brand logo

PHOTO | LIFE | INSPIRATION

Jul 2025

ARTISTSM
For Art's Sake
เรื่อง และภาพ : ธันวา ลุจินตานนท์
29 Dec 2021

หลายปีก่อนเราเคยตั้งคำถามถึงสิทธิ์ของการถ่ายภาพในบ้านเรา โดยเฉพาะในโลกของวงการสตรีทที่มักจะถ่ายรูปแล้วติดใบหน้าคน ใบหน้าเด็ก ว่าจริงๆ แล้วบรรทัดฐานของมันนั้นอยู่ตรงไหน แต่ความสงสัยนั้นก็หายไป จนกระทั่งเราวนมาเห็นเพจ Artistsm ที่พูดถึง art law ในวงการ NFT รวมถึงในโลโก้ที่มีทั้งคำว่า ‘art law’, ‘NFT’ และ ‘copy right’ ทำให้เราเกิดความสนใจและอยากชวนเขามาพูดคุยถึงความเข้าใจของวงการภาพถ่ายในบ้านเราต่อเรื่องราวของสิทธิในงาน ลิขสิทธิ์ ไปจนถึงข้อกฎหมายต่างๆ ที่อาจจะเข้ามามีส่วนในการผลิตงานภายภาคหน้า

สร้างพื้นที่เพื่อให้ความรู้กับศิลปินไทยให้เท่าศิลปินโลก

“มันเริ่มจากตอนที่เราเรียนจบนิติฯ ที่จุฬาฯ แล้วไปเรียนศิลปะต่อที่สก็อตแลนด์ แล้วเข้าไปทำงานที่บริษัทในประเทศอังกฤษ มันเลยเปิดโลกมาก จนเราตัดสินใจเรียนด้านกฎหมายธุรกิจศิลปะ (Art Business Law) ต่อที่ลอนดอน มันทำให้เราอยากไปทำงานพวกด้านนักกฎหมายศิลปะ (art lawyer) การจัดการศิลปะ หรือด้านการบริหารแกลเลอรี่ พิพิธภัณฑ์ วงการศิลปะเมืองนอกมันน่าสนใจมากๆ กลายเป็นวงการใหญ่มากๆ เงิน ไหลอยู่ในนั้นเป็นพันล้านปอนด์ มันวนอยู่ในนั้น” เอด้า – สุหรรษา จารุรัตนา หนึ่งในผู้ก่อตั้ง Artistsm ร่วมกับ ทอม – ธีระฉัตร โพธิสิทธิ์ เล่าให้เราฟัง  

“พอกลับมาที่ไทย เราได้คุยกับพี่ทอมก็พบว่าศิลปินในไทยส่วนใหญ่ยังขาดความรู้เรื่องกฎหมายและเรื่อง business management ต้องบอกก่อนว่าการเป็นศิลปินโดยอาชีพในเมืองไทยมันยากมาก เพราะว่าระบบหรือตัวกลางที่มาดูแลในไทยมันยังไม่มี พี่ทอมเลยมองว่ามันน่าสนใจนะ ถ้าเราได้ทำอะไรสักอย่างที่เหมือนกับสร้างให้คอมมิวนิตี้ศิลปะมันไปในรูปแบบที่แข็งแรงขึ้นมั่นคงขึ้น ให้คนในอนาคตมันเห็นว่าสามารถมีอาชีพในสถานะศิลปินได้”

เราพยักหน้าเห็นด้วยตลอดเวลาที่เอด้าเล่าให้ฟัง และรู้สึกคล้อยตามที่เธอบอกว่าในไทยมันยังขาดเรื่องนี้มากๆ เพราะขนาดตัวเราเองยังมารู้ที่แรกจากการติดตามเพจ Artistsm เลย เอด้าเล่าให้เราฟังอีกนิดเพื่อเป็นการขยายความว่าสิ่งเหล่านี้มันจำเป็นยังไง

“เราได้คุยกับเพื่อนเราที่เรียนสายศิลปกรรมมาก็สรุปได้ว่าพวกโรงเรียนหรือคณะด้านศิลปะในไทยไม่มีการสอนเรื่อง art law หรือพวกความรู้พื้นฐานทางด้านนี้เลย แต่ที่ต่างประเทศตอนเราเรียนคือมีสอนเลยนะพวกกฎหมาย ข้อกำหนดต่างๆ ที่เกี่ยวกับศิลปะมันมีอะไรบ้างเพราะเขามองเป็นเรื่องสำคัญ

