brand logo

PHOTO | LIFE | INSPIRATION

Apr 2024

Julius Schulman
ชายผู้อยู่เบื้องหลังภาพสถาปัตยกรรมระดับโลก
เรื่อง : ยอดมนุษย์..คนธรรมดา
8 Aug 2021
1910 - 2009

สถาปัตยกรรมยุคโมเดิร์นของสหรัฐอเมริกา ในช่วงทศวรรษ 1950 ได้รับยกย่องว่าเป็นหนึ่งในหมุดหมายของวงการศิลปะโลก อาคารที่ปฏิวัติความงามจากเส้นสายอันวิจิตรแบบยุโรป กลายมาเป็นความเรียบง่ายแบบเรขาคณิต ได้ส่งอิทธิพลต่อวงการออกแบบอย่างมากมายจนถึงปัจจุบัน

เราคงเคยได้ยินชื่อ Frank Lloyd Wright, Walter Gropius, Rudolf Schindler, Pierre Koenig ในฐานะหัวหอกของสถาปนิกในยุคนี้ 

แต่มีชายอีกคนหนึ่ง ที่จะลืมไม่ได้เลย แม้ว่าเขาจะไม่ใช่สถาปนิกก็ตาม 

จูเลียส ชูล์แมนJulius Schulman สร้างชื่อขึ้นมาในฐานะช่างภาพสถาปัตยกรรมยุคโมเดิร์น เขาคือคนที่ถ่ายภาพให้สถาปนิกชื่อดังข้างต้น เพื่อถ่ายทอดความงามมาสู่สายตาผู้ชม 

หนึ่งในผลงานโดดเด่นของชูล์แมนคือภาพ Case Study House #22 : The Stahl House ที่ฉายให้เห็นหญิงสาว 2 คนนั่งอย่างผ่อนคลายในห้องนั่งเล่นของอาคารบนเนินเขา โดยมีฉากหลังเป็นวิวพาโนราม่าเวลาค่ำคืน เป็นชีวิตที่ใครๆ ก็ฝันอยากจะมีบ้าง 

ภาพของเขาจึงไม่ได้มีเพียงอาคาร แต่มีความเป็นมนุษย์อยู่ในนั้น 

ยอดมนุษย์..คนธรรมดา ขอพาไปรู้จักกับชีวิต ตัวตน และวิธีการสร้างงานของชายผู้ได้ชื่อว่าเป็นสุดยอดช่างภาพสถาปัตยกรรมแห่งศตวรรษที่ 20 

Case Study House #22, Pierre Koenig, architect, Los Angeles, California, 1960 © Julius Shulman

01 ความบังเอิญ

หลายครั้งที่ภาพดีๆ เกิดจากความบังเอิญ 

ความประจวบเหมาะของสถานที่ เวลา และโชค 

ชีวิตของ จูเลียส ชูล์แมน ก็คล้ายกับภาพเหล่านั้น ความบังเอิญทำให้เขาได้เป็นช่างภาพสถาปัตยกรรมโดยไม่รู้ตัวมาก่อน  

ย้อนกลับไปในปี ค.ศ.1936 ชูล์แมนในวัย 26 ไปเยี่ยมเพื่อนที่แคลิฟอร์เนีย ตอนนั้นเขาเพิ่งล้มเหลวจากการเรียนวิศกรรมไฟฟ้า ยังว่างงาน และไม่รู้ว่าตัวเองจะทำอะไรต่อไปในอนาคต

พอดีกับในย่านนั้น มีบ้าน Kun House ของสถาปนิกชื่อดัง Richard Neutra อยู่ด้วย เพื่อนของชูล์แมนซึ่งเป็นผู้ช่วยร่างแบบของ Neutra จึงชวนเขามาชม 

“ตอนเห็นบ้านหลังนี้ครั้งแรก มันกระตุ้นความสนใจของผมมาก เพราะผมไม่เคยเห็นบ้านสมัยใหม่แบบนี้มาก่อน”

ปกติชายหนุ่มชอบไปเดินเล่นถ่ายภาพอยู่แล้ว เขาจึงพกกล้อง Kodak แบบมือสมัครเล่นไปถ่ายรูปด้วย ก่อนจะกลับมาปรินต์ และนำภาพขนาด 8X10 ไปให้เพื่อนแทนคำขอบคุณ

Neutra ได้เห็นภาพขาวดำ 2 ใบนั้นและชอบมาก จึงให้ไปตามตัวชูล์แมน พร้อมกับบอกให้ไปอัดมาอีกภาพละ 6 ใบ เขาถามชูล์แมนว่าเป็นช่างภาพหรือไม่ ชายหนุ่มก็ตอบไปตามความจริงว่า เขาเป็นแค่คนที่ชอบถ่ายภาพเท่านั้น

