brand logo

PHOTO | LIFE | INSPIRATION

Apr 2024

ARCTRIBE
1st Arcniversary หนึ่งปีกับการเป็นสื่อกลางแลกเปลี่ยนงาน Visual ของ Arctribe
เรื่อง : กาญจนาภรณ์ มีขำ
ภาพ : ธันวา ลุจินตานนท์
2 Jun 2021

ผ่านมาแล้วหนึ่งปีกับชาวเผ่า Arc ที่นำเสนองาน Visual ซึ่งคอย “bomb your eyes” มาอย่างต่อเนื่องตามคำนิยามบนเว็บไซต์ของเขา เราเคยได้คุยกับหนิง – อัครา นักทำนา แห่ง Ctype ที่เขาก็บอกกับเราว่าชาว Arctribe เนี่ยงานที่พวกเขาคอยเสิร์ฟให้ผู้ชมนั้นเป็นงานที่กล้าหาญมาก เราเลยขอมาจับเข่าคุยว่าเผ่านี่มันมีที่มาที่ไปยังไงแล้วเขากำลังจะทำอะไรต่อกัน

Arctribe คืออะไร หากเล่าง่ายๆ ให้เพื่อนฟังก็คือ แหล่งรวมงานภาพถ่ายออนไลน์ที่คัดโดยทีมที่ประกอบไปด้วย สองช่างภาพ หนึ่งนักเขียน และหนึ่งดีไซเนอร์ ทั้งสี่คนที่มีรสนิยมการดูภาพแบบเดียวกันโดยมิได้นัดหมาย นี่แหละที่ทำให้งานที่เราตามได้จาก Arctribe มันช่างมีแนวทางที่ชัดเจนและ bomb my eyes อย่างที่เขาบอกไว้จริงๆ

Arctribe หรือ ชนเผ่า Arc นี้มาจากการรวมตัวครั้งแรกของสองช่างภาพอย่างหมิง – กันต์ระพี โชคไพบูลย์ และปูนปั้น – กมลลักษณ์ สุขชัย ที่ต่างก็ชื่นชอบท่องอินเทอร์เน็ตเพื่อเก็บภาพที่พวกเขาชื่นชอบผ่านฟังก์ชั่นเซฟของอินสตาแกรมจนถึงจุดที่เมื่อเปิดมาดูอีกครั้งก็พบว่าเขาทั้งสองมีภาพที่น่าสนใจและอยากจะเผยแพร่สิ่งเหล่านี้ให้กับคนอื่นได้เห็นไปด้วยกัน จึงก่อเกิด Collective ภาพถ่ายที่มีวิชวลที่เป็นเอกลักษณ์ตามแบบฉบับของพวกเขาทั้งสอง เมื่ออยู่กันสองคนเผ่าของเขายังมีกำลังไม่พอ รวงข้าว – ภรินทร์ลดา อาภาภิรม ก็เข้ามาเสริมทัพด้านงานเขียน เพื่อช่วยให้ผู้ชมได้ดูภาพได้อย่างจริงจังและเข้าใจเรื่องราวของภาพมากยิ่งขึ้น

สำหรับความพิเศษของ Arctribe เผ่านี้ไม่ได้เพียงแต่เลือกภาพมาให้เราชมแต่เขายังทำการรวบรวมและเรียบเรียงภาพ ซึ่งตรงนี้เราจะได้เห็นการทำงานระหว่างช่างภาพและบรรณาธิการหัวหน้าเผ่าอย่างหมิง ในการจัดสรรงานให้ออกมาทั้งในรูปแบบการเผยแพร่บนเว็บไซต์หรือ Instagram นั้นไม่ใช่เพียงจับภาพของศิลปินมาวางแต่เป็นการที่ทั้งศิลปินและตัวหมิงเองได้ตกผลึกจากการอ่านภาพและเข้าใจความหมายของมัน