“พอเด็กเรียนจบ เด็กจำเป็นต้องรู้ว่าจะเริ่มต้นอาชีพศิลปินยังไง แต่ในไทยมันยังขาด พอเรารู้ว่ามันขาดและเห็นว่าเป็นช่องว่างเลยคุยกับพี่ทอมซึ่งพี่ทอมก็เป็นศิลปินเลยเห็นช่องว่างตรงนี้เช่นกัน พี่ทอมเองก็พูดตลอดว่าเห็นปัญหาในวงการศิลปะและวงการภาพถ่าย รวมถึงปัญหาที่น่าจะเกิดขึ้นจาก digital disruption (การเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นมาทำให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ขึ้นมามากมาย) อย่าง NFT หรืออื่นๆ ศิลปินหลายท่านอาจจะแบบ… มีเหรอ ทำไมไม่เคยรู้มาก่อน”

กฏหมาย(แบบคร่าว)ในแวดวงศิลปะ

สิ่งสำคัญที่เราอยากคุยกับ Artistsm ในครั้งนี้ก็คือเรื่องกฎหมาย ข้อบังคับใช้ ฯลฯ​ ที่เราจำเป็นต้องรู้ เราเลยให้เอด้าช่วยเสริมเพิ่มเติมเบื้องต้นเลยว่าทำไมมันต้องมีเรื่องเหล่านี้ และมันสอดแทรกอยู่ตรงไหนของเรื่องราวการเป็นศิลปินได้อีกบ้าง เราเลยเข้าใจว่าคำว่า art lawyer มันไม่ใช่แค่กฎหมาย แต่ไปแตะฝั่ง มาร์เก็ตติ้งรวมถึงระบบการจัดการงานของศิลปินอีกด้วย 

แต่อย่างไรก็ตาม เอด้าย้ำกับเราว่าสิ่งที่พูดนั้นจะเป็นเรื่องคร่าวๆ และเป็นภาพกว้างหากอยากรู้สามารถทักไปปรึกษาเพิ่มเติมและพูดคุยกับทางเพจได้โดยตรงเลย

“ในวงการศิลปะเนี่ยมันมี art / legal / business ซึ่งเป็นอุตสาหกรรม 3 อย่างที่มันแยกกันไม่ได้ และยิ่งในปัจจุบัน เทคโนโลยีเข้ามาเป็นอุตสาหกรรมที่สามที่เริ่มเข้ามามีส่วนร่วมอย่างปฏิเสธไม่ได้เลย ดังนั้นการเป็นทนายความด้านศิลปะในด้านของการทำเฟิร์มก็ดูเลยว่ากฎหมายที่มันป้องกันการดูแลศิลปะชิ้นนึงมันมีอะไรบ้าง ทำอะไรกับมันได้บ้าง หรือกฎหมายที่ผูกกับการทำธุรกิจว่ามีพวกผลประโยชน์ใดกับศิลปินคนไหนเพราะสุดท้ายศิลปินที่ทำงานในอุตสาหกรรมนี้ต้องได้และมีผลประโยชน์ทางการเงินอยู่แล้ว

“สมมติเรายกตัวอย่างช่างภาพคนนึงขึ้นมาเป็น มาร์ติน พาร์ ละกันแต่แค่สมมตินะ

“ถ้าเขา(พาร์)ถ่ายรูปหนึ่งรูปแล้วเขามองว่าน่าจะมีคนมาสนใจงานเขา ไม่ว่าจะเป็นเซ็ตภาพหรืองานที่แบ่งเป็นระยะปีนั้นถึงปีนี้ แล้วเขาอยากจัดนิทรรศการ ตรงนี้คือช่วงที่ art law เข้ามาเกี่ยวข้องแล้วเพราะว่าเราต้องดูพวกเงื่อนไขของงานเขาในแต่ละชิ้น คือ ศิลปินแต่ละคนจะมีเงื่อนไขการใช้งานของเขาแตกต่างกัน เช่น ภาพชุดนี้อยู่ที่แกลเลอรี่ A มีเงื่อนไขคือห้ามเอาไปจัดที่อื่น แต่ถ้าอยากได้จริงๆ ต้องติดต่อที่แกลเลอรี่นั้นแทนในฐานะการยืม ไม่ใช่ติดต่อไปที่พาร์ เพราะตัวสิทธิ์มันอยู่ที่แกลเลอรี่แล้ว