Vintage, “The Kun House” Los Angeles, 1941 © Julius Shulman

ชูล์แมนเกิดที่บรู๊คลิน นิวยอร์ค ในครอบครัวที่พ่อแม่เป็นผู้อพยพชาวรัสเซีย-ยิว ตอนเป็นเด็กเขาอาศัยในฟาร์มที่รัฐคอนเนตทิคัตซึ่งแวดล้อมด้วยธรรมชาติอันงดงาม พออายุได้ 12 ขวบ พ่อก็พาแม่และลูกๆ ทั้ง 5 คนนั่งรถไฟข้ามประเทศมาแสวงโชคที่ลอสแองเจลิส  

กว่าที่เขาจะได้ถ่ายภาพจริงจังครั้งแรก ก็ต้องรอถึงอายุ 17 ปี ตอนที่เรียนศิลปะในชั้นมัธยมปลาย 

ครูมอบหมายให้ชูล์แมนไปถ่ายภาพการแข่งขันกรีฑา แต่เตือนว่ากล้องบ็อกซ์บราวนี่ของเขาน่าจับภาพนักวิ่งไม่ทัน ชูล์แมนแก้ปัญหานี้ด้วยการไปดักถ่ายภาพจากด้านหลัง รอจังหวะที่นักวิ่งชะลอความเร็วตอนกระโดดข้ามรั้วลงมา แต่ความพิเศษในภาพคือศีรษะของนักวิ่งทุกคนอยู่ในแนวเดียวกับรั้วกั้นอันที่ 2 พอดีเป๊ะ ทำให้เขาได้ A 

“ครูบอกผมว่า เธอถ่ายได้เหมือนช่างภาพอาชีพเลย” เขาเล่าพร้อมหัวเราะ

ในช่วงที่เรียนมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ชูล์แมนได้รับกล้องพกพาของ Kodak เขาสนุกกับมันมาก ยกขึ้นมากดชัตเตอร์ถ่ายทุกอย่างรอบตัว มีเวลาก็ออกไปถ่ายรูปตามป่าเขา ทุ่งนา ในเมือง ชายหนุ่มเอาจริงเอาจังถึงขั้นลงทะเบียนเรียนถ่ายภาพ และนำภาพมาขายให้เพื่อนนักศึกษา หาเงินค่าขนมเล็กๆ น้อยๆ จนวันหนึ่งเขาก็รู้สึกว่า สิ่งที่เรียนอยู่ไม่ใช่สิ่งที่ต้องการ เขาอยากถ่ายภาพมากกว่า  

“วันหนึ่งผมตื่นขึ้นมาตอนตี 3 และก็คิดว่า ผมมาทำอะไรที่มหาวิทยาลัยถึง 7 ปี มันมากพอแล้ว ผมจึงเลิกเรียน”

จากจุดนั้นเองที่โชคชะตาพาให้เขามาเจอกับ Richard Neutra ตามที่เล่าไปตอนต้น 

สถาปนิกคนดังชวนเขาไปรู้จักกับเพื่อนๆ ในวงการ พร้อมกับมอบโอกาสถ่ายภาพสถาปัตยกรรมให้เขาอีกมากมาย และช่างภาพหนุ่มก็ไม่ทำให้ผิดหวัง 

ชื่อของชูล์แมนเป็นที่รู้จักอย่างรวดเร็ว ในที่สุดเขาก็ได้เป็นช่างภาพอาชีพจริงๆ 

 

02 ข้างหลังภาพสถาปัตยกรรม

เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 สงบลงในปี 1945 เศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาเริ่มฟื้น ผู้คนต่างก็ซื้อบ้านใหม่ โครงการอสังหาริมทรัพย์ผุดไปทั่ว รวมถึงนิตยสารบ้านอีกหลายหัว ทำให้มีงานเข้ามาไม่ขาดสาย ชูล์แมนจึงตั้งสตูดิโอขึ้นในปี 1950  

นับจากวันที่พบ Neutra เขาก็พัฒนาวิธีการถ่ายภาพของตนเองขึ้นอย่างรวดเร็ว ภาพของชูล์แมนโดดเด่นที่การจัดองค์ประกอบภาพ เส้นสาย เพอร์สเปคตีพสวยงาม มีคอนทราสเด่นชัด เขามักเลือกช่วงเวลาที่แสงภายในและภายนอกอาคารกำลังสมดุลกันพอดี 

