัญญะบางอย่างที่เราไปเจอตอนสำรวจโลเคชั่น วันสำคัญที่สุดคือวันบล็อคช็อต วันบล็อคช็อตนี่โคตรเหนื่อย ใช้เวลาอยู่กับคุณนุชี่ทั้งวัน ทำขั้นตอนจนแทบจะถ่ายจริงเลย บล็อคด้วยขนาดเลนส์เป๊ะๆ ผมว่าผมได้สกิลของภาพนิ่งมาช่วยในการมองและเลือกว่าตรงไหนควรจะให้ความรู้สึกแบบไหนมันถึงจะน่าสนใจ เหมือนการถ่ายภาพนิ่งมาเยอะมันทำให้สายตาเรามีมิเตอร์คอยวัดพื้นที่ด้วยมิติของเลนส์หลายขนาด เช่น อันนี้เลนส์เทเล อันนี้เลนส์ไวด์ แบบในโลเคชั่นเราจะเจอเหตุการณ์ เช่น อันนี้ดูธรรมดาแต่ว่าถ้าด้วยเลนส์ประมาณนี้จะทำให้พื้นที่ตรงนี้ดูเป็นที่ที่ใช่ มีจังหวะหนึ่ง เราไปเจอเถาวัลย์ที่เป็นขยุกขยุยอยู่เหนือหัวเรา เราก็ชี้นี่แหละที่ปักกลดของพระเชนในซีนที่เหมือนพระเชนจะดูอยู่ภาวะสงบที่สุดแต่จริงๆ แล้วเถาวัลย์ได้สะท้อนความรู้สึกของพระเชนที่อยู่ข้างใน พี่นุชี่บอกว่าใช่เลยอะไรประมาณนี้ เพราะไบเบิลของผมคือบท ถ้าเราเห็นอะไรที่มันจับมาแมตช์กันได้มันก็จะเกิดขึ้น ณ ตรงนั้น”

เคารพการแสดง

โรดริโก้ พริเอโต และโรเจอร์ ดีกินส์ (Roger Deakins) คือสองชื่อที่ปรากฏขึ้นมาเมื่อเราถามแบงค์ถึง DP ที่ชอบ ซึ่งแบงค์ใช้คำว่าเขาชอบผลงานของสองคนนี้โดยที่เขาไม่รู้ตัว และแบงค์ก็อธิบายต่อว่าหากไปไล่ดูผลงานของพวกเขาจะพบว่า DP ฝีมือพระกาฬสองคนนี้เคยถ่ายหนังมาค่อนข้างหลากหลายแนว ซึ่งโดยส่วนตัวแบงค์พูดถึงเรื่อง The Shawshank Redemption (1994) ของโรเจอร์ ที่เป็นภาพยนตร์ในดวงใจของใครหลายๆ คนด้วยบท การแสดงและการถ่ายทำที่ทำออกมาได้อย่างสมดุล และแน่นอนว่าเขาเองก็รักหนังเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน 

“เราค้นพบว่าเราชอบช่างภาพที่ถ่ายภาพออกมาดูแล้วต้องรู้สึกได้ ถึงจุดนึงที่เข้าใจเรื่องเทคนิคแล้วมันกลับไปที่เรื่องไอเดียว่าถ่ายอย่างไรให้รู้สึก ตอนนี้กลับมาดูหนังที่เราเคยชอบมานั่งตกตะกอนว่าเวลาเรารู้สึก มันรู้สึกจากอะไร จะมีคำของพี่เก้ง (​​จิระ มะลิกุล) ว่า น้องระวังนะ เป็นช่างภาพเวลาถ่ายแล้วคนจะเห็นกล้อง เราก็ใสๆ เลย กล้องคงรีเฟลก เคลื่อนกล้องแล้วระวังคนเห็นกล้อง แต่พี่เก้งเขาหมายความว่าเวลาที่กล้องมันทำงานแล้วมันไม่ฟิตอิน แบบดูๆ อยู่ คนจะเห็นเลยว่าดอลลี่เคลื่อน หรือแบบดูๆ อยู่กล้องแฮนด์เฮลด์ซะงั้น พี่เก้งพูดมาประโยคเดียวทำให้เรารู้เลยว่าการถ่ายหนังมันไม่ใช่การโชว์ออฟนะ เราต้องเคารพการแสดง เคารพซีนตรงหน้า ไม่ใช่หวดจัดไลต์ติ้งแบบอลังการแต่หนังไม่ได้ต้องการ ถ้าหนังยังไม่ได้ต้องการความสวย หากต้องการความธรรมดาจงเคารพมันให้ได้ คัดเลือกมาให้เหมาะสม”