“ต้องดูด้วยว่า ownership (สิทธิในการครอบครอง) ของภาพนั้นใครเป็นเจ้าของ แกลเลอรี่ พาร์ หรือบริษัทของพาร์ ถ้าเราไปดูนิทรรศการหนึ่งที่มีภาพถ่ายของพาร์สิบภาพ ไม่ได้แปลว่าทั้งสิบภาพนั้นจะอยู่ในสิทธิ์ของพาร์นะ เช่น 1-4 เป็นงานใหม่ อาจจะยังเป็นสิทธิ์ของช่างภาพอยู่ แต่ภาพถัดมา 5 6 7 นั้นผูกสัญญากับแกลเลอรี่นึงไว้ 8 9 เป็นภาพที่มีนักสะสมซื้อไปแล้ว ส่วน 10 เป็นภาพภายใต้เงื่อนไขของพิพิธภัณฑ์ (ภาพที่สิทธิ์นั้นเป็นของพิพิธภัณฑ์ซึ่งจะมีข้อกำหนด เช่น ห้ามเคลื่อนย้ายตลอดปี หรือสามารถให้ยืมออกไปจัดแสดงได้ในระยะเวลาเท่านี้ เป็นต้น)

“อย่างภาพที่ 5 6 7 เป็นงานที่ผูกสัญญากับแกลเลอรี่ หมายความว่า พาร์ยังเป็นเจ้าของภาพนั้น แต่พอมีเรื่องการเงินเข้ามาเกี่ยวข้อง จะขายหรือเช่าไปจัดแสดงนั้นจะคุยกับทางแกลเลอรี่ไม่ใช่คุยกับพาร์ และถ้าหากมีการนำงานของพาร์ไปทำ merchandise ขาย พาร์จะได้กี่เปอร์เซ็น และมีใครที่ได้เงินจากสินค้าที่ขายเหล่านั้นบ้าง

“และมันก็จะโยงมาอีกว่า หากมีความต้องการนำภาพของพาร์เข้าสู่ วงการ NFT จะสามารถทำได้โดยใครบ้าง ใครจะได้ประโยชน์บ้าง และต้องระวังเรื่องอะไรบ้าง เพราะ NFT เองก็เป็นเรื่องใหม่ กฎหมายที่ใช้ก็ต้องใช้กฎหมายด้านสินทรัพย์ดิจิตัลเข้ามาดูแลด้วย ไม่ใช่แค่กฎหมายทั่วไปที่ใช้กับงานศิลปะอยู่แล้ว”

สรุปสั้นๆ คือ ในการซื้อขายหรือหยิบยืมผลงานนั้น เราจำเป็นที่จะต้องคำนึงถึงสิทธิ์ของแต่ละภาพและจำเป็นอย่างมากที่จะต้องร่างสัญญาในงานชิ้นนั้นๆ ซึ่งตัวนักกฎหมายที่เข้ามามีส่วนได้ส่วนเสียกับเรื่องนี้จำเป็นที่จะต้องเข้าใจในโลกของวงการศิลปะด้วยเช่นกัน Artistsm เลยพยายามที่จะเข้ามาช่วยในพื้นที่ตรงนี้ การดูแลปัญหาด้านสิทธิต่างๆ ของศิลปิน ทั้งลิขสิทธิ์ ทรัพย์สินทางปัญญา หรือกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อรักษาผลประโยชน์ต่างๆ ให้กับศิลปิน จึงเป็นแก่นของการทำบริษัทนี้ของเอด้าและทอม

“ช่างภาพที่เข้ามาหาเราจะมาในรูปแบบที่ว่าภาพโดนก๊อปปี้ โดนเอาไฟล์ไปใช้โดยไม่ขออนุญาต หรืออย่างสายสตรีทเรื่องปกติเลยคือภาพมีหน้าคน จะใช้ได้มั้ย แม้กระทั่งถ่ายรูปมีนางแบบแล้วอยากเอาไปใช้ทางด้านคอมเมอร์เชียลจะทำยังไง และเรื่องที่ค่อนข้างเป็นปัญหาคือการที่มีคนอยากนำงานไปใช้เป็นคอมเมอร์เชียลจะคิดค่า loading fees หรือ license fees ยังไง” เอด้ายกตัวอย่างคำถามจากทางบ้านที่ Artistsm มักจะพบจากการสอบถามเข้าไปในเพจ