“สำหรับ Arc เราจะแบ่งเป็นสองส่วนคือ ‘Photographer Highlight’ กับ ‘Photographer Project’ บางคนเขาส่งงานเป็นโปรเจ็กต์มาให้เราดู แล้วเราก็รู้สึกว่ามันยังไม่แข็งแรง อาจจะด้วย visual หรือ statement บางครั้งเราได้ statement มา เราก็จะเข้าไปดูใน Instagram เขา ในเว็บไซต์เขา แล้วเราพบว่ามันเป็นเรื่องเดียวกันแล้วเรารู้สึกว่าวิชวลที่เขามีมันสามารถเล่าได้ เราก็ลอง curate แล้วก็ส่งไปให้เขาว่าเออนี่จาก statement เขากับงานที่เขามีมันสามารถนำมาร้อยเรียงเป็นภาพแบบนี้ได้นะ แล้วก็ส่งไปให้เขาดูว่าคุณคิดยังไงกับสิ่งนี้ อันนั้นก็เป็นไฮไลท์ ก็เหมือนอีดิทงานให้เขา สำหรับเราการที่พูดถึงเรื่องของวิชวล หรือเรื่องของสเตทเม้นท์มันก็มาจากประสบการณ์ของตัวศิลปิน ช่างภาพเอง  สมมติอย่างของปั้น การที่ปั้นครีเอท red lotus ขึ้นมามันไม่ใช่แค่ปั้นรีเสิร์ช แต่วิชวลตรงนั้นก็เป็นสิ่งที่ปั้นเห็นมาตั้งแต่เด็ก แล้วสั่งสมมา ในไอจี การที่ปั้นชอบดูละครจักรๆ วงศ์ๆ” – หมิง

ไม่ใช่เพียงภาพแต่รวมไปถึงแบคกราวน์ของศิลปินที่ Arc จะต้องขุดให้ลึกที่สุดเท่าที่จะทำได้เพราะพวกเขาเชื่อว่า วิชวลที่ศิลปินสื่อสารออกมานั้นมีเรื่องราวอยู่เบื้องหลังเสมอ 

“เราว่าความคิดของคนคนนั้น เวลาเราเขียน เราต้องอ่านทั้งหมด แล้วเราต้องดูรูปด้วย แต่ละคนมันมีความต่างอย่างสิ้นเชิงด้วย อย่างเช่นถ้าพูดเรื่องผีปีศาจ สักสองสามคนแต่ วิชวลไม่เหมือนกันเลย มันก็แล้วแต่ประสบการณ์ของแต่ละคนว่าเคยเห็นวิชวลแบบไหนมา คนหนึ่งมองว่าเป็นเรื่องตลกภาพก็จะออกมาฮาๆ แต่ถ้าใครที่มองว่ามันเป็นเรื่องลี้ลับ มันก็จะเป็นอีกแบบหนึ่ง รู้สึกว่ามันมีความสำคัญในการสื่อความเป็นตัวเอง ไอเดียด้วยอะไรแบบนี้” รวงข้าว นักเขียนประจำเผ่าอธิบายเสริม 

ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมานี้ของ Arctribe เผ่าที่ก่อเกิดมาพร้อมกับโรคระบาดอย่างโควิด-19 เป็นการปรับตัวของคนในทีมเองด้วยที่ไม่ได้ออกไปใช้ชีวิตข้างนอก อินเทอร์เน็ต ได้เป็นช่องทางการท่องโลกที่พวกเขาชอบอย่าง visual นอกจากจะเป็นแค่ผู้ชมทั้งทีมได้กลายเป็นสื่อกลางที่ ‘คัดสรร’ และสำหรับบางงานพวกเขาได้ ‘จัดสรร’ ภาพถ่ายออกมาให้สาธารณะได้ชม สำหรับพวกเขาแล้ว ภาพถ่ายนั้นได้มีบทบาทยังไงกับสังคมในช่วงวิกฤติการแบบนี้ด้วย “เราโชว์เศษเสี้ยวของสิ่งที่เกิดขึ้น ศิลปินเขานำเสนองานจากประสบการณ์อยู่แล้ว ซึ่งมันสะท้อนถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคม เราก็หยิบงานที่เล่าเรื่องเหตุการณ์ปัจจุบันมานำเสนอ หลายๆ อย่างมันมาจากคนหลายๆ ประเทศสังคมที่ต่างกัน อย่างของช่างภาพชาวจีนเขาก็หยิบประเด็นที่เป็นปัญหาในสังคมเขาออกมาเล่า อย่างเรื่องเซ็กซ์ แล้วเราก็หยิบมันออกมา ซึ่งงานหลายๆ ชิ้นก็ได้บ่งบอกว่าในสังคมมันมีปัญหาอะไร เราก็มีโปรเจ็กต์ที่รวมภาพของคนที่ไปถ่ายรูปเหตุการณ์ประท้วงอยู่ ตอนนี้อยู่ในจุดรวบรวมผลงาน แล้วก็อยู่ในกระบวนการพัฒนางานว่าอยากให้มันออกมาในรูปแบบไหน”