สิ่งหนึ่งที่ไม่พูดถึงไม่ได้ คือการใส่ชีวิตและผู้คนลงในภาพ

โดยทั่วไปแล้ว สถาปนิกจะชอบนำเสนองานของพวกเขาโดยไม่มีอย่างอื่นมาวุ่นวาย แต่ชูล์แมนกลับชอบใส่ผู้คนและสิ่งของเครื่องใช้ไว้ในภาพถ่ายด้วย เพราะเชื่อว่าเป้าหมายสูงสุดของสถาปัตยกรรมคือการรับใช้มนุษย์ 

“สถาปัตยกรรมส่งผลกระทบต่อทุกคน ตั้งแต่โรงพยาบาลที่คุณเกิด โรงเรียน ร้านของชำ ตลาด ห้องสมุด โรงภาพยนตร์ ชีวิตของเราล้วนมีส่วนที่สัมพันธ์กับงานสถาปัตยกรรม”

เขาเคยถ่ายภาพบ้านหลังหนึ่งในแคลิฟอร์เนีย แทนที่จะเป็นภาพบ้านอย่างเดียว กลับเป็นภาพผู้หญิงกำลังไถเครื่องตัดหญ้า โดยมีลูกขี่จักรยานอยู่ข้างๆ มีกิ่งส้มโน้มมาเป็นฉากหน้าของบ้าน ทำให้ภาพดูเหมือนชีวิตประจำวันของครอบครัวทั่วไป มีเสน่ห์ดึงดูดผู้ชมอย่างมาก

Juergen Nogai หุ้นส่วนที่เคยร่วมงานด้วยเล่าให้ฟังว่า ตอนที่ชูล์แมน ถ่ายภาพบ้านให้ Neutra สถาปนิกคนดังต้องการบงการสิ่งต่างๆ ในภาพด้วยตัวเอง เขามักจะเอาเฟอร์นิเจอร์ออกไป เพราะต้องการแสดงสถาปัตยกรรมเท่านั้น แต่ชูล์แมนจะนำเฟอร์นิเจอร์กลับเข้ามา บางครั้งทั้งคู่ก็ทะเลาะกัน จนช่างภาพหนุ่มต้องถ่ายให้ 2 เวอร์ชัน เป็นรูปถ่ายที่เหมือนกันเป๊ะ ต่างกันแค่มีและไม่มีเฟอร์นิเจอร์ 

 “ชูล์แมนพูดเสมอว่า ‘สถาปนิกไม่รู้อะไรเลย ผมไม่ต้องการให้พวกเขาเอาบ้านมาให้ดู ผมต้องการแสดงให้เห็นว่าบ้านของพวกเขาเป็นอย่างไร’ เพราะช่างภาพมองบ้านด้วยวิธีที่แตกต่างไป สถาปนิกอาจต้องการแสดงให้เห็นว่าเขาแก้ปัญหานี้อย่างไร แต่ผู้ชมไม่ได้สนใจ ในฐานะช่างภาพ เราต้องบอกเล่าเรื่องราวของบ้าน ไม่ใช่ปัญหาด้านสถาปัตยกรรมเหล่านี้”      

ความสำเร็จในการถ่ายทอดอาคาร 3 มิติให้ออกมาเป็นภาพถ่าย 2 มิติ ทำให้ชูล์แมนมีชื่อเสียงไปไกลกว่าลอสแอนเจลิส ลูกค้าของเขาก็เริ่มขยับไปสู่กลุ่มสถาปนิกผู้มีอิทธิพลในศตวรรษที่ 20 ตั้งแต่ Oscar Niemeyer, Mies van der Rohe ไปจนถึงสถาปนิกชื่อก้องโลกอย่าง Frank Lloyd Wright ซึ่งชอบงานของเขามาก ชนิดที่ว่าเห็นภาพแล้วแทบจะโผเข้ามาจูบเลยทีเดียว

ช่วงปี 1950-1960 ภาพถ่ายของ จูเลียส ชูล์แมน ตีพิมพ์ในนิตยสารอย่างต่อเนื่อง และมีบทบาทสำคัญที่ช่วยทำให้งานสถาปัตยกรรมยุคโมเดิร์นแพร่หลายไปทั่ว 

ภาพถ่ายที่โด่งดังที่สุดของเขาคือภาพ Case Study House #22 ของ Pierre Koenig ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการบ้านต้นแบบสมัยใหม่ในลอสแอนเจลิส ตัวบ้านสร้างจากเหล็กและกระจก แทนที่จะเป็นคอนกรีตทั้งหลังแบบเดิม มีการออกแบบอย่างเรียบง่าย โดดเด่นด้วยโครงสร้างคานที่ยื่นออกมาริมเนินเขา จนดูเหมือนบ้านลอยอยู่บนอากาศ