“เราก็จะมีคำตอบ เช่น นางแบบต้องเซ็นสัญญาที่จะขอเอางานไปใช้ในสื่อต่างๆ ซึ่งต้องเซ็นและทำตาม เพราะถ้าวันใดงานมันออกมาแล้วไม่ได้เซ็นหรือไม่มีให้เซ็น ถ้าเขามาฟ้องหรือมาขอผลประโยชน์เขาก็ทำได้เลยนะ ส่วนงานสตรีทเนี่ยมันก็มีเส้นขีดจำกัดของ privacy อยู่ อาจจะไม่ได้ชัดเจนขนาดนั้น แต่ก็มีรูปแบบประมาณหนึ่ง ในเรื่องของการนำงานไปทำคอมเมอร์เชียล การคิดค่า loading fees หรือลิขสิทธิ์ต่างๆ ก็เป็นประเด็นผลประโยชน์ล้วนๆ ของศิลปิน การคิดเปอร์เซ็นต่างๆ เราก็จะคุยและให้คำแนะนำตามหลักที่ควรจะเป็น ไม่โดนเอาเปรียบ

“เอาเข้าจริงเราก็ไม่ได้อยากให้กฎหมายไปจำกัดการแสดงของศิลปะทางใดทั้งสิ้น เพียงแต่ว่าเราอยู่ในสังคมที่มันกว้าง เราก็จำเป็นต้องมีบรรทัดฐานบางอย่างเพื่อไม่ให้ไปละเมิดใคร”

เพื่ออุตสาหกรรมด้านศิลปะในไทยไปได้ไกลกว่านี้ 

สิ่งที่เรารับรู้ได้จากการคุยกับเอด้าครั้งนี้คือความตั้งใจจริงและเห็นถึงศักยภาพ ความเป็นได้ของวงการศิลปะในบ้านเราที่ไม่ได้เฉพาะเจาะจงอยู่แค่เรื่องของภาพถ่าย แต่คือในทุกๆ ด้านด้วยซ้ำไป ซึ่งทุกอย่างมันจำเป็นต้องมีฐานที่มั่นคงและเพื่อความอยู่รอดมีกินมีใช้ของศิลปินในไทย ในระดับที่สามารถกรอกชื่ออาชีพว่าศิลปินได้อย่างไม่เคอะเขิน

“เราอยากให้ Artistsm เป็นเหมือนบริษัทก็ดูจริงจังมากไป เรียกว่าเป็นบริษัทนึงก็ได้แหละ เป็นสังคมหนึ่ง คอมมูนิตี้หนึ่งที่อยากจะสร้างให้อุตสาหกรรมศิลปะในเมืองไทยมันไปได้ไกลกว่านี้ ถ้าพูดถึงโฟโต้โดยเฉพาะคืออยากให้ไปได้ไกลกว่านี้อีก มันมีประตูอีกหลายบาน เราอยากจะเปิดทุกบานให้มากที่สุด

“เหมือนเป็นอีกโอกาสให้คนเป็นช่างภาพหรือสนใจภาพถ่ายเข้ามามีโอกาสในการเป็นศิลปินแล้วใช้มีเดียมเป็นการถ่ายรูป นี่คือสิ่งที่คาดหวังไว้จริงๆ อยากให้มีอาชีพที่อาจจะเป็นความชอบเฉพาะตัวเลยว่าเราอยากให้อาชีพของเรานั้นจริงๆ พูดออกมาได้ว่าเป็นศิลปินหรือเป็นช่างภาพ

“Artistsm เองก็ให้ความสำคัญกับทางเทคโนโลยีเป็นอย่างมากด้วยอย่างที่เราบอก ว่าเราอยากเปิดประตูทุกบานจริงๆ เรามอง NFT เป็นประตูขนาดใหญ่อีกหนึ่งบานเลย เป็นประตูระดับโลกได้เลย นอกจากช่างภาพรุ่นใหม่ๆ ก็อาจจะมีศิลปินรุ่นเก๋า ที่อยากก้าวเข้าสู่โลกเทคโนโลยีพวกนี้ที่มันเร็วมากๆ แต่อาจจะไม่ค่อยเข้าใจมัน เราก็จะสะพานเชื่อมตรงนี้ เราเชื่อและชื่นชมศักยภาพศิลปินไทยมากจริงๆ”