นอกจากการเป็นจุดส่งต่องานวิชวลที่สะท้อนปัญหาหรือเล่าถึงประสบการณ์ต่างๆ ของศิลปินแล้ว ผู้ชมส่วนมากที่เป็นแฟนคลับ Arctribe เป็นนักศึกษาส่วนใหญ่ ตรงจุดนี้ทำให้เห็นว่า collective มีบทบาทสำคัญในการดูภาพของกลุ่มนักศึกษาและไปสู่การเป็นตัวอ้างอิงในการทำงานอีกด้วยในบทความนี้เราได้มีโอกาสคุยกับ คอฟฟี่ – ภัคพล วันเนา หนึ่งในนักศึกษาที่ได้ส่งงานมาให้ Arctribe ได้ช่วยคิวเรทงาน

“การที่ Arctribe มาช่วยดูงานเราแล้วก็ลองคิวเรทงานให้เรา มันทำให้เราได้เห็นตัวเองชัดขึ้น ว่าเราเป็นยังไง มันเหมือนมีคนไกด์ทางให้”

“ซึ่งสำหรับตัวคอฟฟี่การมีแพลตฟอร์ม Arctribe เหมือนเจออะไรที่ถูกจริตตัวเองได้พบว่ามันมีโลกของวิชวลแบบนี้อยู่ซึ่งงานที่ Arctribe นำมาลงนั้นต้องยอมรับว่าในมหาวิทยาลัยไม่ได้หยิบมาให้ดูมากเท่าไหร่ เรียกว่าศูนย์เลยก็ได้ มันเป็นเหมือนสื่อนอกห้องเรียนให้ช่วยเห็นโลกที่กว้างมากขึ้น”

สำหรับใครที่สนใจติดตามงานของน้องคอฟฟี่สามารถตามได้ที่ https://www.arctribemag.com/article/photographer-highlight-pakapol-wannao

 

ทุกอย่างก็ต้องมีการเติบโต Arctribe ก็เช่นกัน ตอนนี้พวกเขาได้ขยายการรับรู้ Visual นอกจากบนออนไลน์แล้วนั้นพวกเขายังมี Arcpress สื่อสิ่งพิมพ์ที่คัดสรรโดยชาวเผ่า ซึ่งเสริมทัพด้วยกำลังสำคัญด้านดีไซน์จากสมาชิกใหม่อย่าง บิ๊ก – ปริวัฒน์ อนันตชินะ ดีไซเนอร์ที่เคยสร้างผลงานออกแบบไม่ว่าจะเป็นในงาน Bangkok Art Book Fair หรืองานโปสเตอร์ โลโก้ ผลิตภัณฑ์ ปกอัลบั้ม ก็น่าจะผ่านมือบิ๊กมาแล้วอย่างแน่นอน ซึ่งสำหรับ Arcpress นั้นก็เหมือนเป็นโจทย์ใหม่ในการทำงานของเขาเพราะจะต้องมาออกแบบโฟโต้บุคทั้งเล่ม  

ตอนเราคุยกับ Arc ทั้งทีมเฮโลให้กับบิ๊กในฐานะ Soulmate พบแล้วคนที่ใช่ประมาณนั้นเลยทีเดียวเพราะการที่มีบิ๊กเข้ามาเสริมทีมเหมือนช่วยให้เผ่าของ Arc นั้นสมบูรณ์แล้ว