แบงค์ยกสิ่งที่พี่สอง (สยมภู มุกดีพร้อม) DP ชาวไทยที่มีผลงานระดับโลกอย่างเรื่อง Call Me by Your Name (2017) ว่าเป็นคนที่ทำให้เขานั้นสนใจเรื่องการแสดงมากขึ้น เพราะพี่สองเองก็มีไปเรียนการแสดงเพิ่มเพื่อที่จะได้เข้าใจสิ่งที่นักแสดงสื่อสารออกมามากขึ้น ซึ่งส่งผลต่อการแคปเจอร์ภาพที่จะทำให้คนที่ได้ดูมันรู้สึกหรือไม่รู้สึกก็ตรงนี้

“มันมีหนังที่สวยมาก สวยทุกเฟรมเลย สวยตั้งแต่ต้นเรื่องยันท้ายเรื่อง แล้วดูเสร็จแล้วรู้สึกว่ามันสวยไป กับหนังที่เราดูแล้วมันเห็นกราฟ ซีนนี้โคตรธรรมดา พอภาพมันธรรมดาตัวเราจะหลุดไปในการแสดงดูตัวแสดง มันก็ไล่กราฟ เรารู้สึกว่า ถึงจุดนึงเราก็จะเริ่มปล่อยวางมองหาบาลานซ์คืออะไร สิ่งที่ต้องสวยก็ต้องให้อยู่ให้ได้ ต้องสร้างเมจิกต้องรีดออกมาให้ได้ สิ่งที่เล่าเรื่องก็ต้องเล่าเรื่องให้ได้ ให้มันบาลานซ์ระหว่างเคิร์ฟของความรู้สึก ภาพยนตร์มันยากตรงนี้ที่ภาพมันต้องเรียงต่อกันยาว ในเรื่องนึงแปดสิบซีนถึงหนึ่งร้อยซีน กว่าจะประกอบร่างแล้วบางทีมันถ่ายไม่ได้เรียงกัน ฉะนั้นการวางแผนให้ดีเป็นสิ่งที่จำเป็น

“ช่วงที่เขาเอานักแสดงมาลองรันทรูเป็นช่วงที่จะต้องสังเกตให้ดีต้องจับทางให้ได้ว่าประมาณไหน ต้องตั้งรับไว้ ถึงเวลาต้องตามให้ทันทำให้มันเหมาะสมกับภาพ กับเหตุการณ์และเรื่องราว เช่น ช่วงนี้มันดูเนือยจัง เราก็ต้องเอากล้องมาลากคนดูให้ไปข้างหน้า มันก็ไม่มีกฎตายตัวว่าเราจะต้องนิ่ง บางจังหวะที่มันต้องไปมันก็ต้องเอากล้องทำให้มันดูมีกราฟขึ้นมา หนังไปได้เรื่อยๆ ไม่มีกฎตายตัว มีแค่ข้อผิดพลาดที่เคยได้เรียนรู้มา”

ภาพนิ่งมอบอิสระ

“โต้ (วิรุนันท์ ชิตเดชะ) พูดไว้ประจำว่า ภาพนิ่งคือเมจิกเดียวบนโลกนี้ที่ฟรีซเวลาได้ เพราะฉะนั้นเวลาที่คุณดูโฟโต้คุณดูเมจิกอยู่ คุณถึงหยุดดูโฟโต้ได้นาน เพราะคุณไม่มีทางหยุดเห็นอะไรแบบนี้ได้ในชีวิตจริง ผมค้นพบว่ากลับมาถ่ายภาพนิ่งแล้วกลับไปถ่ายภาพเคลื่อนไหวทำให้สนุกขึ้น จริงๆ การถ่ายภาพนิ่งเหมือนมันมาฝึกประสาทการรับรู้ทางตาอีกแบบนึง การเดินถ่ายรูปเล่นตามเมืองเป็นการบำบัดที่ดีที่สุดของผม เวลาเครียดก็ใส่หูฟัง เปิดเพลง สะพายกล้องตัวนึงเลนส์ตัวนึงออกไปถ่ายจะเลือกเลนส์แบบตามมู้ดวันนี้ เราว่าการถ่ายภาพนิ่งมันล้างไพ่วิธีการทำงานภาพยนตร์ในหัวมันเหมือนแบบรีเซ็ตเหมือนดีเฟรกเมนต์ข้อมูลออก ทำให้พอกลับไปถ่ายหนังมันรู้สึกสดขึ้น”