ซึ่งจากที่เราเห็นกระแสตอบรับที่ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับ Artistsm แต่ไม่ว่าจะเป็นจากทางเรา D1839 เอง หรือพื้นที่ต่างๆ ทั้ง HOP (Hub of Photography), CtypeMag, Arctribe หรือแกลเลอรี่ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ในบ้านเราจะเห็นได้ว่ามันกำลังเติบโต แถมในช่วงนี้ยังพบดาวดวงใหม่โผล่มาไม่หยุดหย่อนทำให้เราก็อยากรู้ว่ามุมมองความคิดของทาง Artistsm กับอนาคตของวงการนั้นมันจะเป็นไปได้มั้ยที่คนเหล่านั้นจะหันมาสนใจเรื่องกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับผลงานของพวกเขาด้วย

“เรารู้สึกเป็นไปได้ไม่ว่าจะเร็วหรือช้า เราเห็นว่าเป็นไปได้ เพราะว่าเราเห็นคนให้ความสนใจกับพื้นฐานกฎหมายที่เกี่ยวกับศิลปะมากๆ เพราะเขาเริ่มเห็นว่ามันเป็นประโยชน์ต่อตัวเขาเรารู้สึกว่ามันโอเคมากเราก้าวถูกจังหวะ​(ที่มาทำ Artistsm)

“อันนี้ความเชื่อเรานะ เราเห็น business model ของเกาหลีและอังกฤษ คือ มีเฮ้าส์ มีอาร์ทเฟิร์มที่ดูแลศิลปินในบริษัท ไม่ใช่แค่สร้างตัวช่างภาพนะ แต่เขาทำพวกเพิ่มมูลค่าความเป็นศิลปินด้วย แบบในเมืองนอกเราจะเห็นว่าถ้าพูดถึงเซเล็บ เราจะไม่ได้เห็นแค่ดารานักร้อง แต่รวมถึงศิลปิน ช่างภาพ กราฟฟิตี้ นักวาดภาพประกอบ คือทุกคนเป็นคนดังได้หมด เรามีความเชื่อว่าบ้านเราต้องทำอย่างนั้นได้ด้วย มันคือการสร้างมูลค่าของตัวศิลปิน เรารู้สึกว่าประเทศไทยไปได้ และกำลังมา ในประเทศไทยมีหลายคนกำลังเป็นไปในทางนั้นเราว่าเรามาถูกทางและพวกเราจะผลักดันและไปได้ต่อ”

สุดท้ายแล้วเราเห็นได้ว่าการกำเนิดของ Artistsm นั้นเป็นจุดนำร่องของการพัฒนาวงการศิลปะในบ้านเรา เอาเข้าจริงอาจใช้คำว่ายกระดับเลยก็ว่าได้ เพราะมันเป็นการสร้างบรรทัดฐานแบบใหม่ให้การเป็นศิลปินนั้นมีหลักประกันในการใช้ชีวิตที่ชัดเจนมากขึ้น ซึ่งเอด้าบอกว่าสามารถทักมาพูดคุยหรือปรึกษากับทางทีมได้เลยเพราะมีทีมพร้อมช่วยเหลืออยู่ตลอด ทั้งในเรื่องการให้ความรู้ด้าน NFT / art law รวมทั้งมีบริการเรื่อง art management / ลิขสิทธิ์ / ทรัพย์สินทางปัญญา / NFT / กฎหมายศิลปะอื่นๆ และในอนาคตกำลังจะมีโปรเจ็กต์ ทางศิลปะและ NFT ที่ร่วมมือกับหลายภาคส่วน เพื่อเป็นการยืนยันและแสดงออกว่าวงการศิลปะขับเคลื่อนสังคมได้จริง แต่ยังต้องอุบไว้ก่อนว่าเป็นโปรเจ็กต์อะไร กับใครและเมื่อไหร่

ติดตามผลงานพวกเขาต่อได้ที่ เพจ : Artistsm

พิสูจน์อักษร : ชลดา สวนประเสริฐ