“พวกเราเจอกันครั้งที่งาน Art Book Fair ผมก็อุดหนุนโฟโต้บุคของหมิง พอเห็นว่าเขาทำแพลตฟอร์ม Arctribe เราว่ามันเจ๋งดีอ่ะ รู้สึกแบบดีใจด้วยที่ทำสิ่งเหล่านี้ขึ้นมา คือตอนแรกที่หมิงมาเราก็ยังไม่ได้มีไอเดียเรื่องสำนักพิมพ์นะครับ แต่ตอนนั้นผมอ่ะอยากทำอยู่แล้ว เคยชวนเพื่อนเขาก็ยังดูนิ่งๆ เราก็เลยค้างโปรเจ็กต์ไว้อยู่ คนอื่นในออฟฟิศก็ดูจะไม่สนใจงานนี้เท่าไหร่ คือเขาสนใจในสื่อสิ่งพิมพ์แต่ว่าไม่ได้มองเรื่องโฟโต้บุคเป็นหลัก ส่วนใหญ่จะเป็นอาร์ตบุคหรือพวกไซน์ พอหมิงชวนทำ เราก็ตกลงรับเลย” บิ๊กอธิบายความเป็นมา

ระหว่างหน้าจอมาสู่หน้ามือ อย่างหนังสือภาพนั้นมีความแตกต่างในการนำเสนอภาพอย่างไรบ้าง

“ตัว Arc เรามุ่งมาออนไลน์ก่อนแล้วก็มีแหล่งข้อมูลหลายๆ คนที่เราสนใจแล้วเราก็อยากจะทำออกมาให้เป็นรูปเล่ม จนเราพบ soulmate อย่างคุณบิ๊ก คือเรากับปั้นอยากทำตัว press กันอยู่แล้ว เราสองคนก็ลองทำในพาร์ทของดีไซน์แล้วแต่มันก็ยังไม่ใช่เวย์ที่เราว่ามันเวิร์ค แล้วเรามาเจอพี่บิ๊กก็เป็นอีก next level คือเราจะรู้จักศิลปินก่อนหน้า อย่างพี่ดิว ความตั้งใจของเขาคืออะไร อย่างภาพของพี่ดิวเป็นภาพ street ที่จะเน้นการเล่าเรื่องเป็นภาพเดี่ยวๆ เราก็มาคิวเรทใหม่ อีดิทยากมาก พอเราได้คอนเซ็ปต์จากช่างภาพมาว่ามันคือ LOST IN CHINA เราก็เอาคอนเซ็ปต์ไปคุยกับพี่บิ๊ก  ในพาร์ทของดีไซน์ ซึ่งมีผลมากๆ ในประสบการณ์การรับชมภาพถ่าย” – หมิง

“เริ่มจากคอนเซ็ปต์เลย หมิงก็เล่าให้ฟังว่า มันมีปัญหาอะไรบ้างหรือเขาอยากได้อะไรเพิ่มเติม คือเขาทำเสร็จมาแล้วในเวอร์ชั่นแรก ตอนแรกเราก็เกร็งๆ ไม่กล้าแก้อะไรเพราะเขาทำกันมาแล้วไม่อยากเปลี่ยนอะไรเยอะ แต่ว่าเราก็กลับไปที่คอนเซ็ปต์ล่ะครับว่าคำว่า ‘Lost’ น่าเอามาตีเป็นโครงสร้างหนังสือหรือว่าสิ่งต่างๆ ในรูปเล่มทั้งหมดก็เลยตีความมาจากคำว่า Lost ล่ะครับ ไอเดียตอนแรกก็เสนอในทีมไปสองคอนเซ็ปต์หลักแต่ว่ามาจากคำว่า Lost เหมือนกัน ไอเดียแรก คือ Lost โดยการที่เราปิดบัง คอนเซ็ปต์สองก็คือ Lost โดยอิสระไปเลยคือมันอิสระซะจนหลง แล้วคอนเซ็ปต์แรกที่เกิดจากการปิดบังคือถ้าจะดูต้องฉีกออกมาถึงจะดูได้แบบฉีกแล้วฉีกเลย แต่ว่าอันนั้นอาจจะไม่ค่อยเข้ากับบุคลิกตัวพี่ดิวหรือว่า งานของพี่ดิวสักเท่าไหร่” – บิ๊ก 