ชูล์แมน นำจินตนาการของเขาใส่ลงไปในภาพ โดยให้หญิงสาวสองคนในชุดกระโปรงสีขาวมานั่งสนทนากัน เขาเลือกบันทึกภาพยามค่ำคืน ช่วงที่ทิวทัศน์เมืองแอลเอกำลังเปิดไฟสว่างไสว จนดูเหมือนมีดาวระยิบระยับอยู่ด้านล่าง ทุกองค์ประกอบสมบูรณ์แบบ สื่อถึงบ้านที่เป็นศูนย์รวมของชีวิตที่ดี

ภาพนี้ไม่เพียงแต่บันทึกสถาปัตยกรรมเท่านั้น แต่ยังกลายเป็นไอคอนแห่งความทันสมัยของแคลิฟอร์เนีย นับเป็นหนึ่งในภาพอสังหาริมทรัพย์ที่ประสบความสำเร็จมากที่สุด และส่งผลต่อวงการสถาปัตยกรรมมาอีกหลายทศวรรษ 

อีกภาพที่โด่งดังคือบ้าน Kaufmann ในปาล์มสปริงส์ ออกแบบโดย Neutra ชูล์แมนถ่ายอาคารจากภายนอกในตอนค่ำ เขาเปิดม่านชัตเตอร์รับแสงนานถึง 45 นาที ระหว่างนั้นก็เดินเข้าไปเปิดและปิดไฟบ้านหลายครั้งเพื่อให้ภาพออกมาสวยงามที่สุด 

ทั้งสองภาพได้รับการเผยแพร่ไปทั่วโลก และตั้งแต่นั้นเขาก็เป็นที่รู้จักในฐานะช่างภาพสถาปัตยกรรมชั้นแนวหน้า 

Case Study House 22, Architecture Pierre Koenig , 1959 © Julius Shulman

03 ชีวิตแห่งการทำงาน

หลังจากถ่ายภาพมากกว่า 260,000 ภาพ ชูล์แมนในวัย 80 ก็ประกาศ ‘เกษียณอายุ’ ในปี 1989 

ตลอดหลายสิบปีในวงการถ่ายภาพสถาปัตยกรรม เขามีผลงานมากมาย ทั้งบนหน้านิตยสาร งานนิทรรศการ การเดินสายบรรยายให้ความรู้ และรวบรวมออกมาเป็นหนังสืออีกหลายเล่ม เช่น LA Lost and Found (1987), Architecture and Its Photography (1998), Malibu: a Century of Living by the Sea (2005) และ Julius Shulman: Modernism Rediscovered (2007) 

โดยเฉพาะภาพยนตร์สารคดี Visual Acoustics :: The Modernism of Julius Shulman กำกับโดย Eric Bricker ในปี 2008 ซึ่งได้รับรางวัลจากหลายสถาบัน

อย่างไรก็ตาม เขายังมีไฟในการถ่ายภาพอยู่ เมื่อช่างภาพสถาปัตยกรรมชาวเยอรมัน Juergen Nogai มาชวนให้ร่วมงานในปี 2000 ช่างภาพอาวุโสก็กลับมาถ่ายภาพจริงจังอีกครั้ง และได้ไปเยี่ยมชมสถานที่ที่เคยบันทึกภาพไว้ในวัยหนุ่ม

ชูล์แมนยังคงทำงานต่อเนื่องจนถึงช่วงท้ายของชีวิต ก่อนจากไปอย่างสงบที่บ้านตอนอายุ 98 ปี 

สิ่งที่เขามอบไว้ให้ช่างภาพรุ่นหลัง คือแนวคิดที่ว่าการถ่ายภาพสถาปัตยกรรม นอกจากต้องจัดองค์ประกอบภาพอย่างแม่นยำ มีความสวยงาม นำเสนอความตั้งใจของสถาปนิกแล้ว ยังต้องใส่ความหวัง และความเป็นมนุษย์ลงไปด้วยเสมอ แม้ว่าในภาพนั้นจะไม่มีมนุษย์อยู่เลยก็ตาม

Julius Shulman photographing Case Study House no. 22, West Hollywood, 1960. Julius Shulman photography archive. The Getty Research Institute, 2004.R.10

 

ข้อมูลประกอบการเขียน

  • ภาพยนตร์สารคดี Visual Acoustics :: The Modernism of Julius Shulman
  • www.theguardian.com
  • www.wsj.com
  • www.yatzer.com
  • 100photos.time.com
  • YouTube : The Art of Photography
images
images
images
images
images
images
images
images