แบงค์บอกกับเราว่าเขาไม่ชอบที่จะถ่ายภาพนิ่งบุคคล ด้วยความที่ต้องถ่ายต้องเจอนักแสดงในการทำงานมาตลอด และอีกอย่างเขาไม่ชอบที่จะกำกับ แต่เขาชอบที่จะจ้องมองสิ่งที่เกิดขึ้นและพยายามบันทึกช่วงเวลานั้นไว้ สำหรับการถ่ายภาพนิ่งของเขาทุกวันนี้ เขาชอบที่จะเดินทางไปถ่ายสัตว์ในป่าลึกที่ให้ธรรมชาติกำกับเรื่องราวตรงหน้า  ฉะนั้นน้ำเสียงของภาพนิ่งของเขาจึงเน้นไปในการสื่อสารเรื่องอารมณ์ ในขณะเดียวกันเขาเองก็ชัดเจนในตัวเองมาตั้งแต่ต้นแล้วว่าการถ่ายภาพนิ่งของเขานั้นแท้จริงแล้วก็ไม่ได้กระโดดไปจากสิ่งที่เขาเป็นอยู่ในกองถ่ายหนังเลยสักนิด เพราะเขาชอบที่จะเล่นสวมบทบาทเป็นคนอื่นๆ ตามขนาดเลนส์ที่อยากใช้ในแต่ละวัน ตามที่เขาได้บอกว่าความสุขที่สุดในการทำงานถ่ายหนังคือวันที่จะต้องเลือกอุปกรณ์เพื่อนำมาเล่าเรื่องให้ดีที่สุด ซึ่งเขาบอกเล่าว่าเคยถือเลนส์ระยะร้อยแปดสิบมิลลิเมตรไปเดินถ่ายที่เยาวราชมาแล้วและบางวันก็ใส่เลนส์ระยะยี่สิบมิลลิเมตรเดินตามถนนแถวบ้าน สำหรับเขานั้นไม่มีอะไรที่ตายตัวจริงๆ

“ส่วนตัวผมสนุกกับภาพนิ่งแบบนี้ด้วยความที่เราเป็น DP ล่ะมั้ง เดี๋ยวก็ถ่ายหนังผี เดี๋ยวก็ถ่ายหนังรักใสๆ เดี๋ยวก็ถ่ายหนังเกย์ เดี๋ยวก็ต้องถ่ายหนังแก๊งสเตอร์เราสนุกกับการเปลี่ยนไปเรื่อยๆ เราจึงคิดแค่ว่ามีภาพในหัวและทำมันได้รึเปล่า แต่ถ้าเป็นช่างภาพนิ่งบางคนเขาอาจจะต้องเลือกเฉดให้ตัวเอง ก็เป็นความแตกต่างระหว่างคนว่าจะไปทางไหน สำหรับผมก็สนุกกับการค้นหาไปเรื่อยๆ ผมแบกกล้องเข้าป่า ไปถ่ายสัตว์ป่า ก็มีเจ้าหน้าที่หรือเซียนถ่ายนกเขามาดูรูปผม เขาก็จะงง คือเราไม่ได้ถ่ายนกเอาชัด เราถ่ายเอามู้ด ผลลัพธ์คือเราไม่ต้องการความชัดเจนเราต้องการความรู้สึกอีกแบบนึง ก็จะกลับมาตอบโจทย์ว่าเหมือนเป็น DP เราถ่ายเพื่อตอบอารมณ์มากกว่าเพื่อตอบเชิงข้อมูล”

ในตอนแรกที่เราคุยกันถึงเรื่องว่า DP นั้นสามารถมีลายเซ็นของตัวเองได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งคำตอบของแบงค์ก็ชัดเจนว่าเขามองลายเซ็นที่ว่านั้นคือกระบวนการทำงานมากกว่า เพราะกระบวนการทำภาพยนตร์มันเป็นการทำงานร่วมกันของคนจำนวนมาก มันเป็นศิลปะของการร่วมแรง แต่สำหรับภาพนิ่งแล้วการตัดสินใจและการคัดเลือกช่วงเวลามันเกิดขึ้นได้จากคนๆ เดียว แต่สิ่งที่อาจจะจำเป็นต้องมีให้มากเข้าไว้ก็คือเป็น ‘ประสบการณ์’ ที่ทำหน้าที่คล้าย Cinematic tool ของหนังในการช่วยเล่าเรื่องราว

“ผมว่าภาพนิ่งมีลายเซ็นได้ชัดเจนนะ เพราะว่าภาพนิ่งคุณคือผู้กำกับและคุณก็จะมี DP ในตัว คุณแค่ประมวลให้ได้ว่า คุณคิดอะไรอยู่คุณอยากได้อะไรแล้วคุณก็แค่กดมันมาให้ได้ด้วยตัวเอง นี่คือความแตกต่างของภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหว คุณก็ทำแบบที่คุณชอบเลย ภาพนิ่งมันสร้างลายเซ็นได้ง่ายมาก แต่สำหรับผมอยู่ที่ว่าจะคงลายเซ็นไว้แค่ไหน” 

 

พิสูจน์อักษร: ชลดา สวนประเสริฐ