วันนี้ D1839 ได้รับเกียรติจาก Arctribe มาเล่าถึงการปลุกปั้นหนังสือภาพอย่าง LOST IN CHINA จาก ดิว – นพดล ไมตรีจิตร ซึ่งพอมันมาในรูปแบบเล่มกลายเป็นหนึ่งความท้าทายที่ชาวเผ่าต้องต่อสู้ปรับเปลี่ยนจนออกมาเป็นหนังสือภาพเล่มหนึ่งได้

“ความสำคัญของการทำเล่ม ตัวงานกับช่างภาพมันก็คือ relationship ที่มันสัมพันธ์กันอยู่แล้ว ก็เลยเอาไอเดียที่สองที่เป็นอิสรภาพทั้งหมด เริ่มจากตัวโครงสร้างก่อนว่าอยากให้เป็น มันจะเปิดจากด้านไหนก็ได้ ซึ่งเขาก็ไม่รู้ด้วยว่าด้านไหนคือด้านหน้าด้านไหนคือด้านหลัง แล้วมันก็แบบตะแคงได้หมดเลย มันเป็นอิสรภาพหมดเลย อันนี้เป็นแบบที่ขายทั้งทีมผ่าน ก็เจอปัญหาเยอะ ตอนเราทำมาบางทีมันก็บวมมาก หนาเตอะเลย เล็กไป คือหมิงเขาก็บอกเราว่าอยากได้ ภาพของพี่ดิวที่ไซส์มันใหญ่ขึ้น ก็อาจจะต้องมีการเพิ่มขนาดหนังสือ ตอนแรกก็ทำให้มันกว้างขึ้น แล้วก็จะวางเหมือนเดิมแต่มันก็ยังไม่ค่อย มีอิสรภาพพอ แต่พอเราปรับเปลี่ยนการวางภาพมันก็จะมองได้หมดทุกด้าน แล้วภาพมันก็ใหญ่ขึ้นด้วย”

มีออนไลน์อย่าง tribe มีออฟไลน์อย่าง press หมุดหมายต่อไปของชาว Arc จะเป็นอย่างไร

“เราอยากทำ On Ground อย่าง Visual Exhibition เรามีแพลนจัดปลายปีนี้ แต่คงต้องดูก่อนว่ายังทำได้ไหม ที่เราคิดไว้คืออยากทำ Mapping ภาพถ่ายที่เราไม่ต้องพิมพ์งานจัดแสดงแต่เราใช้ Mapping ในการจัดแสดงแทน เราได้ที่แล้วด้วยแต่ไม่รู้ว่าสถานการณ์โควิดจะลากไปจนอยู่ถึงแพลนที่เราจัดไว้ไหม อย่างตัว press เองมันไม่ได้ขายเฉพาะตัวรูปเล่มแต่ยังมีสินค้าอื่นๆ ที่เบสจากงานของศิลปินด้วย เราก็ทำว่าเป็นเซ็ทมีซีนแล้วก็มีภาพจากซีนมาทำลงเสื้อด้วย” – หมิง

ที่สำคัญสำหรับ Arctribe การมีแพลตฟอร์มการทำงานไม่ว่าจะเป็นเว็บไซต์ โฟโต้บุค หรือนิทรรศการ ในอนาคตนั้นเขาได้บอกกับเราว่า มันคือการเพิ่มพื้นที่ให้เหมาะสมกับงานของศิลปิน แต่ละโปรเจ็กต์ควรได้พื้นที่ที่เหมาะสมกับงานของเขาและช่วยเพิ่มความเข้าใจในตัวผลงานให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น เพราะ Arc เชื่อว่าทุกแพลตฟอร์มมีความแตกต่างในการนำเสนอและพวกเขาตั้งใจจะหางานที่ ใช่ ให้ตรงกับพื้นที่ที่ เหมาะสม เพื่อประสาทสัมผัสของทุกคนจะได้ทำงานอย่างเต็มอัตรา

สามาถติดตามผลงานได้ที่ https://www.arctribemag.com/

พิสูจน์อักษร : ชลดา สวนประเสริฐ